วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอากระดูกเข้าบัว - บังกุนบัว ประเพณีไทยพุทธ จังหวัดนราธิวาส

เอากระดูกเข้าบัว - บังกุนบัว ประเพณีไทยพุทธ จังหวัดนราธิวาส

เอากระดูกเข้าบัว เอากระดูกขึ้นพนม ก็ว่า เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยพุทธที่แสดงออกซึ่งความกตัญญูและคารวธรรม โดยนำอัฐิของบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพบูชาบรรจุไว้ใน "บัว" อันเป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นสำหรับบรรจุอัฐิของผู้นั้นโดยเฉพาะ

เมื่อบุพการีถึงแก่กรรมและได้ประชุมเพลิงเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานที่ใกล้ชิดจะเก็บอัฐิห่อผ้าขาวเก็บไว้ที่บ้านหรือวัด จากนั้นลูกหลานที่พอจะมีฐานะและตระหนักว่าผู้ตายที่ได้เก็บอัฐิไว้นั้นเป็นผู้ที่ควรจะมีอนุสรณ์สถานเป็นการเฉพาะเพื่อบรรจุอัฐิให้ลูกหลานได้เคารพบูชาสืบไป ก็จะรวบรวมปัจจัยสร้าง "บัว" ขึ้นภายในวัด แต่บางทีสร้างไว้บริเวณบ้านก็มี แล้วกำหนดวันทำพิธีบรรจุอัฐิหรือที่ทางภาคใต้เรียกว่า "เอากระดูกเข้าบัว" ซึ่งส่วนมากนิยมเลือกจัดพิธีในหน้าแล้งในช่วงที่ว่างจากการงาน เพราะรวมญาติมิตรได้ง่าย ก่อนวันบรรจุอัฐิ 1 วัน ลูกหลานจะเอาอัฐิที่เก็บไว้มาประพรมน้ำจันทน์มันหอม ทาแป้งแล้วบรรจุโกศขนาดเล็ก ตกแต่งโกศอย่างเดียวกับโลงศพ ตกกลางคืนมีการสวดพระอภิธรรม แสดงพระธรรมเทศนาแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ตาย และอาจมีมหรสพให้ชมตลอดคืนด้วย ครั้นรุ่งขึ้นจะมีการแห่โกศจากบ้านไปวัด (ในกรณีจัดงานตอนกลางคืนที่บ้าน) ทำบุญเลี้ยงพระเพล แล้วพระจะสวดมาติกาบังสุกุล พอสวดเสร็จลูกหลานก็เคลื่อนย้ายโกศไปบรรจุไว้ในบัว ขณะที่บรรจุโกศเข้าบัวนั้นพระจะสวดชยันโต จบแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

ในบางท้องถิ่น การ "เอากระดูกเข้าบัว" จะทำพร้อมกันปีละครั้ง เช่น ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จะทำในช่วงเดือน 6 ถึงเข้าพรรษา จัดเป็นงานใหญ่ คนในหมู่บ้านได้มีโอกาสมาพบปะกันหมดครั้งหนึ่ง เป็นการเสริมสร้างสามัคคีธรรมได้อย่างดี

สำหรับอัฐิที่บรรจุบัวแล้ว ลูกหลานทั้งหมดจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายพร้อมกันปีละครั้ง เรียกการอุทิศส่วนกุศลนี้ว่า "บังสุกุลบัว" ในท้องถิ่นที่จัดพิธีเอากระดูกเข้าบัวพร้อมกันปีละคราวนิยมจัดพิธีบังสุกุลบัวพร้อมกับเอากระดูกเข้าบัว พิธีจึงใหญ่โตเป็นพิเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น