วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง-การรักษาอาการปวดหลัง

ปวดหลัง-การรักษาอาการปวดหลัง

เนื่องด้วยอาการปวดหลังนั้นเป็นอาการที่เกิดกับผู้คนจำนวนมากมาย และมีคนเป็นกันมานานแสนนานแล้ว อีกทั้งอาการก็มักจะไม่รุนแรงมากนัก เข้าทำนองรักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย (แล้วก็กลับเป็นอีก) หรือแม้จะทำการรักษาผิดพลาดไปบ้างก็ไม่หนักหนาถึงตาย (แต่ที่ถึงพิการนั้นมีเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว) ดังนั้นจึงมีผู้มาเข้าร่วมวงการในการรักษาอาการปวดหลังกันมาก มีตั้งแต่หมอพื้นบ้านที่รักษาด้วยการบีบ ๆ นวด ๆ ไปจนถึงแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่รักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าจะลองแยกแยะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาอาการปวดหลังที่มีอยู่ในประเทศไทยก็จะมี

1. ศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคส์ (orthopedic surgeon) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำการรักษาโรคอันเกี่ยวกับกระดูก เอ็น ข้อ และกล้ามเนื้อ ตลอดจนโรคที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งหมด การรักษานั้นอาจทำด้วยการผ่าตัด หรือไม่ผ่าตัดก็ได้ ในประเทศที่เจริญแล้วมักจะแยกลงไปชำนาญกันเฉพาะอวัยวะทีเดียว เช่น ชำนาญเฉพาะเรื่องเท้า รักษาแต่โรคของเท้าอย่างเดียวไม่รับรักษาอย่างอื่น (แต่ยังไม่ถึงกับแยกเป็นเท้าซ้ายหรือเท้าขวา หรือชำนาญเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า แต่ในอนาคตอาจถึงอย่างนั้นก็ได้) หรือชำนาญเฉพาะเรื่องเข่า เรื่องหลัง เรื่องมือ เป็นต้น ในประเทศไทยเราเวลานี้ก็มีผู้ที่แยกรักษาเฉพาะส่วนของร่างกายมากขึ้น ทำให้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้น ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ส่วนมากมักจะยังไม่ยอมทิ้งการรักษาในส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะยังมีผู้ป่วยในประเทศไทยเราไม่น้อยที่มีความคิด หรือความเชื่อว่า หมอที่เก่งจริงนั้นจะต้องรักษาได้ทุกอย่าง ใครที่ทำเฉพาะอย่าง แทนที่จะคิดว่าเก่งหรือชำนาญกลับกลายเป็นหมอที่ไม่เก่งไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากในประเทศไทยเราเริ่มมีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะอวัยวะบ้างแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยที่คิดจะไปหาผู้ชำนาญด้วยตนเอง ควรต้องทราบด้วยว่าแพทย์ผู้นั้นชำนาญในอวัยวะส่วนใด เช่น ถ้าปวดหลังก็ไม่น่าจะไปหาผู้ที่ชำนาญเฉพาะทางมือเป็นต้น

2. ศัลยแพทย์ทางระบบประสาท (neurosurgeon) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นกัน เนื่องด้วยอาการปวดหลังนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอยู่มาก โดยเฉพาะกรณีที่มีการกดเบียดไขสันหลัง หรือรากประสาทไขสันหลัง ดังนั้นศัลยแพทย์ทางระบบประสาทจึงทำการรักษาผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่หากตรวจแล้วพบว่าอาการปวดหลังนั้นมิได้เกี่ยวกับระบบประสาทเลย แพทย์กลุ่มนี้ก็มักจะไม่รับรักษา

3. อายุรแพทย์ทางระบบประสาท (neurologist) เป็นแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทที่ทำการรักษาทางยา ไม่ใช่ด้วยวิธีผ่าตัด หากตรวจพบว่าต้องทำการผ่าตัด ก็จะส่งต่อให้แพทย์ในกลุ่มที่ 1 หรือ 2 ทำการผ่าตัดต่อไป

4. แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ (physiatrist) เป็นแพทย์เฉพาะทางเช่นกัน ทำการฉีดยาเข้าข้อได้ แต่ไม่ทำการผ่าตัด ส่วนมากจะทำการักษาทางยา ร่วมกับทางกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อน ความเย็น หรือเครื่องมือทางไฟฟ้า เช่น คลื่นแสง คลื่นเสียง ตลอดจนการดัดนวด กดจุด และการออกกำลังกาย เป็นต้น

