วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ชีววิทยา-การตอบสนองของพืช

ชีววิทยา-การตอบสนองของพืช
          การเจริญเติบโตของพืชต้องการปัจจัยต่าง ๆ ในการเจริญ เช่น น้ำ แสง และแร่ธาตุต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องการฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเจริญเติบโต เช่น
ออกซิน
          ทำให้ยอดพืชโค้งงอเข้าหาแสง ยับยั้งการเจริญของตาข้าง ชะลอการหลุดร่วงของใบ เร่งการเจริญของราก รังไข่กลายเป็นผล โดยไม่ต้องผสมพันธุ์
ไซโทไคนิน
          กระตุ้นการแบ่งเซลล์ การเกิดตาข้าง และชะลอการสลายตัวของคลอโรฟิลล์
จิบเบอเรลลิน
          กระตุ้นการแบ่งเซลล์ และการขยายขนาดตามยาวของเซลล์บริเวณปล้อง กระตุ้นการงอกของเมล็ด การออกดอกของพืชบางชนิด
เอทิลีน
          เร่งการสุกของผลไม้ กระตุ้นการหลุดร่วงของใบ กระตุ้นการออกดอกของพืชบางชนิด
กรดแอบไซซิก
          ยับยั้งการเจริญและการยืดตัวของเซลล์บริเวณตา กระตุ้นการหลุดร่วงของใบและผลแก่ กระตุ้นปากใบปิด กระตุ้นการพักตัวของพืช

นอกจากฮอร์โมน พืชยังตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทำให้พืชมีการเคลื่อนไหว ซึ่งแบ่งเป็น
1. การเคลื่อนไหวเนื่องจากการเจริญเติบโต ได้แก่
          - ทรอปิซึม หรือ ทรอปิกมูฟเมนต์ ซึ่งมีทิศทางสัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า เช่น แรงโน้มถ่วง แสง สารเคมี อุณหภูมิ การสัมผัส
          - นาสตี้ หรือ นาสติกมูฟเมนต์ ซึ่งมีทิศทางไม่สัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า
2. เนื่องจากแรงดันเต่ง ได้แก่
          การสัมผัส การนอนหลับของใบ การปิด-เปิดปากใบ
*********************************************
1. ข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับออกซิน
          1. การผลิตต้นไม้บอนไซ
          2. เร่งการงอกรากของกิ่งปักชำ
          3. ใช้เป็นยากำจัดวัชพืช
          4. การโค้งงอของลำต้นเข้าหาแสง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การผลิตต้นไม้บอนไซไม่ต้องการออกซิน เพราะออกซินจะเร่งราก พืชจะโตเร็ว การผลิตต้นบอนไซอาจใช้สารยับยั้งการเจริญเติบโตพืชช่วย
*********************************************
2. โคลซิซิน (Colchicine) เป็นสารที่ยับยั้งการสร้างไมโทติกสปินเดิล ถ้าแช่รากหอมในสารละลายโคลซิซิน กระบวนการแบ่งเซลล์จะหยุดอยู่ที่ระยะใด
          1. แอนาเฟส
          2. เทโลเฟส
          3. เมทาเฟส
          4. อินเตอร์เฟส
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การใช้สารโคลซิซิน (Colchicine) เป็นสารยับยั้งการสร้างไมโทติกสปินเดิล เมื่อนำรากหอมไปแช่ในสารละลายโคลซิซิน กระบวนการแบ่งเซลล์จะหยุดอยู่ในระยะอินเตอร์เฟส เพราะไม่เกิดไมโทติกสปินเดิล
*********************************************
3. ในการทดลองเกี่ยวกับฮอร์โมนพืช นาย ก. นำต้นฤาษีผสมซึ่งมีอายุและขนาดไล่เลี่ยกันมา 3 ต้น
ต้นที่หนึ่งตัดยอดทิ้งไป
ต้นที่สองตัดยอดทิ้งไปแล้วทารอยตัดด้วยขี้ผึ้งผสมฮอร์โมนออกซิน
ต้นที่สามปล่อยไว้ตามธรรมชาติเป็นต้นควบคุม
หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ นาย ก. พบว่าต้นที่หนึ่งมีการเจริญของตาข้างออกไปเป็นกิ่งดีกว่าต้นที่สองและต้นที่สาม ซึ่งสองต้นหลังนี้มีจำนวนกิ่งที่เจริญมาจากตาข้างพอ ๆ กัน อาจสรุปผลของออกซินจากการทดลองนี้ได้ดังนี้
          1. ออกซินจากปลายยอดส่งเสริมการแตกกิ่ง
          2. ตาข้างปล่อยสารบางอย่างไปยับยั้งการทำงานของออกซินที่ปลายยอด
          3. ออกซินมีฤทธิ์สมานบาดแผล ทำให้ลำต้นและใบเจริญได้ดีตามปกติ
          4. ออกซินจากปลายยอดยับยั้งการแตกกิ่งของตาข้าง
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          Auxin มีผลยับยั้งการเจริญของตาข้างของลำต้น Auxin มีมากที่บริเวณปลายยอด ปลายราก ดังนั้นเมื่อตัดยอดออกจึงขาด Auxin ทำให้ตาบริเวณด้านข้างเจริญได้ดี
*********************************************
4. การโค้งเข้าหาแสงของพืชเกิดจาก
          1. แสงช่วยในการขยายตัวของเซลล์ทำให้มีการโค้งเกิดขึ้น
          2. มีการเคลื่อนย้ายของออกซินออกไปจากด้านที่โดนแสงไปยังด้านที่ไม่โดนแสง
          3. มีการเคลื่อนย้ายของออกซินออกไปจากด้านที่ไม่โดนแสงไปยังดานที่โดนแสง
          4. ไม่มีการเคลื่อนย้ายของออกซินเนื่องจากถูกแสงทำลายไปหมด
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเคลื่อนที่ของออกซินจะเคลื่อนที่จากบริเวณที่ถูกแสงไปยังบริเวณที่ไม่มีแสง
*********************************************
5. ส่วนไหนของพืชที่มีการตอบสนองต่อออกซินแต่ไม่ตอบสนองต่อจิบเบอเรลลิน
          1. ใบ
          2. ลำต้น
          3. ราก
          4. ดอก
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ออกซินใช้กระตุ้นกิ่งตอนให้งอกราก แต่จิบเบอเรลลินไม่มีผลต่อราก เพราะเป็นสารที่ทำให้เกิดการยืดตัวของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ตรงช่วงข้อ จึงใช้ยืดช่อองุ่น ทำให้ไม้ดอกมีดอกใหญ่ขึ้นรวมทั้งก้านดอกยาวขึ้น หรือทำให้องุ่นบางพันธุ์ไม่มีเมล็ด
*********************************************
6. ลักษณะอาการของพืชต่อไปนี้มีข้อใดบ้างที่ไม่ได้ควบคุมโดยฮอร์โมนเอทิลีน
          1. เร่งการร่วงของใบ
          2. เร่งการสุกของผลไม้
          3. เร่งการเกิดรากในกิ่งปักชำ
          4. กระตุ้นการออกดอก
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          การเร่งรากในกิ่งปักชำใช้ออกซินไม่ใช้เอทิลีน เอทิลีนใช้เร่งผลไม้ให้สุก กระตุ้นพืชพวกสับปะรดให้ออกดอก กระตุ้นการหลุดร่วงของใบไม้และการผลัดใบตามฤดูกาล
*********************************************
7. ถ้าใช้แผ่นไมก้าที่สามารถกั้นการลำเลียงของพืชได้ สอดไว้ที่ยอดของ Coleoptile ของต้นข้าวสาลีตามภาพ ซึ่งปลูกไว้ในที่มืด เมื่อนำพืชทดลองดังกล่าวไปตั้งในที่มีแสงสว่างเข้าด้านเดียว ในเวลาต่อมาท่านคิดว่ายอดอ่อนของ Coleoptile จะเกิดการโค้งงอหรือไม่ ตามข้อใด

