วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รอบรู้สมุนไพร เรื่อง อัคคีทวาร อ้าส่วย...ดอกสวย บำรุงสุภาพสตรี


รอบรู้สมุนไพร เรื่อง อัคคีทวาร อ้าส่วย...ดอกสวย บำรุงสุภาพสตรี

ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร

อัคคีทวารเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก สูง 2-3 เมตร เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากดอกที่ออกเป็นช่อมีความงามเกินบรรยาย

อัคคีทวารเป็นสมุนไพรเก่าแก่ที่หมอยาทุกภาครู้จัก ใช้ได้ทั้งเป็นอาหารและยา หมอยาไทยใหญ่เรียกอัคคีทวารว่า "อ้าส่วย" และมีความเชื่อว่าถ้าผู้หญิงกินอัคคีทวารทุกวันจะทำให้ผิวสวย ซึ่งภูมิปัญญาการกินอัคคีทวารเป็นอาหารของชาวไทยใหญ่นั้นตรงกับคนอีสานที่จะนำช่อดอก มาหมกไฟหรือย่างกินกับซุปหน่อไม้ หรือไม่ก็ปรุงเป็นหมกหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ที่น่าแปลกคือ ช่อดอกเมื่อทำสุกแล้วยังมีรสชาติเหมือนกินสดๆ อัคคีทวารยังเป็นสมุนไพรที่ปรากฎในตำราอายุรเวท และมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในอินเดีย

ความรู้พื้นบ้านของไทยและอินเดียกล่าวตรงกันว่าอัคคีทวารออกฤทธิ์ต่อหลายระบบในร่างกาย คือ ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับลม รักษาอาการเบื่ออาหาร แก้ปวดเกร็งในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน รักษาริดสีดวงทวาร และจากการที่รากอัคคีทวารมีรสขมร้อนทำให้อัคคีทวารมีลรรพคุณช่วยทำให้เสมหะแห้ง จึงนำมาใช้ในระบบทางเดินหายใจได้ดีด้วย เช่น แก้หอบหืด ไอ ริดสีดวงจมูก (อาการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก) อาการแพ้อากาศและใช้ลดไข้ได้อีกด้วย แต่ข้อบ่งใช้ที่นิยมใช้มากที่สุดในประเทศไทย คือ การใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร อย่างยาผสมเพชรสังฆาตของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็มีส่วนผสมของอัคคีทวาร เนื่องจากอัคคีทวารมีสรรพคุณลดการอักเสบของหัวฝี และเป็นยาระบายอ่อนๆ

ในส่วนของอินเดียนั้นประโยชน์ที่มีการใช้มาก คือ การใช้เป็นยากินแก้อาการทางระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นหวัด หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือแม้กระทั่งวัณโรค กล่าวกันว่า อัคคีทวารมีสรรพคุณช่วยละลายเสมหะ โดยอาจจะใช้เดี่ยวๆ หากเป็นไม่มากหรือผสมกับยาอี่น ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าอัคคีทวารมีฤทธิ์ต้านการแพ้ ลดการอักเสบ ต้านฮิลตามีน ต้านการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ฆ่าเชื้อโรค ขับลม สารสกัดเอทานอลของรากอัคคีทวารมีฤทธิ์ลดการปวด ลดการอักเสบและลดไข้ในสัตว์ทดลอง รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพด้วย

อัคคีทวารเป็นลมุนไพรที่คนไทยและอินเดียรู้จักกันมานานนับพันปี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมายเป็นผัก เป็นยา เป็นไม้ประดับ ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงอย่างนี้สมควรที่จะนำภูมิปัญญาของไทย กลับมารับใช้สังคมอีกครั้ง ส่วนจะเลือกใช้ตามไทยหรืออินเดียก็ไม่ว่ากัน เพราะเมื่อมองในภาพรวมแล้วสรรพคุณต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้ก็ไม่ต่างกัน และคงไม่น่าแปลกใจว่าหากใช้ไม่ได้ผล ทั้งบรรพบุรุษไทยและอินเดียคงไม่บันทึกไว้ใกล้เคียงกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น