วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะ

อาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะ

ถ้าคุณมีอาการอาหารไม่ย่อย แต่ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น เช่น ไม่พบร่องรอยของแผลหรือการไหลย้อนขึ้นของน้ำย่อย ฯลฯ แพทย์ก็มักจะวินิจฉัยว่าเป็นอาการของอาหารไม่ย่อยชนิดที่ไม่ได้เกิดจากแผล

อาหารไม่ย่อยชนิดนี้ไม่สามารถตรวจและวินิจฉัยสาเหตุได้ทันที ฉะนั้นก่อนที่แพทย์จะลงความเห็นได้ก็ต้องมีการตรวจพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแบบเดียวกัน จากนั้นจึงใช้วิธีคัดออก การตรวจอาจทำโดยการตรวจร่างกายโดยตรงหรือด้วยวิธีอื่น พยาธิสภาพที่กล่าวนี้คือสภาพที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาหารไม่ย่อยชนิดนี้ได้

***   พยาธิสภาพที่ต้องพิจารณาเพื่อตัดความเป็นไปได้ออก   ***

+ นิ่วในน้ำดี (gallstones) เป็นก้อนหินที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดทรายไปจนถึง 2-3 ชม. ประกอบด้วยคอเลสเตอรอลและสารที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง ก้อนหินเหล่านี้เกิดในถุงน้ำดีและไปรบกวนเยื่อบุถุงน้ำดี เมื่อถุงน้ำดีมีการหดตัวทำให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะหลังจากคุณรับประทานอาหารมัน ๆ บางครั้งก้อนหินเหล่านี้ไปอุดที่ท่อน้ำดีทำให้เกิดอาการดีซ่าน

+ Irritable bowel syndrome พบได้บ่อยมากและเกี่ยวข้องกับการเกร็งของกล้ามเนื้อภายในผนังของลำไส้เล็ก สาเหตุนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบ แต่ในผู้ป่วยหลาย ๆ รายดูเหมือนว่าความเครียดเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง

+ อาการปวดบริเวณชายโครงและกล้ามเนื้อที่ผนังช่องท้อง
อาการที่สำคัญของอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผล คือ การแสบและปวดบริเวณช่องท้องส่วนบน ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการรับประทาน (การรับประทานอาจทำให้มีอาการปวดน้อยลงหรือปวดมากขึ้นก็ได้) และบางครั้งมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย นอกจากนั้นหลายคนยังมีอาการที่เรียกว่า "กระเพาะไว" (nervous stomach) เพราะเมื่อใดที่มีความเครียด อาการก็จะกำเริบ สำหรับสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะมาจากหลายสาเหตุ ทฤษฎีหนึ่งเชื่อกันว่า ผู้ที่มีปัญหานี้มีกระเพาะอาหารที่ไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น ไวต่อกรดในกระเพาะอาหารหรือไวต่ออาหารบางชนิด ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่ากล้ามเนื้อที่ผนังกระเพาะอาหารจะเกร็งมากในเวลาที่มีความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มี "กระเพาะไว" สภาพนี้จะทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยมากยิ่งขึ้น

หากจะกล่าวกันตามความเห็นทางการแพทย์ล้วน ๆ แล้ว อาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลนั้นไม่มีอันตรายใด ๆ แต่เป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากกว่า ที่สำคัญมากคือ ต้องตรวจให้แน่ใจว่า สาเหตุนั้นไม่ได้มาจากแผลจริง ๆ หากคุณมีอาการอาหารไม่ย่อยพร้อม ๆ กับน้ำหนักลดด้วย แพทย์จำเป็นต้องหาสาเหตุอื่น ๆ ให้พบ เพราะบางครั้งอาจเป็นเรื่องร้ายแรงก็ได้ เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผล น้อยครั้งมากที่จะทำให้น้ำหนักลด และถ้าคุณรับประทานยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อยู่ด้วย แพทย์จำเป็นต้องตรวจเพื่อตัดความเป็นไปได้จากการมีแผลออก ก่อนจะลงความเห็นว่าเป็นอาการอาหารไม่ย่อยชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นจริง ๆ