เฉลย ไม่มีข้อถูก มีแต่ใกล้เคียง คือข้อ 1. เหตุผล
          ต้น y ไม่เจริญ เพราะออกซินจะอยู่ช่วงบนยอดเคลื่อนที่หนีแสงไปไหนไม่ได้ แต่ต้น x (หรือต้นกลาง) จะต้องโค้งเข้าหาแสง
*********************************************
8. ในการปลูกองุ่นของประเทศไทย มีการใช้ฮอร์โมนอะไรเพื่อช่วยทำให้ช่อองุ่นโปร่งขึ้น และลดการเบียดของผลทำให้ผลองุ่นโตมีคุณภาพดีขึ้น
          1. ออกซิน
          2. เอทิลีน
          3. จิบเบอเรลลิน
          4. ไคเนติน
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          จิบเบอเรลลิน ทำให้เซลล์ระหว่างข้อของช่อองุ่นขยายตัว จึงใช้ฮอร์โมนนี้ในไร่องุ่น ทำให้ช่อองุ่นโปร่งขึ้น และลดการเบียดของผล ทำให้ผลองุ่นโตขึ้น คุณภาพดี
*********************************************
9. ฮอร์โมนพืช แตกต่างจากฮอร์โมนสัตว์ในแง่ใด
          1. ฮอร์โมนพืชเป็นสารอินทรีย์ แต่ฮอร์โมนสัตว์เป็นสารอนินทรีย์
          2. ฮอร์โมนพืชมีปริมาณเล็กน้อยก็แสดงผลได้ แต่ฮอร์โมนสัตว์ต้องมีปริมาณมากจึงแสดงผล
          3. ฮอร์โมนพืชต้องใช้ที่ตำแหน่งที่มีการสร้างฮอร์โมน แต่ฮอร์โมนสัตว์ใช้ตำแหน่งอื่นได้
          4. ฮอร์โมนพืชชนิดเดียวกันแสดงผลได้หลายลักษณะ แต่ฮอร์โมนสัตว์จะเฉพาะเจาะจงกับการแสดงผล
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ฮอร์โมนพืชแตกต่างจากฮอร์โมนสัตว์ ที่ฮอร์โมนพืชชนิดเดียวกันแสดงผลได้หลายลักษณะ เช่น ที่ราก ลำต้น ตา ดอก แต่ฮอร์โมนสัตว์ (ส่วนใหญ่แล้ว) แสดงอาการเฉพาะที่
*********************************************
10. ฮอร์โมนพืช และการแสดงผลในข้อใดถูกต้อง
          1. ออกซิน กับ การขยายตัวของเซลล์ตรงช่วงระหว่างข้อ
          2. จิบเบอเรลลิน กับ การข่มตาข้างไม่ให้ตาข้างเจริญเติบโต
          3. ไซโทไคนิน กับ การเกิดรากของกิ่งปักชำ
          4. เอทิลีน กับ การออกดอกของสับปะรด
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          เอทิลีน มีผลต่อการออกดอกของสับปะรด
*********************************************
11. ปัจจุบัน ฮอร์โมนพืชกลุ่มใดที่สามารถใช้กับพืชผลที่นำมาบริโภคได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
          1. ออกซิน และ จิบเบอเรลลิน
          2. จิบเบอเรลลิน และ ไซโทไคนิน
          3. เอทิลีน และ จิบเบอเรลลิน
          4. ออกซิน และ เอทิลีน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ฮอร์โมนออกซินและเอทิลีนสามารถใช้กับพืชผลที่นำมาบริโภคได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
*********************************************
12. การเคลื่อนไหวในข้อใดไม่ใช่การเคลื่อนไหวอันเนื่องจากการเจริญ (Growth movement)
          1. การหุบ-กางของใบไมยราพ
          2. การบานของดอก
          3. การโค้งเข้าหาแสงของลำต้น
          4. รากโค้งตามแรงโน้มถ่วงของโลก
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การหุบ-กางของใบไมยราพเป็นการเคลื่อนไหวเนื่องจากความเต่ง (Turgor pressure) เนื่องจากการสูญเสียน้ำที่พัลวินัส ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเนื่องจากการเจริญ (Growth movement)
*********************************************
13. การเคลื่อนไหวของพืชในข้อใดมีทิศทางของการตอบสนองที่ไม่ขึ้นอยู่กับทิศทางของสิ่งเร้า
          1. Phototropism
          2. Geotropism
          3. Nastic movement
          4. Thigmotropism
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          Nastic movement เช่น การหุบ-บานของดอกไม้ไม่มีทิศทางการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
          ส่วน Phototropism การเคลื่อนที่ตอบสนองต่อแสงมีทิศทางเข้าหาแสงหรือหนีแสง
          Geotropism เป็นการเคลื่อนที่เข้าหาหรือหนีแรงดึงดูดของโลก
          และ Thigmotropism ตอบสนองต่อสิ่งที่สัมผัส
*********************************************
14. การเลื่อนเข้าหากันและเลื่อนออกจากกันของแอกตินและไมโอซินของไมโครฟิลาเมนต์ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของสัตว์ต่อไปนี้ ยกเว้น
          1. อะมีบา
          2. พารามีเซียม
          3. พลานาเรีย
          4. ไส้เดือนดิน