5. แพทย์ฝังเข็ม (acupuncturist) นับตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่เปิดการติดต่อกับต่างประเทศเรื่องของการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มก็ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราก็มีแพทย์แผนปัจจุบันที่สนใจในเรื่องนี้อยู่หลายคน บางคนได้เดินทางไปดูงานด้านนี้จากประเทศจีน และกลับมาทำการรักษาได้ผลน่าพอใจ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด เช่น ปวดหลัง อย่างไรก็ตามควรต้องระวังในพวกที่ไม่ใช่แพทย์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการติดเชื้อ เนื่องจากความไม่สะอาดในการทำได้ อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังไว้เสมอก็คือ ต้องแน่ใจว่าไม่มีโรคร้ายอย่างอื่นที่เป็นสาเหตุของการปวดหลังอยู่ด้วย การไปหลงฝังเข็มจนโรคร้ายที่มีอยู่ลุกลามไปมากนั้นเป็นสิ่งที่พบได้เป็นครั้งคราว

6. แพทย์ทางเวชปฏิบัติทั่วไป (general practitioner) เนื่องด้วยเป็นแพทย์ที่รักษาโรคโดยทั่ว ๆ ไป จึงสามารถรักษาผู้ที่มีอาการปวดหลังได้ แท้จริงแล้วผู้ที่มีอาการปวดหลังควรที่จะพบแพทย์กลุ่มนี้ก่อน เพราะมักจะเป็นแพทย์ที่รักษากันเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นผู้ที่รู้สภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยเป็นอย่างดี หากแพทย์กลุ่มนี้เห็นว่าอาการปวดหลังนั้นเหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำการรักษาเองได้ ก็จะส่งต่อไปให้ผู้ที่เห็นสมควรต่อไป ดีกว่าที่ผู้ป่วยจะไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรงมากทีเดียว

7. นักกายภาพบำบัด (physical therapist) ประเทศไทยเรามีโรงเรียนกายภาพบำบัดมานานกว่า 20 ปีแล้ว และได้ผลิตนักกายภาพบำบัดระดับปริญญาตรีออกมาจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันนี้มีการสอนถึงระดับปริญญาโทด้วย นักกายภาพบำบัดเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญในการรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างครบถ้วน ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับแพทย์กลุ่มต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

8. หมอนวดแผนโบราณ พวกนี้มีอยู่คู่บ้านคู่เมืองกับชาวไทยมานานแล้ว ชาวบ้านทั่วไปมักจะเรียกใช้กันอยู่เสมอ เพราะหาง่ายและราคาไม่แพง แต่ผู้เขียนทราบมาว่า หมอนวดมือชั้นครูนั้นค่ารักษาแพงมากเหมือนกัน หมอนวดแผนโบราณนี้มีอยู่หลายระดับ มีทั้งที่ผ่านโรงเรียน และที่ฝึกหัดกันเองโดยไม่ผ่านโรงเรียน การนวดประเภทนี้ หากผู้ทำไม่มีความรู้ หรือทำผิดวิธี อาจเกิดอันตรายได้ เช่น การดัดหลังให้แอ่นมากเกินไปในผู้ที่มีโรคของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือการขึ้นไปยืนเหยียบบนตัวผู้ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็มีมาแล้ว

9. หมอพระ หมอน้ำมัน หมอน้ำมนต์ และหมอเล่นกล ซึ่งขอรวมไว้ในกลุ่มเดียวกัน พวกนี้อาจใช้วิธีเล่นกล เช่น การทำพิธีเป่าเสกเอาตะปู (ที่สนิมเขรอะ) หรือปอยผมออกมาจากตัวผู้ป่วยแล้วอาการปวดหลังก็หายไป หรือใช้วิธีอาบน้ำมนต์ หรือใช้น้ำมันซึ่งมีทั้งน้ำมันเย็นและน้ำมันร้อน (เดือด) พ่นลงที่หลัง หรือใช้ทาถู ซึ่งผลของการรักษาวิธีนี้บางครั้งก็ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และทำเอาแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอายมาแล้ว แต่หากเราจะทราบว่าอาการปวดหลังนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเครียดทางอารมณ์ หรือจากความกลัดกลุ้ม หรือเป็นปัญหาทางจิตใจ การรักษาที่ได้ผลดีของหมอกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร

10. หมอตี๋ คือผู้ที่ฟังอาการแล้วจ่ายยาชุดให้ไปรับประทาน พวกนี้นับเป็นพวกที่มีอันตรายมากที่สุด เพราะยาชุดแก้ปวดเมื่อยเหล่านี้ ส่วนมากจะมียาอันตรายอยู่ด้วย เมื่อผู้ปวดหลังรับประทานแล้วมีอาการดีขึ้นก็มักจะไปซื้อมารับประทานกันบ่อย ๆ ทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงกว่าอาการปวดหลังมากทีเดียวที่ถึงกับกระเพาะอาหารทะลุก็มี

