วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก - เด็กเอาแต่ใจ...แก้อย่างไรดี

ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก - เด็กเอาแต่ใจ...แก้อย่างไรดี
คำถาม -
ดิฉันเป็นพี่เลี้ยงเด็กค่ะ มีเด็กคนหนึ่งที่เลี้ยงอยู่ เขาอายุ 3 ขวบ
เวลาโดนขัดใจเขาจะล้มทั้งยืนหัวฟาดพื้น
พอจับลุกก็จะทิ้งตัวลงไปใหม่ ไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไรคะ
คำตอบ -
การที่เด็กลงไปนอนดิ้น อาละวาดฟาดหางในลักษณะแบบนั้น
มีสาเหตุหลักอยู่ 2 ข้อ คือ
1. เกิดจากการเลี้ยงดูที่รักและตามใจเด็กมาก
ซึ่งเท่ากับฝึกเด็กให้อยากได้อะไรต้องได้
สุดท้ายเราก็จะได้เด็กคนหนึ่งที่เป็นเจ้าตัวร้าย อาละวาดเก่ง แผดเสียงได้ดังลั่นบ้าน
จนทำให้ทุกคนประสาทผวาไปหมด จนมีคนทนไม่ได้แล้ววิ่งมาเอาอกเอาใจหรือมายอมเด็ก

2. เรื่องการเรียนรู้นั้น เด็กเขาเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกว่าทำแล้วได้ผล
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีร้องไห้ ร้องไห้ระดับหนึ่งแล้วได้ไหม
หรือลงไปนอนดิ้นได้ไหม หรืออย่างเด็กรายนี้แหละค่ะ
ทำให้พี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ทนไม่ได้จึงยอมเด็ก ถ้าบางครั้งทำได้ผลบ้าง
บางครั้งไม่ได้ผลบ้าง เด็กก็ต้องลองทำอีก เช่น เด็กพยายามทำกับพ่อทุกครั้ง ๆ
ไม่เคยได้ผลเลย เด็กจะไม่อาละวาดกับพ่อ แต่เด็กทำกับแม่บางครั้งได้
บางครั้งไม่ได้ ก็จะทำพฤติกรรมนั้นต่อ เผื่อว่าจะได้ผล

วิธีการแก้ไขคือ
1. คุณจะต้องแก้ที่รากฐาน ดูว่าในบ้านใครเป็นคนตามใจบ้าง
คุณจะมีโอกาสคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กไหม เพราะถ้าไปคนละทิศละทาง
เช่น คุณย่าตามใจเยอะและมีอำนาจที่สุดในบ้าน แถมยังมีอิทธิพลด้วย
พ่อแม่ไม่กล้าขัดใจ สุดท้ายเด็กก็เสียค่ะ

เพราะฉะนั้นอยู่ที่ระดับผู้ใหญ่จะต้องคุยกันระหว่าง พ่อ แม่ คุณย่า พี่เลี้ยง
ว่าหากเลี้ยงไปในทิศทางของการตามใจจะยิ่งทำให้เด็กอารมณ์ร้อนและไม่ยั้งตัวเอง
ส่งผลให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นลำบากในอนาคต
จึงต้องค่อย ๆ ลดการตามใจลงจาก 100 เหลือ 80 หรือ 60 เป็นต้น
ถ้าจะไม่ให้ตามใจเลยคงทำได้ยาก ผู้ใหญ่ก็ทำใจยาก

2. ขณะที่เด็กกำลังอาละวาด แกก็หวังว่าจะได้รับความสนใจ
เพราะฉะนั้นวิธีการคือไม่ให้ความสนใจเลย เดินออกมา
ปล่อยให้อาละวาดไปสักระยะหนึ่ง ให้เด็กเรียนรู้ว่าทำแล้วไม่เกิดผล
พอแกเริ่มเหนื่อยแล้วคุณค่อยเข้าไปชี้ชวนเพื่อเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจสิ่งอื่น
วิธีนี้มักใช้ได้ผล

แต่ถ้าเข้าไปแล้วเด็กยิ่งอาละวาดมากขึ้น คุณต้องถอยออกมาก่อนค่ะ
ไม่ควรพูดแดกดันหรือพูดด้วยความโกรธ ขู่ว่าจะทิ้ง
เพียงแต่พูดว่าหนูยังโกรธอยู่ แม่เข้าใจว่าหนูอยากได้ของสิ่งนั้น แต่ให้ไม่ได้จริง ๆ แล้วจึงเดินออกมา

3. หมอเชื่อว่าเด็กไม่ได้อาละวาดตลอดเวลา ฉะนั้นขณะที่เด็กทำพฤติกรรมดี
คุณสามารถฝึกให้ยั้งอารมณ์ หัดช่วยตัวเองและใจเย็น ๆ
การฝึกแบบนี้ต้องหมั่นชมเชย อาศัยที่เด็กบ้ายอและอยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ
พฤติกรรมที่ดีของเด็กจะพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ๆ ไม่ใช่ทำดีทั้งวันไม่มีใครชม
แต่พออาละวาดทีหนึ่งทุกคนเข้ามาให้ความสนใจไปหมด
พฤติกรรมที่ไม่ดีก็จะเพิ่มขึ้นและไม่หายสักที

อยากให้พิจารณาด้วยว่าการที่เด็กทำพฤติกรรมอาละวาดฟาดหางแบบนี้
เป็นเพราะว่าคุณตามใจมากหรือเป็นเพราะว่าเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าคุณมักจะใจอ่อนเวลาที่เขาทำพฤติกรรมไม่ดี
**********************************
พ.ญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ จิตแพทย์เด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น