วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ตะลุยคลังข้อสอบ หลักภาษาไทย ชุดที่ 2

ตะลุยคลังข้อสอบ หลักภาษาไทย ชุดที่ 2 ข้อ 1-85
1. ความในข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. สระประสมเกิดจากการประสมของสระเดี่ยว 2 เสียง
          2. ภาษาไทยจัดเป็นภาษาคำโดด  เพราะคำในภาษาเป็นคำพยางค์เดียวทั้งหมด
          3. การเขียนที่รักษารูปคำเดิมช่วยให้แยกความหมายของคำพ้องเสียงได้
          4. การออกเสียงของผู้พูดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแแปลงได้
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำในภาษาส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว แต่บางคำก็มีหลายพยางค์
*******************************************
2. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ในข้อความ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น"
          1. หากใจมุ่งมั่นไร้แปรผัน
          2. เด็กเก่งมักขวนขวายสร้างสรรค์
          3. รีบเกี่ยวข้าวให้ทันวันเสาร์
          4. บุกบั่นมุ่งสร้างบ้านชวนฝัน
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" มีเสียงวรรณยุกต์ดังนี้ เอก เอก โท โท โท สามัญ จัตวา ซึ่งตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของข้อความ "บุกบั่นมุ่งสร้างบ้านชวนฝัน"
***********************************************
3. ข้อใดมีพยางค์ที่ใช้สระประสมมากที่สุด
          1. นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์
          2. กรับประสานสวบสวบส่งเสียงใส
          3. ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก
          4. พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน
เฉลยข้อ 1 แนวคิด
          สระประสม คือ เอีย เอือ อัว
          ข้อ 1. ใช้สระประสม 4 แห่ง คือ เฉลียว เสียว ทรวง ตวง
          ข้อ 2. ใช้สระประสม 3 แห่ง คือ สวย สวบ เสียง
          ข้อ 3. ใช้สระประสม 3 แห่ง คือ ตรวน ล้วน เครื่อง
          ข้อ 4. ใช้สระประสม 3 แห่ง คือ ช่วง ตวง เดือน
***********************************************
4. ทุกคำในข้อใด ไม่ออกเสียงควบกล้ำ
          1. ปลัด พฤทธิ์ นิทรา
          2. ปรอท กลศ แทรก
          3. ปลาต ขรม พุทรา
          4. ปริตร ตรุษ อินทรีย์
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ คือ ปลัด (ปะ - หลัด)
          ข้อ 2 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ คือ ปรอท (ปะ - หลอด) แทรก (แซก)
          ข้อ 3 ทุกคำไม่ออกเสียงควบกล้ำ ปลาด (ปะ - ลาด) ขรม (ขะ - หรม) พุทรา (พุด - ซา)
          ข้อ 4 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ คือ ปริตร (ปะ - หริด) อินทรีย์ (อิน - ซี)
************************************************
5. ข้อใดไม่มีพยางค์คำตาย
          1. ไม้แก้วกางกิ่งพิงกับกิ่งเกด
          2. ฝูงโนเรศขันขานประสานเสียง
          3. น้ำตาคลอท้ออกเห็นนกเรียง
          4. เหมือนเรียมเคียงร่วมคู่เมื่ออยู่เรือน
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          ข้อ 1 พยางค์คำตาย คือ กับ เกด
          ข้อ 2 พยางค์คำตาย คือ เรศ ประ
          ข้อ 3 พยางค์คำตาย คือ อก นก
          ข้อ 4 ไม่มีพยางค์คำตาย
*********************************************
6. เสียงควบกล้ำในข้อใดไม่ปรากฏ ในระบบเสียงภาษาไทย
          1. บรั่นดี
          2. นิวเคลียส
          3. อิเควเตอร์
          4. เพนกวิน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อ 1 บร เป็นเสียงควบคล้ำที่รับมาจากภาษาอังกฤษ ไทยไม่ได้มีใช้มาแต่ก่อน
          ข้อ 2 คล เป็นเสียงควบกล้ำที่มีใช้ในภาษาไทย เช่น คล้อย คลาดเคลื่อน
          ข้อ 3 คว เป็นเสียงควบกล้ำที่มีใช้ในภาษาไทย เช่น ความ ควัน
          ข้อ 4 กว เป็นเสียงควบกล้ำที่มีใช้ในภาษาไทย เช่น กวาง กวัก
**********************************************
7. ข้อความต่อไปนี้มีพยางค์ที่ปรากฏเสียงพยัญชนะท้ายกี่พยางค์ "มัวแต่พูดว่า "จะ จะ" อยู่นั่นเอง ทำไมไม่ลงมือเสียที"
          1. 7 พยางค์
          2. 8 พยางค์
          3. 9 พยางค์
          4. 10 พยางค์
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อความดังกล่าวมีพยางค์ที่ปรากฏเสียงพยัญชนะท้าย 7 พยางค์ คือ
          พูด มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ต/
          นั่น มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /น/
          เอง, ลง มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ง/
          ทำ มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ม/
          ไม, ไม่ มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ย/
          (ทำ ประกอบด้วยพยัญชนะต้น ท มีเสียงสระอะ มี ม เป็นเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์
          ไม, ไม่ ประกอบด้วยพยัญชนะต้น ม มีเสียงสระอะ มี ย เป็นเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ )
*********************************************
8. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ครบทั้ง 5 เสียง
          1. ประหยัดวันนี้สบายวันหน้า
          2. สมบัติเมาเดินเซถลาหัวทิ่ม
          3. หมึกแดงแผลงฤทธิ์ให้รสอร่อย
          4. จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 ประหยัดวันนี้สบายวันหน้า มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                   เอก เอก สามัญ ตรี เอก สามัญ สามัญ โท (ขาดเสียงจัตวา)
          ข้อ 2. สมบัติเมาเดินเซถลาหัวทิ่ม มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                   จัตวา เอก สามัญ สามัญ สามัญ เอก จัตวา จัตวา โท (ขาดเสียงตรี)
          ข้อ 3. หมึกแดงแผลงฤทธิ์ให้รสอร่อย มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                    เอก สามัญ จัตวา ตรี โท ตรี เอก เอก (มีเสียงวรรณยุกต์ครบทุกเสียง)
          ข้อ 4. จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                    เอก โท สามัญ สามัญ ตรี ตรี โท เอก สามัญ (ขาดเสียงจัตวา)
*******************************************************
9. ข้อความในข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. ภาษาไทยมาตรฐานคือภาษาราชการ
          2. ภาษาไทยมีการออกเสียงหนักเสียงเบา
          3. ภาษาไทยรับคำจากภาษาอื่นในรูปศัพท์เดิมเป็นส่วนใหญ่
          4. คนไทยบางคนออกเสียงพยัญชนะบางเสียงตามเสียงภาษาอังกฤษ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1. ไทยเรามีภาษามาตรฐานใช้ เรียกกันว่า ภาษากลางบ้าง ภาษาราชการบ้าง
          ข้อ 2. การออกเสียงคำไทย โดยปกติไม่ได้ออกเสมอกันทุกพยางค์ บางพยางค์ออกเสียงหนัก บางพยางค์ออกเสียงเบา เช่น กิจการ ลงเสียงหนักที่กิจ และ การ
          ข้อ 3. ภาษาไทยเมื่อได้รับคำจากภาษาอื่นมาแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์เดิมใช้เพื่อให้เหมาะสม เช่น นำเอาคำภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ โดยเปลี่ยนสระ ได้แก่ ไวทย ไทยใช้ แพทย์
          ข้อ 4. คนไทยบางคนออกเสียงพยัญชนะบางเสียงตามเสียงภาษาอังกฤษ เช่น ออกเสียง /ช/ คล้ายเสียง /sh/ ในภาษาอังกฤษ
**************************************************
10. ข้อใดพยางค์แรกไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด
          1. โฆษณา
          2. กรรมาธิการ
          3. วาตภัย
          4. ทิฐิ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล 
          ข้อ 1. โฆษณา อ่านว่า โคด-สะ-นา พยางค์แรกมีเสียงพยัญชนะสะกด ต
          ข้อ 2. กรรมาธิการ อ่านว่า กำ-มา-ทิ-กาน พยางค์แรกมีเสียงพยัญชนะสะกด ม
          ข้อ 3. วาตภัย อ่านว่า วา-ตะ-ไพ พยางค์แรกไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด
          ข้อ 4. ทิฐิ อ่านว่า ทิด-ถิ พยางค์แรกมีเสียงพยัญชนะสะกด ต
*********************************************
11. ข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. ภาษาทุกภาษามีลักษณะร่วมกันคือใช้เสียงสื่อความหมาย ประกอบด้วยหน่วยเล็กซึ่งรวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น
          2. วัจนภาษาคือถ้อยคำที่มนุษย์ใช้พูดเพื่อสื่อความหมาย ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น และสิ่งที่สื่อความหมายก็คือเสียงพูด