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเลื่อนเข้าเลื่อนออกของ Actin และ Myosin ของ Microfilament ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของ Ameba ที่ใช้ Pseudopodium ของ Planaria ที่ใช้กล้ามเนื้อเช่นเดยวกับไส้เดือนดิน ยกเว้น Paramecium เคลื่อนที่โดยการโบกพัดของ Cilia
*********************************************
15. การเคลื่อนไหวของพืชในข้อใดจัดเป็นการเคลื่อนไหวแบบนาสติก
          1. การหุบและบานของดอกไม้
          2. การเลื้อยของไม้เลื้อย
          3. การจับแมลงของต้นกาบหอยแครง
          4. การงอกของหลอดละอองเรณูไปยังรังไข่ของพืชดอก
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การเคลื่อนไหวแบบนาสติก ได้แก่ การหุบ-บานของดอกไม้
*********************************************
16. การงอกของหลอดละอองเรณูไปยังรังไข่ของพืชดอกเกิดจากสิ่งเร้าในข้อใด
          1. ความชื้น
          2. สารเคมี
          3. แรงโน้มถ่วงของโลก
          4. ปัจจัยบางอย่างในละอองเรณูเอง
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การงอกของหลอดละอองเรณูไปยังรังไข่ของพืชดอก เกิดจากสารเคมีเป็นสิ่งเร้า
*********************************************
17. ต้นไมยราบหุบเมื่อโดนสัมผัสเป็นการเคลื่อนไหวของพืชแบบ
          1. Geotropism
          2. Hydrotropism
          3. Chemotropism
          4. Thigmotropism
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การที่ต้นไมยราบหุบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแรงดันเต่งที่กลุ่มเซลล์บริเวณ Pulvinus จึงเกี่ยวข้องกับ Thigmotropism คือมีการสัมผัสเป็นสิ่งเร้า
*********************************************
18. ต้นจามจุรีหุบใบเมื่อตะวันลับขอบฟ้า เป็นการเคลื่อนไหวของพืชแบบใด
          1. Phototaxis
          2. Phototropism
          3. Thigmotropism
          4. Nastic movement
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การหุบ-บานของดอกและใบ ไม่เกี่ยวข้องกับทิศทางสิ่งแวดล้อมจัดเป็น Nastic movement
*********************************************
19. เมื่อนำเมล็ดข้าวโพดแช่น้ำ 1 คืน มาเพาะในจานเพาะเชื้อ ดังรูป
ผลการทดลองที่ถูกต้อง คือ
          1. รากจะงอกออกมาจากส่วนเรดิเคิล และพุ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับลำต้นทั้ง 4 เมล็ด
          2. รากของทุกเมล็ดจะพุ่งลงข้างล่าง และลำต้นที่เกิดจะพุ่งขึ้นไปข้างบน
          3. รากและลำต้นของทุกเมล็ดเจริญเข้าสู่แรงโน้มถ่วงของโลก
          4. รากและลำต้นของทุกเมล็ดเจริญไปสู่แหล่งที่ให้แสง
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเจริญของรากจะเข้าหาแรงโน้มถ่วงโลก (Positive geotropism)
          ส่วนลำต้นเจริญหนีแรงโน้มถ่วง (Negative geotropism)
*********************************************
20. ข้อใดเป็นการเคลื่อนไหวแบบนาสติกของพืช
          1. การโค้งตามแสงของดอกทานตะวัน
          2. การทิ้งใบของพืชบางชนิด
          3. การงอกของละอองเกสรไปยังรังไข่
          4. การนอนของใบจามจุรี
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การนอนของใบจามจุรีถือเป็น Nastic movement เพราะเป็นการหุบ-บานของใบ
*********************************************
21. การเคลื่อนไหวแบบนาสติก (Nastic movement) เกิดจากการตอบสนองของพืชต่อ
          1. แสงหรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนไป
          2. แรงโน้มถ่วงของโลก
          3. ความชื้นหรือสารเคมีบางอย่าง
          4. การสัมผัส
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การเคลื่อนไหวแบบนาสติก เช่น การหุบ-บานของดอกและใบ ขึ้นกับแสงหรืออุณหภูมิสิ่งแวดล้อม
*********************************************
22.ถ้านำพืชมาปลูกในน้ำดังรูป แล้วให้แสงสว่างแก่ต้นและรากเพียงด้านเดียว พืชจะตอบสนองเช่นใด
          1. ยอดโน้มเข้าหาแสง รากโน้มออกจากแสง
          2. ยอดโน้มเข้าหาแสง รากไม่มีการเปลี่ยนแปลง
          3. ยอดและรากโน้มเข้าหาแสง
          4. ยอดและรากโน้มออกจากแสง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          Auxin จะเคลื่อนที่หนีแสง แต่ลำต้นบริเวณที่มี Auxin เซลล์จะแบ่งตัวเร็ว ส่วนราก Auxin ห้ามหรือยับยั้งการแบ่งเซลล์ ดังนั้น ลำต้นจะเอนเข้าหาแสง ส่วนรากจะเอนหนีแสง

