วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านม

ผศ.แพทย์หญิง วิไลรัตน์ นุชประมูล คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล

โครงสร้างของเต้านมประกอบด้วยเนื้อเยี่อไขมัน ต่อมสร้างน้ำนมหรือกระเปาะน้ำนม และท่อนํ้านม มีระบบเลือดแดง เลือดดำ และระบบน้ำเหลือง ต่อมนํ้าเหลืองจะอยู่ด้านกลางทรวงอก และด้านข้างเต้านมบริเวณซอกรักแร้ทั้งสองข้าง โรคที่เกิดกับเต้านมมีหลายชนิด อาทิ พังผืด ถุงนํ้า การอักเสบเป็นฝี เป็นเนื้องอก และเป็นมะเร็ง เป็นต้น

มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ของเต้านมที่เติบโตอย่างผิดปกติโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมมักเกิดบริเวณท่อน้ำนม (Ductal carcinoma) และเยื่อบุกระเปาะนํ้านม (Lobular carcinoma) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก เกิดได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย แต่อุบัติการณ์ในเพศชายน้อยกว่ามาก โดยปกติเต้านม จะเปลี่ยนแปลงตามอายุ และช่วงระยะเวลาของรอบเดือน ก่อนมีรอบเดือนเต้านมจะเต่งตึง หลังมีรอบเดือนไปแล้วเต้านมจะแห้ง ในวัยหลังหมดประจำเดือน เต้านมจะนิ่มแห้งไม่เต่งตึง

สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น

1. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะญาติสายตรง (มารดา พี่สาวหรือน้องสาวที่เป็นมะเร็งเต้านม)

2. ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย (น้อยกว่า 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (อายุมากกว่า 55 ปี)

3. ผู้ที่ไม่มีบุตร หลังคลอดไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยนํ้านมตัวเอง หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมาก (มากกว่า 30 ปี)

4. ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทน เป็นเวลานานเกินกว่า 5-10 ปี

5. ผู้ที่ตรวจพบว่ามียีนมะเร็ง ที่เรียกว่า BRCA I, BRCA II อยู่ในร่างกาย

6. ผู้ที่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาแล้ว หรือเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูก รังไข่ และมะเร็งสำไส้ใหญ่

7. ผู้ที่อายุมากขึ้นมีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมมากขึ้น

8. ผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันและเนื้อสัตว์ในปริมาณที่สูง ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม

อาการของมะเร็งเต้านมอาจมาด้วยการมีก้อนเล็กๆ เกิดขึ้นบริเวณเต้านม ส่วนมากไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น บางชนิดทำให้เต้านมแข็งขึ้น หรือแบนเล็กลงได้ เนื่องจากธรรมชาติของมะเร็งจะกระจายทะลุทะลวงดึงยึดเนื้อเยื่อรอบข้าง จึงอาจดึงรั้งให้หัวนมบุ๋มเข้าไปจากระดับเดิม หรือทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมหยาบ ขรุขระเหมือนผิวส้ม บางรายถ้ากดบริเวณหัวนม จะมีน้ำเหลือง หรือน้ำเลือดไหลซึมออกมา เมื่อคลำด้วยฝ่านิ้วมือจะรู้สึกว่าผิวขรุขระ หากมะเร็งลุกลามแพร่กระจายจากตำแหน่งที่เริ่มต้นเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองบริเวณ รักแร้ หรือ ลุกลามเข้าหลอดเลือดสู่อวัยวะอื่นๆ ในระยะท้าย เนื้อมะเร็งบางส่วนจะเน่าตาย ทำให้เกิดเป็นแผลขยายวงกว้าง มีกลิ่นเหม็นจัด มีหนอง หรือมีเลือดไหลออกมาจากแผล ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ขึ้นกับว่าเป็นระยะไหนของโรคมะเร็ง

การตรวจมะเร็งเต้านม
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าหากเราสามารถตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งส่งผลให้การรักษาโรคมะเร็งได้ผลดี ดังนั้น การใส่ใจตรวจสุขภาพของตนเองจึงเป็นวิธีการที่ได้ผล หากตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้วไม่มั่นใจ ขั้นตอนต่อไปจึงพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมโดยผู้ที่เชี่ยวชาญกว่า หลังจากนั้นจึงตรวจละเอียดยิ่งขึ้นโดยวิธีที่มีความไวสูงขึ้นเพื่อการยืนยัน

