.........."พญาคำ" ในที่นี้ คือ พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ เป็นชาวบ้านฮ่อม ชุมชนบ้านฮ่อมอยู่ฝั่งทิศใต้ของถนนท่าแพ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2480 ชื่อเดิมคือ "นายคำ ศรีวิชัย" ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมถนนท่าแพใกล้ร้านขายยาสะหล่ามอง สมัยนั้นบ้านริมถนนท่าแพมักเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวที่เรียกว่า "เฮือนแป"
..........บริเวณด้านหลังบ้านของพญาคำในอดีตเคยเป็นหนองน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านฮ่อมทั่วไปเรียกว่า "หนองพญาคำ" คนรุ่นเก่าที่ยังไม่มีการทำส้วมไว้ในบ้าน มักจะไป "ถ่ายทุกข์" กันที่หนองน้ำแห่งนี้ หน้าฝนจะเป็นที่เก็บน้ำ และระบายไปยังหนองน้ำใกล้เคียงถัดไปทางด้านทิศใต้ ชื่อว่า "หนองท้าวคำปัน" หลังจากนั้นก็ไหลไปยังหนองน้ำด้านหลังวัดช่างฆ้อง เลยไปยังหนองน้ำบริเวณโรงแรมแม่ปิงในปัจจุบันและไหลลงลำน้ำแม่ข่าสู่แม่น้ำปิง
.........."พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์" เคยบรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาเล่าเรียนที่วัดพันตอง ต่อมาสนใจด้านวิชากฎหมายจึงเรียนกฎหมายและเข้ารับราชการอยู่ในคุ้มหลวงของเจ้าอินทวิชยานนท์ มีความสามารถมีผลงานจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์" ต่อมาได้ออกมาทำหน้าที่เป็นทนายความ
..........ด้านครอบครัว พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ แต่งงานกับแม่คำแสน มีบุตรธิดา คือ นายบุญเลิศ ศรีวิชัย, นางคำใส ศรีวิชัย, นางจันดี ชยานนท์, นายสมบูรณ์ ศรีวิชัย อดีตนักการวิทยาลัยเทคนิค รุ่นลูกล้วนเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น
..........รุ่นหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ (เมื่อปี พ.ศ. 2549) คือ บุตรธิดาของนางจันดี ชยานนท์ (สามีคือ นายเพชร ชยานนท์) คือ นางสาวอำพร ชยานนท์ ขณะนั้นอายุ 75 ปี เล่าเรื่องพญาคำว่า
.........."พญาคำ เป็นพ่อเฒ่า (ปู่) เป็นผู้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ นอกจากนี้ได้สร้างศาลาแดงที่หน้าสุสานประตูหายยา และสร้างศาลาที่มุมถนนก่อนถึงโรงพยาบาลสวนดอกไว้เป็นที่พักของคนเดินทาง ปัจจุบันศาลาแดงที่สุสานหายยาเป็นของเทศบาลและสร้างเป็นศูนย์เยาวชน พญาคำ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2480"
..........คนบ้านฮ่อมมักจะรู้จักนางจันดี ชยานนท์ บุตรสาวของพญาคำ ชาวบ้านเรียกกันว่า ป้านายจันดี อาชีพค้าเพชรพลอย แหวนทับทิม ที่บ้านของป้านายจันดีสอนฟ้อน ยามเมื่อมีงานปอยหลวงจะมีเด็กมาฝึกหัดฟ้อน ช่างฟ้อนที่บ้านป้านายจันดีมักเป็นตัวแทนของวัดเชตวันยามเมื่อมีการจัดคณะศรัทธาไปร่วมงานปอยตามวัดต่าง ๆ สามีของป้านายจันดี ชื่อนายเพชร พิการทางสายตา ต่อมาบ้านของป้านายจันดีขายต่อให้อาจารย์พินิจ นรากร อดีตอาจารย์วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และป้านายจันดี ย้ายไปอยู่บ้านถัดไปทางทิศใต้ (อาจารย์ประพันธ์ ศิริมณี,สัมภาษณ์)
พญาคำ
..........ฝายพญาคำได้ชื่อว่าได้สร้างประโยชน์ต่อเมืองเชียงใหม่ไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะการสร้างฝายทดน้ำจากแม่น้ำปิงไปเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรจำนวนมาก..........การทำบุญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์จากเอกสารราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ.2462 สมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏข้อความว่า
.........."พญาคำวิจิตร์ธุรราษฎร์ ทนายความ พร้อมด้วยบุตร์ภรรยาบริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนนักธรรมขึ้นที่วัดเชตะวันหลัง 1 กว้าง 3 วา 2 ศอก ยาว 5 วา 1 ศอก เสา พื้น ฝา ใช้ไม้กระยาเลย หลังคามุงกระเบื้อง แล้วเสร็จ เปนเงิน 1,650 บาท ผู้บริจาคทรัพย์ทั้งนี้ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศล กระทรวงธรรมการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงอนุโมทนาในส่วนกุสลนี้ด้วยแล้ว
..........แจ้งความมา ณ วันที่ 3 กันยายน พระพุทธศักราช 2462 ลงนามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ จางวางเอกเสนาบดี" (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 36 หน้า 1626 วันที่ 7 กันยายน 2462)
..........เงินจำนวน 1,650 บาท สมัยรัชกาลที่ 6 คือ เมื่อเกือบ 100 ปีล่วงมา คงมีค่ามหาศาลซึ่งบ่งบอกความศรัทธาของพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี
..........นอกจากนี้ สมัยที่ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ผู้หนึ่งที่ร่วมสนับสนุนการทำบุญกุศลในครั้งนั้น คือ พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ผู้นี้ ในหนังสือประวัติบุคคลสำคัญที่ได้รับประกาศเชิดชูเกียรติคุณวันครบรอบ 50 ปีสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ปี พ.ศ. 2528 ระบุว่าพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ เป็นบุคคลที่ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย
..........ฝายพญาคำ บริเวณใกล้หน้าค่ายกาวิละแห่งนี้ หลังจากพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์เป็นผู้นำในการทำฝายไว้แล้วคาดว่าคงมีการชำรุดทรุดโทรม และมีการบูรณะหลายครั้ง จนปี พ.ศ. 2514 ทางราชการจึงได้ของบประมาณมาปรับปรุงจำนวน 95,000 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น