วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 0-1 ปี-พัฒนาการไม่สมวัย...จะรู้ได้ไง

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 0-1 ปี-พัฒนาการไม่สมวัย...จะรู้ได้ไง
"ตายแล้ว... นี่ลูกเธอยังไม่คลานอีกเหรอ ดูลูกฉันสิ อ่อนกว่าลูกเธอ
ตั้งเกือบเดือน คลานปร๋อแล้ว พาไปเช็กบ้างก็ดีนะ เผื่อเจอโรคอะไรจะได้รักษาทัน"

-------- เวลาเพื่อน ๆ คุณพูดอย่างนี้ คุณก็คงรู้สึกใจไม่ดีเหมือนกันใช่ไหมคะ
แต่พูดไปเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าลูกเราผิดปกติอะไรหรือเปล่า
ลูกก็ดูเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ไม่โยเย หรือแค่ทำอะไรช้าเฉย ๆ แต่ก่อนจะถึงมือหมอ
อย่างที่เพื่อนแนะนำ พ่อแม่ก็สามารถสังเกตลูกน้อยของตัวเองในระดับเบื้องต้นได้
ว่าพัฒนาการของแกมีปัญหาหรือเปล่า
เพราะความผิดปกติบางอย่างก็อาจบอกได้จากพัฒนาการเหมือนกัน...

***   หม่ำ ๆ ร้อง ๆ 0-3 เดือน   ***
===>>>   อย่างนี้สิปกติ
หันหน้าไปหาเสียงพูดหรือเสียงเพลง
มองและหันหน้าตามของที่เคลื่อนไหว
แสดงอารมณ์ทางสีหน้าเมื่อเจอคนที่คุ้นเคย
มองและหันตามของเล่นที่เคลื่อนไหว
เริ่มตีสิ่งของและคว้าเข้ามาหาตัว
ส่งเสียงอืออา ตอบรับเสียงที่ได้ยิน
ตาสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้
มีความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ได้นานระดับหนึ่ง
===>>>   มีแนวโน้มผิดปกติ
ไม่สะดุ้งหรือตกใจเมื่อเกิดเสียงดัง
ไม่มองตามมือตนเองเลย
ไม่ยิ้มหรือมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อคุยเล่นด้วยหลังอายุ 2 เดือน
ไม่มองตามของเล่นเลยเมื่ออายุ 2-3 เดือน
ไม่ยอมจับหรือถือของเล่นเมื่ออายุ 3-4 เดือน
ไม่ทำเสียงครางเมื่ออายุ 3-4 เดือน
ตาเขตลอดเวลา (อาการตาเขบางครั้งยังถือว่าปกติ)
ไม่สนใจคนแปลกหน้าหรือสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เลย
เล่นเสริมพัฒนาการ โมบายล์ปลาตะเพียนที่มีสีสันสดใส
เปิดกล่องเพลงหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง

***   อ้อแอ้ไขว่คว้า 4-7 เดือน   ***
===>>>   อย่างนี้สิปกติ
ยันตัวเริ่มคลาน อาจจับสิ่งของเพื่อดึงตัวเองขึ้น
นั่งได้นานแม้ไม่พยุง และเริ่มหยิบจับของเล่น
ถือของได้ข้างละอัน อาจจับมากระทบกัน
ชอบดูดนิ้วและเริ่มหยิบอาหารเข้าปาก
พลิกคว่ำได้คล่องแคล่ว
ตามองตามสิ่งของไปในทางเดียวกัน
ชอบของเล่นมีเสียง
มีอารมณ์คึกคักบ่อยขึ้น
แสดงความต้องการเป็นคนหนึ่งในสังคม
===>>>   มีแนวโน้มผิดปกติ
เคลื่อนไหวขาไม่คล่อง กล้ามเนื้อแข็งและเกร็ง
เวลาจับอยู่ในท่านั่ง ตัวอ่อนปวกเปียก ศีรษะตกไปอยู่ด้านหลัง
ใช้มือได้ข้างเดียว
เอาของใส่ปากลำบาก
ไม่พลิกตัวเองเมื่ออายุ 5 เดือน
ตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเบนออกข้างนอกหรือเข้าข้างใน
ไม่หันตามเสียง
ไม่หัวเราะเสียงดังเมื่ออายุ 6 เดือน
ไม่เล่นจ๊ะเอ๋หรือตอบสนองคนรอบข้าง
เล่นเสริมพัฒนาการ ลูกบอลนิ่ม ๆ สีสดใส เล่นแล้วเกิดเสียง
ของเล่นที่มีลูกปัดข้างใน เขย่าแล้วเกิดเสียง หนังสือเด็กรูปสัตว์สามมิติ