*********************************************
23. การเคลื่อนไหวแบบนาสติก ได้แก่ การเคลื่อนไหวในข้อใด
          1. การเคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงโน้มถ่วงของโลก
          2. การหมุนเวียนของใบพืชไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา
          3. การพันของลำต้นเกาะติดกับเสาค้ำยัน
          4. การหุบและกางของใบผักกระเฉด
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การเคลื่อนไหวแบบนาสติก คือ การหุบบานของดอกและใบ ซึ่งขึ้นกับอุณหภูมิ
*********************************************
24. การตอบสนองของพืชต่อการสัมผัสเรียกว่า
          1. Chemotropism
          2. Geotropism
          3. Thigmotropism
          4. Hydrotropism
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          Thigmotropism เป็นการเคลื่อนไหวโดยมีการสัมผัสเป็นสิ่งเร้า เช่น ในการที่ต้นตำลึงหรือเถาวัลย์ใช้ลำต้นพันหลัก

*********************************************
25. การเจริญเติบโตของยอดไม้ที่มีทิศทางเข้าหาแสงเป็นผลมาจาก
          1. ความเข้มข้นของ Auxin ซึ่งมีอยู่มากกว่าทางด้านที่ไม่โดนแสงของใบ
          2. ความเข้มข้นของ Auxin ซึ่งมีอยู่มากกว่าทางด้านที่โดนแสงของใบ
          3. ความเข้มข้นของ Auxin ซึ่งมีอยู่เท่ากันทุกด้านของใบ
          4. ผลจากการสังเคราะห์แสงภายในใบ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          บริเวณยอดมีออกซินถูกสร้างขึ้นมาก แต่ออกซินนี้เคลื่อนที่หนีแสงไปอยู่ทางด้านตรงข้ามกับส่วนที่ถูกแสงส่อง ทำให้ด้านนี้แบ่งเซลล์ได้เร็วกว่า จึงมีการเอนเข้าหาแสง
*********************************************
26. การเคลื่อนไหวของยอดตำลึงมีสาเหตุจากสิ่งเร้าชนิดใด
          1. แรงดึงดูดของโลก
          2. ปริมาณน้ำภายในดิน
          3. สิ่งเร้าภายใน
          4. อุณหภูมิในอากาศ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ยอดตำลึงจะขึ้นสู่ทิศทางตรงข้ามกับแรงดึงดูดโลกเนื่องจากออกซิน นอกจากนั้นยังขึ้นกับอิทธิพลของสิ่งที่อยู่ใกล้ทำให้เกิดการพันหลัก ดังนั้น จากคำตอบที่ให้เลือกมีเพียงข้อเดียวควรเลือกข้อ 3

*********************************************
27. พืชที่สามารถเคลื่อนไหวแบบ Contact movement ได้จะต้องมี
          1. การสังเคราะห์แสงที่ก้านใบ
          2. Osmotic pressure สูงที่ก้านใบ
          3. Pulvinus ที่ก้านใบ
          4. Turgor pressure สูงที่ก้านใบ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          Contact movement หรือการเคลื่อนที่โดยการสัมผัส เช่น ไมยราบ จะมี Pulvinus ซึ่งมีน้ำอยู่ภายใน เมื่อถูกกระทบกระเทือนน้ำภายใน Pulvinus เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ใบหุบ

*********************************************
28. การเคลื่อนไหวของยอดเถาวัลย์มีสาเหตุมาจากสิ่งเร้าชนิดใด
          1. แรงดึงดูดของโลก
          2. สิ่งเร้าภายใน
          3. อุณหภูมิ
          4. น้ำ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          ยอดเถาวัลย์จะขึ้นสู่ทิศทางตรงข้ามกับแรงดึงดูดโลกเนื่องจากออกซิน นอกจากนั้นยังขึ้นกับอิทธิพลของสิ่งที่อยู่ใกล้ทำให้เกิดการพันหลัก
*********************************************
29. จากคำกลอนที่ว่า "สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง    ยามสาย" นักเรียนอธิบายด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร
          1. เกิดจากการทำงานของยีนของพืชชนิดนั้น
          2. เป็นการเคลื่อนไหวแบบ Autonomic movement
          3. เป็นการเคลื่อนไหวแบบ Stimulus movement
          4. เป็นการเคลื่อนไหวแบบ Turgor movement
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ดอกสายหยุดจะส่งกลิ่นเรื่อยไปตอนกลางคืน แต่เมื่อมีแดดจัดหรือความเข้มของแสงเพิ่ม กลิ่นจะหมดไป แสดงว่าแสงสว่างเป็นตัวกระตุ้น

*********************************************
30. จากรูป จงเปรียบเทียบอัตราการแบ่งเซลล์ (X) และปริมาณออกซิน (Y) ในตำแหน่ง a, b, c และ d
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          จากภาพของต้นถั่ววางขนานกับพื้นและมีแสงส่องลงมาจากด้านบน ออกซินจึงลงไปสู่ด้านล่างโดยตลอด แต่ออกซินจะกระตุ้นบริเวณยอดให้แบ่งเซลล์อย่างรวดเร็ว ส่วนรากจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ ออกซินจะห้ามการเจริญเติบโต
          ดังนั้น ถ้า X เป็นอัตราการแบ่งเซลล์
                  และ Y เป็นปริมาณออกซิน
*********************************************
31. จากการศึกษาผลของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อพืชโดยการควบคุมปริมาณแสง ส่วนใดของพืชที่เราสังเกตได้ว่ายืดตัวได้เร็วมาก
          1. 1
          2. 2
          3. 3
          4. 4
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          บริเวณหมายเลข 2 ของภาพเป็นบริเวณที่มีออกซินมาก เนื่องจากแรงดึงดูดของโลกทำให้เซลล์บริเวณนั้นแบ่งตัวเร็วมาก ยอดจึงเจริญสูงขึ้นไป

