วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก-พัฒนาการช้า เพราะเลี้ยงแบบไข่ในหิน

ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก-พัฒนาการช้า เพราะเลี้ยงแบบไข่ในหิน
คำถาม -
ลูกสาวคนโตอายุ 5 ขวบ ถูกส่งไปอยู่กับตายายตั้งแต่เด็ก
ตายายเลี้ยงแบบไข่ในหิน ไม่ค่อยให้ออกไปเล่นนอกบ้าน เพราะกลัวอันตราย
รู้สึกลูกจะมีพัฒนาการช้ามากไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย ไม่กระตือรือร้น ไม่ค่อยพูด
จนครูบอกว่าลูกเหมือนไม่มีหัวใจ สอนให้ทำอะไรก็บอกทำไม่เป็น
เคยพาไปหาหมอ หมอบอกว่าลูกขาดสารอาหารระดับหนึ่ง
ถ้าแกอยากได้อะไรก็ต้องได้ ถ้าไม่ได้จะร้องตลอด ดิฉันเคยตี แกก็ถามว่าตีหนูทำไม
พออธิบายแกก็ไม่ฟังและดูเหมือนไม่เข้าใจด้วย ดิฉันจะทำอย่างไรดีคะ
คำตอบ - 
เด็กอายุ 5 ขวบถ้าคุณไม่ได้เลี้ยงเอง
สิ่งที่พ่อแม่ต้องยอมรับก็คือเวลาที่เราไปฝากคนอื่นเลี้ยง การสร้างบุคลิกภาพ
หรือการสั่งสอน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรม
ของคนที่อยู่ใกล้เด็ก หลายครั้งที่เด็กไปซึมซับพฤติกรรม หรือมีพฤติกรรมหลายอย่าง
ที่คุณไม่ชอบ เช่น ไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย หรือเล่นไม่เป็น คืออยู่ท่ามกลางคนขี้กลัว
เขาก็คอยห้าม คอยกันไม่ให้เด็กออกไปเล่น สุดท้ายเด็กก็จะขาดทักษะในการเข้าสังคม
ขาดการปรับตัวเข้ากับคนอื่น ไม่มั่นใจ

การที่เด็กเติบโตในบรรยากาศของความรัก พ่อแม่รักและให้กำลังใจดี
ก็จะทำให้เด็กมั่นใจในตนเองระดับหนึ่ง
แต่ถ้าเด็กเติบโตมาในบ้านของตายายแบบหนึ่งแล้ว พอย้ายก็ต้องมาปรับตัวเข้ากับพ่อแม่
โดยที่เด็กไม่เคยอยู่มาก่อน ก็เหมือนกับเด็กถูกพลัดพรากจากสิ่งที่เคยชิน
นี่คือพื้นฐานที่คุณต้องเข้าใจค่ะว่ามันไม่ได้เริ่มต้นที่เป็นความผิดของเด็ก

เมื่อหมออ่านปัญหาของคุณสิ่งที่หมอเห็น คือ เด็กคนนี้แม้จะได้ตายายเลี้ยงดู
แต่ท่านก็เลี้ยงด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เอื้ออำนวยหรือส่งผลทำให้เด็กพัฒนาขึ้นมา
ในทิศทางที่ถูกต้องนัก ตอนนี้โอกาสดีสำหรับเด็กแล้วที่คุณกลับตัวทัน
แล้วรับเด็กออกมา ถือว่าคุณได้ช่วยเหลือลูกอย่างมาก แต่การที่จะมาปรับ
พฤติกรรมที่คุณไม่ชอบจำเป็นต้องอาศัยความอดทน
ลูกอายุ 5 ขวบยังสามารถปรับได้และทำอะไรได้อีกมาก แต่การปรับเปลี่ยน
พฤติกรรมต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทนในการฝึกสอนสม่ำเสมอ
ซึ่งสิ่งที่คุณน่าจะทำก็คือ...