***   การรักษา   ***
ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยรู้จักอาการของตนเองและทราบแน่ว่าอาการนั้นไม่ได้มาจากสาเหตุที่ร้ายแรง ขั้นต่อมาคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตที่ทำให้อาการแย่ลง โดยทั่วไปแล้ว การปรับเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดที่คุณจะทำให้ตนเองมีสุขภาพดีขึ้นคือ การเลิกสูบบุหรี่ การลดน้ำหนักหากจำเป็น และเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม อาหารที่มักทำให้อาการเป็นมากขึ้นคือ อาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัดและเผ็ดร้อน หรือผักบางชนิด เช่น หัวหอมและมะเขือเทศ สารกาเฟอีนในกาแฟและน้ำอัดลมประเภทน้ำดำนั้น บางครั้งก็มีผลเช่นเดียวกัน หากพบว่าอาหารเหล่านี้มีผลต่อการย่อยของคุณก็ควรงดรับประทาน และเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเป็นประจำ การเลือกรับประทานอาหารเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้มาจากแผลเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งลำไส้ อาหารที่มีประโยชน์คือ อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าวกล้องธัญพืชที่ไม่ได้ขัดสีเปลือกออกจนขาว และขนมปังโฮลวีท

***   การรักษาด้วยยา   ***
ยังไม่มียาขนานใดที่มีสรรพคุณ "ครอบจักรวาล" ที่สามารถรักษาอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดจากแผลในกระเพาะได้ผลกับทุกคน ยาแรง ๆ บางตัวอาจใช้ได้ แต่แพทย์มักจะสั่งให้เฉพาะกับผู้ที่เปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น

อาการอาหารไม่ย่อยแบบนี้ต่างจากอาการอาหารไม่ย่อยที่มีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะหรือที่เกิดจากการไหลย้อนขึ้นของน้ำย่อย เพราะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลดกรด ยาที่ใช้ได้ผลดีที่สุดมักเป็นยาที่เปลี่ยนวิธีการทำงานของกระเพาะในการขับดันสิ่งที่อยู่ภายในกระเพาะ ตัวอย่างตัวยา "ขับ" เหล่านี้ เช่น ดอมเปริโดน (domperidone) และเมโตคลอปราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น ยา 2 ตัวนี้ต้องให้แพทย์สั่งโดยผู้ป่วยจะรับประทานยาครึ่งชั่วโมงก่อนอาหารเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำหน้าที่ประสานกันอย่างพอเหมาะ จะได้ลดอาการเกร็งที่ผนังกระเพาะและอาการเวียนศีรษะ ปกติผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาติดต่อกันนานหลายเดือน ฉะนั้นจึงควรทราบถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากยาด้วย เนื่องจากยาพวกนี้มีผลต่อการ "เคลื่อนไหว" ทั้งของกระเพาะอาหารและรวมไปถึงลำไส้เล็ก บางครั้งจึงอาจทำให้เกิดอาการปวดแบบตะคริวที่ช่องท้องส่วนล่าง และท้องเสีย แต่โดยทั่วไปแล้วตัวยาพวกนี้ไม่มีอันตราย ยกเว้นแต่อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเมโตคลอปราไมด์ ที่ปกติแพทย์จะไม่สั่งยาให้กับสตรีอายุน้อยหรือเด็ก เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าและลำคอเกิดการเกร็ง หรือที่เรียกกันว่า ปฏิกิริยาดิสโตนิค (dystonic reaction) (ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการหดตัว เป็นเหตุให้อวัยวะผิดรูปไป) แต่ผลข้างเคียงเช่นนี้เกิดน้อยมากกับเพศชายและในหญิงที่สูงวัย

***   สรุป   ***
อาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากแผลนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อย ถึงแม้จะทำให้รู้สึกไม่สบายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรง คุณสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการนี้ในบริเวณช่องท้องส่วนบนและอาการเวียนศีรษะได้โดยไม่ยาก โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ลดความเครียด เลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็มีอยู่บ้างที่แม้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลา ในกรณีนี้อาจต้องรับประทานยาประเภทช่วย "ขับ" การวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อยโดยไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะนี้ แพทย์ต้องตรวจให้แน่ใจจริง ๆ ว่าไม่ใช่อาการที่เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องหาวิธีรักษาที่ต่างออกไป ถ้าน้ำหนักตัวลด (หรือลดโดยไม่ได้เจตนา) หรือถ้าคุณรับประทานยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อยู่และเพิ่งเกิดมีอาการอาหารไม่ย่อย ก็ควรปรึกษาแพทย์

***   ประเด็นสำคัญ   ***
+ อาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะ เป็นอาการอาหารไม่ย่อยที่พบได้บ่อยที่สุด และไม่มีอันตรายใด ๆ
+ วิธีรักษาคือทำความเข้าใจกับสภาพของอาการ และไม่รับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น