*********************************************
32. Nastic movement กับ tropism มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ
          1. สิ่งเร้า
          2. ทิศทางของการตอบสนอง
          3. สิ่งมีชีวิตที่แสดงการเคลื่อนไหวต่างกัน
          4. ข้อ 1, 2 และข้อ 3 ถูก
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเคลื่อนที่ชนิด Nastic movement กับ Tropism ต่างกันที่
          Nastic movement เป็นการตอบสนองสิ่งเร้าในปริมาณไม่เท่ากัน เช่น การหุบ-บานของใบและดอกเกิดจากการขยายตัวของเนื้อเยื่อปริมาณต่างกันของเนื้อเยื่อด้านนอกและด้านใน
          แต่ Tropism เป็นการตอบสนองโดยการเคลื่อนที่หนีแสงหรือเข้าหาสิ่งเร้านั้นโดยตรง
*********************************************
33. ปัจจัยที่มีผลต่อการปิด-เปิดของปากใบ คือ
          1. ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
          2. ปริมาณฮอร์โมน
          3. ปริมาณแสง
          4. ข้อ 1, 2 และข้อ 3 ถูก
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          การปิด-เปิดของปากใบขึ้นกับเซลล์คุม (Guard cell) ซึ่งมีคลอโรพลาสต์อยู่ภายใน ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง เมื่อเกิดสังเคราะห์ด้วยแสงทำให้ความเข้มข้นของ Protoplasm ในเซลล์เพิ่มขึ้นจึงเกิดออสโมซิสน้ำเข้าเซลล์ เซลล์จึงเต่ง ทำให้ปากใบเปิด

*********************************************
34. ชื่อของ Hormone ที่พืชใช้ในการเจริญเติบโตของเซลล์ และตอบสนองสิ่งเร้า
          1. Pheromone
          2. Auxin
          3. Adrenalin
          4. Pepsin
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          Auxin (Indole Compound) เป็นหนึ่งในฮอร์โมนพืช 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ Gibberellin (Gibberellic acid), Kinin (Cytokinin) และ Abscisin (Abscisic acid) โดย Auxin ทำหน้าที่เกี่ยวกับการยืดตัวขยายตัวของเซลล์เพื่อการเจริญเติบโต
*********************************************
35. Hormone พืชซึ่งทำหน้าที่ขยายขนาดลำต้น และเร่งให้ออกดอก คือ
          1. Kinin
          2. Auxin
          3. Adrenalin
          4. Gibberellin
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          Gibberellin เป็นฮอร์โมนพืชชนิดหนึ่งที่ขยายขนาดของลำต้น โดยยืดยาวขึ้นแล้วยังใช้กระตุ้นพืชพวกที่ต้องการเวลากลางวันยาวนาน เช่น ผักกาดหอม และกระหล่ำปลี ให้มีดอกเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งปกติใช้เวลาปลูกถึง 2 ปี จึงจะออกดอก แต่ถ้าฉีดฮอร์โมนนี้จะทำให้มีลักษณะคล้ายหน้าหนาว จะเริ่มออกดอก

*********************************************
36. Hormone พืชที่ช่วยในการแบ่งเซลล์ให้รวดเร็ว คือ
          1. Indole acetic acid
          2. Auxin
          3. Kinin
          4. Thiamine
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          Auxin หมายถึง สารอินทรีย์ซึ่งเป็นฮอร์โมนพืชทำให้พืชมีการขยายตัวของเซลล์ เพื่อการเจริญเติบโตหรืออาจเรียกว่า Growth hormone กลุ่ม Auxin มีฮอร์โมนหลายชนิด เช่น IAA (Indole acetic acid), NAA (Naphthalene acetic acid) เป็นต้น
*********************************************
37. Auxin สร้างจากส่วนใดของพืช
          1. Sieve tube
          2. Companion cell
          3. Vessel
          4. Apical meristem
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          โดยปกติ Auxin นั้นสร้างจากเนื้อเยื่อเจริญส่วนปลายยอด ปลายราก (Apical meristem)

*********************************************
38. ชื่อทางเคมีของ Auxin คือ
          1. Indole acetic acid
          2. Antidiuretic acid
          3. Lactogenic acid
          4. Kinin
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          สารเคมีตัวหนึ่งในกลุ่ม Auxin คือ Indole acetic acid
*********************************************
39. ชื่อที่ไม่เป็นสิ่งเร้าในการเคลื่อนที่ของพืช
          1. อุณหภูมิ
          2. Gravity
          3. Light
          4. Oxygen
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ออกซิเจนไม่ใช่สิ่งเร้าที่พืชจะตอบสนอง เนื่องจากพืชสามารถสังเคราะห์ออกซิเจนได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง ดังนั้น หากจะตอบสนองเกี่ยวกับออกซิเจนแล้วพืชจะตอบสนองโดยเคลื่อนที่เข้าหาแสงมากกว่า

*********************************************
40. การเคลื่อนไหว Nutation คือ การเคลื่อนไหวส่วนปลายยอดบิดเกลียวในขณะเจริญเติบโต เนื่องจาก
          1. แรงดึงดูดของโลกเป็นสิ่งเร้า
          2. อุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า
          3. สิ่งเร้าอยู่ภายในพืชเอง
          4. แสงสว่างเป็นสิ่งเร้า
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          Nutation หรือ Nutational movement เป็นการเคลื่อนที่แบบที่มีปลายยอดเอนหรือแกว่งไปมาเมื่อพืชเจริญเติบโตขึ้นทีละน้อย หมุนเวียนไปรอบ ๆ เช่นในยอดถั่ว

*********************************************
41. Tropism หรือ Tropic movement เป็นการเคลื่อนไหวของพืชที่
          1. เกิดจากการเจริญเติบโต และมีความสัมพันธ์กับสิ่งเร้า
          2. ตอบสนองสิ่งเร้าภายในพืชเอง
          3. ตอบสนองสิ่งเร้าภายนอกต้น
          4. ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          Tropism หรือ Tropic movement เป็นการเคลื่อนที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก ซึ่งมีทิศทางสัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า แบ่งออกเป็น
          Phototropism       แสงเป็นสิ่งเร้า
          Thermotropism   อุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า
          Hydrotropism     ความชื้นเป็นสิ่งเร้า
          Geotropism        แรงดึงดูดของโลกเป็นสิ่งเร้า
          Chemotropism   สารเคมีเป็นสิ่งเร้า
          Thigmotropism  ความสัมผัสเป็นสิ่งเร้า

*********************************************
42. ปลายรากของพืชด้านได้รับแสงสว่างจะเจริญเติบโต
          1. มากกว่าด้านที่มืด
          2. น้อยกว่าด้านที่มืด
          3. เท่ากันทั้งมืดและสว่าง
          4. ไม่จำเป็นด้านไหนจะเจริญเร็วกว่าขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ปลายรากที่ได้รับแสงสว่างจะเจริญเร็วกว่าด้านที่ไม่ได้รับแสงสว่าง เนื่องจากออกซินหนีแสงไปอยู่ด้านตรงข้าม แต่ออกซินในรากเป็นตัวห้ามการเจริญเติบโต
*********************************************
43. Thigmotropism เป็นการเคลื่อนไหวที่
          1. อุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า
          2. แสงเป็นสิ่งเร้า
          3. สิ่งสัมผัสเป็นสิ่งเร้า
          4. สารเคมีเป็นสิ่งเร้า
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          Thigmotropism หมายถึง การที่พืชตอบสนองต่อสิ่งสัมผัส เช่น ตำลึง หรือเถาวัลย์ จะพันหรือไต่ไปตามสิ่งที่มันสัมผัส

*********************************************
44. การเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองสิ่งเร้าซึ่งเกิดในต้นพืชเองนั้นเรียกว่า
          1. Autonomic movement
          2. Nastic movement
          3. Taxis movement
          4. Tropic movement
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งเกิดในต้นพืชเองเรียกว่า Autonomic movement เช่น การพันหลัก(Nutation) Cyclosis, การกระพือหรือเคลื่อนที่ของซิเลียหรือแฟลกเจลลา
*********************************************
45. ข้อใดเป็นการเคลื่อนที่แบบ Nastic movement
          1. การแตกของฝิ่น
          2. การหุบของไมยราบ
          3. การหุบบานของดอกโดยมีแสงเป็นสิ่งเร้า
          4. การเคลื่อนไหวของ Protist
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          Nastic movement เป็นการเคลื่อนที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าไม่เท่ากันของเนื้อเยื่อ เช่น การหุบบานของดอกและใบ โดยมีแสงเป็นสิ่งเร้า

*********************************************
46. การที่พืชเคลื่อนที่เข้าหาสิ่งเร้าเรียกว่า
          1. Negative tropism
          2. Positive tropism
          3. Geotropism
          4. Chemotropism
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การเคลื่อนที่เข้าหาสิ่งเร้าถือว่าเป็น Positive tropism
*********************************************
47. Thermonastic movement ได้แก่
          1. การที่พืชเคลื่อนที่เข้าหาแสง
          2. การหุบบานของดอกบัว ดอกบานเย็น ดอกบานเช้า
          3. การหุบบานของดอกมณฑา ดอกราตรี ดอกสายหยุด
          4. การหุบของใบถั่วเวลาเย็น
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การหุบ-บานของดอกบัว ดอกบานเย็น และดอกบานเช้า ขึ้นกับอุณหภูมิ

*********************************************
48. การที่ใบของพืชตระกูลถั่วหุบตอนเย็นใกล้พระอาทิตย์ตกเป็นเพราะ
          1. การขยายตัวของเซลล์ด้านนอกด้านในไม่เท่ากัน
          2. การเปลี่ยนแปลงของแสงและเปลี่ยนแปลงความเต่ง
          3. การเปลี่ยนอุณหภูมิและการเปลี่ยนแปลงความเต่ง
          4. การขยายตัวของเซลล์ และการเปลี่ยนแปลงความเต่ง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          พืชตระกูลถั่วเมื่อมีแสงสว่างลดลงทำให้เซลล์ของใบทางด้านนอกเจริญมากกว่าหรือเรียกว่า Hyponasty ใบจึงหุบ
*********************************************
49. การบานของดอกเกิดเนื่องจาก
          1. กลุ่มเซลล์ด้านในของกลีบดอกขยายตัว แต่ด้านนอกไม่ขยายตัว
          2. กลุ่มเซลล์ด้านในของกลีบดอกขยายตัวน้อยกว่าด้านนอก
          3. กลุ่มเซลล์ด้านในของกลีบดอกขยายตัวมากกว่าด้านนอก
          4. กลุ่มเซลล์ด้านในของกลีบดอกไม่ขยายตัว แต่ด้านนอกขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การบานของดอกเกิดจาก Epinasty คือ ส่วนของกลุ่มเซลล์ด้านในกลีบดอกขยายตัวมากกว่ากลุ่มเซลล์ที่อยู่ด้านนอก ดังรูป

*********************************************
50. กลุ่มเซลล์ตรงโคนก้านใบของไมยราบ มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้น มีชื่อว่า
          1. Epidermis cell
          2. Endodermis cell
          3. Guard cell
          4. Pulvinus
เฉลยข้อ 4. เหตุผล
          Pulvinus เป็นกลุ่มเซลล์ที่อยู่บริเวณโคนก้านใบของไมยราบ เซลล์กลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ ผนังบางเมื่อถูกความร้อน หรือกระทบกระทั่งจะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากเซลล์ให้แก่ช่องว่างระหว่างเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียงทำให้ใบหุบทันที เมื่อทิ้งไว้สักระยะน้ำจะค่อย ๆ ซึมกลับสู่  Pulvinus อีกครั้งใบจะบานอีก ดังรูป
รูป A : แสดงเซลล์ Pulvinus ในใบไมยราบ (Mimosa)
      B : ใบไมยราบตอนบาน
      C : ใบไมยราบตอนหุบ อาจเป็นเพราะโดนกระทบหรือเป็นเวลากลางคืนก็ได้

*********************************************
51. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของพืชตามทิศทางของสิ่งเร้า
      ก. การหุบและกางของใบจามจุรีตอนเย็นและเช้า
      ข. การหุบและกางของใบไมยราบเมื่อถูกสัมผัส
      ค. การเลื้อยพันรอบหลักหรือที่ยึดเกาะของลำต้นพืชบางชนิด
      ง. การตั้งขึ้นของใบคล้าตอนเย็นและแผ่ออกตอนเช้า
          1. ก, ข, ค
          2. ข, ค, ง
          3. ก, ข, ง
          4. ก, ค, ง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          เฉพาะข้อ ค. การเลื้อยพันรอบหลักหรือที่ยึดเกาะของลำต้นพืชบางชนิด เป็นการเคลื่อนที่ ๆ มีทิศทาง คือ หลักที่พัน หรือเรียกว่า Thigmotropism แต่ทั้งข้อ ก. ข. และ ง. เป็นการตอบสนองของพืชที่ไม่สัมพันธ์กับสิ่งเร้า หรือเรียกว่า Nastic movement

