วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง-การใช้เฝือกพยุงหลัง

ปวดหลัง-การใช้เฝือกพยุงหลัง

เมื่อผู้ที่มีอาการปวดหลังไปหาแพทย์ จะพบว่าบ่อยครั้งที่แพทย์ผู้รักษานอกจากจะสั่งยาให้รับประทาน หรือส่งตัวไปรับการรักษาทางกายภายบำบัด หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและการออกกำลังกายแล้ว แพทย์ยังสั่งให้ใส่เฝือกพยุงหลังหรือเฝือกพยุงเอวอีกด้วย

ความจริงมนุษย์เรารู้จักใช้เฝือกพยุงร่างกายมานานนักหนาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการสอนวิชาแพทย์ในโลกนี้ด้วยซ้ำไป บรรพบุรุษของเรารู้ดีว่า เมื่อมีแขนหรือขาหัก หากให้แขนหรือขานั้นอยู่นิ่ง ๆ อาการเจ็บปวดจะน้อยลงได้ และวิธีที่จะให้แขนขานั้นอยู่นิ่งได้อย่างค่อนข้างแน่นอนก็คือ การใช้กิ่งไม้มาทาบหรือดามไว้ หรือใช้หนังสัตว์มาพันรัดไว้ให้แน่นนั่นเอง สำหรับที่ลำตัวหรือหลังนั้น เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น หากได้ลงนอนพักนิ่ง ๆ ก็จะบรรเทาอาการเจ็บปวดลงได้ และถ้าสามารถหาอะไรมารัดลำตัวได้ก็จะยิ่งดี ที่นิยมทำกันในสมัยโบราณก็คือ การออกหาต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับลำตัวของผู้ป่วย เมื่อหาได้แล้วก็ลอกเอาเปลือกไม้นั้นออกมา หลังจากตากแดดให้แห้งแล้วก็เอามาโอบรัดรอบตัว เพียงเท่านั้นก็จะได้เฝือกพยุงหลังหรือเฝือกพยุงเอวที่ใช้ได้เป็นอย่างดี หากต้องการให้แข็งแรงมากก็ใช้เชือกหรือหนังสัตว์มารัดให้แน่นยิ่งขึ้น ผู้ป่วยก็อาจลุกขึ้นเดินไปมาได้โดยไม่ต้องนอนอยู่นิ่ง ๆ

G.Elliot Smith ศาสตราจารย์ทางกายวิภาคศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้กล่าวว่าตัวท่านนับเป็นผู้โชคดีมาก เพราะได้เห็นของจริงคือเฝือกที่ใช้ดามขาที่หักในศพของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งประมาณว่ามีอายุกว่า 5,000 ปีมาแล้ว และคงจะถือได้ว่าเป็นเฝือกพยุงกายอันแรกของโลกก็ได้

5,000 ปีผ่านไป จากวันนั้นถึงวันนี้ วิวัฒนาการของเฝือกที่ใช้ตามร่างกาย หรือเฝือกพยุงกายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่เพียงวัสดุที่ใช้และวิธีการทำเท่านั้น แต่หลักการหรือความมุ่งหมายในการใช้เฝือกพยุงกายนี้ยังคงยึดหลักการเดิมเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือมุ่งหมายที่จะให้ส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บได้อยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ความเจ็บปวดน้อยลง และช่วยให้เจ้าตัวเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์สมัยใหม่ คือเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เองเราได้เพิ่มจุดประสงค์ในการใช้เฝือกพยุงกาย หรือออร์โธสิส (orthoses) มากขึ้นกว่าเดิม คือมิใช่ใส่เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวหรือลดการเจ็บปวดเท่านั้น แต่ยังมีการประดิษฐ์เฝือกชนิดที่ทำหน้าที่ตรงกันข้าม คือใส่แล้วช่วยให้ร่างกายส่วนนั้นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่นในกรณีที่เป็นอัมพาตและเท้าห้อยตกลงไป กระดกขึ้นไม่ได้ (foot drop) ก็สามารถใส่เฝือกพยุงข้อเท้าชนิดที่มีสปริงซ่อนอยู่ภายใน ช่วยให้ข้อเท้ากระดกขึ้นสู่สภาพปกติได้ ทำให้เดินได้สะดวกขึ้น เพราะปลายเท้าไม่ครูดไปกับพื้น นอกจากนี้เรายังได้มีการใช้เฝือกพยุงกายโดยมุ่งประโยชน์ทางด้านกลศาสตร์ชีวภาพ ให้ร่างกายเพิ่มความมั่นคงแข็งแรง ให้ร่างกายบางส่วนรับน้ำหนักได้มากขึ้น หรือให้บางส่วนรับน้ำหนักน้อยลง หรือจะไม่ให้ร่างกายส่วนนั้นรับน้ำหนักเลยก็ได้