          3. เสียงที่ใช้อยู่ในแต่ละภาษามีจำนวนไม่รู้จบ เราสามารถนำเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์มาสร้างเป็นคำได้จำนวนมากเพื่อสื่อสารกับคนในสังคม
          4. การที่คนไทยเรียกละอองน้ำที่แข็งเย็นมีลักษณะเป็นปุยว่าหิมะ คนอังกฤษเรียกสโนว์ คนญี่ปุ่นเรียกยูคิ เป็นเรื่องของการตกลงกันของคนแต่ละกลุ่ม ไม่ได้เป็นเพราะความสัมพันธ์ของเสียงกับความหมายแต่อย่างใด
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 3 ไม่ถูกต้อง เพราะเสียงที่ใช้อยู่ในแต่ละภาษา ได้แก่ เสียงพยัญชนะ เสียงสระ ในแต่ละภาษามีจำนวนจำกัด เช่น ภาษาไทยมีเสียงพยัญชนะ 21 เสียง เสียงสระ 21 เสียง
********************************************
12. คำในข้อใดทุกคำมีทั้งความหมายโดยตรงและความหมายเชิงอุปมา
          1. ตกเบ็ด ลอยแพ ไหว้ผี เอียงซ้าย
          2. จับตา ลอกคราบ นิ้วก้อย จับตาย
          3. ติดตา ลายคราม ขึ้นหิ้ง จับเข่า
          4. ปากน้ำ ตัดต่อ ร้อนตัว ตกข่าว
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่มีความหมายโดยตรงเพียงอย่างเดียว คือ ไหว้ผี
          ข้อ 2 คำที่มีความหมายโดยตรงเพียงอย่างเดียว คือ นิ้วก้อย
          ข้อ 3 ติดตา หมายถึง ดูใกล้ตา (ความหมายโดยตรง)
                             หมายถึง ยังรู้สึกนึกเห็นภาพนั้นอยู่ไม่รู้เลือน (ความหมายเชิงอุปมา)
                   ลายคราม หมายถึง เครื่องภาชนะกระเบื้องที่เขียนลายเป็นสีคราม (ความหมายโดยตรง)
                                   หมายถึง คนแก่ที่ยังมีค่ามีความสามารถ (ความหมายเชิงอุปมา)
                   ขึ้นหิ้ง หมายถึง นำของไปวางไว้บนหิ้ง (ความหมายโดยตรง)
                              หมายถึง เป็นที่รักโปรดปราน (ความหมายเชิงอุปมา)
                   จับเข่า หมายถึง จับหัวเข่า (ความหมายโดยตรง)
                              หมายถึง พูดทำความเข้าใจกัน (ความหมายเชิงอุปมา)
           ข้อ 4 คำที่มีความหมายโดยตรงเพียงอย่างเดียว คือ ปากน้ำ
**********************************************
13. ข้อความต่อไปนี้มีคำประสมกี่คำ
สมศักดิ์เป็นหัวหน้าในสำนักงาน เขามีเพื่อนร่วมงานอีก 4 คน เวลาคนอื่นไม่อยู่สมศักดิ์จะต้องยืนโรงคอยรับลูกค้า
          1. 6 คำ
          2. 5 คำ
          3. 4 คำ
          4. 3 คำ
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          ข้อความนี้มีคำประสม คือ หัวหน้า สำนักงาน เพื่อนร่วมงาน ยืนโรง ลูกค้า
************************************************
14. ข้อใดมีกริยาเป็นคำประสมทั้งหมด
          1. คุณปู่นั่งเล่านิทาน หลาน ๆ ยิ้มแป้น
          2. เวลาแดดร้อนจัดต้องเดินกางร่ม
          3. เขาชอบออกตัวเพราะเกรงใจเพื่อน ๆ
          4. พ่อถ่ายรูปน้องขณะนอนหลับ
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          กริยาที่เป็นคำประสมคือ
          ออกตัว หมายถึง พูดกันตัวหรือแก้ตัวไว้ก่อน
          เกรงใจ หมายถึง ไม่อยากทำให้ผู้อื่นลำบากเดือดร้อน
******************************************************
15. ข้อใดเป็นคำซ้อนทุกคำ
          1. แนบชิด กับแกล้ม เก่งกาจ
          2. รีดไถ กล่าวหา เอาอย่าง
          3. อ้อยอิ่ง ป่าวร้อง โยนกลอง
          4. หมดสิ้น กดดัน ใหม่เอี่ยม
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน คือ กับแกล้ม
          ข้อ 2 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน คือ กล่าวหา, เอาอย่าง
          ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน คือ โยนกลอง
          ข้อ 4 ทุกคำเป็นคำซ้อน
************************************************
16. คำซ้อนในข้อใดประกอบขึ้นจากคำที่มีความหมายต่างกันเล็กน้อย
          1. ขวากหนาม ซ่อมแซม
          2. สักการบูชา เปลี่ยนแปลง
          3. คาดคะเน ซ่อนเร้น
          4. หยุดยั้ง อภิบาลรักษา
เฉลยข้อ 1 แนวคิด
          ขวากหนาม เกิดจากการนำ "ขวาก" กับ "หนาม" มาซ้อนกัน ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายต่างกันเล็กน้อย
                   ขวาก หมายถึง ไม้หรือเหล็กเป็นต้นมีปลายแหลม
                   หนาม หมายถึง ส่วนแหลมที่งอกออกมาจากกิ่งไม้
          ซ่อมแซม เกิดจากการนำ "ซ่อม" กับ "แซม" มาซ้อนกัน ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายต่างกันเล็กน้อย
                   ซ่อม หมายถึง ทำสิ่งชำรุดให้ดีขึ้น
                   แซม หมายถึง เอาสิ่งใหม่แทรกเข้าไปเพื่อแทนสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น
************************************************
17. ข้อใดเป็นคำสมาสทุกคำ
          1. เคหสถาน เพรงกรรม อากาศธาตุ
          2. วิบากกรรม นวโลหะ ชัยมงคล
          3. วีรกรรม ปฏิบัติการ อัญชุลี
          4. ทัศนวิสัย ผลบุญ เพลิงกาล
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          คำสมาส หมายถึง คำที่เกิดจากการสร้างคำในภาษาบาลีสันสกฤต ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปด้วยวิธีการสมาส
          วิบากกรรม
                   วิบาก หมายถึง ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทำไว้แต่ปางก่อน
                   กรรม หมายถึง การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน
          นวโลหะ
                   นว หมายถึง เก้า
                   โลหะ หมายถึง ธาตุที่ถลุงจากแร่แล้ว
          ชัยมงคล
                   ชัย หมายถึง การชนะ
                   มงคล หมายถึง เหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ
****************************************************
18. ข้อความต่อไปนี้มีคำยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤตกี่คำ
          ไว้เป็นมหรสพซร้อง              สุขศานติ์
สำหรับราชสำราญ                            เริ่มรั้ง
บำเทิงหฤทัยบาน                              ประดิยุทธ์    นั้นนา
เสนอเนตรมนุษยตั้ง                           แต่หล้าเลอสรวง
          1. 6 คำ
          2. 7 คำ
          3. 8 คำ
          4. 9 คำ
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          คำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต มี 8 คำ คือ มหรสพ สุข ศานติ์ ราช หฤทัย ประดิยุทธ์ เนตร มนุษย์
***********************************************
19. ข้อความตอนใดมีคำสมาส
(ก) สัญญาในที่นี้หมายถึงเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย /
(ข) เซ็นสัญญาจะซื้อขายสินค้า สัญญากู้เงิน สัญญาเช่าบ้าน /
(ค) สัญญาต่าง ๆ เหล่านี้ทำขึ้นเป็นแบบฟอร์มเพื่อให้คู่สัญญาได้รับความสะดวก /
(ง) ผู้ทำสัญญาต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้เพื่อให้สัญญามีผลสมบูรณ์
          1. (ก)
          2. (ข)
          3. (ค)
          4. (ง)
เฉลยข้อ 1 แนวคิด 
          เอกสาร เป็นคำสมาส
          เอก และ สาร เป็นคำภาษาบาลีสันสกฤต
***************************************************
20. คำซ้ำในข้อใดทำหน้าที่ในประโยคต่างกับข้ออื่น
          1. เห็นกันหลัด ๆ ก็ได้ข่าวว่าสมบัติตายเสียแล้ว
          2. เขาเดินกระทืบเท้าปัง ๆ เข้าไปในครัว
          3. เขามาถึงสนามบินทันเห็นเครื่องบินออกไปลิบ ๆ
          4. ผู้หญิงสวย ๆ ทุกวันนี้ทำงานนอกบ้าน
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          ข้อ 1, ข้อ 2 และข้อ 3 คำซ้ำ "หลัด ๆ" "ปัง ๆ" "ลิบ ๆ" ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ ขยายกริยา
          ข้อ 4 คำซ้ำ "สวย ๆ" ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ขยายนาม "ผู้หญิง"
*****************************************************
21. ข้อใดไม่มีคำที่มาจากภาษาเขมร
          1. จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          2. คุณปู่ทำกนกแก้วลายไทยงามไพจิตร
          3. ให้รื่นเริงสุขสำราญเหมือนดอกไม้บานยามเช้า
          4. เพลงลาวดำเนินทรายมีทำนองไพเราะอ่อนหวาน
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1 คำที่มาจากภาษาเขมร คือ โปรด
          ข้อ 2 ไม่มีคำที่มาจากภาษาเขมร กนก ไพจิตร เป็นคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต
          ข้อ 3 คำที่มาจากภาษาเขมร คือ สำราญ
          ข้อ 4 คำที่มาจากภาษาเขมร คือ ดำเนิน
