วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เลเซอร์โรคทางตา (ภาค 2)

เลเซอร์โรคทางตา (ภาค 2)

เลเซอร์ที่ใช้ในโรคทางตา ไม่เพียงแต่ช่วยในการวินิจฉัยโรคยากๆ แล้ว ยังช่วยในการรักษาโรคทางตาจำนวนมากด้วย โดยในตอนที่แล้วได้พูดถึงการวินิจฉัยโรคทางตาด้วยเลเซอร์ ตอนนี้จะมาคุยต่อว่าโรคทางตาใช้เลเซอร์รักษาอะไรบ้างครับ

นอกเหนือจากคุณสมบัติการสะท้อนแสงของเลเซอร์แล้ว แสงเลเซอร์ยังให้พลังงานความร้อนแก่เนื้อเยื่อที่ดูดซับพลังงานจนเกิดการเผาไหม้เนื้อเยื่อนั้น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติการระเบิดจนเนื้อเยื่อฉีกขาด ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำมาใช้รักษาโรคทางตาจำนวนมากครับ

เลเซอร์สลายพังผืดหลังเลนส์แก้วตาเทียม
ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกจะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่จะเกิดพังผืดหลังเลนส์แก้วตาเทียม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีตามัวลง ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อได้รับการยิงเลเซอร์ ลำแสงของเลเซอร์จะไปตัดพังผืดออกโดยไม่มีบาดแผลผ่าตัดใดๆ เลย ใช้ระยะเวลาสั้น ปลอดภัยกับผู้ป่วยด้วย

เลเซอร์รักษาภาวะเบาหวานจอตา
เป็นเลเซอร์ที่ใช้ในการยิงจอประสาทตา เพื่อลดจำนวนเซลล์ประสาทตาลงช่วยป้องกันไม่ให้เบาหวานจอตาเข้าสู่ระยะสุดท้าย หรือสูญเสียสายตาไป การยิงเลเซอร์ดังกล่าวต้องยิงประมาณ 2000 นัดต่อตา 1 ข้าง แพทย์จะนัดผู้ป่วยมายิงเป็นระยะจนครบจำนวนที่ต้องการ การยิงเลเซอร์ดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีการสูญเสียช่วงกว้างของการมองเห็น รวมถึงการมองเห็นในที่มืดก็จะแย่ลง

เลเซอร์เจาะรูม่านตาเพื่อแก้ไขภาวะมุมตาแคบ
เป็นการยิงเลเซอร์เพื่อให้เกิดรูที่ม่านตา รูดังกล่าวจะช่วยเปิดมุมตาและป้องกันต้อหินชนิดมุมปิดได้ครับ

เลเซอร์มุมตา
เป็นการยิงเลเซอร์บริเวณมุมตา ใช้ในผู้ป่วยต้อหิน เพื่อช่วยลดความดันตา

เลเซอร์ปิดรูฉีกขาดที่จอตา
เลเซอร์นี้มี 2 ชนิดครับ ชนิดแรกเป็นเลเซอร์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด ใช้คู่กับการผ่าตัดจอประสาทตา อีกชนิดเป็นเลเซอร์ที่ใช้ยิงในห้องตรวจ ซึ่งไม่ต้องมีแผลผ่าตัด หลักการของเลเซอร์ชนิดนี้จะทำให้เกิดแผลเป็นที่จอประสาทตา ช่วยยึดตำแหน่งที่ฉีกขาดไม่ให้หลุดลอกมากขึ้นอีก นอกจากนี้เลเซอร์ชนิดนี้ยังนำมายิงแก้ไขภาวะจอตาบวมด้วย

