เรียนรู้แพทย์แผนจีน เรื่อง สุขภาพดีกับแพทย์แผนจีน (1)
พจ.โสรัจ นิโรธสมาบัติ
คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
การดูแลสุขภาพทุกเพศทุกวัยล้วนต้องให้ความสำคัญกับ 4 อ. ซึ่งก็คือ
อาหาร - กินแต่พอดี
อากาศ - บริสุทธิ์
ออกกำลังกาย และ
อารมณ์ดี
ทางการแพทย์แผนจีนก็เช่นเดียวกัน ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซี ทรงครองราชย์นานถึง 61 ปี พระองค์ดูแลสุขภาพโดยจะไม่พึ่งยาบำรุง แต่ให้ความสำคัญในเรื่องอาหาร เสวยอาหารที่มีประโยชน์ รสอ่อนและย่อยง่าย ในปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 57 พรรษา มีขุนนางเห็นเคราขางเพียงไม่กี่เส้น ก็เสนอให้พระองค์เสวยยาบำรุงตับและไต พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเกินความจำเป็น จึงปฏิเสธเสวยยาบำรุงเหล่านั้น จักรพรรดิคังซีไม่ทรงสูบบุหรี่ และไม่ทรงดื่มสุรา พระองค์โปรดการเขียนพู่กันจีน เป็นการผ่อนคลายอารมณ์ ทรงโปรดปลูกพืชผัก และทรงม้ายิงธนูเป็นการออกกำลังกาย
การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับธรรมชาติอย่างยิ่ง เห็นว่ามนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ มนุษย์ควรใกล้ชิดกับธรรมชาติ ปฎิบัติตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น หายใจในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ รับประทานผักสดที่ได้จากธรรมชาติมากที่สุด ออกกำลังกายกลางแจ้ง มีสภาพจิตใจที่เบิกบานและเรียบง่าย หากวิถีชีวิตเราฝ่าฝืนกฎธรรมชาติ มนุษย์ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยเหตุนื้หลักการรักษาของการแพทย์แผนจีน จึงให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค ชึ่งก็คือ การดูแลสุขภาพ ในคัมภีร์จักรพรรดิเหลืองถึงกับบันทึกไว้ว่า "หมอชั้นเลิศต้องสามารถรักษาคนไข้ก่อนป่วยได้" และเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน จีนก็มีนักโภชนาการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
หลักในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ประกอบด้วย 7 วิธีด้วยกัน คือ
1. ปรับสมดุลอินหยาง
สามารถทำได้จากการปรับสภาพจิตใจ อาหาร วิถีความเป็นอยู่ การออกกำลังกาย
2. ปรับการทำงานของอวัยวะภายใน
ให้ประสานงานกันด้วยดี และปรับตัวอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมได้ เช่น ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนให้เลี้ยงพลังหยาง ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวให้เลี้ยงพลังอิน ดูแลความสมดุลของ 5 ธาตุ (ไม้ ไฟ ดิน ทอง น้ำ) ดูแลระบบการย่อย และระบบขบถ่าย
3. ป้องกันเส้นลมปราณอย่าให้อุดตัน
ด้วยการออกกำลังกาย ฝึกชี่กง มีอารมณ์เบิกบาน รับประทานอาหารที่มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด หรือปรับการไหลเวียนของลมปราณ เช่น ดอกคำฝอย ตังกุย เปลือกส้มแห้ง ถั่วดำ เป็นต้น หากมีการอุดตันของเส้นลมปราณ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดและลมปราณติดขัด นำมาซึ่งการเจ็บป่วย
4. เก็บรักษาสารจำเป็น (จิง)
ในร่างกาย โดยการมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสม ตามวัย
5. ฝึกจิตให้สงบ
ทำสมาธิ ลดตัณหา
6. ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คงไว้ซึ่งการทำงานทางสรีระที่ปกติ เช่น เมื่อถึงฤดูฝน ควรป้องกันความชื้นและเชื้อรา ฤดูหนาว ควรให้ร่างกายอบอุ่น
7. ปรับการไหลเวียนของลมปราณให้สมดุล
ในคัมภีร์จักรพรรดิเหลืองได้เอ่ยไว้ว่า "ร้อยโรคเกิดจากลมปราณ (ชี่)'' เช่น ลมปราณไหลย้อนขึ้นทำให้เกิดการไอ เรอ อาเจียน ลมปราณจมอยู่ด้านล่าง ทำให้ท้องเดิน
การดูแลสุขภาพของชาวจีนโบราณ เน้นให้มนุษย์สัมผัสกับธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ นํ้าไหลปลาไม่เน่า มนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน หากนั่งอยู่นานๆ ไม่เคลื่อนไหวเลย ย่อมทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย เช่นร้อนใน ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังคอและเอว การดูแลสุขภาพของการแพทย์แผนจีน ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ซึ่งเราจะนำมาเล่าต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น