วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง - สาเหตุของการปวดหลัง

ปวดหลัง - สาเหตุของการปวดหลัง

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการปวดหลังนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นเพียงอาการของโรค ความจริงแม้ไม่มีโรคอะไรเลยก็ปวดหลังได้ และมีมากเสียด้วย เช่น เสมียนสาวคนหนึ่งมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องนั่งพิมพ์หนังสือทั้งวันในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น เก้าอี้ที่นั่งสูงเกินไป หรือโต๊ะที่วางแป้นพิมพ์เตี้ยเกินไป อีกทั้งยังต้องเอี้ยวตัวไปมาเพื่อหยิบนั่นหยิบนี่ หรือต้องชะโงกดูต้นฉบับที่วางห่างออกไปมาก พอตกเย็นก็อาจมีอาการปวดหลัง (หรือคอ) ได้ ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม หรือศัลยแพทย์ที่ต้องยืนวันละนาน ๆ ในท่าที่ไม่เหมาะก็ปวดหลังได้เช่นกัน หญิงที่แข็งแรงดี แต่พอแต่งงานและตั้งครรภ์ก็ปวดหลังได้

นักบริหารที่นั่งทำงานทั้งวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ พอวันเสาร์ก็แต่งตัวคว้าไม้เทนนิสลงสนามทันที แล้วไม่นานเพื่อนก็ต้องพยุงตัวส่งแพทย์เพราะหลังแข็ง หรือพอวันรุ่งขึ้นก็ลุกจากเตียงไม่ได้เนื่องจากปวดหลังมาก ซึ่งมีให้พบได้อยู่เสมอ

สาเหตุของการปวดหลังนั้น บางครั้งก็ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย เช่น ลูกสะใภ้ที่มีเรื่องทะเลาะกับแม่ผัวอยู่บ่อย ๆ ก็ปวดหลังได้ หรือคนที่กินดีอยู่ดีมากเกินไปจนอ้วนลงพุงก็ปวดหลังได้เช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำราว่าด้วยเรื่องปวดหลังนั้นมักจะแบ่งสาเหตุของการปวดหลังไม่ใคร่เหมือนกัน ผู้เขียนลองค้นหนังสือเหล่านี้หลาย ๆ เล่ม ซึ่งเขียนโดยแพทย์ที่มีความชำนาญต่างสาขากัน อาทิ
ศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคส์ เช่น Lan Macnab (คานาดา) , Albert Gob (เยอรมัน), Yumashev (รัสเซีย), Hugo Keim (สหรัฐ), Leon Root (สหรัฐ)
แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ เช่น Rene Cailiet (สหรัฐ), Hans Kraus (สหรัฐ)
แพทย์ทางประสาทศัลยศาสตร์ เช่น Phillip Weinstein (สหรัฐ)
แพทย์ทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เช่น Howard Kurland (สหรัฐ)
และแพทย์ปริญญาที่ไปโด่งดังทางออสติโอแพธส์ (osteopaths) จากอังกฤษ เช่น Alan Stoddard ต่างก็มีวิธีแบ่งสาเหตุของการปวดหลังที่ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม แม้รายละเอียดของการแบ่งจะมีหลายแบบ แต่หลักการใหญ่ ๆ ก็ยังคงคล้าย ๆ กัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันนี้ต่างก็มุ่งเน้นในเรื่องอารมณ์เครียดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปวดหลังและรักษาไม่ใคร่หาย นายแพทย์ Rothman (แพทย์ทางออร์โธปิดิคส์) ถึงกับกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้การรักษาอาการปวดหลังไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะแพทย์ผู้รักษามองดูแต่ที่หลังและมองข้ามความซึมเศร้าของผู้ป่วยไป