*************************************************
ใช้ข้อความต่อไปนี้ตอบคำถามข้อ 22-23
          ก. เธอจงถักทอฝันที่เธอ(หวัง)
          ข. หนึ่งชีวิตหนึ่งใจมอบ(ให้)เพียงเธอ
          ค. อุปสรรคขวากหนามทิ่มแทงอย่าง(โหดร้าย)
          ง. (เกิด)คำถามขึ้นในใจว่าทำไมผู้ใหญ่ถูกเสมอ
22. คำที่อยู่ในวงเล็บในข้อใดทำหน้าที่กริยาหลัก
          1. ข้อ ก
          2. ข้อ ข
          3. ข้อ ค
          4. ข้อ ง
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          "หวัง" "ให้" และ "โหดร้าย" ไม่ได้ทำหน้าที่กริยาหลัก "เกิด" ทำหน้าที่กริยาหลัก
*************************************************
23. ข้อใดเป็นประโยคที่ไม่มีบทกรรม
          1. ข้อ ก
          2. ข้อ ข
          3. ข้อ ค
          4. ข้อ ง
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          บทประธาน คือ อุปสรรคขวากหนาม บทกริยา คือ ทิ่มแทง
          บทขยายกริยา คือ อย่างโหดร้าย ประโยคไม่มีบทกรรม
*************************************************
24. ข้อใดใช้คำ "ถึง" ได้อย่างเหมาะสม
          1. อาจารย์ใหญ่กล่าวถึงผลงานของโรงเรียนในรอบปีที่ผ่านมาว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
          2. นายกสมาคมกล่าวขอบคุณและชื่นชมถึงแนวคิดของสมาชิกที่ได้เสนอในครั้งนี้
          3. การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อชุมชน
          4. เมื่อรัฐบาลประกาศถึงเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ต่างชาติมาลงทุนเพิ่มขึ้นในทันที
เฉลยข้อ 1 แนวคิด
          ข้อ 1 ใช้ "ถึง" ได้เหมาะสม
          ข้อ 2 และ ข้อ 3 ไม่ควรใช้ "ถึง"
          ข้อ 4 "ถึง" ควรใช้ "ว่า" แทน
************************************************
25. คำในข้อใดเติมช่องว่างของข้อความต่อไปนี้ได้เหมาะสมที่สุด
"แนวความคิดเรื่องพระพุทธศาสนาจะมีอายุ 5,000 ปี เป็นแนวคิดที่สำคัญ ............. แพร่หลาย ............. สังคมที่นับถือพุทธศาสนา ............. ที่มาของเรื่องนี้ ............. ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน"
          1. ซึ่ง    ต่อ    ดังนั้น     จึง
          2. และ     ของ     ถึงกระนั้น    ก็
          3. และ     ใน     อย่างไรก็ดี     ยัง
          4. ซึ่ง     ตาม      อย่างไรก็ดี     ก็
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          และ หมายถึง กับ
          ใน หมายถึง แห่ง, ของ
          อย่างไรก็ดี หมายถึง แม้กระนั้น
          ยัง หมายถึง คงอยู่
*********************************************
26. ข้อใดสะกดถูกทุกคำ
          1. ท่าทางชายคนนั้นดูลอกแล่กเลิกลั่กไม่น่าไว้ใจเลย
          2. เขาเดินลุกลี้ลุกลนมาหาลูกของเขา พูดละล่ำละลักแล้วก็หลบไป
          3. วันนี้ทำอะไรดูขลุกขลักไปหมดงานชิ้นนี้จะเสร็จอยู่รอมล่อก็ไม่เสร็จ
          4. รุ่งกับเรืองไม่ยอมลดลาวาศอก เถียงกันอยู่นานกว่าจะรอมชอมกันได้
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่สะกดผิด คือ ลอกแล่ก ที่ถูกต้อง คือ ลอกแลก
          ข้อ 2 สะกดถูกทุกคำ
          ข้อ 3 คำที่สะกดผิด คือ รอมล่อ ที่ถูกต้อง คือ รอมร่อ
          ข้อ 4 คำที่สะกดผิด คือ ลดลาวาศอก ที่ถูกต้อง คือ ลดราวาศอก
*********************************************
27. ข้อใดมีคำซ้ำที่แสดงความหมายต่างจากข้ออื่น
          1. แม่นวดแป้งแล้วปั้นเป็นลูกกลม ๆ
          2. แยก ๆ กันไปกินอาหารจะได้ออกรถเร็วขึ้น
          3. สมพรอยากย้ายบ้านไปอยู่ใกล้ ๆ ที่ทำงาน
          4. อายุเกิน 80 แล้วยังชอบใส่เสื้อผ้าสีสด ๆ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1 คำซ้ำคือ กลม ๆ ซ้ำแล้วความหมายไม่เจาะจงเท่าคำเดิม
          ข้อ 2 คำซ้ำคือ แยก ๆ ซ้ำแล้วย้ำความหมายให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
          ข้อ 3 คำซ้ำคือ ใกล้ ๆ ซ้ำแล้วความหมายไม่เจาะจงเท่าคำเดิม
          ข้อ 4 คำซ้ำคือ สด ๆ ซ้ำแล้วความหมายไม่เจาะจงเท่าคำเดิม
*********************************************
28. ข้อใดมีคำซ้อนมากที่สุด
          1. แต่หนาวใจยากแค้นนี้แสนเข็ญ
          2. ออกแออัดผู้คนอยู่ล้นหลาม
          3. ในแหล่งหล้าใครไม่มีเสมอเหมือน
          4. ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1 คำซ้อน ได้แก่ ยากแค้น
          ข้อ 2 คำซ้อน ได้แก่ แออัด ผู้คน ล้นหลาม
          ข้อ 3 คำซ้อน ได้แก่ แหล่งหล้า เสมอเหมือน
          ข้อ 4 คำซ้อน ได้แก่ ทรัพย์สิน ขัดสน
*********************************************
29. ข้อใดมีคำประสม
          1. เห็นกิ่งกีดมีดพร้าเข้าราราน
          2. หลังคาใหญ่พื้นเล็กเป็นโลงผี
          3. ดูเหย้าเรือนหาเหมือนอย่างไทยไม่
          4. ถึงหนามกรานก็ไม่เจ็บเหมือนเหน็บแนม
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1 มีดพร้า เป็นคำซ้อน
          ข้อ 2 หลังคา เป็นคำประสม
          ข้อ 3 เหย้าเรือน เป็นคำซ้อน
          ข้อ 4 เหน็บแนม เป็นคำซ้อน
*********************************************
30. ข้อใดไม่มีคำสมาส
          1. ทหารเป็นผู้ที่มีหน้าที่รบเพื่อปกป้องมาตุภูมิของตนไม่ให้ข้าศึกรุกราน
          2. ประชาชนส่งไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอลยูโร 2000 เป็นจำนวนมาก
          3. ประธานในพิธีกล่าวคาถาอัญเชิญเทวดามาชุมนุมเพื่อเป็นมงคล
          4. ชีวเคมีเป็นวิชาวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสิ่งมีชีวิต
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 มีคำสมาส คือ มาตุภูมิ
          ข้อ 2 มีคำสมาส คือ ไปรษณียบัตร
          ข้อ 3 ไม่มีคำสมาส
          ข้อ 4 มีคำสมาส คือ วิทยาศาสตร์
*********************************************
31. ข้อใดไม่มีคำพ้องความหมาย
          1. ไอยรา ราชสีห์ กุญชร
          2. ลำธาร ชลาสินธุ์ มัจฉา
          3. เทเวศร์ อัจฉรา สุรารักษ์
          4. สิงขร เวหาสน์ วนาดร
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1 มีคำพ้องความหมาย คือ ไอยรา กุญชร แปลว่า ช้าง
          ข้อ 2 มีคำพ้องความหมาย คือ ลำธาร ชลาสินธุ์ แปลว่า น้ำ
          ข้อ 3 มีคำพ้องความหมาย คือ เทเวศร์ สุรารักษ์ แปลว่า เทวดา
          ข้อ 4 ไม่มีคำพ้องความหมาย
                   สิงขร แปลว่า ภูเขา
                   เวหาสน์ แปลว่า ท้องฟ้า
                  วนาดร แปลว่า ป่า
*********************************************
32. ข้อใดมีคำที่ไม่ได้ใช้ในความหมายเชิงอุปมา
          1. หมดตัว ยกเครื่อง ขนแมว
          2. ลอบกัด ตาบอด เปิดท้าย
          3. ไข่ดาว ขมขื่น ลายแทง
          4. ปลากรอบ หวานเย็น เด็กดอง
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          คำที่ไม่มีความหมายเชิงอุปมา คือ ปลากรอบ
          ปลา หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในน้ำ
          กรอบ หมายถึง แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย
*********************************************
33. ข้อใดมีโครงสร้างพยางค์เหมือนคำว่า "ชันษา"
          1. กัณหา
          2. มารยา
          3. ปริศนา
          4. จินตหรา
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ชันษา อ่านว่า ชัน-นะ-สา
          ข้อ 1. กัณหา อ่านว่า กัน-หา
          ข้อ 2. มารยา อ่านว่า มาน-ยา
          ข้อ 3. ปริศนา อ่านว่า ปริด-สะ-หนา
          ข้อ 4. จินตหรา อ่านว่า จิน-ตะ-หรา
          ชันษา มีโครงสร้างพยางค์เหมือนคำว่า จินตหรา ดังนี้
          ชัน/จิน ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระเสียงสั้น วรรณยุกต์เสียงสามัญ และพยัญชนะสะกด (แม่กน)
          นะ/ตะ ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระเสียงสั้น นะมีเสียงวรรณยุกต์ตรี ตะ มีเสียงวรรณยุกต์เอก
          สา/หรา ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระเสียงยาว วรรณยุกต์เสียงจัตวา
*********************************************
34. คำในข้อใดออกเสียงควบกล้ำทุกคำ
          1. กลวง แปรก ควาย ตรอง หลั่น
          2. แขวน กลัว แตร กริช ครุย
          3. สรวล ครบ กล้า ปรัก ปลาต
          4. เกล็ด คลาด หวาด ปลาย กราบ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ ได้แก่ แปรก (ปะ-แหรก) หลั่น (หลั่น)