1. สร้างหรือทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวคุณ การแสดงความรักแบบ
    ตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่เด็กขาด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้เติบโตมากับพ่อแม่
    เหมือนเด็กที่อยู่โรงเรียนประจำ เด็กพวกนี้จะเหงา ว้าเหว่
    คุณตาคุณยายให้ความรักได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับพ่อแม่
    ดังนั้นถ้าคุณสามารถแสดงความรักออกไปตรง ๆ โดยไม่มีข้อแม้
    ว่าจะต้องช่วยตัวเองได้ก่อน ไม่มีข้อแม้ว่าจะต้องกล้าหาญ
    ไม่มีข้อแม้ว่าอะไรทั้งสิ้นเลย

    เวลาคุณก้าวเข้ามาหาลูกกอดเขา อยากกอดก็กอดตรง ๆ หอมก็หอมตรง ๆ
    บอกเลยว่าคุณรักเขา รักเขาจริง ๆ ขอให้แสดงออกตรงไปตรงมาชัดเจน
    ลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เติบโตมาในอ้อมแขนของพ่อแม่สิคะ
    เขาได้เห็นการแสดงออกซึ่งความรักของพ่อแม่มาตั้งแต่เล็ก ๆ
    ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน ปีหนึ่ง...
    สิ่งที่เขาเห็นคือพ่อแม่ยิ้มกับเขาบ่อย ๆ หัวเราะ เล่น ให้เวลาสนุกสนาน
    สั่งสอนเขามาตลอด ขณะที่ลูกคนนี้เติบโตมากับคุณตาคุณยาย
    ที่แสดงความรักในแง่ปกป้องระมัดระวังอันตรายให้ การแสดงความรัก
    จึงไม่ตรงไปตรงมานัก ซึ่งหมอเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
    ที่จะเป็นฐานในการฝึกเด็กต่อไป

2. ในการฝึกฝนพฤติกรรมที่คุณไม่ชอบ เราต้องชั่งน้ำหนักว่า
    พฤติกรรมใดที่คุณจะเปลี่ยนก่อน เด็กอาจมีพฤติกรรมที่คุณไม่ชอบอยู่ 10 อย่าง
    จะปรับเปลี่ยนทั้ง 10 อย่างคงเป็นไปได้ยาก โปรดเลือกเอาพฤติกรรม
    ที่คุณทนไม่ได้กับเด็กก่อนเป็นพฤติกรรมแรก แล้วบอกเขาว่าสิ่งเหล่านี้
    คุณไม่ชอบและไม่อยากให้ลูกทำ ขณะที่เราบอกพฤติกรรมที่ไม่ดี
    เราก็ต้องสร้างพฤติกรรมที่ดี แล้วบอกเขาเลยว่าหนูทำแบบนี้แม่ชอบไปด้วย

    ขอให้แยกแยะความรักกับการฝึกออกจากกัน เพราะการฝึกฝนกว่าที่เด็กจะ
    ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุณไม่ชอบจนหายไปนั้น
    ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน 6 เดือน หรือเป็นปี
    คุณแม่ไม่ได้บอกว่ารับลูกมาอยู่กับคุณนานเท่าไหร่แล้ว หมอคาดเดาว่า
    อย่างน้อยก็ 3-5 ปี ที่เด็กอยู่กับคุณตาคุณยาย
    ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาเป็นปีเช่นกัน ในการปรับเปลี่ยนค่ะ

3. คงต้องสร้างพฤติกรรมใหม่ เพราะมีอีกหลายสิ่งหลายอย่าง
    ที่คุณตาคุณยายไม่ได้สอน เช่น การกล้าแสดงออก การหัวเราะออกมาดัง ๆ
    การแสดงความรู้สึกออกมา การฝึกฝนในลักษณะแบบนี้มันคงจะง่ายขึ้น
    ถ้าอยู่ในบรรยากาศที่สนุก ๆ ขอให้คุณให้เวลาลูก ลงไปสนุกกับลูกเพิ่มมากขึ้น
    ให้โอกาสลูกหัวเราะออกมาดัง ๆ ถ้าอยู่ที่บ้านเด็กยังไม่กล้าหัวเราะ
    แล้วแกจะไปหัวเราะที่โรงเรียนได้อย่างไร