1) การตรวจมะเร็งเต้านมต้วยตนเอง หากตรวจอย่างถูกวิธี จะสามารถตรวจพบความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคือวันที่ 7-10 ของรอบเดือน โดยให้นับวันแรกที่มีรอบเดือนเป็นวันที่หนึ่ง การตรวจอาจทำในท่ายืนหน้ากระจกเงา เพื่อสังเกตว่ามีความผิดปกติของเต้านมของตนเองหรือเปล่า เช่น ข้างใดข้างหนึ่งโตมากกว่าปกติ หรือมีรอยดึงรั้งของหัวนม หรือรอยบุ๋มบนผิวหนังเหมือนลักยิ้ม หรืออาจคลำได้ก้อน การตรวจในท่านอนหงายให้ยกแขนข้างที่ต้องการตรวจเต้านมหนุนศีรษะ แล้วใช้ฝ่านิ้วมืออีกข้างหนึ่งคลำโดยให้ตรวจทีละพื้นที่ของเต้านมอย่างเป็นระบบอาจแบ่งพื้นที่เต้านมเป็น 4 ส่วน ใช้หัวนมเป็นศูนย์กลาง

2) การถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เป็นการตรวจคัดกรองที่สามารถค้นหาก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งที่มีขนาดเล็กมาก เป็นวิธีการตรวจที่มีความไวสูงกว่าการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ เพี่อให้การตรวจมีประสิทธิภาพสูง ควรเตรียมตัวเองก่อนเข้ารับการตรวจดังนี้ ไม่ควรใช้แป้งฝุ่นโรยตัวก่อนตรวจ หรือใช้ลูกกลิ้งระงับกลิ่นกาย เพราะสิ่งเหล่านี้มีสารเคมีที่รบกวนภาพถ่ายเอกซเรย์ ทำให้การวินิจฉัยยากขึ้นหรือผิดพลาด

Mammogram: เป็นวิธีการตรวจมะเร็งเต้านมโดยการเอกซเรย์เต้านมจากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ที่ให้พลังงานต่ำ จึงทำได้บ่อย และอันตรายค่อนข้างน้อยมาก

วิธีการ: ผู้ป่วยจะต้องถอดเครื่องแต่งกายท่อนบน และยืนให้ตัวเต้านมข้างหนึ่งวางบนแผ่นของเครื่อง ขณะที่อีกแผ่นหนึ่งจะถูกเลี่อนลงมาบีบเต้านมเพื่อถ่ายภาพ แผ่นอุปกรณ์สำหรับบีบเต้านมให้ค่อนข้างแบน เพี่อให้ภาพที่ออกมาชัดเจน และสามารถวินิจฉัยได้ อาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดได้บ้าง ในบางคนอาจบ่นว่าเจ็บโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถ่ายภาพในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือนมาประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะช่วงนี้เต้านมจะค่อนข้างคัดตึง ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การตรวจ mammogram เพียงอย่างเดียวมีโอกาสพลาดได้ 10% ดังนั้นจึงควรมีการตรวจร่างกายด้วยตนเอง และโดยแพทย์ร่วมด้วย

3) การตรวจเต้านมด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตราชาวนด์ (Ultrasound) เป็นการส่งคลี่นเสียงความถี่สูงผ่านผิวหนังเข้าไปสะท้อนเนื้อเต้านม แล้วกลับมาสู่ตัวรับคลื่นซึ่งนำคลื่นสะท้อนขึ้นมาสะท้อนเป็นภาพบนจอ วิธีตรวจนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเต้านมแน่นตึง สามารถวินิจฉัยว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นถุงน้ำ เนื้องอกหรือมะเร็ง กล่าวคือวิธีนี้สามารถแยกว่าก้อนนั้นเป็นของแข็งหรือของเหลว

