วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ต้นกำเนิดคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ และแม่ครัวหัวป่า

ต้นกำเนิดคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ และแม่ครัวหัวป่า

คำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ 
ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
กำเนิดเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) คุณเอนก นาวิกมูล ท่านโทรศัพท์แจ้งข้อมูลนี้ให้ทราบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2540
ผู้ที่นำคำนี้มาเผยแพร่ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ โดยจัดพิมพ์หนังสือเรื่องตำรากับข้าวแม่ครัวหัวป่าก์ ออกจำหน่ายเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451)
ทัศนะเกี่ยวกับคำนี้ คุณผ่อง พันธุโรทัย เปรียญธรรม 6 ประโยค ปัจจุบันอายุ 80 ปี ได้ให้ทัศนะไว้ว่า หัวป่าก์ มีที่มาคือมาจากปาก
อนึ่งคำว่า ปากะศิลปะ แปลว่า ศิลปะว่าด้วยการหุงต้ม (จดหมายฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540)
คำนี้มิใช่เป็นการบวช แต่เป็นสึก คือ ปากเป็นรูปศัพท์บาลีแท้ เท่ากับ บวชอยู่ เจ้าพระยาท่านจับสึก แล้วแต่งตัวใหม่เป็นปาก์ จึงเท่ากับสึกศัพท์ (จดหมายฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540)

คำว่าแม่ครัวหัวป่า
ผู้เป็นต้นตำรับคำนี้ คำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสวัดชลอน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ผู้ที่นำคำนี้มาเผยแพร่ มีอยู่ 2 ท่านด้วยกันคือ
1. วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ ลงพิมพ์ในนิตยสารแม่บ้านทันสมัย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2536 ในการพิมพ์ครั้งนั้นได้รับคำท้วงติง จาก ส.พลายน้อย (อาจารย์สมบัติ พลายน้อย) มาแล้ว
2. นายเพทาย ไชยดิษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรี ลงพิมพ์ในวารสารกรมประชาสัมพันธ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ประจำสิงหาคม 2540 และท่านเปรียญ 7 ได้นำมาเผยแพร่ในสยามรัฐคอลัมน์พูดไทย-เขียนไทย
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวที่วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ นำมาเผยแพร่

ที่มาของคำว่าแม่ครัวหัวป่า 
วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ เขียนตามคำบอกเล่า (สัมภาษณ์) ท่านเจ้าอาวาสวัดชลอน ว่า รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ และทรงโปรดปรานฝีมือการทำอาหารของแม่ครัวพื้นบ้านมาก ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปเป็นพนักงานห้องพระเครื่องต้น และเรียกชื่อตามนามตำบลนี้ว่า คณะแม่ครัวหัวป่า

ระยะเวลาที่เกิดคำนี้ขึ้น
กล่าวว่า ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449)
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 มิเคยได้เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารที่วัดชลอนนี้ และมิได้ทรงโปรดปรานฝีมือการทำอาหารของชาวบ้านเป็นพิเศษแต่ประการใด คือ
1. หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประพาสวัดชลอน แต่มิได้เสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ มีอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 ว่า
(วันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 125) เวลา 2 โมงเช้า ออกเรือจากไชโย 4 โมง ถึงวัดชลอนพรหมเทพาวาส ของท่านพิมลธรรม (อ้น) ขึ้นถ่ายรูป มีพี่น้องท่านพิมลมารับกันมาก ต้นโพธิ์กิ่งตอนวัดนิเวศน์ใหญ่โตงามดีมาก แต่เอียงไปข้างหนึ่ง เพราะหลบต้นมะม่วง อยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ออกจากวัดชลอนขึ้นตลาดหมื่นหาญ หยุดทำกับข้าวกันที่ตลิ่งหน้าออฟฟิศโทรเลข...
2. หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มิได้ทรงโปรดเสวยอาหารของชาวบ้านเป็นพิเศษ มีว่า
วันที่ 23 (สิงหาคม ร.ศ. 125) ได้กินของเลี้ยง และถ่ายรูปคนงามเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้สั่งให้เลือกหาไว้ก่อน ... อาหารที่เลี้ยงเปนอย่างกับข้าวอย่างเก่า ๆ พอกินได้ ดีกว่าบ้านนอกแท้ ...
3. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ในคราวเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่านั้น ปรากฎว่ามิได้ทรงแวะวัดชลอนพรหมเทพาวาส มีหลักฐานดังนี้
วันที่ 25 ตุลาคม จุลศักราช 1270
... เวลาเช้า 4 โมงเศศ จึงได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งครุธเหิรเห็จตามขึ้นไปภายหลัง แวะเสวยที่วัดท่าซ้าย แขวงเมืองสิงห์ ในอำเภอเมืองพรหม ขากลับเสด็จเรือประทุนสี่แจว มาแวะที่วัดจำปา ทอดพระเนตรราษฎรที่มาประชุมกันฟังเทศน์มหาชาติซึ่งมีที่วัดนั้น แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งครุธเหิรเห็จเสด็จกลับมาถึงที่ประทับแรมเวลาบ่าย 4 โมง (ที่อำเภอโพธิ์ทอง-ส.)
ห้องพระเครื่องต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (ตามที่หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงบันทึกเอาไว้)
ผู้กำกับการ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา (เมื่อยังทรงเป็นพระอรรคชายา พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ-ส.)
พนักงานห้องพระเครื่องต้นหม่อมเจ้าหญิงสารภี ลดาวัลย์ หม่อมเจ้าหญิงสบาย นิลรัตน์ หม่อมเจ้าหญิงปุ๋ย ลดาวัลย์ หม่อมเจ้าหญิงประทุม นิลรัตน์ หม่อมเจ้าหญิงเมาฬี ปราโมช หม่อมเจ้าหญิงปุ้ย หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช หม่อมเจ้าหญิงแฉล้ม หม่อมเจ้าหญิงเยื้อน หม่อมเจ้าหญิงกระจ่าง
พนักงานกลาง เชิญเครื่องจากห้องพระเครื่องต้น ส่งพนักงานใช้ ก่อนจะเชิญจะต้องถวายบังคม
พนักงานใช้ มี 4 คน รับเครื่องเสวยจากพนักงานกลางส่งคุณจอม (เจ้าจอม-ส.) คุณท้าวสุภัติฯ ทำหน้าที่แกะตรา
นายห้องเครื่องต้น ท้าวสุภัติการภักดี (เหลี่ยม) และ (ปริก)

ขอเพิ่มเติมวิธีปฏิบัติในการเชิญเครื่องเสวยไว้เป็นหลักฐานคือ
เมื่อจัดทำเครื่องเสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าห้องพระเครื่องต้นจะเชิญเครื่องเสวยบรรจุลงในภาชนะ [เปนจานเงิน, เปลเงิน อยู่ในถาดเงินใบใหญ่ มีฝาชีเงิน (ทึบ) คลุม] เมื่อเชิญเครื่องลงบรรจุในภาชนะเสร็จแล้ว จะเชิญถาดเงินที่มีฝาชีคลุมนั้น ห่อผ้าขาวอีกชั้นหนึ่งและรวบชายผ้าขึ้นใช้เชือกผูกและใช้ดินสอพองปิดทับแล้วตีตราประทับที่ดินสอพองนั้น มหาดเล็กเชิญเครื่อง (เดิมพนักงานกลาง) จะเชิญเครื่องจากห้องพระเครื่องต้นขึ้นไปบนพระตำหนักหรือพระที่นั่งที่เสด็จประทับ ส่งให้มหาดเล็กแผนกวรภาชน์ (เดิมนายห้องเครื่องต้นคือท้าวสุภัติการภักดี เป็นผู้แกะตรา) และมอบให้มหาดเล็กแผนกวรภาชน์ เป็นผู้อุ่นและเดินโต๊ะเสวยต่อไป (เดิมเป็นหน้าที่ของเจ้าจอม) จะเห็นได้ว่าทั้งหัวหน้าห้องพระเครื่องต้น และหัวหน้าแผนกวรภาชน์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องเสวยมาช้านานแล้ว การเชิญเครื่องเสวยบรรจุลงในภาชนะมีศัพท์โดยเฉพาะ เรียกว่า "เทียบเครื่อง"

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวที่นายเพทาย ไชยดิษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรีนำมาเผยแพร่