    ฉะนั้นในบรรยากาศการเล่นที่ผิดก็ไม่เป็นไร ถูกก็ไม่เป็นไร ขอให้สนุกด้วยกัน
    ขอให้เตะบอลไปด้วยกัน ขอให้โยนลูกบอลรับลูกบอลไปด้วยกัน
    ขอให้ทำตามที่แม่บอกก็แล้วกันรับรองสนุกแน่
    ลักษณะเช่นนี้นอกจากจะเป็นการฝึกฝนให้เด็กหัดแสดงอารมณ์ออกมาเป็น
    หัวเราะ สนุกสนาน ดีใจ เสียใจ โกรธ แล้วยังเป็นการฝึกให้เด็กหัดทำ
    ตามคำสั่งแม่ในบรรยากาศที่สนุก ๆ อีกด้วย

    ในการฝึกเด็กไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องทำถูก
    เช่น เราอยากฝึกให้เด็กหัดตัดสินใจ การตัดสินผิดหรือถูกไม่สำคัญ
    แต่ขอให้ตัดสินใจออกมาก่อน ถูกผิดค่อยมาแก้กันใหม่

    เพราะฉะนั้นในบรรยากาศที่สบาย ๆ บรรยากาศที่ลองทำเชียร์ให้กำลังใจ
    บรรยากาศที่บอกว่าไม่เป็นไรลูก ลองดูถูกผิดไม่เป็นไร เอาเลยลูก
    บรรยากาศที่ผ่อนคลาย สนุก เป็นกันเอง
    จะทำให้เด็กกล้าที่จะแสดงตัวตนออกมาได้มากขึ้น แม้การแสดงของเด็ก
    อาจทำให้คุณไม่พอใจบ้าง ก็อย่าไปให้ความสำคัญกับตรงนี้มากนัก
    เราไม่มีทางที่จะฝึกสอนเด็กให้ถูกต้องหมดไปทุกอย่างในช่วงเวลาสั้น ๆ
    แต่การฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้เด็กค่อย ๆ รับรู้ความจริงได้

4. เป็นความจริงที่อยากจะให้เข้าใจว่าสมองส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาขึ้นมา
    ทั้งปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะช่วง 5 ปีแรก
    เราบอกไม่ได้ว่าช่วง 5 ปีแรกที่เด็กอยู่กับคุณตาคุณยายนั้นถูกฝึกฝนมา
    มากน้อยแค่ไหน แต่ภาพที่เราเห็นก็คือเด็กช่วยตัวเองไม่ค่อยได้
    ไม่มั่นใจในตัวเองสูงมาก เพราะสิ่งที่เด็กได้รับคงอยู่ในคุณภาพต่ำ

    การมาฝึกสอนให้เด็กหัดช่วยตัวเอง หัดทำสิ่งต่าง ๆ หัดหัวเราะ หัดยิ้ม
    หัดพูด หัดแสดงออก หัดทำหลายสิ่งหลายอย่าง
    โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลืองานบ้าน
    การฝึกพวกนี้จะเป็นพื้นฐานของความคิด ทำให้เด็กเรียนรู้และสามารถ
    เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น วิธีการและเวลาในการฝึกจึงมีความสำคัญมาก
    สำหรับเด็กที่ช้าในเรื่องนั้น ๆ กว่าที่เด็กจะเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ
    อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน 6 เดือน หรือเป็นปี
    ดังนั้นจึงอย่าหวังเลยค่ะว่าสิ่งที่คุณพูดขณะที่เด็ก 5 ขวบคนอื่นเขาฟังและเข้าใจ
    แล้วลูกจะเข้าใจ เพราะลูกคุณขาดทักษะในการสร้างพื้นฐานมาเยอะ

    เราอาจจะเริ่มต้นฝึกช้าหน่อย แต่ฝึกหลากหลายรูปแบบในบรรยากาศที่สนุก
    ซึ่งคงยังไม่สามารถเอาลูกไปเปรียบกับเด็ก 5 ขวบคนอื่นในตอนนี้
    จงให้เวลาเขาปรับเปลี่ยนและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
    ภายใต้บรรยากาศที่สบาย บรรยากาศที่อบอุ่นเต็มไปด้วยความรัก
    และให้โอกาสที่ฝึกฝนไปอีกระยะหนึ่ง
    เพื่อช่วยทำให้ลูกสามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางเด็กคนอื่นได้
**************************************
พ.ญ.วินัดดา ปิยะศิลป์
**************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น