กรณีการตรวจคัดกรอง พบว่ามีก้อนที่เต้านมซึ่งสงสัยว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาแพทย์จะนัดตรวจติดตามทุก 6 เดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี หากก้อนดังกล่าวไม่โตขึ้นในลักษณะมะเร็ง ก็เลิกตรวจติดตาม แต่ให้ไปเข้าโปรแกรมตรวจคัดกรองปีละหนึ่งครั้งตามปกติ แต่ถ้าการตรวจคัดกรองพบว่ามีก้อนที่เต้านม ซึ่งสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วย การตัดชิ้นเนื้อตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

วิธีการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี การจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดขึ้นกับปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็ง ระยะของโรค อายุ และสภาพความพร้อมของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้น การรักษาอาจใช้วิธีการเดียวหรือใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ทั้งนี้เพราะแต่ละวิธีมีความมุ่งหมายที่ต่างกัน แต่เมื่อใช้ร่วมกัน จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

1) การผ่าตัด 
เป็นการรักษามะเร็งเต้านมเฉพาะที่เหมาะสำหรับกรณีที่มะเร็งเต้านมยังอยู่ในระยะเริ่มแรก ถ้าไม่พบการแพร่กระจายไปที่อื่น การรักษาโดยการผ่าตัดก็จะได้ผลดีที่สุด การผ่าตัดอาจตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีบางส่วนที่อยู่รอบๆ มะเร็งร่วมกับการเลาะเอาต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้ออก หากพบว่าต่อมน้ำเหลืองมีการกระจายของเซลล์มะเร็ง ก็จะมีการฉายรังสีตามหลังการผ่าตัดด้วย เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ
การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก เพี่อนำมาตรวจหาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ช่วยให้การวินิจฉัยระยะของโรคมะเร็งแม่นยำมากขึ้น แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและพยากรณ์โรคของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2) การฉายรังสี 
เป็นการรักษาเฉพาะที่เพื่อป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็ง จึงมุ่งหวังผลเพื่อการควบคุมโรคมะเร็ง

3) การให้เคมีบำบัด 
มีวัตถุประลงค์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ หรือเซลล์มะเร็งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจึงมักใช้วิธีให้เคมีบำบัดตามหลังวิธีการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกไปแล้ว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค หรือระยะปลอดโรคยาวนานที่สุด

4) การให้ยาต้านฮอร์โมน 
ยาที่ให้ต้านฮอร์โมนจะช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งจับกับฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงเป็นการป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

5) การใช้ยาเจาะจงเป้าหมาย (Targeted Therapy) 
เช่น ยาต้านเฮอร์ทู (HER 2/neu) ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่โรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว

การดูแลรักษาตนเองหลังการผ่าตัด

1. ควรเข้ารับการตรวจตามที่แพทย์นัดอย่างสมํ่าเสมอ

2. พบแพทย์ก่อนวันนัด หากพบว่ามีอาการปวด บวม แดง หรือเกิดแผลพุพองติดเชื้อ

3. หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลทั้งจากการทำงานบ้านปกติ การฉีดยา หรือการเจาะเลือดแขนข้างที่ผ่าตัด

4. หลีกเลี่ยงการถูกแรงกดรีดหรือบีบรัด เช่น เสื้อผ้ารัด หรือเครื่องประดับ นาฬิกา สร้อยข้อมือที่รัดแน่นเกินไป

5. ผู้ป่วยที่มีความร้สึกสูญเสียภาพลักษณ์ อาจใช้เต้านมเทียมขณะใส่เสื้อยกทรงเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเข้าสังคม

6. ปัญหาอื่น อาทิ อาการชาหรือบางครั้งมีอาการปวดร่วมด้วย ณ บริเวณที่ผ่าตัด หรือชาบริเวณท้องแขนด้านใน อาจใช้วิธีการนวดเบาๆ

การป้องกันตนเองให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม
แม้ว่ามะเร็งจะเกิดจากพันธุกรรม แต่ก็เป็นเพียงร้อยละ 30 ที่เหลืออีกร้อยละ 70 เป็นสิ่งที่ท่านสุภาพสตรีสามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ การงดอาหารไขมันสูง การควบคุมนํ้าหนัก การเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายสมํ่าเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น