วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระเจ้าไม้

พระเจ้าไม้
..........หมายถึง พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ชนิดต่าง ๆ ตามความเชื่อ ซึ่งโดยทั่วไปแกะขึ้นจากไม้ท่อนเดียวชนิดเดียว แต่บางองค์แกะจากไม้หลายชนิดประกอบกัน

ไม้สร้างพระเจ้า
..........จากการศึกษาของ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงใหม่ พบว่าไม้ที่นิยมนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือพระเจ้านั้น โดยทั่วไปเห็นจะได้แก่ ไม้สัก, ไม้สะหรี (โพธิ์), ไม้สะเลียม (สะเดา), ไม้แก่จันทน์ (จันทน์หอม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีไม้ชนิดอื่น ๆ อีก เช่น ไม้แก้ว (พิกุล), ไม้จำปา, ไม้จำปี, ไม้เดื่อปล่อง เดื่อเกลี้ยง, ไม้ประดู่, ไม้แดง, ไม้ซ้อ, ไม้ขนุน เป็นอาทิ

..........คติเกี่ยวกับไม้มงคลที่นำมาสร้างพระเจ้านั้นบางส่วนได้รับความเชื่อมาจากไม้โพธิฤกษ์ คือไม้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ประทับใต้ร่มไม้นั้น ๆ ในการตรัสรู้ อย่างที่ปรากฏตำนานมูลศาสนา ได้แก่ ไม้ทองกวาว, ไม้แคฝอย, ไม้ไทร, ไม้บุนนาค, ไม้มะเกลือ, ไม้มะเดื่อ, ไม้สะเดา, ไม้จำปา, ไม้ฝาง เป็นต้น

..........พระเจ้าไม้ที่มีขนาดใหญ่บางองค์มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพศรัทธา เช่น พระเจ้าที่สร้างด้วยไม้สัก คือ พระพุทธนเรศวร์สักชัยไพรีพินาศ วัดบุพพาราม อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ พระเจ้าที่สร้างด้วยไม้สะเดา คือ พระเจ้าสะเลียมหวาน วัดพระศรีธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และพระเจ้าแก่นจันทน์ วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พระพุทธนเรศวร์สักชัยไพรีพินาศ วัดบุพพาราม 

..........โดยปกติแล้ว พระเจ้าไม้ขนาดใหญ่ มักเป็นพระเจ้าของเจ้าภาพระดับผู้มีอำนาจหรือคนหมู่มากระดับชุมชน แต่ที่มีโดยทั่วไปมักเป็นพระเจ้าขนาดเล็กแกะจากไม้ท่อนเดียวมีทั้งหมด 4 อิริยาบถ คือ พระเจ้ายืน พระเจ้าเดิน พระเจ้านอน และพระเจ้านั่ง ที่ปรากฏมากที่สุดคือ พระเจ้านั่ง ซึ่งมี 2 ปาง คือ ปางสมาธิและปางชนะมาร ปางชนะมารมีจำนวนมากที่สุด ส่วนมากอายุประมาณ 70-150 ปี สร้างถวายวัดเพื่อหวังอานิสงส์และสืบต่ออายุพระศาสนา

..........ส่วนพระเจ้าที่แกะจากไม้หลายชนิดประกอบกันเป็นองค์พระ มักเป็นพระเจ้าไม้ประจำชะตาปีเกิด สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้สักการบูชาหวังความเป็นสิริมงคล พระเจ้าไม้ประเภทนี้ มีตำราในการสร้าง อย่างที่ ศรีเลา เกษพรหม ปริวรรตจากคัมภีร์ใบลานวัดแม่ต๋ำ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ว่า

.........."...ที่นี้จักกล่าวอุปเทสอันจักสร้างแปลงยังพุทธรูปเจ้าหื้อวุฑฒิจำเริญแลอยู่ดีมีสุข...หื้อมีเครื่องปูชา มีข้าวตอกดอกไม้ไปปูชาเอาไม้เดื่อปล่อง ซอจิ่มไม้เดื่อปล่องนั้นด้วยคำปราถนามักแห่งตน แล้วเอามาตากแห้งไว้ แล้วสลักแปลงพุทธรูปเจ้า แล้วลงโขงชะตาใส่ในแผ่นเงิน...ขดพันแผ่นเงิน...เข้าใส่ในกลวงพระเจ้า...เอาไม้ม่วงพระญายอมาแปลงเป็นจิกโมลีติดปลายบน...ไม้หนุนมาแปลงเป็นแท่น...ไม้ทันเป็นแขนขวา ไม้หมากเป็นแขนซ้าย...แล้วฝังน้ำรักหื้อหมั้น..."

..........ความว่า ณ ที่นี้จะขอกล่าวอุปเทศแห่งการสร้างพระพุทธรูปอันจะทำให้เกิดความสุขความเจริญ ให้นำข้าวตอกดอกไม้ไปทำพิธีพลีเอาไม้มะเดื่อปล่องด้วยคำตั้งความปรารถนา นำมาตากแห้งไว้แล้วแกะเป็นพระพุทธรูป ผูกดวงชะตาลงในแผ่นเงินม้วนใส่ในโพรงขององค์พระ เอาไม้มะม่วงพระญายอมาทำเป็นโมลี ไม้ขนุนทำเป็นแท่นบัลลังก์ ไม้พุทราเป็นแขนขวา ไม้หมากเป็นแขนซ้าย ใช้น้ำยางรักเชื่อมรอยให้สนิทแน่น

การสร้างพระเจ้าไม้
..........ตำราของวัดแม่ต๋ำ กล่าวถึงสัดส่วนของพระเจ้า ซึ่งสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนแห่งการสร้างพระพุทธรูปที่สร้างด้วยวัสดุอื่น ๆ โดยทั่วไป และน่าจะนำมาเป็นมาตราการวัดเพื่อสร้างพระเจ้าไม้ด้วยเช่นกัน ตำราดังกล่าวระบุว่า

.........."...หื้อแทก (วัดขนาด) แต่หัวเขาทัง 2 เข้าหากัน กว้างเท่าใดหื้อเอามาหักเป็น 4 ส่วนเอาส่วนนึ่งแทกแต่นั่งขึ้นเถิงสายดือ แต่สายดือขึ้นเถิงอก แต่อกเถิงคาง แต่คางถึงตีนผม ปล้องแขนแต่แค้าแร้ (รักแร้) ถึงศอกข้างในเท่าหน้า แต่ศอกถึงข้อมือเท่าหน้า แต่ข้อมือถึงปลายนิ้วเท่าหน้า นิ้วมือยาวเกิ่งหน้า ข้อมือหัก 3 ฝ่ามือกว้างเท่าเกิ่ง หน้าผากพาดกว้างเกิ่งหน้า ปล้องขาปล้องแค่ง (แข้ง) เท่าหน้า ฝ่าตีนเท่าหน้า นิ้วเท้าให้เอาความยาวใบหน้าตีนเอาหน้าหัก 3 เอานึ่ง หักนิ้วเป็น 2 เป็นค่อ (ข้อ) ตีน แต่นมถึงจอมบ่าเท่าหน้าแหล่ (ไหล่) กว้าง 2 หน้า เอาหน้าหัก 4 ทุม (ทิ้ง) 1 เป็นหว่างนมทั้ง 2 เอาหน้าหัก 3 เอาหนึ่งเป็นปาก เป็นตายาว เป็นหน้าผาก ตุ่มตานั้น หือกลมดังกลีบงัวอุสุภราช หน่วยตาหื้อเหลี้ยม (แหลม) ดังกลีบหอมเทียม (กระเทียม) คิ้วก่อง (โก่ง) ดังธนูอินท์ หูยาวเท่าหน้า ปลายหูเพียง (ระดับ) คิ้วเทิอะ..."

