วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กลิ่นตัว

กลิ่นตัว
..........กลิ่นตัวเป็นปัญหาที่คนมากมายประสบอยู่ ร่างกายของมนุษย์เรามีหลายแหล่งที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นตัว ทั้งในแบบปกติธรรมดาและแบบผิดปกติ ทว่าปกติแล้ว คำว่า "กลิ่นตัว" มักจะหมายถึงบรรดากลิ่นที่เกิดมาจากเหงื่อเป็นสำคัญ

..........กลิ่นจากร่างกายบางกลิ่น มาจากของเสียซึ่งร่างกายคนธรรมดาสามัญจำเป็นต้องขับออกมา อย่างเช่นปัสสาวะที่เปื้อนผิวหนังหรือเสื้อผ้า กลิ่นจากร่างกายบางกลิ่นอาจมีสาเหตุมาจากความเจ็บไข้ได้ป่วยชนิดต่าง ๆ อาทิเช่น กลิ่น "ผลไม้" ที่กระจายออกมาจากผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานขั้นรุนแรง คนเหล่านี้จะมีสารอาซีโทน (acetone) อยู่ในลมหายใจ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตขั้นลุกลามจะมีกลิ่นตัวเหมือน "หนู" ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีควบคู่มากับการสั่งสมผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียเอาไว้ในในโลหิต สภาพการณ์เช่นนี้ ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รู้จักกันในนามของ "ยูเรเมีย" (uremia) ต้นเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นผิดปกติเนื่องจากความเจ็บไข้ได้ป่วย คือ การติดเชื้อ ซึ่งมีตั้งแต่ ฝี หนอง เรื่อยไปจนถึงสภาพแผลที่ทำให้เนื้อตายหรือเนื้อเน่า อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงเหล่านี้ แทบจะไม่สามารถดำเนินชีวิตตามกิจวัตรประจำวันเป็นปกติอย่างคนทั่วไปได้ หากมักจะต้องนอนแซ่วอยู่กับเตียง และมีบ่อย ๆ ที่ต้องอยู่แต่ในโรงพยาบาล

..........เหงื่อชนิดปกติธรรมดา จะไม่มีกลิ่นใด ๆ และมีส่วนประกอบเพียงน้ำกับเกลือ กลิ่นตัวชนิดที่เกิดขึ้นมาจากเหงื่อโดยทั่วไป เป็นกลิ่นซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการกระทำของสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว ที่สำคัญคือแบคทีเรีย ร่างกายของมนุษย์ทุกคนมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตามผิวหนังอยู่แล้ว แบคทีเรียเหล่านี้ เป็นตัวการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเหงื่อ ผลลัพธ์จากกระทำของแบคทีเรีย คือ สิ่งที่สร้างกลิ่นตัวขึ้นมา

..........ตามสภาพเงื่อนไขปกติธรรมดาแล้ว ความร้อน การออกกำลังกายและความตึงเครียดของประสาท เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ต่อมต่าง ๆ ทำงานผลิตเหงื่อออกมา ปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นรอง แต่ก็มีส่วน ได้แก่ อาหารที่ใส่เครื่องเทศมาก เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มชนิดร้อนจัด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่จัดว่าเป็นกรณีพิเศษอย่างอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง เหงื่อที่เกิดขึ้นเนื่องจากอากาศร้อนโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีความสัมพันธ์กับกลิ่นตัวเท่ากับปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นอกเสียจากว่าจะมีสาเหตุอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

..........ต่อมเหงื่อ ซึ่งเรามีกันคนละ 3 ล้านต่อม แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ ต่อม eccrine ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วพื้นผิวทั้งหมดของร่างกาย ต่อมเหงื่อประเภทที่ 2 คือ ต่อม apocrine ต่อมเหงื่อประเภทหลังนี้มีจำนวนน้อยกว่า โดยจะไปมีมากเป็นพิเศษในบริเวณแถว รักแร้ รอบหัวนม ในบริเวณอวัยวะเพศ และที่บริเวณซอกกลางระหว่างก้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอบ ๆ รูทวารหนัก เหงื่อที่ออกในบริเวณดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่มาจากการผลิตของต่อมแอโพครีน ทว่าก็มีส่วนที่ได้จากต่อมประเภทเอ็คครีนบ้างเหมือนกัน

..........กลิ่นตัวซึ่งกระจายออกมาจากเหงื่อ ส่วนใหญ่แล้ว ระเหยออกมาจากบริเวณที่ซึ่งแบคทีเรียซึ่งเป็นตัวสร้างกลิ่น ทำงานแข็งขันมากที่สุด บริเวณดังกล่าวนั้น คือ บริเวณที่ชื้น อุ่น ที่ซึ่งมีเหงื่อมาก อาทิเช่น ที่รักแร้ ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศและบริเวณซอกกลางระหว่างก้น บริเวณที่อุ่นและชื้นเหล่านี้เป็นบริเวณเดียวกับที่กิจกรรมของแบคทีเรียมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น บริเวณดังกล่าว จึงเกี่ยวข้องอยู่กับกลิ่นกายที่ไม่พึงปรารถนา การไม่รักษาสุขอนามัยที่ดีที่บริเวณทวารหนัก อวัยวะเพศ สามารถเกื้อหนุนให้เกิดแหล่งกำเนิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ ด้วยเหตุผลที่มองเห็นได้ชัดอยู่แล้ว

..........พัฒนาการของต่อมแอโพครีน (ที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ และรอบเต้านม) มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับการงอกของขนในบริเวณดังกล่าว ทั้งขนและต่อมที่บริเวณเหล่านี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนเพศ ดังนั้น กลิ่นตัวอย่างน้อยก็มีส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหงื่อจากต่อมแอโพครีน จึงแทบจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาให้แก่เด็กในวัยก่อนที่จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาว หรือในคนซึ่งถึงวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว อย่างไรก็ดี แม้ในคนกลุ่มอายุน้อยและที่อายุมากก็ยังมีเหงื่อประเภทที่เกิดจากต่อมเอ็คครีนอยู่ และบางคนอาจจะมีเหงื่อจากต่อมเหล่านี้มากเป็นพิเศษ หากว่าแบคทีเรียที่บริเวณรักแร้และทวารหนัก / อวัยวะเพศมีมาก หรือทำงานหนัก กลิ่นตัวจากต่อมเอ็คครีนก็อาจจะมีมากจนกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมาได้ บริเวณทวารหนักและอวัยวะเพศของคนทุกวัยทุกเพศเป็นแหล่งรวมของแบคทีเรียจำนวนมาก ซึ่งปกติแล้วเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในเส้นทางเดินอาหาร และเป็นตัวการในการสร้างกลิ่นซึ่งปกติแล้ว เกี่ยวข้องกับกลิ่นที่เกิดกับอุจจาระ

..........สตรีระหว่างมีประจำเดือนอาจจะรู้สึกว่ามีกลิ่นอับ ๆ เกิดขึ้น กลิ่นอับที่ว่านี้สามารถกำจัดได้ด้วยการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยขึ้นและทำความสะอาดโดยใช้น้ำและสบู่ธรรมดา ๆ

..........การควบคุมกลิ่นตัว มีหลายวิธีการที่ใช้กันอยู่ ทว่าไม่มีวิธีใด ที่ได้ผลเป็นที่พอใจได้อย่างเต็มที่ วิธีการควบคุมกลิ่นกายวิธีหลัก ๆ แบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. ควบคุมแบคทีเรีย
..........วิธีการนี้ น่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การอาบน้ำอย่างหมดจดและให้ความเอาใจใส่อย่างพิถีพิถันกับสุขอนามัยส่วนตัว เห็นได้ชัดว่าเป็นวิธีการที่จะลดจำนวนแบคทีเรียและปริมาณเหงื่อให้น้อยลง ยาระงับกลิ่นกายบางชนิดทำหน้าที่ยับยั้งการเติบโตหรือการกระทำของแบคทีเรียเป็นหน้าที่หลัก ยาระงับกลิ่นกายด้วยการควบคุมแบคทีเรียมีหลายแบบ ทั้งที่อยู่ในรูปของแอลกอฮอล์ชนิดที่ใช้ทา สบู่ และโลชั่นซึ่งมีอยู่ในเครื่องสำอางระงับกลิ่นกายที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป

2. ปกปิดกลิ่นกาย
..........วิธีการนี้เป็นที่ยอมรับกันมากกว่าทำด้วยการใช้สารแต่งกลิ่นที่มีกลิ่นรุนแรงกว่ากลิ่นกาย เป็นต้นว่าน้ำหอมชนิดต่าง ๆ ซึ่งทำจากสารที่มีกลิ่นมาก อย่างเช่น สารผสมเมนธอลหรือการบูร หรือผสมกลิ่นหอมสดชื่นจากพืช อย่างเช่นกลิ่นสนหรือไม้ใบไม้ดอกอย่างอื่น หรือสารแต่งกลิ่นชนิดที่เกี่ยวข้องกับสารปฏิชีวนะแรง ๆ อย่างเช่น ไลซอล (Lysol)

3. การลดปริมาณเหงื่อ
..........อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง คือการลดปริมาณเหงื่อ ซึ่งเท่ากับลดปริมาณของสารซึ่งแบคทีเรียจะสามารถนำเอาไปใช้สร้างกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาได้ สารระงับหรือขจัดเหงื่อบางอย่าง ยับยั้งกิจกรรมของแบคทีเรียได้ ทว่าหน้าที่หลักของมันคือการลดปริมาณเหงื่อที่ไหลออกมา ที่สำคัญคือเหงื่อที่บริเวณรักแร้หรือบริเวณทวารหนัก / อวัยวะเพศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น