ที่มาของคำว่าแม่ครัวหัวป่า ในทำเนียบประวัติศาสตร์เมืองพรหมบุรี มีบันทึกในหมายเหตุวันเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นว่า แม่ครัวเครื่องคาว ได้แก่ อำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง อำแดงแพ อำแดงสรวง ส่วนเครื่องหวาน ได้แก่ อำแดงหงส์ อำแดงสิน อำแดงพลับ และอำแดงพา สำหรับเครื่องเสวยที่จัดไว้ครั้งนั้นมีแกงมัสมั่น แกงบอน ต้มปลาร้าหัวตาล ขนมจีนน้ำยา ส่วนเครื่องหวานมี ขนมปิ้ง สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน และข้าวตอกน้ำกะทิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฝีมือการปรุงเครื่องเสวยของคณะแม่ครัวชุดบ้านหัวป่า เมืองพรหมบุรีมาก เมื่อเสด็จกลับพระยาอภัยราชากราบบังคมทูลขอชื่อพระราชทานคณะแม่ชุดนี้ จึงได้รับพระราชทานชื่อว่าแม่ครัวหัวป่า จากนั้นไม่ว่าจะเสด็จไปแห่งใด มักจะเอ่ยถึงแม่ครัวหัวป่าอยู่เนือง ๆ ต่อมาทรงพระราชดำริอยากได้แม่ครัวหัวป่ามาทำเครื่องเสวยในวังหลวง คุณหญิงโหมดจึงจัดอำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง มาถวายเป็นแม่ครัวเครื่องคาว และจัดให้อำแดงหงส์ และอำแดงสินเป็นแม่ครัวเครื่องหวาน
ประวัติของวัดกล่าวไว้ว่า
ประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า สมัยพระอภัยราชา จากมณฑลอยุธยา ได้ไปเยี่ยมพรหมบุรีบ่อย ๆ และประทับใจในการต้อนรับการจัดอาหารการกินเป็นอันมาก จึงนำคณะศรัทธามาสร้างโบสถ์ ศาลา ให้วัดชลอน ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่กลางตำบล เมื่อปี 2451 ในปีถัดมาจึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดชลอนนี้ ทางเมืองพรหมบุรีก็ได้จัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องเสวย คุณหญิงโหมดทำหน้าที่หัวหน้าแม่ครัวฝีมือเยี่ยมเป็นผู้ปรุงอาหาร

ระยะเวลาที่กำเนิดคำนี้ขึ้น ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)
หลักฐานในการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดชลอนใน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)
หลานสาลินี มานะกิจ ได้โทรศัพท์แจ้งข่าวให้ทราบเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2540 ว่า ได้ไปสอบถามที่ห้องสมุดสำนักราชเลขาธิการแล้ว ได้รับคำชี้แจงว่า หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452-ส.) นั้น ยังมิได้มีการจัดพิมพ์ ประกอบกับไม่มีโอกาสที่จะไปค้นราชกิจจานุเบกษาประจำปี 2452 ที่หอสมุดแห่งชาติ จึงไม่ทราบว่า ในปี พ.ศ. 2452 นั้น รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดชลอนตามคำกล่าวอ้างนั้นจริงหรือไม่
ข้อที่พึงสังเกต สิ่งที่คลาดเคลื่อนในประวัติของจังหวัดสิงห์บุรีตามที่บทความนี้อ้างอิง
1. พระอภัยราชา จากมณฑลอยุธยา
1.1 ท่านผู้นี้จะเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างใด ไม่ทราบได้ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราชทินนามว่า อภัยราชา จะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลัง  ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภสุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นพระยาอินทราธิบดีศรีหราชรองเมือง
1.2 คุณหญิงโหมด ไม่ทราบว่าเป็นคุณหญิงของท่านผู้ใด เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น นอกจากเอกภริยา ที่สามีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาแล้ว ผู้ที่เป็นคุณหญิงด้วยได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน โดยที่สามีมิได้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เท่าที่นึกได้ในขณะที่พิมพ์บันทึกเรื่องนี้ ก็มีอยู่เพียง 2 ท่าน คือ
1.2.1 คุณหญิงเลื่อนฤทธิ์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภรรยานายพันเอกหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
1.2.2 คุณหญิงอุ๊น มหิบาลบริรักษ์ เมื่อสามียังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมบริรักษ์ ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นบิดามารดาเลี้ยงของ (เจ้า) หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
2. ข้อความที่ว่า นำคณะศรัทธามาสร้างโบสถ์ ศาลา ให้วัดชลอนเมื่อ พ.ศ. 2451
วัดนี้น่าจะมีโบสถ์และศาลามาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจาก
2.1 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในภูมิลำเนาของพระพิมลธรรม (อ้น) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่านคงจะต้องเป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้ ดังที่ปรากฎในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2
2.2 วัดนี้น่าจะเจริญมาช้านานแล้ว เพราะปรากฏว่า ได้รับพระราชทานกิ่งตอนต้นโพธิ์จากวัดนิเวศน์ธรรมประวัติบางปะอิน มาปลูกจนเจริญใหญ่โต ต้นโพธิ์นี้รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเพาะเมล็ดเองแต่เมื่อก่อนเสวยราชย์ ต่อมาได้นำไปปลูกไว้ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงผนวชได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ วัดเมื่อ พ.ศ. 2426 ก็ได้ทรงรับหน้าที่ดูแลต้นโพธิ์นี้ด้วย
3. ข้อความที่ว่าพระสิงห์บุรีเป็นเจ้าเมือง ... เจ้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสิงห์บุรีรักษ์
ทำเนียบข้าราชการหัวเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น
3.1 ผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี มีราชทินนามว่า พระพิศาลสงคราม
3.2 ผู้ว่าราชการเมืองพรหมบุรี มีราชทินนามว่า พระพรหมประสาทศิลป์
3.3 ผู้ว่าราชการเมืองสรรค์บุรี มีราชทินนามว่า พระสรรค์บุรานุรักษ์
เครื่องเสวยที่ชาวบ้านหัวป่า จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำถวายรัชกาลที่ 5 (เพิ่มเติม)
เครื่องเสวยที่ชาวบ้านหัวป่า จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำถวายรัชกาลที่ 5 ตามที่ท่านประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรี ได้กล่าวรายละเอียดไว้ว่า เครื่องคาวมี แกงมัสมั่น แกงบอน ปลาร้าต้มหัวตาล ขนมจีนน้ำยา ส่วนเครื่องหวานมี ขนมปิ้ง สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน ข้าวตอกน้ำกะทิ
เมื่อได้พิจารณารายละเอียดเครื่องเสวยแต่ละอย่างแล้ว มีข้อคิดเห็นดังนี้
แกงมัสมั่น เป็นแกงที่ต้องใส่เครื่องเทศ คือ ยี่หร่า แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นแกงที่มาจากต่างประเทศ มิใช่แกงพื้นบ้านอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นแกงที่ออกจากในรั้วในวัง ไปสู่ชาวบ้าน ดังจะเห็นได้จากบทกาพย์เห่เรือ ตอนชมเครื่องคาว เมื่อเป็นเช่นนี้ฝีมือชาวบ้านหรือจะสู้ฝีมือชาววังผู้เป็นต้นตำรับได้
แกงบอน ในสมัยก่อนถือกันว่า หากผู้ใดสามารถจะแกงบอน และแกงบวน (ที่ใส่เครื่องในหมูได้แล้ว ถือกันว่าผู้นั้นสำเร็จวิชาการครัวชั้นสูง)
ปลาร้าต้มหัวตาล นี่เป็นเครื่องคาวพื้นบ้านอย่างแน่นอน เพราะทั้งปลาร้าและหัวตาลมีอยู่ตามบ้านนอก ในกรุงเทพฯ ในอายุของผู้บันทึกเคยเห็นต้นตาลอยู่เพียง 2 แห่ง คือ