*********************************************
52. การทดลองดังภาพเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ปรากฏว่าปลายยอดโค้งขึ้น ส่วนปลายรากโค้งลงทิศทางการเคลื่อนย้ายของออกซินที่ปลายยอดและปลายรากเป็นอย่างไร
          1. จาก v ไป w และ จาก x ไป y
          2. จาก v ไป w และ จาก y ไป x
          3. จาก w ไป v และ จาก y ไป x
          4. จาก w ไป v และ จาก x ไป y
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ปกติออกซินจะเคลื่อนที่ลงไปตามแรงโน้มถ่วงโลก ดังนั้นออกซินจาก V จึงเคลื่อนที่ไปยัง W และออกซินจาก X จึงเคลื่อนที่ไปยัง Y

*********************************************
53. ในการปลูกสับปะรดเพื่ออุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง มีการใช้ฮอร์โมนพืชชนิดใดมากและให้ผลดีอย่างไร
                ฮอร์โมนพืช                      ผลดี
          1. กรดแอบไซซิก           ยับยั้งไม่ให้ต้นสูงเกินไป
          2. จิบเบอเรลลิน             ยืดก้านผลให้ยาวขึ้น
          3. ออกซิน                       เร่งการเจริญเติบโตของราก
          4. เอทิลีน                       ให้ออกดอกพร้อมกัน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          เอทิลีนเป็นแก๊สที่ใช้กระตุ้นการออกดอกของพืชพวกสับปะรด ทำให้ลูกสับปะรดที่อายุเท่า ๆ กันมีขนาดใกล้เคียงกัน เหมาะที่จะนำไปใส่กระป๋องที่มีขนาดเท่ากัน
          ออกซิน ใช้ควบคุมให้สับปะรดออกดอกเร็วขึ้น
          กรดแอบไซซิก ยับยั้งการเจริญและการยืดตัวของเซลล์บริเวณตา
          จิบเบอเรลลิน ยืดก้านผลไม้ให้ยาวขึ้น
*********************************************
54. ข้อใดน่าจะเป็นผลพลอยได้เชิงชีววิทยาในการตัดหวีกล้วยของชาวสวน แล้วโยนท้องร่องตอนน้ำขึ้นเพื่อสะดวกในการขนส่ง
          1. น้ำซึมผ่านไขเคลือบผิวทำให้ผิวเต่ง
          2. น้ำช่วยลดอุณหภูมิของผลกล้วยและยืดอายุหลังเก็บเกี่ยว
          3. แรงกระแทกกระตุ้นให้กล้วยสุกเร็วขึ้น
          4. น้ำช่วยทำให้กล้วยสะอาดขึ้นจึงลดปัจจัยเร่งการสุก
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          การตัดหวีกล้วยของชาวสวน แล้วโยนท้องร่องตอนน้ำขึ้น เพื่อสะดวกในการขนส่งแล้วยังช่วยลดอัตราการหายใจ เพราะน้ำเป็นตัวช่วยลดอุณหภูมิกล้วยที่ถูกตัด
*********************************************
55. ข้อใดจับคู่ได้ถูกต้อง
          ฮอร์โมน                                ผลของฮอร์โมน
      A ออกซิน                      ก. ยับยั้งการเจริญเติบโตของตาด้านข้าง
      B จิบเบอเรลลิน             ข. เร่งการออกดอกในสับปะรด
      C ไซโทไคนิน                ค. ทำให้ช่อองุ่นขนาดใหญ่ขึ้น
      D กรดแอบไซซิก           ง. เร่งการเสื่อมชรา
                                             จ. เร่งการเกิดหน่อในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
                                             ฉ. ทำให้ปากใบปิด
                                             ช. การพักตัวของพืช
          1. A กับ ก และ ช
          2. B กับ ข และ ค
          3. C กับ ค, ง และ จ
          4. D กับ ง, ฉ และ ช
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          ผลของฮอร์โมน A ออกซิน คือ ยับยั้งการเจริญเติบโตของตาด้านข้าง (ก) เร่งการออกดอกของตาสับปะรด (ข)
          ผลของฮอร์โมน B จิบเบอเรลลิน คือ ทำให้ช่อองุ่นขนาดใหญ่ขึ้น (ค)
          ผลของฮอร์โมน C ไซโคทินิน คือ ใช้เร่งให้เกิดหน่อในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (จ)
          ผลของฮอร์โมน D กรดแอบไซซิก คือ เร่งการเสื่อมชรา (ง) ทำให้ปากใบเปิด (ฉ) และการพักตัวของพืช (ช)
*********************************************
56. ต้นข้าวเมื่อถูกน้ำท่วมจะพยายามชูลำต้นไว้เหนือน้ำ ความสูงของลำต้นที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการแบ่งเซลล์ของเนื้อเยื่อชนิดใด
      ก. เนื้อเยื่อเจริญที่ปลายยอด (Apical meristem)
      ข. เนื้อเยื่อเจริญระหว่างข้อ (Intercalary meristem)
      ค. เนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (Lateral meristem)
      ง. โพรเมอริสเต็ม (Promeristem)
          1. ก, ข
          2. ข, ค
          3. ค, ง
          4. ก, ง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ต้นข้าวเมื่อถูกน้ำท่วมจะพยายามชูลำต้นไว้เหนือน้ำ ความสูงของลำต้นที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการแบ่งเซลล์ของเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่ปลายยอด (apical meristem) และเนื้อเยื่อเจริญระหว่างข้อ (intercalary meristem) เพราะต้นข้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จึงไม่มีเนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (lateral meristem)
*********************************************
57. การหุบหรือการบานของดอกบัว เป็นการตอบสนองแบบใด
          1. Gravitropism (geotropism)
