วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แป้งแดง

แป้งแดง
..........แป้งแดง......เป็นอาหารพื้นเมืองประเภทอาหารคาว มีเครื่องจิ้ม แป้งแดงมี 2 ชนิด คือ แป้งแดงปลา (ทำด้วยเนื้อปลา) และแป้งแดงหมู (ทำด้วยเนื้อหมู) การหมักต้องอาศัยข้าวคั่วช่วย และเมื่อปรุงเสร็จแล้วจะมีลักษณะข้นและมีสีแดงอมชมพู จึงเรียกว่า "แป้งแดง"

.........วิธีหมัก......เตรียมเนื้อหมูสดหรือปลาสด ถ้าเป็นปลาตัวเล็ก ๆ ก็ใช้ทั้งตัว ถ้าเป็นปลาตัวใหญ่หรือเนื้อหมู ควรหั่นเป็นชิ้นขนาดประมาณ 1.5 x 2 นิ้ว แล้วล้างให้สะอาดใส่ตะแกรงพักให้สะเด็ดน้ำ ใช้เนื้อที่เตรียมไว้คลุกเกลือให้ทั่ว ใส่ภาชนะประเภทที่ไม่มีสารละลายเจือปน (เช่น อ่างดินเผา หม้อเคลือบ ขวดโหล) หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงล้างเกลือออกให้หมด นำข้าวคั่ว (ใช้ข้าวเหนียวคั่วพอเหลืองหอม) ป่นพอหยาบ ๆ และใช้น้ำตาลปีบ (ไม่ใช่น้ำตาลทราย) คลุกเข้าด้วยกัน เติมดินประสิวที่ป่นละเอียดเล็กน้อย และใส่สีพองาม (ควรจะเป็นสีอ่อน) คลุกให้เข้ากันดีอีกครั้ง แล้วใช้ภาชนะเดิมใส่ปิดฝาให้มิดชิด หมักทิ้งไว้ประมาณ 4 - 6 วัน ก็จะได้แป้งแดงดิบเพื่อนำไปปรุงเป็นอาหารต่อไป

..........วิธีปรุง......เมื่อได้แป้งแดงดิบที่หมักเรียบร้อยแล้ว อาจนำมาปรุงให้สุกได้ 2 วิธี คือ ปรุงแบบหลนและปรุงแบบนึ่ง

..........วิธีปรุงแบบหลน......แบ่งแป้งแดงดิบตามจำนวนที่ต้องการใส่ภาชนะ ปรุงรสด้วยตะไคร้หั่นฝอย หอมซอย พริกขี้หนูเด็ดเป็นท่อน ๆ หัวกะทิ ต่อยไข่ใส่คนพอแตก ตั้งไฟขนาดปานกลาง สังเกตพอไข่สุกปลาสุก ชิมและปรุงรสตามชอบ แล้วใช้รับประทานได้

..........วิธีปรุงแบบนึ่ง......ปรุงรสและทำอย่างเดียวกับแบบหลน แล้วนำไปนึ่งในลังถึง ให้น้ำเดือดจัดประมาณ 15 นาที ก็ใช้รับประทานได้

..........การรับประทานแป้งแดง......นิยมรับประทานคู่กับผักจิ้ม ซึ่งใช้ผักสดได้ทุกชนิด ได้แก่ประเภท ผล หัว แง่ง และใบ เช่น กะหล่ำปลี ขมิ้นขาว มะเขือเปราะ แตงกวา สะตอ ยอดและฝักกระถินอ่อน ฯลฯ
(ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ หน้า 2125 - 2126 โดย คุณอุบล จิตต์ธรรม การศึกษาบัณฑิต (คหกรรมศาสตร์) วิทยาลัยครูสงขลา )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น