การที่แพทย์ส่งผู้ป่วยไปใส่เฝือกพยุงหลังหรือพยุงเอวนั้นอาจมีจุดมุ่งหมายได้หลายประการเช่น

1. ในกรณีที่ปวดหลังมาก เนื่องจากกล้ามเนื้อมีสปัสซั่มหรือเกร็งแข็ง เพื่อตรึงร่างกายส่วนนั้นให้อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว อันเป็นกลไกตามธรรมชาติ การใช้เฝือกพยุงหลังหรือเอวจะไปช่วยให้กล้ามเนื้อนั้นไม่ต้องเกร็งต่อไป เพราะเฝือกมาทำหน้าที่ตรึงทุกส่วนให้อยู่นิ่งแทนกล้ามเนื้อ มีอยู่เสมอที่ผู้ป่วยปวดหลังเดินตัวเอียงหลังแข็งหน้านิ่วคิ้วขมวดเข้ามา หลังจากใส่เฝือกพยุงหลังรัดแน่นดีแล้ว ก็ทุเลาความเจ็บปวดจนเดินตัวตรงได้ทันที ผลของการใช้เฝือกนี้จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคของผู้รักษามากทีเดียว

2. เพื่อช่วยกล้ามเนื้อหน้าท้องในกรณีที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรงพอ เช่น ผู้ที่ลงพุงมาก ๆ หรือหน้าท้องหย่อนยาน เฝือกพยุงเอว (หรือพยุงพุง) จะช่วยเก็บหน้าท้องเข้ามาได้ อันเป็นผลให้จุดศูนย์ถ่วง (C.G.) อยู่ใกล้กระดูกสันหลังเข้ามา ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังรับน้ำหนักน้อยลงมาก (ตามหลักของโมเม้นต์) การลงพุงหรือมีกล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อนนั้น นอกจากจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงห่างจากกระดูกสันหลังออกมาแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถที่จะเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องอย่างมีประสิทธิภาพได้ การเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับแรงกดเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในนักยกน้ำหนัก ซึ่งจะต้องมีเข็มขัดรัดรอบเอว เข็มขัดสำหรับนักยกน้ำหนักนี้ไม่จำต้องมีหน้ากว้างเหมือนกับเฝือกพยุงเอวทั่วไป เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องของนักยกน้ำหนักเหล่านี้แข็งแรงพอสมควรอยู่แล้ว เข็มขัดนี้จะเป็นเสมือนปลอกเหล็ก หรือปลอกหลายที่รัดรอบถังไม้หรือถังเบียร์นั่นเอง เมื่อต้องการจะเพิ่มแรงดันในช่องท้องขณะที่ออกแรงยกน้ำหนัก เขาจะหายใจออกอย่างแรงโดยปิดหลอดลมเสีย คือกลั้นหายใจเบ่งลมนั่นเอง เพื่อเพิ่มแรงดันภายในช่องท้อง (ช่องอกด้วย) ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แรงดันที่เพิ่มขึ้นมากมายนี้นอกจากจะดันออกโดยรอบแล้ว ยังดันขึ้นบน และลงล่างด้วย ทำให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักน้อยลงมาก กลไกของการกลั้นใจเบ่งนี้เรียกว่า Valsalva maneuver ซึ่งหากปราศจากกลไกนี้แล้ว หมอนรองกระดูกของนักยกน้ำหนักระดับโลกคงจะไม่สามารถทนอยู่ได้

อย่างไรก็ตามการกลั้นหายใจเบ่งนี้ หากทำระยะสั้น ๆ ชั่วอึดใจเดียวก็ไม่เป็นไร แต่หากทำอยู่นานจะมีผลเสียได้ เพราะการเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องและช่องอกนั้น ทำให้หลอดเลือดใหญ่ทางด้านหลังของลำตัวถูกกดจากแรงดันนี้ด้วย เลือดจึงไหลเวียนไม่ได้สะดวก ทำให้เกิดหน้ามืดและแรงดันเลือดขึ้นสูง ผู้ที่มีแรงดันเลือดสูงอยู่แล้วหรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจจะต้องระวังเป็นพิเศษในการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อที่เรียกว่า แบบไอโซเมตริคนั้นผู้ทำมักจะกลั้นใจออกแรงเกร็งเสมอ ซึ่งนับเป็นผลเสียและอาจเกิดอันตรายได้มากเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่นิยมที่จะให้ผู้ที่มีแรงดันเลือดสูง หรือมีโรคเกี่ยวกับหัวใจออกกำลังกายในแบบไอโซเมตริค หรือหากจะทำก็ควรจะทราบถึงกลไกของ Valsalva maneuver และพยายามไม่กลั้นหายใจในขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อ