1. อยู่ในสนามหน้าพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 1 ต้น และในบริเวณกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่าอีก 1 ต้น เป็นต้นตาลที่ปลูกขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันถูกฟ้าผ่ายอดตายหมดแล้วทั้งสองต้น
2. อีกต้นหนึ่งอยู่ที่ปลายเนิน คลองเตย หม่อมราชวงศ์โต (งอนรถ) จิตรพงศ์ พบว่างอกขึ้นตั้งแต่สมัยที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ย้ายจากวังท่าพระ ไปประทับ ณ วังปลายเนินใหม่ ๆ เมื่อแรกพบหม่อมราชวงศ์โต (งอนรถ) จิตรพงศ์ ท่านกล่าวว่า หากต้นตาลออกลูกจะมีละครทำขวัญ ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้จะยังคงมีอยู่หรือไม่
ขนมจีนน้ำยา มีทั้งชาววังและชาวบ้าน ผู้ที่มีฝีมือในการทำน้ำยาในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่าที่ปรากฏหลักฐานในขณะนี้มีอยู่ 2 ท่านด้วยกัน คือ
1. ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) มีฝีมือในการทำน้ำยาไก่ เล่ากันว่า ... ท่านเคยตั้งเครื่องอยู่บ้างเป็นครั้งคราว บางคราวมิได้ตั้งก็มีรับสั่งขอครั้งหนึ่งท่านทำน้ำยาไก่ถวายในโอกาส เช่น โปรดเกล้าฯ พระราชทานธูปเทียนบูชาฝีมือและมีพระราชดำรัสยกย่องมาก ... [จากประวัติท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) พระนิพนธ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต]
2. หม่อมราชวงศ์แปลก พึ่งบุญ พระพี่เลี้ยงในจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง นั้นล้วนแต่เป็นของฝรั่ง ที่ตามประวัติกล่าวว่า ท้าวทองกีบม้า ภรรยาเจ้าพระยาวิชเยนทร์นำเข้ามาเผยแพร่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แสดงว่าเป็นของจากวังสู่บ้านอีกเช่นเดียวกัน
ขนมปิ้ง ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
ส่วนข้าวตอกน้ำกะทินั้นเป็นของหวานพื้นบ้านอย่างแน่นอน แต่กรรมวิธีในการทำก็มิได้วิจิตรพิสดารเป็นพิเศษแต่อย่างใด
จะเห็นได้ว่าเครื่องเสวยทั้งเครื่องคาวและเครื่องหวาน ที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นของที่มีกำเนิดจากวังสู่บ้านประการหนึ่ง มีรายชื่อผู้มีฝีมือที่เป็นชาววัง ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่อีกประการหนึ่ง
และหากรัชกาลที่ 5 โปรดเสวยฝีมือการทำเครื่องเสวยของชาวบ้านหัวป่าจังหวัดสิงห์บุรี จนถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามารับราชการเป็นพนักงานห้องพระเครื่องต้นใน พ.ศ. 2452 จริงแล้วไซร้ เหตุไฉนหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล (ขณะนั้นมีชันษา 24 ปี-ส.) จึงได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ก่อนวันที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่วันไว้ว่า
... ในวันพุธที่ 19 ตุลาคม (พ.ศ. 2453-ส.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี-ส.) จะเสวยเครื่อง ให้ จัดเป็นกระทงสังฆทาน (คือกระทงใบใหญ่เย็บด้วยใบตองสดสำหรับใส่ข้าวสุก มีใบตองเป็นฝา วางกระทงใบเล็กใส่อาหารคาว-หวานไว้ อีกชั้นหนึ่งสำหรับถวายสังฆทานพระสงฆ์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีถังและอับพลาสติก-ส.) ตอนกลางวันจะเสวยขนมจีนน้ำยา โปรดฝีมือหม่อมราชวงศ์แปลก พึ่งบุญ ในวันนั้นเสวยขนมจีนน้ำยาได้มาก ถึงกับรับสั่งให้เก็บไว้ตั้งเครื่องใหม่ในตอนค่ำ ...
