วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หน้าที่และความรับผิดชอบของพยาบาลศัลยกรรม

หน้าที่และความรับผิดชอบของพยาบาลศัลยกรรม
..........การพยาบาลผู้ป่วยในแผนกศัลยกรรม เป็นการพยาบาลผู้ที่มีอาการของโรคซึ่งส่วนมากจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาอาจเป็นการบำบัดอาการของโรคโดยตรงหรือรักษาอาการแทรกซ้อนของโรคที่เกิดขึ้น หรือเป็นการบรรเทาอาการของผู้ป่วยในบางราย เช่น อาการปวดในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง อาจทำการผ่าตัดเพื่อ block nerve ให้ทุเลาอาการปวด เป็นต้น ตามปกติแล้วการผ่าตัดมักจะทำเมื่อการรักษาโดยการใช้ยาหรือวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้ว
..........การรักษาโรคทางศัลยกรรม มีการแยกผู้ป่วยออกเป็นหลายประเภท เช่น ผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมออร์โธปิดิคส์ ศัลยกรรมจักษุ โสด ศอ นาสิก และลาริงซ์ ศัลยกรรมทรวงอก ศัลยกรรมช่องท้อง ศัลยกรรมประสาท และสมอง เป็นต้น
..........ผู้ป่วยที่มารักการรักษาทางแผนกศัลยกรรมมีทั้งผู้ป่วยเพศหญิง เพศชาย รวมทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ด้วย นอกจากนั้นบางรายเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดทั้นที ส่วนบางรายต้องคอยการตรวจต่าง ๆ ให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วจึงจะได้รับการผ่าตัด

การให้การพยาบาลผู้ป่วย
..........ก่อนที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วย ผู้ให้การพยาบาลจะต้องศึกษาอาการ อาการแสดงของโรคและความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยการศึกษาจากตัวผู้ป่วย รายงานผู้ป่วย และจากปฏิกิริยาที่ผู้ป่วยแสดงออกมา ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลมีอาการมากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ระดับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วย อายุ เพศ และขนบธรรมเนียมประเพณี ฉะนั้น ผู้ให้การพยาบาลจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

..........1. ให้ความสุขสบายแก่ผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
..........ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคที่เห็นได้ชัดเจน มิใช่ว่าอาการของเขาจะจำกัดอยู่ที่บริเวณที่เป็นโรคเท่านั้น แต่เขาจะมีอาการทางจิตใจร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยที่แขนหักต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
..........1.1. กระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ เพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ไม่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ ไม่เข้าใจกฎระเบียบของโรงพยาบาล
..........1.2. ว้าเหว่ที่ต้องจากบ้านมา กลัวถูกทอดทิ้งโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยสูงอายุ เขาจะรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง
..........1.3. ความกลัวของผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มักจะเกิดความกลัวจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น กลัวการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค, กลัวการเตรียมบริเวณเพื่อทำการผ่าตัด, กลัวการดมยาสลบ, กลัวที่จะต้องถูกผ่าตัด, กลัวจะพบความเจ็บปวดและความไม่สบายต่าง ๆ หลังผ่าตัด, กลัวจะต้องถูกตัดอวัยวะบางส่วนออกไปทำให้พิการ, กลัวเมื่อผ่าตัดแล้วจะไม่หาย หรือไม่สวยงาม เช่น ในรายที่ผ่าตัดเพื่อเสริมความงาม หรือผ่าตัดตบแต่งเพื่อให้อวัยวะใช้การได้, ฯลฯ
..........ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ ซึมเศร้า ร้องไห้ ไม่อยากพูดกับพยาบาลซึ่งเป็นคนเปลกหน้า ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการตรวจรักษา ฉะนั้นผู้ให้การพยาบาลจะต้องเข้าใจผู้ป่วย ให้ความสนิทสนม เอาใจใส่ ชวนพูดคุย ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย ต้องมีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีความกังวลใจ หรือไม่สบายใจ ต้องให้ผู้ป่วยพูดออกมาเพื่อเป็นการระบายความรู้สึก และควรหาโอกาสชี้แจงหรือแนะนำเกี่ยวกับการักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยเข้าใจอย่างถูกต้องและย้ำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจต่อการรักษาที่เขาจะได้รับ การช่วยอีกวิธีหนึ่งคือ จัดให้ผู้ป่วยที่มาคอยรับการผ่าตัดได้พูดคุยกับผู้ที่เป็นโรคเดียวกัน และได้รับการบำบัดโดยการผ่าตัดมาแล้ว จะช่วยทำให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้นบ้าง
..........ในการให้การพยาบาลผู้ป่วยนั้น จะต้องมีการวางแผนให้ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย ตามปกติมนุษย์ทุกรูปทุกนามมีความต้องการอยู่ตลอดเวลาทั้งในยามปกติและยามเจ็บป่วย โดยเฉพาะยามเจ็บป่วยมักมีความต้องการมากกว่าธรรมดา ซึ่งผู้ให้การพยาบาลจะต้องช่วยเหลือทั้งด้านการตอบคำถาม ชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจในการรักษาพยาบาล จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลลงได้ ทั้งนี้ผู้ให้การพยาบาลจะต้องมีความเมตตากรุณา มีความรู้ความสามารถในการให้การพยาบาลผู้ป่วยเป็นอย่างดี มีท่าทีอบอุ่นและเต็มใจที่จะช่วยผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา

..........2. ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
..........การที่จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องนั้น ผู้พยาบาลจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค อาการและการแสดงของโรคตลอดจนการพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรมเป็นอย่างดี สามารถนำความรู้มาปรับเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ให้การดูแลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
..........การป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้นยังอาศัยจากการสังเกตอาการของผู้ป่วย การที่จะทราบอาการของผู้ป่วยนั้น ผู้ให้การพยาบาลจะต้องเข้าใจคำว่า Signs และ Symptoms ด้วย
..........signs หมายถึง อาการที่ผู้อื่นสังเกตเห็น เช่น ขณะที่ผู้ป่วยมีไข้จะมีหน้าตาแดง ตัวร้อน ซึ่งเราทราบได้โดยการสัมผัส แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยตัวร้อนมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ปรอทวัดความร้อนของร่างกายวัดดูจึงจะทราบชัดเจนว่าร้อนเท่าใด
..........symptoms หมายถึง อาการแสดงซึ่งเกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรคที่ทำให้การทำงานของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น ใจสั่น ปวดท้อง อ่อนเพลีย เป็นต้น
..........การสังเกตอาการของผู้ป่วย ประกอบด้วย
..........2.1 การมอง พยาบาลจะต้องมีไหวพริบ และมีความชำนาญพอจึงจะสังเกตอาการของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงานมานาน จะสังเกตอาการคนไข้ได้ว่า จากการมองนั้นได้อะไรจากผู้ป่วยบ้าง เช่น มองเห็นความผิดปกติของสีหน้าผู้ป่วย ท่านอนของผุ้ป่วย ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีหรือไม่ ร่างกายมีบาดแผล มีเลือดออก หรือรอยฟกช้ำดำเขียวที่ไหนบ้าง
..........2.2 การสัมผัส จากการแตะต้องผู้ป่วย จะทราบได้ว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ หรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อเป็นอย่างไร
..........2.3 การได้กลิ่น จะต้องสังเกตกลิ่นต่าง ๆ ที่ขับถ่ายออกจากตัวผู้ป่วยว่ามีกลิ่นผิดปกติอย่างไรหรือไม่ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ หนอง หรือกลิ่นแผลของผู้ป่วย
..........2.4 การฟัง ฟังเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน เช่น ฟังเสียงพูดว่ามีเสียงแหบแห้งอย่างไร เสียงการเต้นของหัวใจ เสียงปอด ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
..........จากการสังเกตดังกล่าว ผู้ที่ให้การพยาบาลสามารถที่จะหาวิถีทางป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยไม่ให้เป็นอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตได้
..........ผู้ให้การพยาบาลแผนกศัลยกรรมต้องมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้กับผู้ป่วย สามารถบอกวิธีใช้และทราบว่า เครื่องมือนั้นทำงานสะดวกหรือมีข้อติดขัดอย่างไร เช่น ผู้ป่วยที่มีสายยางต่อจากกระเพาะอาหารเข้ากับเครื่อง suction ตามปกติจะมีน้ำสีค่อนข้างเขียวออกมาในขวดที่ติดอยู่กับเครื่อง ถ้าหากไม่มีน้ำออกมาในขวดเลย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืดมาก กระสับกระส่าย ผู้พยาบาลจะต้องค้นดูสาเหตุที่ทำให้น้ำกระเพาะอาหารไม่ออกมา ซึ่งอาจจะเนื่องจากผู้ป่วยนอนทับสายยาง สายยางหักพับงอ หรือปิดจุกขวดไม่แน่น ดังนี้เป็นต้น
..........การให้ยาจะต้องให้ตรงตามเวลาและถูกวิถีทาง ถ้าเกิดมีการผิดพลาดไม่ว่าจะโดยสาเหตุอะไรก็ตาม ควรรายงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที โดยไม่ปกปิดเอาไว้
..........นอกจากนี้ ควรป้องกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การตกเตียง หกล้ม เป็นต้น

..........3. ส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย เพื่อให้กลับไปมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
..........การส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถำาพนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยกลับจากห้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องคอยให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบเสียก่อนแล้วจึงจะเริ่มลงมือส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพให้ นอกจากนั้นพยาบาลยังต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยในระยะก่อนกลับบ้าน และอธิบายให้ญาติเข้าใจถึงการดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับไปบ้านแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตลอดชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่มี colostomy พยาบาลจะต้องสอนการทำความสะอาด การสังเกตอาการ สอนเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ชนิดของอาหารที่ควรและไม่ควรรับประทาน การป้องกันโรคแทรกซ้อน การออกกำลังกายหรือการปฏิบัติภารกิจประจำวัน ขณะที่สอนควรสังเกตอาการและปฏิกิริยาของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งให้ผู้ป่วยหรือญาติลองฝึกหัดทำด้วย เพื่อว่าในกรณีที่มีข้อสงสัยจะได้อธิบายให้ทราบก่อนกลับบ้าน

..........4. ให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วย
..........การเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วยอาจกระทำได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
..........4.1 เวลาพูดคุยหรืออธิบายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วย ควรเรียกชื่อผู้ป่วยแทนการใช้สรรพนามอย่างอื่น
..........4.2 ก่อนที่จะลงมือให้การพยาบาลผู้ป่วย ควรแจ้งจุดประสงค์ของการกระทำให้ผู้ป่วยทราบก่อนทุกครั้ง
..........4.3 ควรให้ผู้ป่วยได้ทราบ หรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตัวเขาเองด้วย
..........4.4 ขณะที่ให้การรักษาพยาบาลไม่ควรเปิดเผยผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
..........4.5 ในกรณีที่ทำการพยาบาลเกี่ยวกับอวัยวะในที่สูง ควรจะขอโทษผู้ป่วยเสียก่อน
..........4.6 ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวต้องให้การรักษาพยาบาลด้วยความระมัดระวัง และไม่เปิดเผยเช่นเดียวกัน
..........4.7 ไม่แสดงท่ารังเกียจ เหยียดหยาม เบื่อหน่าย ทอดทิ้งผู้ป่วย

..........5. รักษาผลประโยชน์และความลับของผู้ป่วย
..........พยาบาลจะต้องรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่น ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
..........5.1 การรักษารูปคดี ในรายที่เกิดอุบัติเหตุหรือคดีอื่น ๆ ไม่ควรแจ้งผลการรักาาให้คู่กรณีทราบโดยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น
..........5.2 รายงานการรักษาของแพทย์ ต้องเก็บไว้เป็นความลับไม่นำไปให้ผู้อื่นอ่าน
..........5.3 ประวัติของผู้ป่วย ไม่นำมาพูดคุย ถกเถียง หรือล้อเลียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตัวผู้ป่วย
..........5.4 การนำเรื่องราวเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายมาทำกรณีศึกษา (case study) ควรจะได้บอกเล่าให้ผู้ป่วยทราบก่อนทุกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น