ชื่อหนังสือ ทางสู้ แปลโดย สุริยฉัตร ชัยมงคล
ชื่อเดิม What to do when business is bad โดย Herbert N.Casson
ทำอย่างไร เมื่อค้าขายไม่ดี วิธีไหน ใช้แก้ปัญหา กำไรหด
คำนำ
..........นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อบรรดานักธุรกิจทั้งมวล
..........ในทุกประเทศ ต่างก็มี ปีทอง และ ปีที่ตกต่ำ
..........และในปีที่ตกต่ำนั้น ก็มีกลวิธีต่าง ๆ ที่กิจการทั้งใหญ่และเล็ก สามารถนำไปใช้ เพื่อความอยู่รอดได้
..........หนังสือเล่มนี้ มีจุดประสงค์สองชั้น คือ
..........(1) เพื่อชี้ชัดออกไปว่า นักธุรกิจนั้น ควรจะทำอย่างไร เมื่อกำไรไม่เป็นที่น่าพอใจ
..........(2) กระตุ้นเร้าให้ลงมือกระทำตามนั้น ด้วยความอุตสาหะ
..........ในการพิชิตความลำบากยากเข็ญ ในวงการธุรกิจนั้น...
..........เบื้องแรก ต้องมีความรู้
..........จากนั้น ก็ลงมือปฏิบัติ
..........หนังสือเล่มนี้ เอื้อความรู้ที่จำเป็น และก็มีส่วนของเนื้อหา ที่ปลุกกำลังใจ เพิ่มพูนความทะเยอทะยาน ใฝ่ฝัน และความเชื่อมั่นในตัวเอง
..........และช่วยให้เริ่มก้าวเดินไป บนถนนสู่ความสำเร็จ และความสุขสันต์
..........เมื่อธุรกิจตกต่ำ คนเราต้องลงมือกระทำ ในวิถีทางที่ประหยัด และให้ผลมากที่สุด ในอันที่จะเพิ่มยอดขาย
..........ต้องมีเงินเข้ามากขึ้น และเงินออกน้อยลง
..........ต้องทำรายการ "ทรัพย์ที่ถูกแช่แข็งไว้"
..........ทำทุกอย่าง ด้วยความมานะ ที่จะทำให้สถานะเงินสดของธุรกิจนั้น ๆ ดีขึ้น
..........ต้องอุดรอยรั่ว และความเสียเปล่า
..........ตัดพวกกาฝากทิ้งไป และส่งเสริมผู้ทำงานจริง และทำกำไรให้
..........ต้องทำตัวเป็นผู้ชำระสะสางชั่วขณะหนึ่ง
..........ทุกปี เราได้ยินเรื่องราวของบริษัท ที่ล้มละลาย แต่ไม่เคยรู้จำนวนบริษัท ที่จวนเจียนจะล้มละลาย...
..........กิจการจวนเจียนเหล่านี้ บางแห่ง จะพยายามดิ้นรนต่อสู้หรือเปลี่ยนแปลงการจัดการ และสามารถหนีพ้นจากสถานะอันตรายได้...
..........แต่ส่วนใหญ่ จะซวดเซไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งล้มไปในที่สุด
..........ส่วนใหญ่แล้ว ยังดำรงสภาพความเป็นผู้ไม่อาจสอนได้ ไว้จนถึงวาระสุดท้าย
..........แทบเรียกได้ว่า เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ที่จะช่วยเหลือพวกเขา
..........ถือเป็นกฏได้เลยว่า สามในสี่แห่ง ของกิจการที่ล้มเหลวนั้น สามารถป้องกันได้ โดยการลงมือกระทำอย่างรวดเร็วสักหน่อย
..........แม้ในช่วงปีทอง ก็ยังมีกิจการที่ประสบภาวะล้มละลายในอัตราสูง
..........ส่วนในช่วงปีตกต่ำนั้น ก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
..........นี่แสดงให้เห็นว่า ครึ่งหนึ่งของกิจการที่ล้มเหลว ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำนั้น มิได้มาจากสภาวะภายนอก...
..........แต่อยู่ที่การจัดการผิด ๆ
..........ทุกรายที่ล้มเหลว ในช่วงปีตกต่ำ จะตำหนิสภาพเศรษฐกิจ และมีเพียงครึ่งเดียวที่ถูกต้อง
..........อีกครึ่งหนึ่งนั้น แม้อยู่ในช่วงปีทอง ที่เฟื่องฟู ก็จะล้มเหลว เช่นกัน
..........สิ่งเลวร้ายที่สุด สำหรับธุรกิจหนึ่ง ๆ เมื่อกำไรลดลง ก็คือ
..........การปล่อยตัวเปะปะตามยถากรรม
..........ในช่วงเฟื่องฟูนั้น อาจทำได้...
..........แต่เมื่อกิจการตกต่ำลง ก็ต้องหยุดปล่อยตัวเปะปะทันที
..........ต้องมีความคิดริเริ่ม และกิจกรรมใหญ่หลวง
..........ลูกจ้างต้องกระทำมากขึ้น มิใช่น้อยลง
..........ต้องมีการเคลื่อนไหว ลุยไปข้างหน้า ภาวะตกต่ำ ต้องไม่ถูกปล่อยให้ลาม เข้ามา ภายในกิจการ
..........รถยนต์ อาจแล่นลงเนินได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน ...
..........แต่ปราศจากน้ำมันแล้ว มันไม่อาจแล่นขึ้นเนินได้
..........ธุรกิจก็เช่นกัน เมื่ออะไร ๆ เฟื่องฟู มันจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แทบเรียกได้ว่าเป็นอัตโนมัติเลยทีเดียว...
..........แต่เมื่อสภาวการณ์ ตกต่ำเลวร้ายลง - เมื่อมีคนขายมากกว่าคนซื้อ - จะไม่มีธุรกิจใด เคลื่อนไปข้างหน้าได้ เว้นแต่มีแรงผลักดัน
..........ซื้อน้ำมันเติมรถนั้นง่าย แต่การใช้กลวิธี ผลักดันธุรกิจให้เคลื่อนไปได้นั้น..... ไม่ง่ายนัก
..........ตัวอย่างเช่น ... การโฆษณา และ การฝึกอบรมพนักงาน ... มันต้องใช้ทั้ง เวลา และ เงิน
..........การเติมความกระตือรือร้น ลงในธุรกิจหนึ่ง ๆ - นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
..........ความกระตือรือร้นนั้นเริ่มขึ้นที่ระดับยอดของธุรกิจ และจะค่อย ๆ ไหลซึมลงสู่ระดับล่าง
..........การเคลื่อนธุรกิจขึ้นเนิน ด้วยความเร็วสม่ำเสมอ - นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย .... แต่สามารถทำได้ .... ดังที่แม่ไก่บอกกับลูก ๆ ของมันว่า
"เมื่อไส้เดือนหายาก เราก็ต้องขุดคุ้ยให้หนักมือขึ้น"
Herbert N.Casson
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น