บันทึกเรื่อง แม่ครัวหัวป่าก์
เรื่องแม่ครัวหัวป่าก์ ตามคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดชลอน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี นั้น เท่าที่ทราบได้ เคยมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่แล้วจำนวน 3 ราย คือ
1. วิศนุ  ทรัพย์สุวรรณ เขียนลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารแม่บ้านทันสมัย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2536 ในครั้งนั้นได้รับคำท้วงติง จาก ส.พลายน้อย (อาจารย์สมบัติ พลายน้อย) ซึ่งผู้เขียนได้ชี้แจงว่า เขียนไปตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสวัดชลอน โดยมิได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
2. นายเพทาย ไชยดิษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรี เขียนลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกรมประชาสัมพันธ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ประจำสิงหาคม 2540 และท่านเปรียญ 7 ได้นำมาเผยแพร่ในคอลัมน์พูดไทย-เขียนไทย หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
3. นายชัชวาล ซินซาคำ ได้เขียนบทความเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุรัฐสภาใน พ.ศ. 2541 และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ จำนวน 48,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายไปยังสถานศึกษา หน่วยงาน และห้องสมุดต่าง ๆ ในหนังสือชุดความรู้ภาษาไทย ภาษาไทยวันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2542 สำหรับให้นักเรียน นักศึกษา สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า รวมทั้งครูอาจารย์ ได้นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ตลอดจนสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ได้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม (จากคำนำของอธิบดีกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)
ผู้บันทึกได้เสนอข้อคิดเห็นเรื่องนี้พร้อมทั้งบันทึกรายละเอียดที่ได้ศึกษาค้นคว้า ไปให้ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทราบตามจดหมายฉบับที่ 3/2544 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544
ต่อมาสถาบันภาษาไทย ได้ตอบตามหนังสือที่ ศธ. 0609-9476 เรื่องขอขอบคุณในการจัดส่งเอกสาร ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2544 มีความตอนหนึ่งว่า
"ส่วนที่มีข้อเสนอแนะท้วงติงหนังสือของกรมวิชาการนั้น ขอน้อมรับไว้พิจารณา และได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ไขตามควรแก่กรณี เช่น เมื่อมีการจัดพิมพ์ครั้งใหม่ เป็นต้น"
ผู้บันทึกจึงได้เรียนเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ไปยังผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย ตามจดหมายฉบับที่ 9/2544 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 มีความตอนหนึ่งว่า
"1. ตำรา หรือเอกสารทางวิชาการนั้น เมื่อได้จัดพิมพ์เผยแพร่ออกไปแล้ว หากมีสิ่งที่ผิดพลาด น่าจะได้พิจารณาหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน ไม่ควรจะปล่อยให้ล่าช้า เพราะจะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ที่ผิดพลาด หรือนำไปอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น
2. หากจะรอแก้ไข ด้วยวิธี เมื่อจัดพิมพ์ครั้งใหม่นั้น ผมเห็นว่าน่าจะเข้าทำนองที่ว่า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เพราะจะมีโอกาสได้จัดพิมพ์ครั้งใหม่อีกเมื่อใดก็ไม่สามารถจะกำหนดได้ เรื่องนี้จึงน่าจะได้พิจารณาตามคำของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว"
3. เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2544 นี้ ผู้บันทึกได้อ่านพบคอลัมน์ร้อยเรื่องเมืองไทย ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันอาทิตย์ แจ้งว่า รายการรอยไทย ของธนาคารศรีนครจะได้นำเรื่องแม่ครัวหัวป่าก์ มาเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. แต่ผู้บันทึกไม่มีโอกาสได้ชมรายการดังกล่าว จึงไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับที่ทั้ง 3 ท่านข้างต้นได้เคยนำมาเผยแพร่แล้วหรือไม่ หากเป็นเรื่องทำนองเดียวกันแล้ว ก็แสดงว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องของเรื่องแม่ครัวหัวป่าก์ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง จนยากที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ตามที่ผู้บันทึกได้คาดการณ์ไว้แต่ต้น สมดังคำกล่าวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า
"พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว"
จึงได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานต่อไป
***************************************************************
พันโทสุจิตร ตุลยานนท์
164 ซอยราชทรัพย์ ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 แขวงบางโพ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น