..........แปลความว่า

..........วัดขนาดช่วงเข่าทั้งสอง แบ่งเป็น 4 ส่วน
..........เอาส่วนหนึ่งเป็นขนาดที่นั่งถึงสะดือ สะดือถึงอก อกถึงคาง คางถึงตีนผม (ช่วงใบหน้า) รักแร้ถึงศอก สีข้างเท่ากับใบหน้า ศอกถึงข้อมือเท่าใบหน้า ข้อมือถึงปลายนิ้วมือเท่าใบหน้า นิ้วมือยาวเท่ากับครึ่งหนึ่งของใบหน้า ฝ่ามือและนิ้วมือให้แบ่งเป็น 3 ส่วน สองส่วนเป็นความยาวฝ่ามือ หนึ่งส่วนเป็นความยาวนิ้วมือปล้องขาและปล้องแข้งเท่าใบหน้า ฝ่าเท้าเท่าใบหน้า นิ้วเท้ายาว 1/3 ความยาวของใบหน้า แบ่งความยาว 2/3 ของใบหน้าเป็นข้อเท้า
..........วัดตั้งแต่นมถึงบนบ่า และความกว้างของช่วงไหล่ยาวเท่ากับความยาวสองเท่าของใบหน้า
..........เอา 3/4 เป็นระยะห่างของนมทั้งสอง
..........เอา 1/4 ของความยาวใบหน้าเป็นความยาวของปาก ตา และหน้าผาก
..........นัยน์ตาให้กลมดั่งกลีบเท้าวัวอุสุภราช ตาแหลมดั่งกระเทียม
..........คิ้วโก่งดั่งคันธนูของพระอินทร์
..........หูยาวเท่ากับใบหน้า ส่วนบนสุดของใบหูอยู่ระดับเดียวกับคิ้ว
..........กล่าวเฉพาะการสร้างพระเจ้านี้ เท่าที่สังเกตพระเจ้าไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ส่วนหนึ่งมิได้เคร่งครัดตามตำรา คงสร้างโดยอาศัยการกำหนดขนาดจากของช่างผู้แกะเป็นส่วนใหญ่
..........อนึ่ง ความยาวหรือความสูงของพระเจ้าไม้ โดยทั่วไปนิยมให้มีขนาดเท่าความยาว 1 คืบ หรือ 1 ศอก ของผู้ที่เป็นเจ้าภาพสร้างพระเจ้าองค์นั้น ด้วยเชื่อว่าจะเพิ่มความเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น
..........เมื่อได้ขนาดตามสัดส่วนแล้วจึงลงมือแกะเป็นรูปตามด้วยการสลักเสลาจนเสร็จสิ้นแล้วขัดสีตกแต่ง ลงรักปิดทองให้งดงาม ดังที่ท้ายตำราข้างต้นกล่าวว่า "ขัดหื้อดี แล้วทารักใส่คำหื้องาม..."

การอบรมสมโภช
..........พิธีกรรมสำคัญยิ่งหลังเสร็จสิ้นการสร้างองค์พระคือ "การบวชพระเจ้า" "เบิกบายรวายสีพระเจ้า" หรือ "อบรมสมโภชพระเจ้า" คือพิธีพุทธาภิเษกเพื่อสถาปนาองค์พระให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยกำหนดให้ประกอบพิธีในวันเกิดของเจ้าภาพ ซึ่งในพิธีต้องจัดเตรียมเครื่องพิธีดังปรากฏในตำราของวัดเมืองราม ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ว่า

.........."เราเกิดวันใดหื้อเบิกบายวันนั้น หื้อมี เบี้ยหมื่น หมากหมื่น พลูยาแลอันแลห่อ เทียนใหญ่ 4 คู่ เทียนหน้อย 8 คู่ น้ำต้น หม้อ สาด หมอน กล้วยเครือ พร้าวเครือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ...นิมนต์พระสังฆเจ้าหื้อพอ 5 ตน สูตรมหามังคละเบิกบายรวายสี แล้วสระสรงอบรมด้วยเครื่องปูชาแล..."

..........ความว่า ให้ประกอบพิธีในวันเกิดของตน โดยจัดเตรียมเบี้ยหมื่น (เบี้ย 100 เส้น) หมากหมื่น (หมากแห้ง 100 เส้น) พลูและยาเส้นอย่างละ 1 ห่อ เทียนใหญ่ 4 คู่ เทียนเล็ก 8 คู่ คนโท หม้อน้ำ เสื่อ หมอน กล้วย 1 เครือ มะพร้าว 1 ทะลาย ข้าวเปลือก และข้าวสาร พร้อมนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป สวดสมโภช แล้วบูชาด้วยเครื่องสักการะ

วัตถุประสงค์ในการสร้าง
..........การสร้างพระเจ้าไม้มีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง อย่างหนึ่งสร้างขึ้นถวายไว้เพื่อสืบต่อพระศาสนา แล้วตั้งความปรารถนารับอานิสงส์ไปตลอด ตราบจนเข้าพระนิพพานเป็นที่สุด อีกอย่างหนึ่งสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำตัว หรือประจำชาตาปีเกิด เพื่อตั้งไว้สักการบูชา โดยมุ่งหวังความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งอย่างแรกถวายไว้กับวัดในโอกาสต่าง ๆ อย่างที่สองประดิษฐานไว้ ณ หอพระซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเคหสถานที่ยื่นออกนอกชายคาเรือน ต่อมาประดิษฐานบนหิ้งพระประจำบ้าน


พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
..........ไม้แกะสลัก ศิลปะแบบล้านนา (ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย) สร้างแบบศิลปะสมัยทวารวดี ประมาณ 100 ปี
An image of Buddha holding an alms-bowl
..........Lanna style wood carving made during the Dvaravati period around 2400BE.