3. เพื่อไม่ให้หลังส่วนนั้นเคลื่อนไหวมากเกินต้องการ เฝือกพยุงหลังนั้นอาจใส่เพื่อลดการเคลื่อนไหวลง หรืออาจปรับให้ถึงกับเคลื่อนไหวไม่ได้เลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์ผู้รักษา

4. เพื่อช่วยดัน หรือดึงให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ต้องการ เช่น การใส่เฝือกพยุงหลังในผู้ที่กระดูกสันหลังคด (scoliosis) หรือผู้ที่หลังโกง (kyphosis) เป็นต้น

5. ในหญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ ซึ่งครรภ์มีขนาดใหญ่มาก มักจะเกิดอาการปวดหลังได้มาก ๆ การใช้เฝือกพยุงเอวหิ้วท้องไว้จะช่วยได้มาก แต่จะต้องเป็นเฝือกชนิดที่ทำสำหรับคนท้องเป็นพิเศษ เป็นเฝือกที่ใช้ใส่เพื่อพยุง หรือหิ้วท้องไว้ ไม่ใช่ใส่เพื่อรัดท้อง หากใช้ผิดชนิดอาจเกิดอันตรายได้

เมื่อพิจารณาดูจุดมุ่งหมายในการใส่เฝือกพยุงหลัง หรือพยุงเอวแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าการใส่นั้นจำต้องใส่ให้แน่นมากพอ มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลตามต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ 1-4 ต้องรัดให้แน่นมากทีเดียว ผู้เขียนได้พบอยู่เสมอว่า ผู้ป่วยบ่นว่าแน่นเกินไปบ้าง อึดอัดบ้าง หายใจไม่ออกบ้าง ที่เกรงว่าใส่แล้วจะรับประทานอาหารไม่ได้ก็มี สรุปก็คือจะขอใส่ไว้เพียงหลวม ๆ โดยเข้าใจว่าขอให้ได้ใส่ไว้กับตัวแล้วโรคก็จะหายได้เอง

เฝือกพยุงหลังและเอวที่ใช้กันในวงการแพทย์ปัจจุบันนี้มีอยู่มากมาย N.Berger และ R.lusskin ได้รวบรวมไว้ว่ามีกว่า 40 ชนิด แต่ที่แพทย์มักจะสั่งใช้จริง ๆ นั้นมีไม่มากนัก สำหรับในประเทศไทยเรานี้ นิยมใช้กันเพียง 5-6 ชนิด และที่ใช้บ่อยก็มีเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น มีเฝือกอยู่หลายแบบที่ทำด้วยวัสดุจำพวกพลาสติค หรือฟองน้ำที่ค่อนข้างแข็งซึ่งนิยมในต่างประเทศ แต่ดูจะไม่เหมาะกับประเทศไทยเพราะมีอากาศร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยมักจะทนไม่ได้ ที่เหมาะกับบ้านเรา คือ พวกที่ทำด้วยผ้า (ควรเป็นผ้าฝ้ายหรือผสมฝ้าย) หรือโลหะเบาที่ออกแบบให้โปร่ง สมัยหนึ่งที่โรงพยาบาลศิริราชเคยใช้หนังวัวมาทำเฝือกพยุงตัวให้กับเด็กที่เป็นวัณโรคของกระดูกสันหลัง ซึ่งก็ให้ความมั่นคงแข็งแรงดี แต่ค่อนข้างร้อนและหนัก แม้จะได้เจาะรูเพื่อระบายอากาศและลดน้ำหนักแล้วก็ตาม ปัจจุบันเลิกวิธีเช่นนั้นหมดแล้ว

การเลือกชนิดของเฝือกพยุงหลังนั้นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยปกติแล้วเราจะทำเฝือกพยุงหลังให้กับผู้ป่วยต่อเมื่อมีใบสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และจะต้องจัดให้ตามที่แพทย์สั่งด้วย ส่วนผู้ป่วยนั้นเมื่อได้เฝือกพยุงหลังแล้วก็ควรนำไปให้แพทย์ผู้รักษาดูอีกครั้งว่าตรงตามที่สั่งหรือไม่ (โดยเฉพาะหากไปทำในสถานที่ ๆ ไม่มีแพทย์ประจำ) และแพทย์ผู้รักษาก็ควรจะต้องตรวจสอบให้ละเอียด รวมทั้งอธิบายวิธีถอด วิธีใส่ ตลอดจนกลไกของเฝือกและความจำเป็นที่ต้องใช้ให้ผู้ป่วยเข้าใจด้วย หากผู้ป่วยมีสิ่งใดที่สงสัยก็ควรซักถามให้กระจ่าง เช่น ใส่เวลาใดบ้าง ต้องใส่นานเท่าใด และต้องกลับมาให้ตรวจสอบอีกเมื่อไหร่ เป็นต้น ในกรณีที่เฝือกนั้นมีเหล็กสปริงเพื่อเสริมความแข็งแรงใส่ไว้ด้วย จะต้องกลับมาให้ตรวจสอบเป็นครั้งคราวว่าความโค้งยังถูกต้องอยู่หรือไม่ และหากใส่ไปแล้วเกิดความไม่พอดี เช่น กดเจ็บ หรือผิวหนังพองช้ำ ก็ควรรีบกลับไปแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะพวกที่ทำด้วยโลหะเบา หากส่วนโค้งที่ตัดไว้เกิดเปลี่ยนแปลงคลาดเคลื่อนไป นอกจากจะทำให้เจ็บหรือไม่กระชับแล้ว ยังอาจเป็นผลเสียต่อการรักษาได้ ปัญหารการใช้เฝือกพยุงเอวอย่างอ่อนที่พบเสมอคือ หลังจากใช้ไปได้ระยะหนึ่ง พุงยุบเล็กลงเฝือกพยุงเอวนั้นก็จะหลวม หากไม่ได้รับการแก้ไขยังคงใส่ไปทั้งหลวม ๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ควรรีบกลับไปแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะสามารถแก้ไขได้โดยไม่ยาก

เฝือกพยุงหลังหรือพยุงเอวก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ คือมีทั้งคุณและโทษ โทษของการใช้เฝือกพยุงหลังที่จะต้องระลึกไว้เสมอก็คือ การใส่ไว้ตลอดเป็นเวลานาน ๆ บางคนใส่นานเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี เกิดการติดเฝือกเหมือนติดเหล้าติดบุหรี่ คือเลิกใส่ไม่ได้เลย การติดเฝือกนี้เกิดได้จากสาเหตุ 2 ประการคือ

1. ทางด้านจิตใจ โดยมีความรู้สึกว่าเฝือกนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กระดูกสันหลังมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ หากถอดเสียแล้วก็จะขาดความมั่นคงแข็งแรงไป แล้วก็จะปวดหลังอีกและจะมีอันตรายต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นพอเช้าขึ้นมาก็ขอคว้ามาใส่ไว้ก่อน ความจริงแล้วกระดูกสันหลังของเรานั้นจะมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ก็ด้วยเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบ การใส่เฝือกก็คือการไปช่วยกล้ามเนื้อทำงานนั่นเอง ดังนั้นหากเราสามารถออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และอยู่ในภาวะที่สมดุลแล้ว ก็ไม่จำต้องใช้เฝือกพยุงอีกต่อไป จริงอยู่ในระยะแรก ๆ ที่มีอาการปวดและกล้ามเนื้อเกร็งแข็งนั้น เฝือกนี้จะช่วยได้มาก แต่เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาลงแล้ว ก็ควรรีบลงมือบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง กล้ามเนื้อที่แข็งแรงก็คือเฝือกธรรมชาติที่ดีที่สุดนั่นเอง ไม่ต้องถอด ไม่ต้องใส่ และไม่เปลืองเงินทองเพื่อซื้อหา แล้วยังเป็นเฝือกที่มีความทนทานที่สุดด้วย

2. ติดเฝือกนั้นจริง ๆ คือเอาออกไม่ได้ ถ้าถอดออกเมื่อใดก็จะเกิดอาการปวดเมื่อนั้น เป็นการปวดจริง ๆ ที่มิใช่คิดไปเอง ทั้งนี้เพราะใส่เฝือกนานเกินไปโดยมิได้มีการออกกำลังกล้ามเนื้อเลย กล้ามเนื้อที่ไม่ได้ทำงานมานานเหล่านี้ก็เลยเหี่ยวลีบเล็กและอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ซึ่งนับว่าเป็นผลร้ายอย่างยิ่ง ดังนั้นแพทย์ผู้สั่งใช้เฝือกพยุงหลังก็ดี หรือตัวผู้ป่วยเองก็ดี จะต้องระลึกไว้เสมอว่า เมื่อใดที่เราใส่เฝือกอยู่ เมื่อนั้นกล้ามเนื้อจะไม่ทำงาน หรือทำน้อยลงมาก ซึ่งมีผลให้เกิดความอ่อนแอของหลังได้ ดังนั้นเมื่อใส่เฝือกพออาการทุเลาลงแล้วจะต้องเริ่มบริหารกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่อยู่รอบหลังทันที โดยเริ่มจากน้อย ๆ แล้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ระยะแรกอาจใส่เฝือกให้น้อยชั่วโมงลงบ้าง และเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงพอก็ควรจะเลิกใส่ หรือใส่เฉพาะเวลาที่ต้องทำงานหนักเท่านั้น อย่างไรก็ตามวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการติดต่อสอบถามกับแพทย์ที่รักษาไว้เสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น