สำหรับในต่างประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ มีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษาอาการปวดหลังอีกหลายพวกเช่น

11. ออสตีโอแพธส์ (Osteropaths หรือ osteopathic physician) พวกนี้ใช้วิธีที่เรียกว่า manipulation เป็นส่วนใหญ่ คือ การใช้มือเพื่อ บีบ นวด คลึง ดึง ดัด หรือกด บนผิวหลัง กล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก ความจริงวิชานี้เริ่มในสหรัฐอเมริกามานานแล้วกว่าร้อยปีแล้ว โดย A.T.Still จากรัฐมิสซูรี ปัจจุบันนี้ถือว่าพวกนี้เป็นแพทย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องเรียนหนักและเรียนนานเช่นเดียวกับแพทย์สาขาอื่น เมื่อจบก็จะได้รับปริญญาเป็น Doctor of Osteopathy และใช้ตัวย่อว่า D.O. คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพวกนี้มีศักดิ์ศรีและภูมิความรู้น้อยกว่าแพทย์ ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป แพทย์ออสตีโอแพธส์ที่เก่ง ๆ นั้น สามารถรักษาโรคทางกระดูกได้ดีทีเดียว แพทย์เหล่านี้มีสิทธิ์สั่งยาเพื่อรักษา ตลอดจนทำการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนได้ จากสถิติเมื่อ พ.ศ.2524 ในสหรัฐอเมริกามีแพทย์ประเภทนี้อยู่ราวร้อยละ 5 ของแพทย์ทั้งหมด และในบางรัฐได้ยอมให้ใช้อักษรย่อปริญญาต่อท้ายชื่อว่า M.D. เช่นแพทย์อื่น ๆ แล้วก็มี ในประเทศอังกฤษมีโรงเรียนที่เรียกว่า British School of Osteopathy ในประเทศไทยเราก็มีนักกายภาพบำบัดที่ไปศึกษาต่อจากประเทศอังกฤษ และสนใจในเรื่องนี้ เมื่อกลับมาก็ได้ใช้วิธีแมนิพูเลชั่นทำการรักษาผู้ที่ปวดหลังและคอ

12. ไคโรแพรคเตอร์ (Chiropractor) พวกนี้ใช้วิธีแมนิพูเลชั่นคล้ายกับพวกออสตีโอแพธส์ แต่การเรียนนั้นไม่ถึงขั้นปริญญา พวกนี้จึงไม่มีปริญญาทางการแพทย์ และไม่สามารถที่จะสั่งยา หรือทำการผ่าตัดใด ๆ ทั้งสิ้น พวกนี้มีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า ความผิดปกติของกระดูกสันหลังของคนเรานั้น ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ หรือเกิดโรคได้มากมาย ดังนั้นหากเราสามารถกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้กระดูกเหล่านี้เข้าที่เข้าทางอย่างถูกต้องแล้ว อาการหรือโรคต่าง ๆ ก็จะหายไปได้ การกดจุดหรือ acupressure เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งของหมอพวกนี้ และอาจถึงขั้นฝังเข็มร่วมด้วยก็ได้ พวกไคโรแพรคเตอร์เหล่านี้มีสมาคมของตนเองทั้งในระดับประเทศ เช่น American Chiropractic Association หรือระดับระหว่างประเทศคือ International Chiropractic Association ในสหรัฐอเมริกาที่กำลังนิยมการวิ่งกันมากมายนี้ มีนักวิ่งที่เจ็บแข้งเจ็บขาไปให้ไคโรแพรคเตอร์รักษากันไม่น้อย ประเทศไทยเราก็มีนักกายภาพบำบัดที่ไปเรียนวิธีรักษาเช่นนี้มา ผู้เขียนเองยังได้เคยเข้าชมการสาธิตของเธอที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ไม่ทราบว่าเธอได้นำวิชานี้มาใช้ในประเทศไทยอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะดูเหมือนจะมีเรื่องของกฎหมายประกอบโรคศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

13. Pain clinic หรือ center for pain relief ซึ่งปัจจุบันนี้มีเกิดขึ้นมากทั้งในสหรัฐอเมริการและยุโรป ความจริงในประเทศไทยก็มีแทรกอยู่บ้างตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ สถานที่เหล่านี้จะรับรักษาอาการปวดทุกชนิด ซึ่งรวมถึงอาการปวดหลังด้วย และอาจดำเนินการโดยแพทย์หลายสาขา อาทิ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ ตลอดจนจิตแพทย์ วิธีการรักษาจึงมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ผ่าตัด ใช้ยารับประทาน ฝังเข็ม สะกดจิต ตลอดจนถึงใช้วิธี biofeedback และการกระตุ้นปลายประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าผ่านทางผิวหนัง (transcutaneous electrical nerve stimulation หรือ TENS)

