วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)

ริดสีดวงทวาร เป็นเส้นเลือดดำขอดที่เกิดขึ้นในบริเวณทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นพร้อมกันหลายที่
ถ้าเกิดจากเล้นเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังตรงปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงภายนอก (External hemorrhoid) ซึ่งอาจมองเห็นจากภายนอกได้
ถ้าเกิดจากเส้นเลือดที่อยู่ลึกเข้าไปเรียกว่า ริดสีดวงภายใน (Internal hemorrhoid) ซึ่งจะตรวจพบ เมื่อใช้เครื่องมือส่องทวารหนัก

สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด มักพบในคนที่มีภาวะกดดันต่อเส้นเลือดดำในบริเวณนี้นาน ๆ
เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง (ต้องเบ่งถ่ายนาน ๆ ), ไอเรื้อรัง, การตั้งครรภ์, น้ำหนักมาก (อ้วน), ตับแข็ง, มีก้อนเนื้องอกในท้อง, ต่อมลูกหมากโต, มะเร็งของลำไส้ เป็นต้น

เมื่อถ่ายอุจจาระ จะทำให้ผนังของเส้นเลือดแตกทำให้มีเลือดไหลได้
เป็นโรคที่พบได้บ่อย และพบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด
โดยทั่วไปจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตราย แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญหรือทำให้วิตกกังวล โดยมากมักจะมีอาการเวลาท้องผูกหรือท้องเดินบ่อยครั้ง

อาการ
ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก เป็นเลือดแดงสด เกิดขึ้นขณะถ่ายอุจจาระ อาจสังเกตมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระหรือปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลออกเป็นหยด โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างไร
บางคนอาจรู้สึกเจ็บที่ทวารหนัก และถ่ายอุจจาระลำบาก หรืออาจมีอาการคันก้น
ถ้าริดสีดวงอักเสบ หรือหลุดออกมาข้างนอก อาจทำให้รู้สึกปวดรุนแรง จนถึงกับนั่งยืนหรือเดินไม่สะดวกและคลำได้ก้อนเนื้อนุ่ม ๆ สีคล้ำ ๆ ที่ปากทวารหนัก
ถ้ามีเลือดออกมากหรือเรื้อรัง อาจมีอาการซีดได้

อาการแทรกซ้อน
อาจทำให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

การรักษา
1. ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมาก ๆ และกินผักผลไม้ให้มาก ๆ
    ถ้ายังท้องผูก ให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย, ดีเกลือ อย่ายืนนาน ๆ หรือนั่งเบ่งถ่ายนาน ๆ
2. ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวด, นั่งแช่ในน้ำอุ่นผสมด่างทับทิมวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาที
    และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร เช่น อะนูซอล (Anusal), เชอริพร็อกต์ (Scheriproct), พร็อกโตซีดิล (Proctosedyl) เหน็บวันละ 2-3 ครั้ง (เช้า ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ) จนอาการบรรเทา ปกติใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน
3. ถ้าซีดให้ เฟอร์รัสซัลเฟต วันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 เม็ด
4. ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก ให้ใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าไม่ได้ผล ควรแนะนำไปโรงพยาบาล
5. ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยหรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วยหรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องใช้เครื่องส่องตรวจทวารหนัก (proctoscope) ถ้าหากสงสัยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ อาจต้องเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) หรือใช้เครื่องส่องตรวจลำไส้ใหญ่
ถ้าเป็นริดสีดวงทวาร โดยไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรงก็มักจะให้การรักษาดังได้กล่าวข้างต้น
ถ้าเป็นมากอาจรักษาด้วยการฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงให้ฝ่อไป วิธีนี้สะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 3-5 ครั้ง ช่วยให้หายขาดได้ 60%  ส่วนอีก 40% อาจกำเริบได้ใหม่
ถ้าเป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องผ่าตัด

ข้อแนะนำ
1. ริดสีดวงทวาร โดยตัวมันเอง ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง (มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด) แต่อาจเป็นเรื้อรังได้ ถึงแม้เคยผ่าตัดรักษามาแล้ว ก็อาจเกิดริดสีดวงหัวใหม่ ทำให้มีเลือดออกได้อีก
ผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ
2. มะเร็งของลำไส้ใหญ่ ก็อาจทำให้มีอาการของริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น ถ้าพบว่ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลให้แน่ใจ
3. อาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น