***   ต้วมเตี้ยม เตาะแตะ 8-12 เดือน   ***
===>>>   อย่างนี้สิปกติ
ยืนได้ด้วยตัวเองตามลำพัง อาจโยกตัวเล่นไปมา
ค้นหาของที่เอาไปซ่อนต่อหน้าได้สำเร็จ
พูดได้มากกว่าคำว่า พ่อ แม่ ชอบพูดงึมงำคนเดียว
รู้สัญลักษณ์ของวัตถุ เช่น พูดคำว่าหมาก็ทำเสียงคำรามตาม
ชี้ของผ่านกระจกใสได้
===>>>   มีแนวโน้มผิดปกติ
ยังไม่คลานและไม่ยอมยืนเมื่อจับให้ยืน
ไม่ค้นหาของที่ซ่อน แม้เด็กจะเห็นว่าซ่อนที่ไหน
ไม่เรียกพ่อแม่หรือคำง่าย ๆ เมื่ออายุ 1 ปี
ไม่เรียนรู้ท่าทาง เช่น บ๊าย บาย สั่นศีรษะ
ไม่ชี้ที่รูปหรือสิ่งของ
เล่นเสริมพัฒนาการ หัดดื่มน้ำจากถ้วย หัดเล่นกับพี่น้องหรือเพื่อน
หนังสือสีสดที่มีตัวสัตว์และตัวหนังสือหรือตัวเลข

< < <   พัฒนาการดีหรือไม่ มาจาก...   > > >
สุขภาพเด็ก 
แน่นอนค่ะ หากเด็กที่มีสุขภาพดีจะมีพัฒนาการที่เร็วและสมบูรณ์กว่าเด็กที่อ่อนแอ
เพราะกำลังในการเคลื่อนไหวของเด็กที่อ่อนแอจะมีน้อยกว่านั่นเอง
ความสุข 
เด็กที่มีความสุข ความสบายใจ อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น
จะมีพัฒนาการที่รวดเร็วกว่าในครอบครัวที่หย่าร้างหรือให้ความอบอุ่นกับเด็กไม่เพียงพอ
เพราะภาวะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้เด็กเกิดความเครียดและรู้สึกเศร้าหมองได้
ความแกร่ง 
เด็กที่มีความแกร่งนั้นเกิดมาจากความรัก ความอบอุ่นของพ่อแม่ที่ให้เขาอย่างเพียงพอ
จนทำให้เขามีความมั่นใจ รู้สึกปลอดภัย กล้าที่จะเรียนรู้ ต่อสู้กับปัญหาเฉพาะหน้าได้ในอนาคต

< < <   สมองผิดปกติ   > > >
พัฒนาการที่ผิดปกติและอันตรายที่สุดคงจะหลีกหนีความผิดปกติของสมองไม่ได้
เพราะความผิดปกติของสมองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและรักษาได้ลำบาก
ซึ่งความผิดปกตินี้สังเกตได้จากพัฒนาการตั้งแต่เล็ก
เช่น การไม่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งรอบข้างทั้ง ๆ ที่ถึงวัยที่สมควรแล้ว
คลานหรือเดินงุ่นง่านอยู่คนเดียว น้ำลายยังไหลมุมปากแม้อายุเกิน 1 ขวบแล้ว
จับโน่นนี่ไร้เป้าหมาย ซึ่งเราอาจต้องช่วยลูกในการฝึกกิจกรรมพัฒนาสมอง
เล่นเกม พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกได้พัฒนาให้มากที่สุด

< < <   การได้ยินผิดปกติ   > > >
หากลูกเราไม่มีอาการตกใจเวลาเสียงดังหรือเรียกแล้วไม่หันตามเสียง
แกอาจมีปัญหาการได้ยินก็เป็นได้
ลองสังเกตดูและรีบตัดสินใจพาลูกไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
เพื่อให้การดูแลรักษาได้ทันท่วงที

เห็นแบบนี้พ่อแม่อย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลจนมากเกินไป
เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
อาจช้าหรือเร็วไปจากเกณฑ์มาตรฐานทั่ว ๆ ไป หรืออาจเกิดจากองค์ประกอบอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่น การที่เด็กใช้มือข้างเดียวหยิบจับของบ่อย ๆ
อาจจะเป็นเพราะเด็กมีความถนัดในมือข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป
หากสังเกตอีกระยะหนึ่งเด็กก็ยังไม่ใช้มืออีกข้างหนึ่ง
ก็ควรจับมือเด็กข้างนั้นให้จับหรือถือของเล่น เพื่อช่วยเด็กในการพัฒนากล้ามเนื้อค่ะ
แต่ขณะเดียวกันถ้ามือเด็กดูไม่มีแรง หยิบจับของไม่ได้เลย
เห็นทีควรปรึกษาแพทย์จะดีกว่า และอยากฝากไว้สักนิดค่ะว่า
ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกณฑ์เปรียบเทียบคร่าว ๆ ไม่ใช่มาตรฐานตายตัว
เพียงแต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้จักสังเกตลูกและพบสิ่งผิดปกติได้ไวก็จะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น