แม้จะมีผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาอาการปวดหลังอยู่มากมายหลายกลุ่ม และมีกรรมวิธีในการรักษามากมายก็ตาม แต่วงการแพทย์ในปัจจุบันนี้ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า ใครจะเป็นผู้รักษาก็ตามหรือจะรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม หากต้องการให้ได้ผลจากการรักษาดีที่สุด หรือป้องกันไม่ให้กลับมาปวดหลังได้อีกนั้น จำต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญยิ่ง 4 ประการคือ

1. ระมัดระวังการจัดท่วงท่า หรือท่าทางในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง

2. พยายามขจัดอารมณ์เครียด ซึ่งเกิดขึ้นเสมอกับมนุษย์ในยุคนี้ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แม้จะทราบว่าเป็นการยากที่จะขจัดให้หมดไปได้ แต่ต้องพยายามให้เหลือน้อยที่สุด และอย่าให้ติดอยู่ในอารมณ์นาน ๆ

3. รับประทานอาหารแต่เพียงพอดี เพื่อมิให้เกิดภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน เพราะเมื่ออ้วนแล้วก็จะลงพุง ซึ่งการลงพุงนั้นมีผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของหลังเป็นอย่างมาก ดังได้กล่าวมาแล้ว คนที่ลงพุงนั้นก็คล้ายกับหญิงมีครรภ์ แต่จะแย่กว่ามากตรงที่เป็นครรภ์ที่ไม่รู้จักคลอดสักที โครงสร้างของหลังจึงต้องรับภาระหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เรื่องของภาวะอ้วนกับการปวดหลังนี้ ถึงกับมีคำกล่าวว่า "Running up your weight can running down your back" ซึ่งผู้เขียนอยากจะขอแปลเอาความว่า "ยิ่งน้ำหนักตัวเพิ่ม ยิ่งซ้ำเติมให้ปวดหลัง"

4. การออกกำลังกายด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ต่อผู้ปวดหลัง และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังด้วยเหตุสำคัญ 3 ประการคือ

ประการแรก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั้นจะทำให้ไม่อ้วน แม้บางครั้งจะรับประทานมากเกินไปบ้าง แต่เมื่อได้ออกกำลังกายเสียแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลือที่จะไปสะสมเป็นไขมันได้

ประการที่สอง การออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจสดชื่น เป็นการขจัดความเครียดในอารมณ์ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

ประการสุดท้าย เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะการออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และการออกกำลังกายที่ถูกต้องจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดความสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในผู้ที่มีอาการปวดหลัง สิ่งที่จะต้องระวังและคำนึงถึงเสมอในการออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดหลังก็คือ มีหลายอย่างหรือหลายท่าที่แตกต่างกับการออกกำลังกายทั่ว ๆ ไป ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป
หากผู้ที่ปวดหลังปฏิบัติตามที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้ไม่ได้แล้ว แม้การรักษา (รวมถึงการผ่าตัดด้วย) จะทำได้อย่างดีวิเศษเพียงใดก็ตาม อาการปวดหลังก็จะต้องกลับเป็นอีกแน่นอน หรือผู้ที่ยังไม่เคยมีอาการปวดหลัง หากละเลยต่อปัจจัยทั้ง 4 ที่กล่าวมานี้แล้วก็เชื่อได้ว่าไม่ช้าคงจะต้องมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นเป็นแน่

แม้หลักการใหญ่ ๆ ของการรักษาอาการปวดหลังจะเหมือนกัน แต่สำหรับรายละเอียดหรือวิธีการแล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสน ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์ John S.Sarno จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์คที่กล่าวไว้ว่า

"ไม่มีเรื่องใดทางการแพทย์ที่จะมีข้อโต้เถียง หรือความคิดเห็นที่ขัดแย้ง เท่ากับการวินิจฉัยโรค หรือการรักษาอาการปวดหลัง"