          ข้อ 2 ทุกคำออกเสียงควบกล้ำ
          ข้อ 3 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ ได้แก่ สรวล (สวน) ปลาต (ปะ-ลาด)
          ข้อ 4 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ ได้แก่ หวาด (หวาด)
*********************************************
35. ข้อใดเป็นคำประสมทุกคำ
          1. กรรมเก่า น้ำเน่า สาดโคลน สั่นคลอน
          2. แกะดำ นั่งร้าน วางมวย ผุยผง
          3. เล่นตัว วางมือ หมกเม็ด แพแตก
          4. จุดจบ สับหลีก เลวทราม ลายคราม
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          คำประสม หมายถึง คำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ แต่อาจมีเค้าความหมายเดิม
          ข้อ 1 มีคำซ้อน 1 คำ ได้แก่ สั่นคลอน
          ข้อ 2 มีคำซ้อน 1 คำ ได้แก่ ผุยผง
          ข้อ 3 เป็นคำประสมทุกคำ
          ข้อ 4 มีคำซ้อน 1 คำ ได้แก่ เลวทราม
*********************************************
36. ข้อใดเป็นคำสมาสทุกคำ
          1. ขัณฑสีมา สูตรคูณ อุโบสถศีล บายศรี
          2. โอษฐภัย กลเม็ด ประภาคาร องคาพยพ
          3. ทิพยจักษุ หิรัญบัตร เมรุมาศ ภูมิลำเนา
          4. รัตติกาล วัฏจักร พิพิธพร ทศนิยม
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          คำสมาส หมายถึง คำที่เกิดจากการสร้างคำในภาษาบาลีสันสกฤต ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปด้วยวิธีการสมาส
          ข้อ 1 คำที่ไม่ใช่คำสมาส ได้แก่ บายศรี
          ข้อ 2 คำที่ไม่ใช่คำสมาส ได้แก่ กลเม็ด
          ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำสมาส ได้แก่ ภูมิลำเนา
          ข้อ 4 เป็นคำสมาสทุกคำ
*********************************************
37. ข้อใดมีจำนวนคำพ้องความหมายน้อยที่สุด
          1. ด้วยสองเยาวยุพาพาลกุมารกุมารีศรีดรุณราช
          2. เที่ยวสืบเสาะแสวงทุกแห่งหามาพานพบ
          3. นวดปั้นคั้นหัตถบาทปรามาสทั่วพระอินทรีย์สองขัตติยโปดก
          4. ผกากุสุมมาลีละอวลอบหอมตรลบสุคนธกำจร
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 มีคำพ้องความหมายดังนี้ เยาว ยุพาพาล กุมาร กุมารี ดรุณ หมายถึง เด็ก รุ่น
          ข้อ 2 มีคำพ้องความหมายดังนี้ สืบ เสาะ แสวง หา หมายถึง หา พาน พบ หมายถึง พบ
          ข้อ 3 มีคำพ้องความหมายดังนี้ นวด ปั้น คั้น ปรามาส หมายถึง กด บีบ จับต้อง
          ข้อ 4 มีคำพ้องความหมายดังนี้ ผกา กุสุม มาลี หมายถึง ดอกไม้ อวลอบ ตรลบ กำจร หมายถึง ตลบ ฟุ้ง, หอม สุคนธ หมายถึง กลิ่นหอม
*********************************************
38. ข้อใดเป็นคำซ้อนทุกคำ
          1. กล้ำกลืน เคยตัว ติดตาม
          2. อวดอ้าง หมายมาด เคลื่อนคล้อย
          3. พรั่งพร้อม หง่างเหง่ง วังเวง
          4. ร่อยหรอ โศกศัลย์ ตกยาก
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          คำซ้อน หมายถึง คำที่เกิดจากการนำคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือมีความหมายใกล้เคียงกัน หรือมีความหมายตรงข้ามกันมาประกอบกัน
          ข้อ 1 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน ได้แก่ เคยตัว
          ข้อ 2 ทุกคำเป็นคำซ้อน
          ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน ได้แก่ วังเวง
          ข้อ 4 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน ได้แก่ ตกยาก
*********************************************
39. การใช้คำซ้ำในข้อใดต่างจากข้ออื่น
          1. น้ำพระทัยเธอข่อน ๆ คิดไม่ขาด
          2. น้ำพระชลนัยน์ไหลลงหลั่ง ๆ
          3. พุ่มไม้ครึ้มเป็นเงา ๆ ชะโงกเงื้อม
          4. ฝูงสกุณาออกหากินบินเกริ่นก้องร้องอยู่แจ้ว ๆ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อ 1 ข่อน ๆ แปลว่า ปั่นป่วน ไม่สบายใจ
          ข้อ 2 หลั่ง ๆ แปลว่า ไหลลงไม่ขาดสาย
          ข้อ 3 เงา ๆ แปลว่า ราง ๆ
          ข้อ 4 แจ้ว ๆ แปลว่า มีเสียงดังติดกันเป็นระยะ
ข้อ 2 - ข้อ 4 คำซ้ำแสดงความต่อเนื่องกัน
*********************************************
40. "ขัด" ในข้อใดมีความหมายต่างจากข้ออื่น
          1. เมื่อใส่เสื้อควรขัดกระดุมให้เรียบร้อย
          2. คุณตาขัดมีดไว้ข้างฝาเมื่อเลิกใช้แล้ว
          3. เรือนไทยสมัยโบราณเขาจะใช้ไม้ขัดประตู
          4. แม่ครัวขัดกระทะแล้วนำไปผึ่งแดด
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 3 ขัด แปลว่า ให้ติดขวางไว้ไม่ให้หลุดออกมา
          ข้อ 4 ขัด แปลว่า ถูให้เกลี้ยง
*********************************************
41. ข้อใดเป็นคำประสมทุกคำ
          1. ของขลัง ชุมนุม เรือด่วน สามขุม
          2. เรียงเบอร์ ข้าวสวย มูมมาม เหล็กดัด
          3. มือถือ เครื่องบิน ต้มเค็ม รูปภาพ
          4. แม่พิมพ์ เครื่องคิดเลข แกงไก่ ขายหน้า
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          คำประสม คือ คำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ แต่อาจมีเค้าความหมายเดิม
          ข้อ 1 คำที่ไม่ใช่คำประสม คือ ชุมนุม
          ข้อ 2 คำที่ไม่ใช่คำประสม คือ มูมมาม
          ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำประสม คือ รูปภาพ
          ข้อ 4 เป็นคำประสมทุกคำ
                  แม่พิมพ์ หมายถึง สิ่งที่เป็นต้นแบบ
                 โดยปริยาย หมายถึง คนที่เป็นแบบอย่าง
                 เครื่องคิดเลข หมายถึง อุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ใช้คิดคำนวณเลข
                 แกงไก่ หมายถึง แกงชนิดหนึ่ง
                 ขายหน้า หมายถึง อับอาย
*********************************************
42. ข้อใดเป็นได้ทั้งกลุ่มคำและคำประสม
          1. เก็บอารมณ์
          2. เขียนหนังสือ
          3. ร้อยดอกไม้
          4. ทอดสะพาน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1, ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นได้เฉพาะกลุ่มคำ
          ข้อ 4 ทอดสะพาน เป็นได้ทั้งกลุ่มคำและคำประสม
                   กลุ่มคำ "ทอดสะพาน" หมายถึง พาดสะพานจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
                   คำประสม "ทอดสะพาน" หมายถึง แสดงกิริยาท่าทางเป็นทำนองอยากติดต่อด้วย
*********************************************
43. ข้อใดเป็นคำสมาสที่มีการสนธิทุกคำ
          1. นเรศวร พุทโธวาท ราชูปโภค คชาภรณ์
          2. มานุษยวิทยา สุริโยทัย วิเทโศบาย อิทธิฤทธิ์
          3. มัจจุราช ศาสนจักร ภัตตาคาร ราชินูปถัมภ์
          4. ฑูตานุฑูต สมาคม รัฐมนตรี วิทยาลัย
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          คำสมาสที่มีการสนธิ คือ คำสมาสที่มีการเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกัน เป็นวิธีสร้างคำวิธีหนึ่งในภาษาบาลีสันสกฤต
          นเรศวร    =  นร + อิศวร
          พุทโธวาท    =  พุทธ + โอวาท
          ราชูปโภค    =  ราช + อุปโภค
          คชาภรณ์    =  คช + อาภรณ์
*********************************************
44. ข้อใดเป็นคำซ้อนทุกคำ
          1. เหตุการณ์ มิตรสหาย โกรธเคือง พบพาน
          2. เงียบสงัด เรืองรอง ขมีขมัน ห้องหอ
          3. สูญเสีย พักผ่อน สัตย์ซื่อ วิธีการ
          4. ปล่อยวาง ลำน้ำ เผ่นโผน นับถือ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          คำซ้อน หมายถึง คำที่เกิดจากการนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือมีความหมายใกล้เคียงกัน หรือมีความหมายตรงข้ามกันมาประกอบกัน
          เหตุการณ์ มิตรสหาย โกรธเคือง พบพาน เป็นคำซ้อนทุกคำ
          เหตุ - เค้ามูล, เรื่อง      การณ์ - เหตุ, เค้า, มูล
          มิตร - เพื่อน               สหาย - เพื่อน
          โกรธ - ไม่พอใจอย่างรุนแรง        เคือง - ไม่พอใจเพราะชักรู้สึกโกรธ
          พบ - เห็น, ประสบ        พาน - พบปะ
*********************************************
45. ข้อใดมีคำซ้ำที่แสดงความหมายต่างจากข้ออื่น
          1. ฝนตกพรำ ๆ ทั้งคืน
          2. ป้าของสมชาติชอบพูดซ้ำ ๆ
          3. สมศรีชอบใช้ดินสอให้หมดไปเป็นแท่ง ๆ
          4. สมชายร่ำ ๆ จะขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          คำซ้ำในข้อ 1, ข้อ 2 และข้อ 4 คือ พรำ ๆ ซ้ำ ๆ ร่ำ ๆ เป็นคำซ้ำที่มีความหมายว่าทำกิริยานั้นซ้ำต่อเนื่องกัน คำซ้ำในข้อ 3 แท่ง ๆ เป็นคำซ้ำที่มีความหมายแยกเป็นส่วน ๆ
