วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฟันกับพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของเด็ก

คุยกับหมอฟัน ผศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก มหิดล

พฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในช่องปาก ได้แก่ การดูดนิ้ว การใช้ลิ้นดุนฟันหน้า การกัดเล็บ การหายใจทางปาก หรือแม้แต่การกัดฟัน เป็นต้น

พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกช่วงวัยของเด็ก โดยนิสัยการดูดนิ้ว พบว่าในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติ โดยทั่วไปเด็กจะสามารถหยุดการดูดนิ้วได้เองในช่วงอายุ 2 - 4 ปี แต่ถ้าการดูดนิ้วถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการแก้ไขจนติดเป็นนิสัย เด็กจะคงกระทำพฤติกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้เกิดปัญหาได้ทั้งร่างกายและจิตใจตามมา

พฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาจะส่งผลกระทบหรือ ผลเสียต่อสุขภาพของเด็กในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับช่องปาก ได้แก่ ฟันหน้ามีการสบเปิด ฟันหน้าบนยื่น การสบคร่อมฟันหลัง โดยผู้ป่วยที่มีการหายใจทางปาก อาจพบมีเหงือกอักเสบร่วมด้วย และผู้ป่วยที่นอนกัดฟันอาจจะพบการ สึกกร่อนด้านบดเคี้ยวของฟัน

สำหรับพฤติกรรมเหล่านี้จะมีสาเหตุและการ แก้ไขแตกต่างกัน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพฤติกรรมการดูดนิ้วเนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ผู้ปกครองสังเกตเห็นได้ชัดเจนและพบมากในเด็ก การจัดการนิสัยดูดนิ้ว ต้องคำนึงถึงอายุและวุฒิภาวะของเด็ก ความพร้อม และความร่วมมือของเด็กและผู้ปกครอง ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงวิธีการบังคับเด็กให้หยุดดูดนิ้วมือแบบทันทีทันใด ไม่ควรแสดงอาการเข้มงวดกวดขัน ติเตียนว่ากล่าว ลงโทษ ควรให้กำลังใจ คำชมเชย หรือรางวัล เมื่อเด็กดูดนิ้วลดลง ในกรณีที่เด็กไม่สามารถเลิกดูดนิ้วได้ด้วยตัวเอง ผู้ปกครองควรให้ความช่วยเหลือ เช่น การใช้ผ้า หรือเทปกาวพันนิ้ว การใส่ถุงมือ และการใช้แรงจูงใจ โดยที่ผู้ปกครองคอยสังเกตพฤติกรรมในแต่ละวันและบันทึกลงในกระดาษข้อมูล หรือในปฏิทิน ว่าเด็กสามารถหยุดการดูดนิ้วได้เป็นเวลานานเท่าไหร่ และให้คะแนน หรือใช้เป็นสัญลักษณ์ เช่น รูปดาว รูปสัตว์ การ์ตูน เป็นสติ๊กเกอร์ หรือเขียนเป็นสัญลักษณ์ ลงในปฏิทิน โดยเด็กสามารถนำคะแนน หรือ จำนวน สติ๊กเกอร์ไปแลกรางวัลได้ ซึ่งรางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่ง ฟุ่มเฟือย เช่น การพาเด็กไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ในวันหยุด สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้เด็กเลิกพฤติกรรม ดูดนิ้วได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น