หากอ่านหนังสือแต่เพียงเล่มเดียวหรือสองเล่ม อาจยังไม่พบปัญหานี้ แต่ถ้าได้อ่านหลาย ๆ เล่มหรือหลายสิบเล่ม (ผู้เขียนมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องหลังและอาการปวดหลังกว่า 50 เล่ม) ก็จะเห็นว่าแต่ละผู้แต่งหรือแต่ละสถาบันจะมีวิธีการที่แตกต่างกันมาก และบางครั้งก็ต่างกันมากจนเป็นตรงกันข้าม อาการปวดหลังและการตรวจพบชนิดเดียวกัน แพทย์คนหนึ่งอาจเห็นว่าควรผ่าตัด แต่แพทย์อีกคนหนึ่งกลับเห็นว่าไม่สมควรผ่าตัดเป็นอย่างยิ่ง แม้การออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อก็เช่นเดียวกัน คนหนึ่งเห็นว่าควรทำท่านี้ แต่อีกคนหนึ่งกลับห้ามไม่ให้ทำท่านี้

อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการปวดหลังนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
2. การรักาาด้วยวิธีประคับประคอง หรือวิธีไม่ผ่าตัด

สำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้น มีวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก หากการวินิจฉัยโรคทำได้อย่างถูกต้องแน่นอน และการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ที่ชำนาญจริง ๆ ผลที่ได้ก็จะดีและน่าพอใจมาก แต่ถ้าการวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้องและผู้ทำมีประสบการณ์น้อยหรือฝีมือไม่ดีจริงแล้ว ผลร้ายที่อาจเกิดแทรกซ้อนย่อมมีได้เสมอ แม้ในประเทศที่การแพทย์เจริญมาก ๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาก็ยังกลัวกัน เพราะบ่อยครั้งที่ผลไม่ดีอย่างที่หวังไว้ และมีผลให้โครงสร้างของหลังเกิดความอ่อนแอด้วย นายแพทย์ Ernest Johnson จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ได้กล่าวถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดหลังไว้ว่า

"เหมือนเอาฆ้อนไล่ทุบแมลงวันที่มาเกาะกระจกหน้าต่าง ถึงแม้จะตีแมลงวันให้ตายไปได้ แต่กระจกก็จะแตกละเอียดไปด้วย"

เมื่อได้รับคำถามว่า แล้วทำไมจึงทำการผ่าตัดผู้ที่มีอาการปวดหลังกันมากมาย เพราะในสหรัฐนั้นมีการผ่าตัดเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังถึงปีละกว่าสองแสนราย (สถิติเมื่อ พ.ศ.2523) นายแพทย์จอนสันตอบว่า

"เมื่อคุณมีฆ้อนอยู่ในมือ คุณก็จะเห็นอะไรต่อมิอะไรเป็นตะปูไปหมด"

ดังนั้นหากท่านมีอาการปวดหลัง อย่าเพิ่งรีบร้อนไปพบศัลยแพทย์โดยตรงเลย เพราะนอกจากฆ้อนในมือแล้ว ท่านยังมีทั้งมีด เลื่อย สิ่ว สว่าน ฯลฯ อยู่ในมืออีกด้วย ควรปรึกษาแพทย์ประจำของท่านก่อนจะดีกว่า

นายแพทย์ Lan Macnab ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์ชื่อดังจากประเทศคานาดา ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือ Backache (พ.ศ. 2522) ว่า

"ในการวินิจฉัยโรคและรักษาอาการปวดหลังนั้น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์จะต้องทำหน้าที่หลาย ๆ อย่าง เช่น เป็นเสมือนแพทย์ประจำครอบครัว แพทย์ทางยา (ให้ยารับประทาน) รังสีแพทย์ (ต้องดูฟิล์มเอ็กซเรย์) แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ (ให้คำแนะนำทางกายภาพบำบัด) จิตแพทย์ (รับฟังปัญหาและให้กำลังใจ) ช่างทำเฝือกพยุงกาย (แนะนำเรื่องเฝือกพยุงหลัง) นักสังคมสงเคราะห์และเป็นเพื่อนของผู้ป่วย แต่สิ่งหนึ่งที่ศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคส์มักจะไม่ได้ทำเลยก็คือ การเป็นศัลยแพทย์นั่นเอง (คือไม่ได้ทำผ่าตัด)

คำกล่าวข้างต้นนี้หมายความว่า การรักษาอาการปวดหลังนั้น แท้จริงแล้วมีที่จะต้องถึงกับผ่าตัดน้อยมาก สำหรับประเทศไทยเรานี้แพทย์หลาย ๆ คนก็ระมัดระวังในการตัดสินใจที่จะทำผ่าตัดมากขึ้น

สำหรับรายละเอียดของการผ่าตัดนั้น ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้แต่สรุปได้ว่า ผลจากการผ่าตัดจะดีเลวประการใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ

1. ศัลยแพทย์ผู้ทำมีฝีมือและประสบการณ์มากน้อยเพียงใด

2. ภายหลังการผ่าตัดมีการดูแลที่ถูกต้องเพียงใด แม้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำได้อย่างวิเศษและดียิ่ง แต่ถ้าการดูแลภายหลังการผ่าตัดไม่ถูกต้องแล้ว ผลก็จะดีไม่ได้

3. การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยภายหลังหายจากการผ่าตัดแล้ว เช่น เรื่องของท่วงท่าในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น หากการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ไม่ช้าอาการปวดหลังก็จะกลับมาอีก และการรักษาจะยุ่งยากยิ่งกว่าเดิม

สำหรับการรักษาด้วยวิธีประคับประคอง หรือโดยไม่ทำการผ่าตัดนั้น หากสามารถทำได้ย่อมจะดีกว่าวิธีผ่าตัด เพราะไม่ไปรบกวนต่อโครงสร้างเดิมของกระดูกสันหลัง อีกทั้งผู้ป่วยก็ไม่ต้องเจ็บตัว อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังนั้นด้วย หากมีการกดเบียดหรือระคายระบบประสาทอย่างชัดเจน หรือมีอาการเสียวร้าวมากขึ้น และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีประคับประคองแล้ว การผ่าตัดก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

มีวิธีรักษาอาการปวดหลังอย่างหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นแก่วงการแพทย์พอสมควร คือการฉีดสาร chymopapain (สกัดจากยางมะละกอ อย่างเดียวกับที่ใช้คลุกเนื้อให้นุ่ม) เข้าไปละลายส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ยื่นโป่งออกมา แต่วิธีนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเห็นว่ามีอันตรายจากการแทรกซ้อนได้มากจึงไม่ยอมให้ทำ แต่ก็มีทำกันมากในประเทศคานาดา ดังนั้นผู้ปวดหลังในสหรัฐที่ไม่กลัว หรืออยากลองจึงต้องเดินทางไปทำกันในประเทศคานาดา

ผู้ที่ได้รับอันตรายที่กระดูกสันหลังอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง หรือจากอุบัติเหตุการจราจร การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และการรักษาในระยะแรกอย่างทันท่วงทีมีความสำคัญมาก เพราะหากทำผิดพลาดในระยะแรกแล้ว อาจกลายเป็นผู้มีอาการปวดหลังเรื้อรังต่อไปได้ ดังนั้นหากได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงจึงควรพบแพทย์ทันที แม้บางครั้งการได้นอนพักชั่วระยะหนึ่งอาจทำให้หายเจ็บปวดได้ก็ตาม แต่การรักษาที่ถูกต้องแต่ต้นมือจะช่วยแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างของหลังได้ ตัวอย่างที่พบได้เสมอเช่นการหกล้มก้นกระแทกแล้วมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น หากแพทย์ตรวจพบว่ามีส่วนบอดี้ของกระดูกสันหลังยุบตัวลงเป็นรูปลิ่ม (ที่เรียกกันว่ากระดูกสันหลังหัก) การเข้าเฝือกปูน หรือใช้เฝือกพยุงหลังชนิดที่ดัดให้พลังอยู่ในท่าแอ่นเสียแต่แรก อาจช่วยให้กระดูกที่ยุบนั้นกลับคืนสภาพปกติได้ หากปล่อยไว้อาการที่รุนแรงในระยะแรกอาจหายไปได้เองก็จริง แต่การยุบตัวของกระดูกสันหลังไม่ได้รับการแก้ไขโครงสร้างก็จะเสียไป และมีแนวโน้มที่จะยุบตัวเพิ่มมากขึ้นได้เรื่อย ๆ ซึ่งผู้เขียนได้พบอยู่บ่อย ๆ บางคนประสบอุบัติเหตุตั้ง 3 ปีแล้ว จึงถูกส่งตัวมาใส่เฝือกพยุงหลังเพราะปวดหลังมาก เมื่อนำเอาภาพเอ็กซเรย์เก่ามาเปรียบเทียบก็เห็นได้ชัดเจนว่า การยุบตัวของกระดูกสันหลังได้เพิ่มขึ้นมาก การยุบตัวของกระดูกสันหลังที่ยุบลงมาเป็นรูปทรงลิ่มนี้ จะยุบมากน้อยเพียงใด หรือยุบเร็วเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวกระดูกที่หักว่าอยู่ตรงไหน บางตำแหน่งก็อาจไม่ยุบตัวเพิ่มขึ้น แต่ในบางตำแหน่งจะยุบตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก อีกปัจจัยหนึ่งที่เสริมให้ยุบตัวได้เร็ว คือผู้ที่ต้องทำงานหนักเช่นต้องยก หรือแบกหามของหนัก ตลอดจนท่วงท่าที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้ยุบได้เร็วขึ้น ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ก็มีนักกายภาพบำบัดนำผู้ป่วยจากต่างจังหวัดคนหนึ่ง ซึ่งตกจากต้นสาเกและมีกระดูกสันหลังหัก แพทย์ที่ต่างจังหวัดได้เข้าเฝือกปูนให้ทันทีในท่าหลังแอ่นและเข้ามานานเดือนเศษแล้ว เวลานี้อยากขอเปลี่ยนมาใส่เฝือกพยุงหลังที่โปร่งกว่าและอึดอัดน้อยกว่า เมื่อได้ดูภาพเอ็กซเรย์ที่ถ่ายเมื่อตกลงมาใหม่ ๆ กับภาพที่ถ่ายหลังเข้าเฝือกปูนอย่างถูกต้องมาเดือนเศษ ก็พบว่าตัวกระดูกที่ยุบลงมาเมื่อตอนแรกนั้น ได้กลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างดีมากทีเดียว

สำหรับผู้ที่ได้รับอันตรายไม่รุนแรง แต่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ที่พบอยู่เสมอเช่นในวันสุดสัปดาห์ เกิดขยันไปยกหรือย้ายกระถางต้นไม้ หรือเอี้ยวตัวฟากลูกกอล์ฟเต็มแรง หรือถลาออกรับลูกเทนนิสที่หยอดมาหน้าตาข่าย หรือแอ่นตัวแหงนหน้าเต็มที่หมายจะตบลูกขนไก่ให้สุดแรง หรือลงเข็นรถที่เครื่องเสีย หรือแม้แต่การไอหรือจามอย่างแรง และที่เพียงแต่เอี้ยวตัวอย่างเร็วจะตบยุง แล้วเกิดอาการแปล็บที่หลังทันที หรือเสียวร้าวไปด้านหลังของต้นขา หรือวันรุ่งขึ้นลุกจากที่นอนไม่ได้เพราะหลังแข็ง อาการเหล่านี้ส่วนมากแพทย์จะรักษาได้ด้วยวิธีประคับประคอง เช่นให้ยารับประทาน ให้นอนพัก หรือให้ใส่เฝือกพยุงเอวชนิดอ่อน หรือทำด้วยอีลาสติกอย่างหนา เมื่ออาการปวดทุเลาแล้วก็ให้การรักษาทางกายภาพบำบัดต่อไป เรื่องการใช้เฝือกรัดหลังนี้ ผู้เขียนเคยดูโทรทัศน์ในข่าวผ่านดาวเทียม ได้เห็นนักเทนนิสมือระดับโลก เกิดอาการปวดหลังทันทีในขณะแข่งขัน เขาได้ใช้ผ้ายืดพันรอบเอวทันที (พันไว้นอกเสื้อ) และเล่นต่อไปได้จนจบ

ส่วนพวกที่มีอาการปวดหลังไม่มากนัก คือปวดเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ พอทนได้ หรือเป็น ๆ หาย ๆ พอให้เกิดเป็นความหงุดหงิดรำคาญใจ พวกนี้ควรสนใจตนเองให้มากขึ้น พยายามหาสาเหตุให้ได้แล้วทำการแก้ไขเสีย หากหาเองไม่พบก็ลองปรึกษาผู้รู้ให้ช่วยหาให้ เพราะการละเลยนาน ๆ อาจทำให้กลายเป็นปวดหลังเรื้อรังอันยากแก่การแก้ไขต่อไป

สิ่งแรกที่ควรพิจารณาก็คือดูว่า ตนเองนั้นอ้วนเกินไปหรือไม่ ลงพุงมากหรือเปล่า หากมีก็ต้องรีบแก้ไขเสีย เพราะภาวะอ้วนนั้นมิใช่สาเหตุของการเกิดอาการปวดหลังเท่านั้น ยังเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดอาการปวดเข่า ปวดขาต่อไปได้ด้วย (ส่วนมากจะปวดเข่าก่อนปวดหลัง)