*********************************************
46. ข้อใดใช้คำเชื่อม ไม่ถูกต้อง
          1. แม่ทำกับข้าวแปลก ๆ ให้เรากินเสมอ
          2. เขาเห็นกับตาว่าเธอหยิบของใส่กระเป๋า
          3. แม่เห็นแก่ลูกเพราะมาอยู่กับลูกตอนสอบ
          4. เขารีบกลับจากต่างประเทศเพื่อจัดงานวันเกิดให้แม่
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          "เพราะ" เป็นคำเชื่อมที่ใช้แสดงเหตุผล ข้อความหน้าคำว่า "เพราะ" จะเป็นข้อสรุป ข้อความที่ตามหลังคำ "เพราะ" เป็นข้อสนับสนุน
          "แม่เห็นแก่ลูกเพราะมาอยู่กับลูกตอนสอบ" เนื้อความไม่ได้อยู่ในลักษณะที่กล่าวแล้ว ดังนั้นควรใช้คำว่า "จึง" ที่เป็นคำเชื่อมแสดงเหตุผลแทน เป็น "แม่เห็นแก่ลูก (ข้อสนับสนุน) / จึงมาอยู่กับลูกตอนสอบ" (ข้อสรุป)
*********************************************
47. ข้อความต่อไปนี้มีคำเป็นและคำตายกี่คำ
      "เกศาปลายงอนงามทรง        เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา"
          1. คำเป็น 12 คำ   คำตาย 2 คำ
          2. คำเป็น 11 คำ   คำตาย 3 คำ
          3. คำเป็น 10 คำ   คำตาย 4 คำ
          4. คำเป็น  9 คำ    คำตาย 5 คำ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          คำเป็น คือ พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา หรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในมาตรา กง กน กม เกย เกอว
          คำตาย คือ พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา หรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในมาตรา กก กด กบ
          "เกศาปลายงอนงามทรง" ข้อความนี้เป็นคำเป็นทั้งหมด (คำเป็น 6 คำ)
          "เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา" ข้อความนี้มีคำเป็นคำตายเรียงตามลำดับดังนี้ คำเป็น คำเป็น คำเป็น คำตาย คำตาย คำเป็น คำตาย คำเป็น (คำเป็น 5 คำ คำตาย 3 คำ)
*********************************************
48. ข้อใดไม่มีคำภาษาต่างประเทศ
          1. ถึงทวารโรงหมอก็รอรถ        พร้อมกันหมดเดินเรียงเคียงไสว
          2. ยุรยาตรเยื้องย่างเข้าข้างใน        ตึกนั้นใหญ่กว้างรีสูงสี่ชั้น
          3. มีกระดูกคนตายทั้งชายหญิง        ประหลาดจริงหลากล้ำทำขันขัน
          4. อีกกระดูกคนโบราณที่นานครัน        ดูยืนยันเหมือนยังเปรตสังเวชใจ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 มีคำภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ทวาร รถ
          ข้อ 2 มีคำภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ยุรยาตร
          ข้อ 3 ไม่มีคำภาษาต่างประเทศ
          ข้อ 4 มีคำภาษาต่างประเทศ ได้แก่ เปรต สังเวช
*********************************************
49. ข้อใดมีคำชนิดเดียวกับคำที่พิมพ์ตัวหนาในประโยค "ฉันจะซื้อหนังสือสามเล่ม"
          1. เขาสั่งก๋วยเตี๋ยวอีกชาม
          2. ฉันนั่งอ่านหนังสือคนเดียว
          3. แม่มีลูกคนที่สองเป็นชาย
          4. ในสวนมีต้นมะพร้าวหลายต้น
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          "ฉันจะซื้อหนังสือสามเล่ม" "สาม" ในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับ (บอกจำนวนเลข)
          "ฉันนั่งอ่านหนังสือคนเดียว" "เดียว" ในที่นี้เป็นคำวิเศษณ์บอกจำนวนนับ ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ชนิดเดียวกันกับ "สาม" คือ ประมาณวิเศษณ์ซึ่งบอกจำนวนนับ
*********************************************
50. ข้อใดใช้คำบุพบทไม่ถูกต้อง
          1. เด็กจะถูกผลักดันเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยวิธีการแข่งขัน
          2. เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบรรทัดฐานของสังคมจากโรงเรียน
          3. สถาบันที่มีอิทธิพลกับความคิดของเด็กมากก็คือโรงเรียน
          4. รางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันก็คือการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ต้องการ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          คำบุพบทที่ใช้ไม่ถูกต้องคือ "กับ" ควรใช้ "ต่อ" "สถาบันที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็กมากก็คือโรงเรียน"
*********************************************
51. ข้อใดใช้คำผิดหน้าที่
          1. เด็กมักมีปฏิกิริยาต่อการห้าม
          2. เขาใช้ปฏิภาณในการตอบคำถาม
          3. ปฏิปักษ์ของความก้าวหน้าคือความเกียจคร้าน
          4. เขาทั้งสองมีปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ปฏิญาณ เป็นคำกริยา หมายถึง ให้คำมั่นสัญญา โดยมากมักเป็นไปตามแบบพิธี ประโยคนี้นำมาใช้ผิดหน้าที่ ที่ถูกต้องควรใช้ว่า เขาทั้งสองปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป
*********************************************
52. ข้อใดใช้คำกริยาได้ถูกต้อง
          1. ถ้าเขาไม่จำกัดตัวเองจากคนกลุ่มอื่น เขาก็จะเป็นที่รู้จักมากกว่านี้
          2. เขาทำงานหนักมาก ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ในที่สุดก็ต้องเลิกรากับภรรยา
          3. นายช่างไม่ถือตัวเลย ช่วงพักกลางวันเขามักจะร่วมวงรับประทานอาหารกับคนงาน
          4. นักท่องเที่ยวประทับใจที่เครื่องประดับของไทยเราราคาถูกแต่มีคุณภาพต่ำ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 คำกริยาที่ใช้ไม่ถูกต้อง คือ จำกัด ควรใช้ "แยก"
          ข้อ 2 คำกริยาที่ใช้ไม่ถูกต้อง คือ เลิกรา ควรใช้ "เลิก"
          ข้อ 3 ใช้คำกริยาได้ถูกต้อง ถือตัว หมายถึง ไว้ตัวไม่ยอมลดตัวเพราะหยิ่งในศักดิ์หรือฐานะของตน
          ข้อ 4 คำกริยาที่ใช้ไม่ถูกต้อง คือ ประทับใจ ใช้ไม่เหมาะกับบริบท "ราคาถูกแต่มีคุณภาพต่ำ"
*********************************************
53. ข้อใดใช้คำเชื่อมไม่ถูกต้องเหมาะสม
          1. ถึงแม้เราจะพิถีพิถันล้างจานจนสะอาดเพียงใดก็อาจมีแบคทีเรียหลงเหลืออยู่
          2. คนที่มีความเครียดมักจะปวดหัวบ่อย ๆ บางคนปวดหัวข้างเดียวหรือที่เรียกกันว่าไมเกรน
          3. ถ้าใช้น้ำบาดาลมากเกินไปอาจเกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินทรุด และน้ำเค็มหนุน
          4. การประกอบอาชีพสุจริต การรับผิดชอบต่อครอบครัว ตลอดจนการทำประโยชน์ต่อสังคมล้วนเป็นคุณสมบัติที่น่ายกย่อง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ประโยคนี้ใช้คำเชื่อมไม่เหมาะสมคือ "และ" ควรใช้ "หรือ" คำบอกความให้กำหนดเอา
*********************************************
54. ข้อใดเป็นประโยคความเดียว
          1. รถแล่นมาดี ๆ ก็พลิกคว่ำ
          2. งูตัวจ้อยเกาะกิ่งไม้ที่ริมรั้ว
          3. แม่น้ำสายยาวไหลเซาะตลิ่งพังทลาย
          4. คุณตานัดรำมวยจีนกับเพื่อน ๆ ทุกวันเสาร์
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ภาคประธาน คือ งูตัวจ้อย
          ภาคแสดง คือ เกาะกิ่งไม้ที่ริมรั้ว
*********************************************
55. ข้อใดเป็นประโยคความซ้อน
          1. คนแก่ที่มีเงินไม่เคยขาดคนดูแล
          2. หลานสาววิ่งปร๋อไปหาคุณยายทันที
          3. สุดาไปซื้อของที่ตลาดกับคุณยายเสมอ
          4. แมวขโมยกระโจนขึ้นหลังคาอย่างรวดเร็ว
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ประโยคหลัก คือ คนแก่ไม่ขาดคนดูแล
          ประโยคย่อย คือ (คนแก่) มีเงิน
          ตัวเชื่อม คือ ที่
*********************************************
56. ข้อใดวางส่วนขยายผิดที่
          1. การตั้งครรภ์โดยไม่ทราบว่าเป็นเบาหวานมาก่อนมีปัจจัยความเสี่ยงอยู่หลายอย่าง
          2. สตรีมีครรภ์และเป็นเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะแท้งหรือมีลูกพิกลพิการมาก
          3. การควบคุมน้ำตาลอย่างจริงจังช่วยทำให้คนไข้เบาหวานตั้งครรภ์ได้เป็นปกติมากขึ้น
          4. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะกรรมพันธุ์และความอ้วนต้องให้สูติแพทย์ตรวจเบาหวานอย่างละเอียด
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          คำว่า "มาก" วางไว้หลังข้อความ "มีลูกพิกลพิการ" จึงขยาย "ลูก" หมายความว่า ลูกพิกลพิการมาก ซึ่งแท้จริงแล้วหมายถึง สตรีที่มีครรภ์และเป็นเบาหวานนั้นมีความเสี่ยงมากที่จะมีลูกพิการ ดังนั้น ข้อความนี้จึงควรเป็นดังนี้ "สตรีมีครรภ์และเป็นเบาหวานมีความเสี่ยงมากที่จะแท้งหรือมีลูกพิกลพิการ"