          2. Hydrotropism
          3. Thigmotropism
          4. Photonasty
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          การหุบการบานของดอกบัวเป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบวัน เป็นการเคลื่อนไหวหรือตอบสนองโดยไม่ขึ้นกับทิศทางของสิ่งเร้า แต่ขึ้นกับปริมาณแสงมากน้อย เรียกว่า โฟโตนาสตี้ (Photonasty)
*********************************************
58. เอนไซม์ใดพบในเมล็ดขนุนที่กำลังงอก
          1. อะไมเลส (Amylase)
          2. โพรทีเอส (Protease)
          3. เพปทิเดส (Peptidase)
          4. ไลเพส (Lipase)
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ขณะเมล็ดขนุนกำลังงอกต้องใช้พลังงาน ซึ่งได้จากการย่อยแป้งที่สะสมในเมล็ดทำให้ได้น้ำตาลกลูโคสเพื่อนำไปใช้สลายเพื่อให้ได้พลังงาน ดังนั้นการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลใช้เอนไซม์อะไมเลส
*********************************************
59. แช่รากต้นอ้อยในสารละลายที่มีผลหยุดยั้งการแบ่งเซลล์นาน 1 ชม. เมื่อนำไปตรวจ กลุ่มเซลล์ใดมีความแตกต่างจากชุดควบคุมมากที่สุด
          1. เอพิเดอร์มิส (Epidermis)
          2. คอร์เทกซ์ (Cortex)
          3. เพอริไซเคิล (Pericycle)
          4. แคมเบียม (Cambium)
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
          เมื่อนำรากต้นอ้อยไปแช่สารละลายที่มีผลหยุดยั้งการแบ่งเซลล์นาน 1 ชั่วโมง เมื่อนำไปตรวจกลุ่มเซลล์ กลุ่มเซลล์ที่มีความแตกต่างจากชุดควบคุมมากที่สุดคือ แคมเบียม (Cambium) เนื่องจากเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อเจริญที่มีการแบ่งตัว เมื่อโดนแช่ในสารหยุดยั้งการเจริญเติบโต 1 ชั่วโมง ทำให้เซลล์ไม่แบ่งตัว แต่ในชุดควบคุมแคมเบียมยังแบ่งตัวต่อไปได้
          คอร์เทกซ์กับเอพิเดอร์มิส เป็นเนื้อเยื่อถาวรโดยปกติไม่แบ่งเซลล์ต่อ จึงไม่มีผลจากสารยับยั้ง
*********************************************
60. การเปลี่ยนแปลงของพืชในข้อใดเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของจิบเบอเรลลิน
      ก. การงอกของเมล็ด
      ข. การเกิดผลิใบ
      ค. การเกิดดอก
      ง. การชลอการสุกของผลไม้
          1. ก และ ข
          2. ก และ ค
          3. ข และ ค
          4. ค และ ง
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
          จิบเบอเรลลินหรือกรดจิบเบอเรลลิก ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์ตรงข้อ ทำให้ต้นไม้สูง กระตุ้นการงอกของเมล็ดและตา เพิ่มการติดผล เพิ่มการเกิดดอกสำหรับพืชวันยาว กระตุ้นการเปลี่ยนดอกตัวผู้ให้เป็นดอกตัวเมียในพืชตระกูลแตง
*********************************************
61. การเคลื่อนไหวในข้อใดเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงแรงเต่ง
      ก. การปิด-เปิดของปากใบ
      ข. การหุบและบานของดอกบัว
      ค. การคลี่บานของดอกชบา
      ง. การเจริญพันหลักของต้นไม้เลื้อย
          1. ก  ข
          2. ก  ข  ค
          3. ก  ค  ง
          4. ก  ข  ค  ง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          การเคลื่อนไหวเนื่องจากแรงดันเต่ง ได้แก่ การหุบบานของไมยราบ ใบจามจุรี ใบกาบหอยแครง ใบสาหร่ายข้าวเหนียว การปิด-เปิดของปากใบ การหุบบานของดอกบัว
          ส่วนการคลี่บานของดอกชบา แสงเป็นตัวกระตุ้น (Photonasty) แต่ตอบสนองไม่เป็นทิศทาง
          การพันหลักของไม้เลื้อย เป็นการเคลื่อนที่แบบได้รับสัมผัส
*********************************************
62. ข้อใดเป็นการเคลื่อนไหวที่ตอบสนองต่อการสัมผัสอย่างถาวร
          1. การงอกของหลอดละอองเรณูไปยังรังไข่ภายในดอกของพืชดอก
          2. การหุบของใบต้นไมยราบเมื่อมีวัตถุไปสัมผัส
          3. การเจริญของต้นพลูพันหลักที่เกาะขึ้นไปรับแสงสว่างด้านบน
          4. การบานของดอกบัวในเวลากลางวันและหุบในเวลาเย็นใกล้ค่ำ
เฉลยข้อ 3. เหตุผล
          การงอกของหลอดเรณู เข้าไปสู่รังไข่ สารเคมีเป็นสิ่งเร้า (Chemotropism)
          การหุบบานของต้นไมยราพ เกิดเมื่อโดนสัมผัส (Thigmonasty) เกิดชั่วคราว
          การเจริญของต้นพลูพันหลัก สิ่งสัมผัสเป็นสิ่งเร้า (Thigmotropism) เกิดอย่างถาวร
          การบานของดอกบัวในเวลากลางวันและหุบในเวลาเย็น เป็นการตอบสนองต่อแสง (Photonasty) เป็นการเกิดชั่วคราว
*********************************************
63. การแตกกิ่งก้านของต้นกล้าถั่วลันเตา หลังจากถูกตัดยอดทิ้ง เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนชนิดใด
      ก. ไซโทไคนิน
      ข. จิบเบอเรลลิน
      ค. ออกซิน
          1. ก
          2. ก  ข
          3. ก  ค
          4. ข  ค
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ไซโทไคนิน ทำให้เกิดการแตกกิ่งก้านจากตาข้าง ปกติจะถูกยับยั้งโดยออกซินที่เกิดจากยอดเมื่อตัดยอดทิ้ง ออกซินซึ่งเป็นตัวยับยั้งการแตกกิ่งจากด้านข้างจึงไม่มีผลต่อการแตกกิ่ง

*********************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น