ต่อมาก็ต้องพิจารณาดูว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์หรือไม่ หงุดหงิดเสมอ และเครียดตลอดเวลาใช่ไหม ยิ่งเครียดก็จะยิ่งปวดหลัง และยิ่งปวดหลังก็ยิ่งเครียด ผู้ที่ปวดหลังจากสาเหตุนี้ หลาย ๆ คนยิ่งรักษายิ่งปวด คือยิ่งรักษายิ่งโมโห เพราะเปลี่ยนไปกี่หมอกี่หมอก็ไม่หาย รับประทานยากี่ขนานก็ไม่หาย สารพัดวิธีทางกายภาพบำบัดก็ไม่หาย ใส่เฝือกพยุงหลังกี่แบบกี่ตัวก็ไม่หาย แต่ถ้าลองถามดูให้ดี ๆ ว่า เคยมีสักช่วงหนึ่งในชีวิตที่หายจากอาการปวดหลังหรือไม่ ก็อาจพบว่าเคยมีเหมือนกัน คือตอนที่ได้พักผ่อนไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ อาการสารพัดอย่างจะหายเป็นปลิดทิ้ง แม้ว่าระหว่างท่องเที่ยวนั้นจะต้องเดินทั้งวัน หรือต้องหอบหิ้วของพะรุงพะรังและเหนื่อยแสนเหนื่อยก็ตาม

ควรต้องสังเกตให้มากว่า อาการปวดหลังนั้นมีความสัมพันธ์กับวันเวลาหรือไม่ เช่นปวดเฉพาะก่อนหรือหลัง หรือขณะที่มีประจำเดือน หรือปวดหลังแล้วมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่นปัสสาวะเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือมีอุจจาระเป็นมูกเป็นเลือด หรือมีอาการเบื่ออาหารมาก หรือมีปวดหลังพร้อมกับอาการที่ซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว หากพบอาการร่วมเหล่านี้ ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ

มีมะเร็งอยู่หลายชนิดที่เป็นกับอวัยวะอื่นแล้วลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้มาก ๆ เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งของเต้านม เป็นต้น แม้จะได้ทำการรักษามะเร็งนั้นไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม หากมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นต้องรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบทันที การใช้เฝือกพยุงหลังเพื่อให้หลังอยู่นิ่ง ๆ นั้น นอกจากช่วยลดอาการปวดได้แล้ว ยังเป็นการป้องกันการแทรกซ้อน เช่น การยุบตัวของกระดูกสันหลังได้ด้วย

ถ้าอาการปวดหลังนั้นเป็นมากเมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ แต่เมื่อได้ลุกขึ้นขยับเนื้อขยับตัว หรือได้อาบน้ำอุ่น ๆ แล้วอาการก็ทุเลาไปทำงานได้อย่างปกติ แต่พอตื่นนอนในวันรุ่งขึ้นก็เป็นเช่นนี้อีก ก็น่าจะนึกถึงว่าอาการปวดหลังนั้นอาจจะเกี่ยวกับเรื่องของการนอนก็ได้ เช่น ที่นอนอ่อนยวบยาบเกินไป หรือท่านอนที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนคว่ำ เพราะในขณะที่เรานอนหลับนั้น เอ็นและกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะคลายตัวหรือหย่อนไปหมด กระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เคยเรียงกันอย่างมีระเบียบ และถูกยึดให้อยู่กับที่ได้มั่นคงแข็งแรงด้วยเอ็น พังผืดและกล้ามเนื้อ ก็จะเสียความมั่นคงแข็งแรงไป หากกระดูกเหล่านี้ต้องอยู่ในภาวะที่ไม่เหมาะสมนาน ๆ ก็เกิดเป็นความเมื่อยล้าได้ โดยปกติแล้ว เมื่อมีความเมื่อยเกิดขึ้น ร่างกายก็จะแก้ไขเองด้วยการพลิกตัวเปลี่ยนท่าเสียใหม่โดยอัตโนมัติ (เจ้าตัวมักจะไม่รู้สึก) อันเป็นวิธีแก้ปัญหาตามธรรมชาติ ซึ่งในคืนหนึ่ง ๆ นั้นเราจะพลิกตัวไปมาตั้ง 20-30 ครั้ง

ในทางตรงข้ามหากตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความสดชื่นสบายดี ปฏิบัติงานประจำวันลุล่วงไปได้เรียบร้อย แต่พอกลับถึงบ้านก็ปวดเมื่อยหลังเป็นกำลัง พอได้นอนพักสักคืน รุ่งเช้าก็สบายอย่างเดิม แต่พอตกเย็นก็เป็นเช่นเดิมอีก กรณีเช่นนี้น่าจะนึกถึงท่าทางในการปฏิบัติงาน หรือท่วงท่าในการใช้ชีวิตประจำวันให้มากว่า อยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ หากพบว่ามีก็ต้องรีบแก้ไข

สรุปว่าในการรักษาอาการปวดหลังนั้น จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่หลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอันจะขาดเสียไม่ได้ก็คือ การบริหารกล้ามเนื้อหรือการออกกำลังกายที่ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น