*********************************************
57. ข้อความใดเป็นประโยคสมบูรณ์
          1. น้ำมันเครื่องสูตรสังเคราะห์เพื่อปิคอัพสมรรถนะสูง
          2. พลิ้วสวยสมบูรณ์แบบด้วยกระเบื้องหลังคาโกลด์
          3. แป้งเค้กอณูละเอียดอำพรางริ้วรอยได้แนบเนียน
          4. มาตรฐานประกันภัยที่ก้าวไกลระดับโลก
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ภาคประธาน คือ แป้งเค้กอณูละเอียด
          ภาคแสดง คือ อำพรางริ้วรอยได้แนบเนียน
*********************************************
58. ประโยคใดเรียงลำดับคำได้ถูกต้อง
          1. พ่อครัวทำต้มโคล้งปลาช่อนเมื่อวานนี้อร่อยมาก
          2. ฝนดาวตกครั้งนี้มีจำนวนไม่มากอย่างที่คิด
          3. ในห้องแสดงนิทรรศการมีศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชรูปจำลองตั้งไว้ให้ชม
          4. บัณฑิตใหม่กำลังถ่ายรูปก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
เฉลยข้อ 2 เหตุผล 
          ข้อ 1 ควรเรียงว่า เมื่อวานนี้พ่อครัวต้มโคล้งปลาช่อนอร่อยมาก
          ข้อ 2 เรียงลำดับคำได้ถูกต้อง
          ข้อ 3 ควรเรียงว่า ในห้องแสดงนิทรรศการมีศิลาจารึกรูปจำลองของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งไว้ให้ชม
          ข้อ 4 ควรเรียงว่า บัณฑิตใหม่กำลังถ่ายรูปในบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
*********************************************
59. ข้อใดมีโครงสร้างของประโยคแบบ กรรม-ประธาน-กริยา
          1. มะเร็งบางชนิดรักษาให้หายได้
          2. หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าเขามักอ่านเวลากินกาแฟ
          3. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก่อสร้างสำเร็จแล้วอย่างงดงาม
          4. ไวรัสคอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ระบาดทำให้ข้อมูลเสียหาย
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          กรรม คือ หนังสือพิมพ์
          ประธาน คือ เขา
          กริยา คือ อ่าน
*********************************************
60. ข้อใดเป็นประโยคกรรม
          1. ประโยชน์ที่เกิดจากโครงการนี้มีผลดีต่อสังคมในระยะยาว
          2. เพราะแม่สูบบุหรี่จัดลูกที่คลอดออกมาจึงมีขนาดเล็กกว่าปกติ
          3. คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสติดเชื้อทางกรวยไตมากกว่าคนทั่วไป
          4. อาคารผู้ป่วยนอกหลังนี้สร้างเสร็จภายในห้าเดือนด้วยเงินบริจาคของประชาชน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ประโยคกรรม คือ ประโยคที่เอากรรมไว้ข้างหน้า
          ข้อความในข้อ 4 นำเอากรรมมาขึ้นต้นประโยค คือ "อาคารผู้ป่วยนอก" และละประธานไว้
*********************************************
61. ข้อใดมีโครงสร้างเช่นเดียวกับประโยค "ดอกบัวตองบานสะพรั่งชูไสวทั่วท้องทุ่ง"
          1. พวกเด็ก ๆ วิ่งเล่นกันเต็มสนามกีฬา
          2. ฟ้าคะนองผ่าเปรี้ยงลงที่ตึกหลังสูง
          3. เจ้าด่างครางหงิง ๆ วิ่งไปมาตามถนน
          4. แม่ครัวนอนเหยียดยาวกลางห้องครัว
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          "ดอกบัวตองบานสะพรั่งชูไสวทั่วท้องทุ่ง" มีโครงสร้าง คือ
          ประธาน + กริยา + ขยายกริยา + กริยา + ขยายกริยา + ขยายกริยา (บอกสถานที่)
          "เจ้าด่างครางหงิง ๆ วิ่งไปมาตามถนน" มีโครงสร้าง คือ
          ประธาน + กริยา + ขยายกริยา + กริยา + ขยายกริยา + ขยายกริยา (บอกสถานที่)
*********************************************
62. ข้อใดเป็นประโยคความรวม
          1. เจ้าหมาน้อยไม่สบายร้องครางทั้งวัน
          2. หลานสาวตัวน้อยเดินไปโรงเรียนใกล้บ้าน
          3. คนไทยแทบทุกคนรู้จักนักชกเหรียญทองคนนั้น
          4. สมบัติดูหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตายมาหลายเดือน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ประโยคความรวม คือ ประโยคที่ประกอบด้วยประโยคความเดียว ตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปไว้ด้วยกัน มีสันธานเป็นเครื่องเชื่อม
          ข้อ 1 เป็นประโยคความรวมที่ประกอบด้วยประโยคความเดียว 2 ประโยค คือ เจ้าหมาน้อยไม่สบาย และเจ้าหมาน้อยร้องครางทั้งวัน
          ข้อ 2 เป็นประโยคความเดียว ภาคประธาน คือ หลานสาวตัวน้อย ภาคแสดง คือ เดินไปโรงเรียนใกล้บ้าน
          ข้อ 3 เป็นประโยคความเดียว ภาคประธาน คือ คนไทยแทบทุกคน ภาคแสดง คือ รู้จักนักชกเหรียญทองคนนั้น
          ข้อ 4 เป็นประโยคความเดียว ภาคประธาน คือ สมบัติ ภาคแสดง คือ ดูหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตายมาหลายเดือน
*********************************************
63. ข้อใดเป็นประโยคความซ้อน
          1. ฉันพบอาจารย์ของลูกที่ตลาดเสมอ
          2. เราไปซื้อผลไม้ที่ร้านเจ้าประจำ
          3. มะม่วงต้นที่อยู่หลังครัวมีลูกหลายใบ
          4. กล้วยไม้ที่คาคบออกดอกแล้ว
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ประโยคความซ้อน คือ ประโยคที่ประกอบด้วยประโยคที่มีเนื้อความสำคัญ และประโยคเล็กที่ช่วยเสริมประโยคหลัก
          ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 4 ไม่ใช่ประโยคความซ้อน "ที่" เป็นบุพบท แสดงสถานที่
          ข้อ 3 เป็นประโยคความซ้อน ประโยคหลัก คือ มะม่วงมีลูกหลายใบ ประโยคเล็ก คือ (มะม่วง) อยู่หลังครัว "ที่" เป็นประพันธสรรพนาม
*********************************************
64. ข้อใดเป็นประโยคที่สมบูรณ์
          1. หนึ่งในบรรดาสารพิษหรือสารเคมีที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตภาชนะบรรจุอาหาร
          2. เมื่อท่านทราบแล้วว่าอันตรายจากการบริโภคอาหารที่ใส่ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์มีมากเพียงใด
          3. องค์การอนามัยโลกซึ่งชี้ปัญหาการขาดแคลนธาตุไอโอดีนว่ามักจะมีในประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขา
          4. การที่จะขจัดโรคขาดสารอาหารในเด็กให้หมดไปจำเป็นต้องรณรงค์ให้เฝ้าระวังโภชนาการของเด็กเป็นประจำ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 3 ไม่มีภาคแสดง จึงไม่เป็นประโยค
          ข้อ 4 เป็นประโยคที่สมบูรณ์ ภาคประธาน คือ การที่จะขจัดโรคขาดสารอาหารในเด็กให้หมดไป ภาคแสดง คือ จำเป็นต้องรณรงค์ให้เฝ้าระวังโภชนาการของเด็กเป็นประจำ
*********************************************
ใช้ข้อความต่อไปนี้ตอบคำถามข้อ 65-67
      "(1) ประชากรคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ (2) เราต้องสูญเสียประชากรจำนวนหนึ่งให้แก่ยาเสพติด (3) คนเหล่านี้ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ทั้งยังก่ออาชญากรรมและแพร่โรคเอดส์ไปพร้อมกัน (4) คิดดูเถิดว่าประเทศจะประสบความวิบัติสักเท่าใด"
65. ข้อความตอนใดมีการละประธานของประโยค
          1. ตอนที่ (1)
          2. ตอนที่ (2)
          3. ตอนที่ (3)
          4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1 ประธานของประโยค คือ ประชากร
          ข้อ 2 ประธานของประโยค คือ เรา
          ข้อ 3 ประธานของประโยค คือ คน
          ข้อ 4 ละประธานของประโยค คือ เรา
*********************************************
66. ข้อความตอนใดเป็นประโยคความซ้อน
          1. ตอนที่ (1) และ (2)
          2. ตอนที่ (2) และ (3)
          3. ตอนที่ (3) และ (4)
          4. ตอนที่ (4) และ (1)
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ตอนที่ (1) ประโยคหลัก คือ ประชากรคือทรัพยากร
                           ประโยคย่อย คือ (ทรัพยากร) มีค่าที่สุดของประเทศ
                           ตัวเชื่อม คือ ที่
          ตอนที่ (4) ประโยคหลัก คือ คิดดูเถิด (ละประธาน)
                           ประโยคย่อย คือ ประเทศจะประสบความวิบัติสักเท่าใด
                           ตัวเชื่อม คือ ว่า
*********************************************
67. ข้อใดเป็นประโยคกรรม
          1. เรื่องของคำสรรพนามนี้นับว่าเป็นลักษณะที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของภาษาไทย
          2. ท่วงทำนองการเขียนของนักเรียนนั้นครูไม่ควรพยายามเปลี่ยนให้เป็นไปตามที่ครูต้องการ
          3. การสอนเรื่องราชาศัพท์นั้นครูไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนท่องจำโดยเฉพาะคำที่ไม่ค่อยได้ใช้