นายแพทย์ Hans Kruas เน้นมากในเรื่องของ "จุดชนวน" หรือ trigger point โดยถือว่าจุดชนวนนี้เกิดได้ทุกแห่งในร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อย ๆ คือบริเวณต้นคอ ไหล่ หลังส่วนล่างหรือเอว และที่สะโพก เขาเชื่อว่าจุดชนวนนี้เกิดจากกล้ามเนื้อได้รับภยันตรายเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เรื่อย ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อซึ่งทำให้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งต้องเกร็งตัวทำงานมากกว่าอีกมัดหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เกิดจุดชนวน หรือทริกเกอร์พอยท์ที่กล้ามเนื้อนั้นได้ ถ้าลองกดที่จุดชนวนนี้จะรู้สึกเจ็บ และถ้ามีอะไรมากระตุ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ไปเกร็งยกของหนัก หรือนั่งไปในรถที่ชนกันเพียงเบา ๆ หรือลงเข็นรถหรือเกิดอารมณ์เครียดขึ้นมาก็จะมีการกระตุ้นที่จุดชนวนนี้ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็งและเกิดเป็นความเจ็บปวดได้ เมื่อปวดก็จะยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งเกร็ง และยิ่งเกร็งก็ยิ่งปวด การเกิดจุดชนวนที่กล้ามเนื้อนั้น เปรียบเหมือนปืนที่บรรจุกระสุนพร้อม เพียงแต่รอผู้ที่จะมาลั่นไกเท่านั้น และการกระตุ้นที่จุดชนวนนี้ (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) ก็คือการลั่นไกให้เกิดเป็นความเจ็บปวดขึ้นมานั่นเอง

เมื่อได้อ่านจากตำราปวดหลังหลาย ๆ เล่ม ที่เขียนโดยผู้ชำนาญจากหลายสาขา รวมทั้งที่ผู้เขียนได้พบเห็นจากผู้ที่มีอาการปวดหลังในประเทศไทยเราอีกมาก พอจะสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ดังนี้คือ

1. ภยันตราย (trauma) ที่เกิดกับหลัง เป็นสาเหตุโดยตรง ซึ่งแยกได้เป็น 2 อย่างคือ

1.1 ภยันตรายที่เกิดอย่างเฉียบพลัน (acute trauma) พวกนี้ส่วนมากจะเกิดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ได้แก่ ตกจากที่สูง เช่น ตกต้นไม้ ตกจากตึก ตกจากนั่งร้านก่อสร้าง หรือนักโดดร่มที่ลงผิดท่า หรืออาจตกจากที่ไม่สูงนัก แต่ลงมาอย่างแรง เช่น หลุดออกมาจากรถเช่นชนกัน หรือล้มก้นกระแทกพื้น หรือถูกทำร้ายที่หลังโดยตรง เช่น ถูกตี ถูกแทง ถูกยิง หรือถูกสะเก็ดระเบิด เป็นต้น หรือ อาจถูกของหนัก ๆ หล่นทับหลัง ที่พบในบ้านเราได้บ่อย ๆ เช่น กระสอบข้าว กระสอบแป้ง กระสอบปูนซีเมนต์ หรือซุงหล่นทับหลัง ที่มุดเข้าไปซ่อมรถแล้วแม่แรงหลุดรถทับลงมาจนหลังหักก็มี ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีอาการรุนแรงและต้องไปพบแพทย์ทันที ส่วนมากจะได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

1.2 ภยันตรายที่เกิดอย่างเรื้อรัง (chronic trauma หรือ chronic overloading) เป็นภยันตรายที่เกิดอย่างช้า ๆ แต่เกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ หรือเป็นภยันตรายที่เกิดทีละเล็กละน้อย (micro trauma) มักเริ่มด้วยอาการปวด ๆ เมื่อย ๆ เมื่อได้พักผ่อนก็จะหายไป แล้วก็กลับเป็นขึ้นมาอีก อาการเหล่านี้หากไม่ได้รับความสนใจและปล่อยไว้อาการก็จะเพิ่มมากขึ้น เช่น เสมียนที่นั่งพิมพ์งานผิดท่าทั้งวันที่กล่าวถึงในตอนต้น หรือกรรมกรที่ต้องแบกหามของหนักอยู่เสมอ หรือคนขับรถบรรทุกที่แล่นไปบนถนนที่ขรุขระเป็นประจำ หรือแม้แต่การนอนบนที่นอนที่นุ่มเกินไป หรือนอนผิดท่าอยู่เสมอ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้ทั้งสิ้น
การปล่อยให้แนวโค้งของกระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ผิดปกตินาน ๆ หรือบ่อย ๆ จากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อจัดเป็นสาเหตุของการปวดหลังในหัวข้อนี้เช่นกัน เมื่อประมาณ พ.ศ.2487 แพทย์กลุ่มหนึ่งจากศูนย์การแพทย์ Columbia Presbyterian ซึ่งนำโดยแพทย์หญิง Barbara Stimson ได้ตรวจร่างกายของผู้ที่มีอาการปวดหลังจำนวน 3,000 คน และแพทย์กลุ่มเดียวกันนี้ได้ไปตรวจผู้ปวดหลังอีก 2,000 คนที่ Institute of Physical Medicine and Rehabilitation มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค พบว่าราวร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอาการปวดหลังนั้น มีสาเหตุมาจากความอ่อนแอและไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ เขาได้ติดตามผู้ป่วยเหล่านี้นานถึง 8 ปีอยู่ 233 คน พบว่าทั้งหมดมีอาการดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและสมดุลบริหารให้ดีมากขึ้นเท่าใด อาการปวดหลังก็น้อยลงเท่านั้น และอาการปวดหลังจะกลับเป็นอีกเมื่อหยุดออกกำลัง ปล่อยให้กล้ามเนื้ออ่อนแอและเสียสมดุลอีก

สำหรับการเปลี่ยนแนวโค้งของกระดูกสันหลังส่วนเอวในระหว่างมีครรภ์นั้น เมื่อบวกกับน้ำหนักของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นและจุดศูนย์ถ่วงที่ห่างกระดูกสันหลังออกมามาก อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้มาก ๆ ผู้เขียนมีผู้ป่วยหลายรายที่ปวดมากจนต้องมาใส่เฝือกหิ้วท้องไว้ อย่างไรก็ตามพวกนี้เมื่อคลอดแล้วอาการก็จะหายไป ไม่เหมือนกับพวกคนอ้วนที่ลงพุงมาก ๆ เหมือนคนท้อง 9 เดือนที่ไม่ยอมคลอดสักที พวกนี้นานไปจะปวดหลังเรื้อรังได้

เหตุเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนมีครรภ์ปวดหลังได้มากขึ้นก็คือ ในช่วงท้าย ๆ ของครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนพิเศษที่ช่วยให้เอ็นที่ยึดกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของกระดูกเชิงกรานหย่อนตัวลงกว่าเดิม เป็นการเตรียมเพื่อความสะดวกเวลาคลอด แต่ผลของฮอร์โมนนี้มิได้เกิดกับเอ็นของกระดูกเชิงกรานเท่านั้น แต่ไปมีผลต่อเอ็นของกระดูกสันหลังด้วย เมื่อเอ็นหย่อนกระดูกสันหลังก็เสียความมั่นคง ทำให้อาการปวดหลังมากยิ่งขึ้น บางคนอาจมากถึงมีขาชาก็ได้ สำหรับอาการปวดขาซึ่งมักจะเกิดร่วมได้บ่อย ๆ นั้น สาเหตุมักมาจากเส้นเลือดขอดที่ขามากกว่า ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้หญิงมีครรภ์บางคนทุกข์ทรมานมากทีเดียว

2. ความเสียหายของหมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral disc damage) หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ภยันตรายที่เกิดกับหลังในข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว ส่วนมากจะทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อหมอนรองกระดูกสันหลังเสมอ แนวโค้งของกระดูกสันหลังที่ผิดไปจากปกติจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังผิดรูปไปได้ และถ้ามีแรงกดลงมามาก ๆ ในแนวที่ผิดปกตินี้ ก็อาจทำให้ส่วนของหมอนรองกระดูกยื่นโป่งออกทางด้านใดด้านหนึ่งได้ ซึ่งมักจะออกทางด้านหลังเฉียงไปทางข้าง ๆ เพราะเป็นจุดที่แอนนูลัสของหมอนรองนี้อ่อนแอที่สุด และบังเอิญเป็นจุดที่ใกล้กับทางออกของรากประสาทไขสันหลังด้วย โอกาสที่รากประสาทจะถูกกดเบียดหรือถูกรบกวนจึงมีได้ ภยันตรายที่ทำให้เกิดแรงกดเบียนลงมามาก ๆ อาจทำให้แอนนูลัสแตกตรงจุดที่อ่อนที่สุดแล้วตัวนิวเคลียสทะลักออกมาก็ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังที่รุนแรงอย่างเฉียบพลันทันทีและมีอาการเสียวร้าวไปที่ขา

เมื่อมีอายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังจะเสื่อมและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ทั้งสิ้น

ในการที่หมอนรองกระดูกสันหลังยื่นโป่งออกไปนั้น ส่วนมากจะเข้าใจว่า เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดก็มากตาม แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น วัยที่พบว่ามีหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวยื่นโป่งออกมามากที่สุดนั้น คือวัยกลางคน (อายุ 30-40 ปี) จากสถิติของนายแพทย์ Albert Gob (จากมิวนิค เยอรมัน) พบว่า

อายุ (ปี)                       หมอนรองกระดูกโป่งออกคิดเป็นร้อยละ
10-19                             2.2
20-29                           11.2
30-39                           39.2
40-49                           29.2
50-59                           14.0
60-70                             3.0

จะเห็นว่าการยื่นโป่งออกนั้นมีมากที่สุดในวัย 30-40 ปี และเมื่อมีอายุมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้จะกลับน้อยลง ทั้งนี้อาจเป็นด้วยว่าในวัย 30-40 ปีนั้น เป็นวัยที่ต้องทำงานหนัก และมีการเคลื่อนไหวมาก นายแพทย์ Leon Root จากสหรัฐอเมริกาก็ให้ตัวเลขไว้ทำนองนี้เหมือนกัน

3. การติดเชื้อ (infection) เนื่องด้วยกระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ โรคติดเชื้อที่กระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยในอดีตของไทยเราก็คือ วัณโรคกระดูกสันหลัง ซึ่งทำให้มีอาการปวดหลังได้มาก ๆ (โดยเฉพาะในเวลากลางคืน) แม้ในปัจจุบันนี้จะลดลงมาก แต่ก็มีให้เห็นเป็นครั้งคราว โรคนี้หากละเลยปล่อยให้ลุกลามมาก อาจถึงเป็นอัมพาตของขาได้ การติดเชื้อนี้นอกจากเกิดกับกระดูกสันหลังแล้ว อาจเกิดกับอวัยวะอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ระบบประสาท ก็ทำให้ปวดหลังได้

4. การอักเสบที่ปราศจากเชื้อ การอักเสบของกระดูกนั้นอาจเกิดโดยมีเชื้อโรค หรือปราศจากเชื้อก็ได้ หากมีเชื้อก็จัดไว้ในพวกที่ 3 ที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการอักเสบที่ปราศจากเชื้อนั้นได้แก่ การอักเสบในพวกรูห์มาตอยด์ ซึ่งอาจเกิดกับมือ เท้า สะโพก หรือ หลังก็ได้

การอักเสบปราศจากเชื้อที่พบได้บ่อยอีกอย่างหนึ่งคือการอักเสบที่เกิดจากความเสื่อม ได้แก่พวก osteoarthritis หรือ osteoarthrosis ซึ่งอาจเกิดกับเข่า (พบได้บ่อยมาก) หรือเกิดกับหลังก็ได้ ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน

5. กระดูกจาง (osteoporosis) บางคนเรียกกระดูกกร่อน กระดูกผุ หรือกระดูกพรุน ซึ่งล้วนฟังดูน่ากลัวมาก ผู้เขียนคิดว่าแพทย์ไม่น่าใช้คำเหล่านี้กับผู้ป่วย หรือถ้าใช้ก็ควรอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจ เพราะผู้ป่วยหลายคนที่มาซักถามกับผู้เขียนด้วยความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งว่า กระดูกสันหลังของผม (หรือของฉัน) ที่มันกร่อน มันผุ หรือมันพรุนอยู่นี้จะทำให้หลังพังได้รวดเร็วหรือไม่ เพียงใด ภาวะกระดูกจางนี้เกิดจากมีแคลเซียมในกระดูกน้อยลง ทำให้เนื้อกระดูกไม่แน่นและแข็งแรงเช่นปกติ ความจริงเมื่อเรามีอายุสูงมากขึ้นกระดูกก็จะจางลงได้ โดยเฉพาะถ้าอายุมากและขาดการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวน้อยจะยิ่งจางลงได้มาก หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็จะมีภาวะนี้เกิดขึ้นได้ แขนขาที่ไม่ได้เคลื่อนไหว เช่นถูกเข้าเฝือกไว้นาน ๆ ก็กระดูกจางได้ แต่ที่ต้องระวังให้มาก ๆ ก็คือ การรับประทานยาพวกที่มีสตีรอยด์ หรือเพรดนิโซโลน ซึ่งหากรับประทานติดต่อกันนานจะทำให้กระดูกจางได้อย่างมาก ๆ ทีเดียว ภาวะกระดูกจางนี้จะทำให้ปวดหลังได้และมักเป็นอย่างเรื้อรัง โดยอาจปวดเพียงเล็กน้อยแค่รำคาญ หรืออาจปวดมากจนต้องหาแพทย์ สำหรับภาวะกระดูกจางในผู้ที่สูงอายุนั้น การออกกำลังกายที่พอเหมาะจะเป็นการป้องกันได้อย่างดีที่สุด

6. เนื้องอก (tumor) อาจเป็นชนิดร้ายแรง (มะเร็ง) หรือไม่ร้ายแรงก็ได้ แต่โชคดีที่ส่วนมากของเนื้องอกมักเป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรง เนื้องอกนี้อาจเกิดที่ตัวกระดูกสันหลังเอง หรือกับส่วนอื่น เช่น ระบบประสาทก็ได้ ก้อนเนื้องอกแม้จะไม่ร้ายแรง แต่ถ้าไปกดเบียดไขสันหลังหรือรากประสาทก็ทำให้ปวดและเสียวร้าวไปที่ขาได้ สำหรับเนื้องอกที่ร้ายแรงหรือมะเร็งนั้น อาจเริ่มที่ตัวกระดูกสันหลังเองก็ได้ เช่น มัลติเพิล มัยอีโลม่า แต่ที่พบได้บ่อย ๆ คือ มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น เช่น เป็นมะเร็งของเต้านม มะเร็งของมดลูก หรือ มะเร็งของต่อมลูกหมาก เป็นต้น มีผู้ป่วยมะเร็งของเต้านม (ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว) ที่ถูกส่งไปใส่เฝือกพยุงหลังอยู่เสมอ เพราะเนื้อมะเร็งได้กระจายไปที่กระดูกสันหลังแล้ว การใส่เฝือกพยุงหลังในผู้ป่วยเหล่านี้นอกจากทำให้ลดความเจ็บปวดแล้ว ยังป้องกันมิให้กระดูกสันหลังยุบลงได้ด้วย

7. ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือระหว่างการเจริญเติบโต (congenital and developemental defect) ความผิดปกติเหล่านี้มีหลายอย่างที่ทำให้ปวดหลังได้ โดยเฉพาะถ้าความปกตินั้นทำให้โครงสร้างของหลังเสียความมั่นคง หรือไม่อยู่ในภาวะที่สมดุล บางคนเกิดมามีจำนวนของกระดูกสันหลังส่วนเอวไม่เท่าผู้อื่น เช่น มีเพียง 4 อัน หรือมากเกินเป็น 6 อัน อาจทำให้กลไกการเคลื่อนไหวผิดปกติและปวดหลังได้ บางคนมีแนวของกระดูกเหนือก้นกบอันบนสุดเอียงเฉียงมาก ทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่บนนี้เอียงมากไปด้วย คือมีมุมลัมโบเซครัลเกิน 30 องศาไปมาก ๆ ทำให้มีโค้งลอร์โดติคมาก หรือเอวแอ่นมาก โอกาสที่จะปวดหลังย่อมมีได้มาก บางคนเกิดมาหลังงอ หลังคด ก็เป็นสาเหตุให้ปวดหลังได้
ความผิดปกติที่เกิดระหว่างการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สปอนดัยโลลัยสิส (spondylolysis) และสปอนดัยโลลิสธีลิส (spondylolisthesis) คือมีส่วนของกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างอาร์ติคิวล่าร์โปรเซสส์อันบนกับล่างหรือพาร์สอินเตอร์อาร์ติคิวลาริสขาดตอนจากกัน หรือมีความอ่อนแอมากกว่าปกติ เมื่อต้องมารับแรงมาก ๆ โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ 4 และ 5 ก็อาจทำให้แตกหรือร้าวได้ หากเอ็กซเรย์พบว่ามีรอยแยกที่บริเวณนี้ แต่ยังไม่มีการเลื่อนไถลของตัวกระดูกสันหลัง เราเรียกว่าสปอนดัยโลลัยสิส แต่ถ้าพบว่ามีตัวกระดูกสันหลังเลื่อนไถลเลยมาทางข้างหน้าจะเรียกว่า สปอนดัยโลลิสธีสิสซึ่งมักจะเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ 4 หรือ 5 เช่นอันที่ 4 เลื่อนเลยออกมาจากอันที่ 5 หรืออันที่ 5 เลื่อนเลยออกมาจากกระดูกเหนือก้นกบอันบนสุดเป็นต้น การเลื่อนนี้อาจเลื่อนน้อยหรือมากก็ได้ และนิยมคิดกันเป็นเปอร์เซนต์หรือร้อยละ เช่นเลื่อนมาร้อยละ 25 หรือร้อยละ 50 เป็นต้น การเลื่อนของกระดูกนี้อาจไปกดเบียด หรือไปรบกวนรากประสาทไขสันหลังได้ ทำให้เกิดอาการปวดหรือเสียวร้าวไปที่ขา แต่ผู้ที่มีความผิดปกตินี้ อาจไม่มีอาการเลยก็ได้ และตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อตรวจทางเอ็กซเรย์ด้วยเรื่องอื่น

