วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 1-2 ปี - ปราบ (อารมณ์) โกรธให้อยู่หมัด

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 1-2 ปี - ปราบ (อารมณ์) โกรธให้อยู่หมัด
"เคยสงสัยมั้ยว่าผู้ใหญ่หลายคนที่หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห ใจร้อน
อะไรเทือกนี้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ไปได้ ก็เพราะอารมณ์เหล่านี้
ได้ถูกสั่งสมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยกแล้วล่ะค่ะ
และถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกกลายเป็นผู้ใหญ่เจ้าอารมณ์
ใครเห็นก็เบื่อหน่าย ไม่อยากอยู่ใกล้แล้วละก็
ต้องหาเทคนิคปราบปรามอาการ "วีนแตก" ของลูกแล้วล่ะ
ถ้าช้าไปเดี๋ยวไม่ทันการณ์นะจะบอกให้"

***   ก็วัยมันเป็นใจ
เพราะเพิ่งพ้นขวบปีแรกและเพิ่งได้สัมผัสความรู้สึกที่ว่า
"ฉันก็เป็นคน ๆ หนึ่งนะ เดินไปไหนเองได้ ทำอะไรเองได้ มีอิสระเสรี
มีอิทธิพลต่อคนอื่น ๆ เหมือนกันนะเนี่ย ถ้าร้องไห้คุณแม่ก็รีบมาโอ๋
ครั้นร้องดังขึ้นอีกนิด คุณยายก็ตามมาอุ้ม" นอกจากนั้นยังเป็นวัยที่
ชอบต่อกร ไม่ลงรอยกับพ่อแม่ด้วย

เนื่องจากวัยนี้ลูกกำลังก่อร่างบุคลิกภาพของตัวเองขึ้นมา
จึงเกิดอารมณ์โกรธและหงุดหงิดคับข้องใจได้ง่าย
โดยเจ้า "อารมณ์" ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกรู้สึกถูกขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ
รำคาญใจ ถูกบังคับจิตใจ ฯลฯ
(แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ต้อง "ตามใจ" หรอกนะ)
เช่น บังคับให้หนูนั่งกระโถน บังคับให้หนูนอนทั้ง ๆ ที่
อยากเล่นใจจะขาด บังคับให้ใส่เสื้อผ้าแบบที่พ่อแม่ชอบทั้ง ๆ ที่
หนูอยากเลือกเอง หรือท่าทีห้ามนู่นห้ามนี่อยู่ตลอดเวลา
ลองนึกดูดี ๆ นะคะ ว่าทุกครั้งที่ลูกโกรธ หน้าบูดหน้าเบี้ยวนั่นน่ะ
มาจากสาเหตุอะไร เพราะส่วนใหญ่ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้
ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทีเดียว

ลูกโมโหแน่ ถ้า...
***   โดยพื้นฐานเป็นเด็กใจร้อน ขี้แงเมื่อไม่ได้ดั่งใจอยู่แล้ว
***   เป็นคนมีความอดทนต่ำ (ในการพยายามทำอะไรให้สำเร็จลุล่วง)
***   เป็นเด็กเงียบขรึม ไม่ค่อยบอกไม่ค่อยพูด
***   อยากมีอิสระในการตัดสินใจโดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง
         เช่น เลือกเสื้อผ้าเอง กินอาหารเอง ฯลฯ
***   กำลังอยู่ในอารมณ์หิวและเหนื่อยสุด ๆ
***   หันไปเห็นเพื่อนวัยเดียวกันมีของเล่นที่ตัวเองไม่มี
         อาการอิจฉาตาร้อนก็จะเกิดขึ้นทันที คราวนี้ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหม
         หนูไม่สนใจ ขอตะเบ็งเสียงร้องอย่างเดียวเป็นพอค่ะ
***   และที่สำคัญที่สุด คือ ถ้าอาการโมโหนั้นได้รับการตอบสนอง
         ด้วยวิธีเดียวกันจากพ่อแม่ ลูกก็จะเรียนรู้และซึมซับความก้าวร้าว
         รุนแรง อารมณ์ฉุนเฉียวเหล่านี้ไว้กับตัวอย่างแน่นอน

10 วิธีรอมชอมเมื่อลูก...โมโห
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่จะต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
ให้ใจสงบเย็นเสียก่อนนะคะ แล้วจึงเริ่มต้นด้วยวิธีต่อไปนี้
1. พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ปกติ
     และควรให้ลูกรับรู้ว่าพ่อกับแม่ไม่ได้ต้องการทำโทษลูกในสิ่งที่เกิดขึ้น
2. เมื่อลูกมีอารมณ์โกรธกรีดร้องโวยวาย ให้โอบกอดลูกไว้
    และทำให้แกรู้สึกว่าคุณยังรัก
    พร้อมจะเข้าใจความรู้สึกและจะไม่ทอดทิ้งแกไปไหน
3. แต่ถ้าถึงขนาดอาละวาดเสียงดังลั่น พูดเท่าไหร่ก็ไม่รับฟัง
     เห็นทีคงต้องพาลูกไปสงบสติอารมณ์ในห้องใดห้องหนึ่ง
     ให้ลูกอยู่กับตัวเองสักพักจนกว่าจะสงบขึ้น
4. ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าจัดการไม่ไหว ไม่สามารถพาลูกไปจากห้องนั้นได้
     (เพราะลูกลงไปนอนชักดิ้นชักงออยู่กลางบ้านซะแล้ว) และคุณก็
     เหลือที่จะอดทนแล้ว อย่างนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องเป็นคนถอยทัพ
     เดินเลี่ยงไปอยู่อีกห้องหนึ่งแทน โดยบอกลูกด้วยว่า
     ทำไมพ่อแม่ต้องทำอย่างนี้ กำลังจะไปไหนจะกลับมาเมื่อไหร่
     (ก็เมื่อลูกเงียบเสียงร้องน่ะสิ) ที่สำคัญพ่อแม่ยังรักลูกเหมือนเดิม
5. และเมื่อทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกสงบสติอารมณ์ของตัวเองได้แล้ว
    น่าจะพูดคุยกับลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    เช่น "แม่รู้ว่าหนูก็รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่หนูทำใช่มั้ยลุก ดีมากจ้ะคนดีของแม่
    แม่หายโกรธหนูแล้วและยังรักหนูเหมือนเดิม
    แต่หนูต้องจำไว้นะว่าอย่าทำแบบนี้อีก"
6. อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าอารมณ์กราดเกรี้ยวของแกสามารถ "ต่อรอง" อะไร ๆ
    จากพ่อแม่ได้ เช่น "ถ้าเงียบแล้วพ่อจะซื้อตุ๊กตาให้" หรือยอมทุกอย่างที่จะ
    ทำให้ลูกเงียบเพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่อยากได้
    อยากทำอะไรแล้วพ่อแม่ไม่ยอมก็ต้องกรี๊ด...ดแบบนี้ได้ผลแน่ ๆ
7. ถ้าลูกยังกรี๊ดไม่เลิกเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดง
    ละครสักหน่อยโดยทำเป็นไม่สนใจ
    ให้แกรู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่มีอิทธิพลต่อใครเลย แล้วแกก็จะเลิกไปเอง
8. เด็กบางคนใช้วิธีร้องไห้และกลั้นลมหายใจจนหน้าเขียวไม่รู้สึกตัว
    ทางแก้คือให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งสติให้ดี อย่าเพิ่งตกใจกับอาการของลูก
    และให้ตบหน้าลูกแรง ๆ (แม้จะไม่อยากทำ) เพราะวิธีนี้จะทำให้มีลมเข้าไป
    ในปอดและลูกสามารถหายใจได้เป็นปกติและรู้สึกตัวในที่สุด
    (เป็นวิธีแก้เพื่อให้ลูกรู้สึกตัวก่อน)
9. ควรใช้เหตุผลในการพูดคุยกับลูกและบอกให้ลูกรู้ว่าการเป็น
    เด็กเจ้าอารมณ์นั้นไม่ดียังไง แทนที่จะลงโทษลูกด้วยการตี
10. อย่าให้ความสนใจกับพฤติกรรมโมโห ร้องกรี๊ด ๆ ของลูก
     แต่เมื่อไหร่ที่ลูกทำตัวน่ารักเป็นเด็กดี เห็นทีจะต้องชมเชยกันบ้าง
     และคุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมเป็นแบบอย่างที่ดี
     ในการจัดการอารมณ์โกรธของตัวเองด้วยนะคะ

ก่อนที่ลูกจะโมโห
***   ให้อิสระกับการเป็นตัวของตัวเองแก่ลูกบ้าง
          อาจลองให้แกได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือตัวเอง
          เช่น ตักข้าวกินเอง ลองใส่เสื้อผ้าเอง ลองถูสบู่เอง ฯลฯ
***   เมื่อลูกเริ่มหงุดหงิดให้หันเหความสนใจของลูกไปสู่สิ่งอื่น
***   ทุกครั้งที่ลูกเริ่มหงุดหงิดหรือต้องการความช่วยเหลือ
          ก็อย่าปฏิเสธความรู้สึกตรงนั้นของแก
          เช่น ทำท่ารำคาญที่ลูกกินข้าวเลอะเทอะ หรือหยิบจับอะไรชักช้า
          แต่ถ้าสิ่งไหนที่ต้องห้ามจริง ๆ ก็ยังไม่น่าจะใช้อารมณ์
          หรือคำพูดในเชิงขู่ตะคอกลูกอยู่ดี คุณพ่อคุณแม่น่าจะเข้าไปปลอบโยน
          ให้แกรู้สึกอบอุ่น มีความมั่นใจว่าคุณยังเป็นที่พึ่งของแกอยู่
          เพราะแกอาจยังไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงห้ามแก
          หรือไม่ให้ในสิ่งที่แกต้องการ แต่อย่างน้อยแกก็รู้ว่าอาการปลอบโยน
          ของคุณพ่อคุณแม่นั่นหมายถึงว่า พ่อแม่ไม่ได้ขัดขวางแกอย่างเดียว
          แต่ยังให้ความรักความเข้าใจเหมือนเดิม

ถ้าลูกหงุดหงิดง่าย โมโหบ่อย ๆ แสดงว่าไม่ดีแน่ค่ะ คงต้องหาสาเหตุ
และรีบแก้ไขแต่เนิ่น ๆ หรืออาจจะปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
เพราะหากปล่อยไปเรื่อย ๆ บุคลิกภาพและสภาพจิตใจของลูกก็จะแย่ลง
กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ก้าวร้าวเจ้าอารมณ์ และอยู่ร่วมในสังคมได้ยาก....

ถ้า...กรี๊ดสนั่นลั่นที่สาธารณะ
***   จัดการพาเจ้าตัวดีออกไปจากที่ตรงนั้นเสียก่อนเป็นดีที่สุด
***   หามุมสงบที่ผู้คนไม่พลุกพล่านให้ลูกสงบสติอารมณ์
***   ถ้าลูกไม่ยอมเงียบ ให้อุ้มลูกมากอดไว้ก่อนและพาไปเล่นอย่างอื่น
         เมื่อแกสงบลงค่อยบอกเหตุผลว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ไม่ได้
         และหากิจกรรมอื่นเพื่อเป็นทางเลือกให้แกได้แสดงความสามารถ
         หรือความเป็นอิสระแทน (แต่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อตัวลูก)
***   ถ้าลูกไม่ยอมให้อุ้มอาจใช้วิธีเดินเลี่ยงไปยืนดูแกอยู่ห่าง ๆ
         และพร้อมจะปลอบโยนเมื่อแกสงบขึ้น

อย่าปล่อยให้ลูกเคยชินกับนิสัยชอบอาละวาด หรือก้าวร้าวรุนแรง
เพราะถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดลูกก็จะเรียนรู้ว่า
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงพลังอำนาจและสามารถเอาชนะคนอื่นได้
ต่อไปแกก็จะยึดเอาวิธีนี้เป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาทุกครั้งไป

ยังไง ยังไง ก็ต้องเจอค่ะ เจ้าอารมณ์หงุดหงิดหรืออาละวาดสนั่นบ้าน
ของลูกสาว (ลูกชาย) วัยขวบต้น ๆ แต่ทว่าเหตุการณ์แบบนี้
ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยนักเพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณ
ก่อร้างสร้างบุคลิกให้ลูกในแบบที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น