เลเซอร์เย็น หรือที่เรียกว่า PDT (Photodynamic therapy)
เป็นเลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาภาวะจอตาเสื่อมชนิดเปียก (wet AMD) หลักการของเลเซอร์นี้น่าสนใจครับ เพราะเลเซอร์ชนิดนี้จะออกฤทธิ์ได้ต้องมีการฉีดสารกระตุ้นเข้าไปในเส้นเลือดก่อน สารตัวนี้จะวิ่งไปที่ตาและไปจับกับผนังหลอดเลือดที่ผิดปกติ เมื่อฉายเลเซอร์ชนิดนี้ไป สารตัวดังกล่าวจะถูกกระตุ้นด้วยเลเซอร์และปล่อยสารที่เป็นพิษเพื่อทำลายเส้นเลือดบริเวณดังกล่าวได้ หลักการทำงานนี้ช่วยให้เกิดการออกฤทธิ์ตรงเป้าหมายมากที่สุดและกระทบเซลล์ข้างเคียงน้อยที่สุดด้วยครับ

เลเซอร์แก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง
เป็นการใช้เลเซอร์ในการตัด ฝานกระจกตาเพื่อให้เกิดการรวมแสงที่กระจกตาเปลี่ยนไปตามที่คำนวณไว้ เพื่อแก้ไขสายตาสั้น เอียง ยาว การแก้ไขดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่สามารถแก้ไขสายตาเอียงมากๆ ได้ ในรายที่สายตาสั้นมากต้องวัดความหนาของกระจกตาว่าสามารถตัดฝานเนื้อได้เพียงพอหรือไม่ ในรายที่สายตายาวก็มีข้อจำกัดของค่ากำลังสายตาที่จะแก้ไขด้วย ดังนั้นใครที่สนใจจะแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์จำเป็นต้องได้รับการตรวจละเอียด และต้องคุยกับจักษุแพทย์ว่าจะสามารถทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่ครับ

เลเซอร์ในการร่วมการผ่าตัดต้อกระจก
เป็นเทคโนโลยีใหม่ครับเพิ่งออกตัวปี 2011 นี้เองครับ เลเซอร์นี้ไม่ใช่ตัวรักษาหรือผ่าตัดต้อกระจกโดยตรงครับ แต่เป็นการร่วมรักษาในการผ่าตัดต้อกระจก หลักการคือใช้เลเซอร์ในการเปิดแผลผ่าตัด ตัดถุงหุ้มเลนส์ตา กรีดกระจกตาแก้ไขสายตาเอียง รวมถึงอาจแบ่งเนื้อต้อกระจกเป็นส่วนๆ ครับ หลังจากนั้นต้องใช้เครื่อง Ultrasound เข้าไปทำการสลายต้อกระจกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่าการผ่าตัดดังกล่าว เลเซอร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการผ่าตัดเพื่อทดแทนการใช้มีดในการลงแผลผ่าตัดเท่านั้น แต่ส่วนที่สำคัญคือการสลายต้อกระจกนั้นยังคงใช้ Ultrasound ในการสลายต้อกระจกอยู่ดี ส่วนผลการผ่าตัดนั้นเนื่องจากการผ่าตัดหลักยังคงเป็น Ultrasound ในการสลายต้อกระจกเหมือนกัน จึงทำให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกับวิธีปัจจุบัน โดยเฉพาะจักษุแพทย์ที่มีประสบการณ์ การใช้เลเซอร์นี้อาจไม่ช่วยให้การผ่าตัดแตกต่างขึ้นเลย ในทางการแพทย์เชื่อว่าจะมีการพัฒนาการใช้เลเซอร์ให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ในอนาคต

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการใช้เลเซอร์ในการรักษาตาจำนวนมาก เลเซอร์ไม่เพียงแต่ช่วยในการวินิจฉัย แต่ยังคงใช้ในการป้องกัน และรักษาโรคทางตาด้วย แต่ไม่ว่าเลเซอร์จะมีประโยชน์เพียงใด ก็ควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากเลเซอร์ด้วยเช่นกัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ศูนย์จักษุและต้อกระจก รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)

1 ความคิดเห็น: