โรคของระบบทางเดินหายใจ-อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)
อีสุกอีใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็ก แต่พบได้น้อยมากในผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน
และมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก
มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
*****************
<<< สาเหตุ >>>
*****************
เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ไวรัส (Varicella virus)
เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด
ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือ โดยการสัมผัส หรือใช้ของใช้ (เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ร่วมกับคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด
ระยะฟักตัว 10 - 20 วัน
*****************
<<< อาการ >>>
*****************
เด็กจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย
ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน
ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้
เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน
และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด
ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง
บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ
บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้
เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้ จะค่อยๆ ออกทีละระลอก (ชุด)
ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ
บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด
ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่าอีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)
***********************
<<< สิ่งตรวจพบ >>>
***********************
มีผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง
มักพบว่ามีไข้
ตุ่มของอีสุกอีใส แยกออกจากไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว) ได้
โดยที่ตุ่มของไข้ทรพิษจะขึ้นหลังจากมีไข้ประมาณ 3 วัน
กระจายอยู่ตามแขนขามากกว่าลำตัว และตุ่มจะสุกพร้อมกันทั่วร่างกาย
**************************
<<< อาการแทรกซ้อน >>>
**************************
พบได้น้อยในเด็ก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรงขึ้น
ที่พบได้บ่อย คือ ตุ่มกลายเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้
บางคนอาจกลายเป็นปอดอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งอาจทำให้ตายได้ มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
ที่ร้ายแรง คือ สมองอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค เช่น สเตอรอยด์ หรือ ยากรักษามะเร็ง
********************
<<< การรักษา >>>
********************
1. แนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย เช่น พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ
ถ้ามีไข้สูงห้ามอาบน้ำเย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ
ถ้าปากเปื่อยลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
ควรอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด (อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เช่น ไฟโซเฮกซ์ ก็ได้) เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนอง
ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าแกะหรือเกาตุ่มคัน อาจทำให้ติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองได้
2. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ทาคาลาไมน์โลชั่น
ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ หรือ ยากล่อมประสาท เป็นต้น (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน)
3. ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้ทาด้วย ขี้ผึ้งเตตราซัยคลีน หรือ เจนเชียนไวโอเลต
ถ้าเป็นมาก ให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี แอมพิซิลลิน หรือ อีริโทรมัยซิน
4. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ควรส่งโรงพยาบาลด่วน
*********************
<<< ข้อแนะนำ >>>
*********************
1. โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ไข้อาจมีอยู่เพียงไม่กี่วัน
ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1-3 สัปดาห์
ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อาจเป็นนานกว่าผู้ป่วยเด็ก
2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก
แต่อาจมีโอกาสเป็นงูสวัด ในภายหลังได้
3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตอรอยด์ทั้งยากิน (เช่นยาชุด) และยาทา
เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก
ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้ คือ ตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นตุ่มขึ้น
จนกระทั่งระยะ 6 วันหลังผื่นตุ่มขึ้น
5. ไม่มีของแสลงสำหรับโรคนี้
ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มากๆ
เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค
<<< เด็กที่เป็นอีสุกอีใส ควรตัดเล็บให้สั้น และอย่าเกาตุ่มคัน อาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้ >>>
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น