          4. จุดประสงค์ในการบรรยายเรื่องนี้ก็เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจวิธีทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ประโยคกรรม คือ ประโยคที่ใช้กรรมมาขึ้นต้นประโยค
          ประโยคในข้อ 2 เป็นประโยคกรรม ถ้าเปลี่ยนเป็นประโยคที่ใช้ประธานอยู่หน้า (ประโยคกรรตุ) จะเป็นดังนี้
          "ครูไม่ควรพยายามเปลี่ยนท่วงทำนองการเขียนของนักเรียนให้เป็นไปตามที่ครูต้องการ"
*********************************************
68. ข้อใดเป็นประโยคต่างชนิดกับข้ออื่น
          1. บ่อรวมปลาใช้เป็นบ่ออนุบาลลูกปลาที่มีขนาดเล็ก
          2. ปลาพันธุ์ต่าง ๆ กินอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแปลงนา
          3. หลังจากที่ไถคราดและปักดำเสร็จแล้วจึงควรปล่อยปลา
          4. พันธุ์ปลาที่เหมาะแก่การเลี้ยงในนาข้าวควรมีคุณสมบัติเลี้ยงง่าย
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 4 เป็นประโยคความซ้อน
          ข้อ 3 เป็นประโยคความรวม ประกอบด้วยประโยค 2 ประโยค คือ หลังจากที่ไถคราดและปักดำเสร็จแล้ว / จึงควรปล่อยปลา
*********************************************
69. ข้อใดวางส่วนขยายผิดที่
          1. กรมประชาสงเคราะห์ได้พยายามช่วยเหลือเด็กยากจนเร่ร่อนให้มีผู้ปกครองคอยดูแลที่เหมาะสม
          2. ทุกคนตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จและชื่อเสียงขององค์กร
          3. ในการมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูประเพณีเก่า ๆ ขึ้นมา
          4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปรับปรุงบริการรับแจ้งเหตุต่าง ๆ ทางโทรศัพท์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          วางส่วนขยายผิดที่ ข้อความ "ที่เหมาะสม" ควรเรียงไว้หลังข้อความ "ให้มีผู้ปกครอง"
*********************************************
70. ข้อใดเป็นประโยคกรรม
          1. ครูคนนี้เป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีสมควรได้รับรางวัล
          2. เนื้อหาวิชาที่เข้มข้นทันสมัยได้มาจากการวิจัยต่อเนื่อง
          3. เด็กจะเรียนรู้ได้มากถ้าได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม
          4. ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาดซึ่งไม่พบในที่อื่น ๆ ของโลก
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ประโยคนี้เป็นประโยคกรรม ถ้าเอาประธานขึ้นต้นได้ดังนี้ "การวิจัยต่อเนื่องทำให้ได้เนื้อหาวิชาที่เข้มข้นทันสมัย"
*********************************************
71. ข้อใดมีส่วนขยายของบทกรรม
          1. ลายเชิงเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่อ่อนช้อยงดงามของผู้ชายล้านนา
          2. คนหนุ่มสาวนั่งบนเสื่อแดงผืนยาวที่ปูอยู่บนพื้นด้านหน้า
          3. ครูใช้ดอกไม้หอมที่จุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยสะบัดพรมให้แก่ลูกศิษย์
          4. พิธีสืบสายลายเชิงเป็นการสืบทอดองค์ความรู้แบบเดิมของล้านนา
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          บทกรรม คือ ดอกไม้หอม
          ส่วนขยายของบทกรรม คือ ที่จุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อย
*********************************************
72. ข้อใดไม่ใช่ประโยคความรวม
          1. กายเขาสบายแต่ใจเขาไม่สบาย
          2. ปีนี้ฝนตกชุกร่มจึงขายดีกว่าปีก่อน
          3. มะลิวัลย์น้องสาวของมาลัยวัลย์เรียนและเล่นกีฬาเก่ง
          4. ผู้ไม่ประสงค์ออกนามบริจาคเงินสองแสนบาทให้โรงพยาบาล
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1 เป็นประโยคความรวม มี "แต่" เป็นตัวเชื่อม
          ข้อ 2 เป็นประโยคความรวม มี "จึง" เป็นตัวเชื่อม
          ข้อ 3 เป็นประโยคความรวม มี "และ" เป็นตัวเชื่อม
          ข้อ 4 เป็นประโยคความเดียว
                  ภาคประธาน คือ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม
                  ภาคแสดง คือ บริจาคเงินสองแสนบาทให้โรงพยาบาล
*********************************************
73. ข้อใดไม่ใช่ประโยคความซ้อน
          1. พิมลทำงานหนักเพื่อเขาจะได้เงินมาก ๆ
          2. สคราญย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเวลา 20 ปีแล้ว
          3. คุณพ่อเสนอแนะว่าควรตัดต้นไม้ที่ล้มอยู่หลังบ้าน
          4. วิมลทิพย์เก็บผลไม้ในสวนที่อยู่ติดกับสวนดอกไม้
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1. เป็นประโยคความซ้อน
                  ประโยคหลัก คือ พิมลทำงานหนัก
                  ประโยคย่อย คือ เขาจะได้เงินมาก ๆ
                  ตัวเชื่อม คือ เพื่อ
          ข้อ 2. เป็นประโยคความเดียว ภาคประธาน คือสะคราญ
                  ภาคแสดง คือ ย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเวลา 20 ปีแล้ว
          ข้อ 3. เป็นประโยคความซ้อน
                  ประโยคหลัก คือ คุณพ่อเสนอแนะ
                  ประโยคย่อย คือ ควรตัดต้นไม้ที่ล้มอยู่หลังบ้าน
                  ตัวเชื่อม คือ ว่า
          ข้อ 4. เป็นประโยคความซ้อน
                  ประโยคหลัก คือ วิมลทิพย์เก็บผลไม้ในสวน
                  ประโยคย่อย คือ อยู่ติดกับสวนดอกไม้
                  ตัวเชื่อม คือ ที่
*********************************************
74. ข้อใดเป็นประโยคต่างชนิดกับข้ออื่น
          1. ของกินสำหรับเด็ก ๆ เต็มตระกร้าใบใหญ่
          2. เราจะได้นั่งรถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์
          3. สินค้าในร้านของเขาทันสมัยทุกชนิด
          4. เรื่องที่เสนอขึ้นไปติดขัดตรงไหนบ้าง
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1, 2 และ ข้อ 3 เป็นประโยคความเดียว
          ข้อ 4 เป็นประโยคความซ้อน ประโยคหลัก คือ เรื่องติดขัดตรงไหนบ้าง ประโยคย่อย คือ (เรื่อง) เสนอขึ้นไป ตัวเชื่อม คือ ที่
*********************************************
75. ข้อใดใช้สำนวนไทยถูกต้อง
          1. ทำอะไรไม่อดทนเลยนะเธอ ใจปลาซิวเหลือเกิน
          2. เขาโกรธน้องชายมากจนเลือดเข้าตา แต่ทำอะไรไม่ได้
          3. พอเธอหายป่วยก็ปีกกล้าขาแข็ง ขับรถไปต่างจังหวัดคนเดียว
          4. หลังจากซื้อของเสร็จแล้ว เขากับเธอก็เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันออกมาจากร้าน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อ 1 ใช้สำนวนถูกต้อง ใจปลาซิว หมายถึง ไม่มีความอดทน
          ข้อ 2 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง เลือดเข้าตา หมายถึง ทำหรือสู้อย่างไม่กลัวตาย
          ข้อ 3 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง ปีกกล้าขาแข็ง หมายถึง พึ่งตัวเองได้ ใช้กล่าวเชิงตำหนิว่าหยิ่งยโส
          ข้อ 4 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง เคียงบ่าเคียงไหล่ หมายถึง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
*********************************************
76. ข้อใดใช้สำนวนไม่ถูกต้อง
          1. เขารับจะเป็นทนายหน้าหอว่าความคดียักยอกทรัพย์ของธนาคาร
          2. ทั้ง ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนางกลางเมือง หล่อนก็มิได้ขัดเคืองโต้ตอบใด ๆ
          3. เพื่อน ๆ คิดว่าเขาเป็นนกสองหัว จึงพากันรังเกียจไม่คบค้าสมาคมด้วย
          4. กีฬามหาวิทยาลัยแต่ละครั้ง สถาบันที่ไม่มีทีมชาติมักเป็นหมูสนามให้เขาต้อน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อ 1 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง ทนายหน้าหอ หมายถึง ผู้รับหน้าแทนนาย
          ข้อ 2 ใช้สำนวนถูกต้อง นางกลางเมือง หมายถึง หญิงบำเรอ
          ข้อ 3 ใช้สำนวนถูกต้อง นกสองหัว หมายถึง คนที่เข้ากับทั้งสองฝ่าย
          ข้อ 4 ใช้สำนวนถูกต้อง หมูสนาม หมายถึง ผู้ที่ถูกล่อให้แพ้ได้ง่าย
*********************************************
77. ข้อใดใช้สำนวนได้ถูกต้อง
          1. ลูกทำกิจการขาดทุนหลายครั้ง แต่แม่ก็ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด ให้เงินช่วยทุกครั้ง
          2. ตอนนี้เขาร่ำรวย แต่เมื่อหนุ่ม ๆ ยากจนแทบไม่มีจะกิน เข้าทำนองตีนถีบปากกัด
          3. เธอบอกว่าไม่ชอบสมศักดิ์ แต่พอเขาชวนไปเที่ยวก็ไป เข้าตำราปากว่าตาขยิบ
          4. คุณปู่เล่าว่าแต่ก่อนเรามีฐานะดีมากขนาดที่เรียกว่าข้าวเหลือเกลืออิ่ม