อานิสงส์สร้างพระเจ้าไม้
..........ในคัมภีร์ "อานิสงส์สร้างพระเจ้า" ของวัดศรีสุพรรณ ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา กล่าวถึงอานิสงส์สร้างพระเจ้าไม้ว่าได้อานิสงส์ 25 กัปป์ ดังข้อความว่า "โย ชโน อันว่า คนทังหลายผู้ใด กโรติ แลได้สร้างแปลง พุทธปฏิมัง ยังรูปแห่งพระพุทธเจ้า กัฏฐานัง แล้วด้วยไม้ดั่งอั้น โส ชโน อันว่าคนผู้นั้น อนุภวติ ก็ได้เสวยยังผละ อานิสงส์บุญอันนั้น ปัญจวีสติกัปปานิ ได้ 25 กัปป์แล"

..........ส่วนในเรื่องเดียวกันของวัดบ้าท่อ ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าหากผู้ใดได้สร้างพระเจ้าด้วยไม้จันทน์และไม้ศรีมหาโพธิ์จะได้อานิสงส์มากมายหาที่สุดไม่ได้ ดังข้อความว่า "ทายกะผู้ใด อันได้สร้างพุทธพิมพาสารูป แล้วด้วยไม้จันทน์แลไม้มหาโพธิ์ อนุภวันติ ก็จักได้เสวยยังผละอานิสงส์ อนันตานิ อันหาที่สุดบ่ได้ อัปปมาณานิ อันหาประหมาณบ่ได้ แท้ดีหลีแลฯ"

..........การสร้างรูปเคารพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สามารถสร้างได้จากวัสดุต่าง ๆ กัน ดังที่คัมภีร์อานิสงส์สร้างพระพุทธรูปฉบับต่าง ๆ ระบุไว้มีทั้งทองคำ เงิน รัตนชาติ โลหะ งาช้าง หิน อิฐ ไม้ ครั่ง ดิน หรือแม้กระทั่งวาดรูปลงบนใบไม้ ทั้งหมดล้วนได้อานิสงส์มากน้อยต่างกันไปตามราคาและคุณภาพของวัสดุนั้น ๆ

..........กระนั้นความนิยมก็ยังอยู่ที่การสร้างด้วยไม้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่า การวาดรูปบนใบไม้อาจเห็นว่าไม่คงทนถาวร การปั้นด้วยดิน ครั่งหรือแกะจากอิฐอาจดูไม่สวยงาม ส่วนนอกนั้นอาจเป็นเพราะหายากหรือราคาแพงเกินกำลังจัดหา

..........อย่างไรก็ตาม การสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้ก็หาได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์หรือฐานันดรอย่างเดียวไม่ เพราะจำนวนพระเจ้าไม้ในล้านนามีจำนวนมากมาย และในจำนวนเหล่านั้น จากการสังเกตชื่อเจ้าภาพจากจารึกบนฐานพระพบว่ามีทั้งเจ้าภาพที่มีฐานะเป็นกษัตริย์ เจ้าเมือง ขุนนาง คหบดี และชาวบ้านทั่วไป กอรปกับการสังเกตฝีมือช่างมีทั้งระดับช่างหลวง และช่างฝีมือทั่วไป ความนิยมสร้างด้วยจึงน่าจะขึ้นอยู่กับความศรัทธามากกว่า เพราะไม้ที่ตำราระบุมีชนิดหรือให้เลือกในเชิงความหมายมากกว่าวัสดุอื่น ๆ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งเป็นไม้โพธิฤกษ์ อีกส่วนหนึ่งล้วนแต่มีความหมายอันมงคลต่อชีวิตของผู้ถวาย พระเจ้าไม้จึงดาษดื่นในแดนล้านนาและรัฐประเทศใกล้เคียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น