8. จากอวัยวะภายในที่อยู่ใกล้เคียง (viscerogenic pain หรือ referred pain) ที่เคยเชื่อกันมากว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการปวดหลังคือโรคไต แม้ในประเทศอังกฤษเองก็เคยมีการโฆษณาขายยาเม็ดบำรุงไตแก้อาการปวดหลังที่เรียกว่า Doan's backache kidney pills ซึ่งปรากฎว่ามีกรรมกรที่ทำงานหนักและปวดหลังซื้อกินกันมาก ความจริงโรคไต หรือโรคของระบบขับถ่ายบริเวณนั้นทำให้เกิดอาการปวดหลังได้จริง ๆ เพียงแต่ไม่มากอย่างที่เคยเชื่อกัน อย่างไรก็ตามจะต้องนึกถึงไว้เสมอ ผู้เขียนยังจำผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งได้ เป็นครูที่มีอายุ 50 ปีเศษ แพทย์เจ้าของไข้ส่งไปหาผู้เขียนเพื่อใส่เฝือกพยุงเอวอย่างอ่อน เพราะมีอาการปวดหลัง ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง หากผู้ป่วยจะได้สังเกตปัสสาวะของตนมาก่อนและบอกให้แพทย์ทราบเสียแต่แรกก็คงจะวินิจฉัยโรคได้เร็วกว่านี้

โรคของกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่ ตลอดจนโรคของระบบสืบพันธุ์สตรี อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ทั้งสิ้น

9. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต (circulatory disorder) หรือความผิดปกติของหลอดเลือดอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือปวดขามากจนเข้าใจผิดว่ามีการยื่นโป่งของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดเบียดประสาท สาเหตุนี้แม้จะไม่เกิดบ่อยแต่ก็อาจเกิดได้ เช่น การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง (aneurysm of abdominal aorta) อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เพราะหลอดเลือดใหญ่นี้อยู่ใกล้กระดูกสันหลังมาก ผู้ป่วยอาจมีขาชาร่วมด้วยก็ได้

10. ความเครียดทางอารมณ์ (emotional tension หรือ stress) ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ให้ความสนใจในสาเหตุนี้มาก เพราะพบว่าความเครียดทางอารมณ์นั้นมิใช่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคแผลในกระเพาะอาหาร หอบหืด ลมพิษ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดอาการปวดหลังปวดคอได้ด้วย เพราะความเครียดทำให้เกิดการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อได้มาก ๆ โดยเฉพาะบริเวณต้นคอและหลัง สาเหตุนี้เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชีวิตของคนปัจจุบันต้องเผชิญกับความเครียดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมาประกอบกับการออกกำลังกายที่น้อยลง เคลื่อนไหวน้อยลง (เพราะมีเครื่องทุ่นแรงมาก) และรับประทานมากขึ้น (ทำให้อ้วน) โอกาสที่จะปวดหลังก็เพิ่มเป็นทวีคูณ

เรื่องของความเครียดทางอารมณ์กับการปวดหลังนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก จึงขอแยกกล่าวไว้ต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น