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด หมายถึง ตัดไม่ขาด (มักใช้แก่พ่อแม่ ถึงจะโกรธเกลียดลูกก็ตัดไม่ขาด)
          ข้อ 2 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง ตีนถีบปากกัด หมายถึง มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อปากท้อง โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
          ข้อ 3 ใช้สำนวนถูกต้อง ปากว่าตาขยิบ หมายถึง ปากกับใจไม่ตรงกัน
          ข้อ 4 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง ข้าวเหลือเกลืออิ่ม หมายถึง บริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร
*********************************************
78. สำนวนในข้อใดมีความหมายใกล้เคียงกับคำประพันธ์ต่อไปนี้มากที่สุด
     "พักตร์จิตผิดประมาณ        ยากรู้"
          1. ปากปราศรัย         ใจเชือดคอ
          2. ต่อหน้ามะพลับ         ลับหลังตะโก
          3. คบคนให้ดูหน้า         ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ
          4. ข้างนอกสุกใส         ข้างในเป็นโพรง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          "พักตร์จิตผิดประมาณ        ยากรู้" คือ ลักษณะของคนที่หน้าเนื้อใจเสือ คือ หน้าตาแสดงความเมตตาแต่ใจโหดเหี้ยม
          ข้อ 1. ปากปราศรัย         ใจเชือดคอ หมายถึง พูดดีแต่ใจคิดร้าย
          ข้อ 2. ต่อหน้ามะพลับ         ลับหลังตะโก หมายถึง ต่อหน้าทำเป็นดี แต่พอลับหลังก็นินทา หรือหาทางทำร้าย
          ข้อ 3. คบคนให้ดูหน้า         ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ หมายถึง จะคบใครให้พิจารณาเสียก่อน
          ข้อ 4. ข้างนอกสุกใส         ข้างในเป็นโพรง หมายถึง ภายนอกดูดีต่างจากข้างใน
*********************************************
79. ข้อความต่อไปนี้ตรงกับสำนวนใด
     "ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทนนายเชี่ยวชาญนั้น น่าจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อต้องการทราบว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไร"
          1. กวนน้ำให้ขุ่น
          2. โยนหินถามทาง
          3. หว่านพืชหวังผล
          4. ปากคนยาวกว่าปากกา
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1. กวนน้ำให้ขุ่น หมายถึง ทำเรื่องราวที่สงบอยู่ให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา
          ข้อ 2. โยนหินถามทาง หมายถึง กระทำการอย่างหนึ่งเพื่อดูผลที่ตอบกลับมา
          ข้อ 3. หว่านพืชหวังผล หมายถึง ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อหวังผลตอบแทน
          ข้อ 4. ปากคนยาวกว่าปากกา หมายถึง ข่าวจากปากต่อปากแพร่ไปได้รวดเร็ว
*********************************************
80. ข้อความต่อไปนี้ตรงกับสำนวนในข้อใด
     "เขาโชคดีที่ได้รับจดหมายเรียกตัวเข้าทำงานทั้ง 2 แห่งพร้อม ๆ กัน จึงตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกทำที่ไหนดี"
          1. จับปลาสองมือ
          2. สองฝักสองฝ่าย
          3. รักพี่เสียดายน้อง
          4. เหยียบเรือสองแคม
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1. จับปลาสองมือ หมายความว่า ทำอะไรที่มุ่งหวังสองอย่างในขณะเดียวกัน
          ข้อ 2. สองฝักสองฝ่าย หมายความว่า ทำตัวเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย
          ข้อ 3. รักพี่เสียดายน้อง หมายความว่า ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี
          ข้อ 4. เหยียบเรือสองแคม หมายความว่า ทำทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย
*********************************************
81. สำนวนในข้อใดนำมาเติมลงในช่องว่างได้เหมาะสมที่สุด
     "รายงานฉบับนี้วิชัยทำแบบ ................ พอให้มีส่งอาจารย์ เพราะยังมีรายงานอีกหลายฉบับที่ยังไม่ได้ทำทิ้งไว้จนเข้าตำรา ............. "
          1. ผักชีโรยหน้า         ยุ่งเหมือนยุงตีกัน
          2. สุกเอาเผากิน         ดินพอกหางหมู
          3. ตำข้าวสารกรอกหม้อ         กองเป็นภูเขาเลากา
          4. จับแพะชนแกะ         หัวไม่ได้วางหางไม่ได้เว้น
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ข้อ 1. ผักชีโรยหน้า หมายความว่า การทำความดีเพียงผิวเผิน
                   ยุ่งเหมือนยุงตีกัน หมายความว่า ยุ่งเหยิง, สับสนปนเปกัน
          ข้อ 2. สุกเอาเผากิน หมายความว่า ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่ง ๆ
                   ดินพอกหางหมู หมายความว่า ที่คั่งค้างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ
          ข้อ 3. ตำข้าวสารกรอกหม้อ หมายความว่า หาเพียงแค่พอกินไปมื้อหนึ่ง ๆ
                   กองเป็นภูเขาเลากา หมายความว่า กองเป็นจำนวนมาก
          ข้อ 4. จับแพะชนแกะ หมายความว่า ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้าแทน
                   หัวไม่ได้วางหางไม่ได้เว้น หมายความว่า รวบหมดทั้งหัวทั้งหาง
*********************************************
82. ข้อความตอนใดใช้ราชาศัพท์ผิด
     (1) เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พลับพลาพิธีแล้ว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร / (2) ทรงกราบ / (3) ทรงประทับพระราชอาสน์ / (4) และทรงศีล
          1. ตอนที่ (1)
          2. ตอนที่ (2)
          3. ตอนที่ (3)
          4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          คำกริยาที่เป็นราชาศัพท์แล้ว ไม่ต้องใช้ "ทรง" นำหน้า
*********************************************
83. ข้อความตอนใดใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง
     (1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเซียนเกมส์ที่ผ่านมา / (2) คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ถวายการต้อนรับและอัญเชิญเสด็จยังที่ประทับ / (3) จากนั้นได้ทรงเสด็จฯ เปิดราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ / (4) ท้ายสุดได้ทอดพระเนตรการแสดงที่คณะกรรมการจัดถวายหน้าที่นั่ง
          1. ตอนที่ (1)
          2. ตอนที่ (2)
          3. ตอนที่ (3)
          4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ข้อ 1 เสด็จเป็นองค์ประธาน ควรใช้ว่า เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป้นประธาน
          ข้อ 2 ถวายการต้อนรับ ควรใช้ว่า เฝ้าฯ รับเสด็จ
                   อัญเชิญเสด็จ ควรใช้ว่า กราบบังคมทูลเชิญเสด็จ
          ข้อ 3 ทรงเสด็จฯ ควรใช้ว่า เสด็จพระราชดำเนิน
          ข้อ 4 จัดถวายหน้าที่นั่ง ใช้ถูกต้องแล้ว (การแสดงถวายทอดพระเนตร ใช้ว่าแสดงเฉพาะพระพักตร์ หรือแสดงหน้าที่นั่ง)
*********************************************
84. ข้อความตอนใดใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
      (1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ / (2) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารเสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน / (3) พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานวุฒิสภา / (4) เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล
          1. ตอนที่ (1)
          2. ตอนที่ (2)
          3. ตอนที่ (3)
          4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          คำราชาศัพท์ที่ใช้ไม่ถูกต้อง คือ พระบรมราชวโรกาส ควรใช้เป็น พระราชวโรกาส เพราะใช้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
*********************************************
85. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ได้ถูกต้อง
          1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า
          2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นอาจารย์ของนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
          4. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดอาหารแห้งและน้ำดื่มไปแจกผู้ประสบอุทกภัย
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1. พระราชานุเคราะห์ ควรใช้ พระบรมราชานุเคราะห์
          ข้อ 2. ทรงเป็นพระราชนัดดา ควรใช้ เป็นพระราชนัดดา
          ข้อ 3. ใช้ราชาศัพท์ได้ถูกต้อง
          ข้อ 4. ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ควรใช้ มีพระราชเสาวนีย์
*********************************************

1 ความคิดเห็น: