วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วง 0-1 ปี - การค้นพบที่ยิ่งใหญ่

พัฒนาการเด็กช่วง 0-1 ปี - การค้นพบที่ยิ่งใหญ่
ในวัยขวบแรกของชีวิตการเรียนรู้จักตัวเอง ความเป็นตัวของตัวเอง
ของลูกจะค่อย ๆ ผลิบานขึ้น โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
แต่ต้องมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วยนะคะ ต้นไม้ต้นนี้จึงจะเติบโตงดงามดี

***   แรกเกิด- 3 เดือน
เมื่อแรกเกิด แม้ชีวิตน้อย ๆ จะดูเหมือนขึ้นกับคุณเป็นหลัก
ทั้งเรื่องอาหารการกิน น้ำนมแม่แสนอร่อย การเลี้ยงดูที่ใกล้ชิด
ที่อบอุ่นอ่อนโยน แต่ลูกก็มีความเป็นตัวของตัวเองแล้วค่ะ ดูง่าย ๆ จาก
ถ้าคุณแลบลิ้น หรือกะพริบตาใส่ทารกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่กี่ชั่วโมง
เจ้าหนูก็จะสามารถทำตามได้อย่างรวดเร็ว นั่นแสดงว่าเมล็ดพันธุ์แห่ง
การรับรู้เชิงสังคมของเด็กได้แทงยอดผลิใบแล้ว ทั้งยังเป็นสัญญาณ
ที่ชี้ว่าเด็กรู้ถึงความแตกต่างระหว่างตัวแกกับคนอื่นนั่นเอง

จากจุดนี้ทารกน้อยก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ว่าตัวแกมีผลต่อสิ่งอื่นด้วย
เช่น ถ้าแกยิ้ม แม่ก็ยิ้มตอบ ถ้าแกร้องไห้ แม่จะรับเข้ามาอุ้ม ปลอบโยน
หรือให้นม หรือถ้าแกเตะขาไปโดนลูกบอล เจ้าลูกบอลนั้นก็จะเคลื่อนที่
เหล่านี้คือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ช่วยให้ทารกน้อย
เข้าใจเรื่องของเหตุและผล ทั้งรู้ว่าตัวเองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนั้นแยกต่างกัน

***   4-6 เดือน
ในราวอายุ 4 เดือน ลูกน้อยเริ่มรู้แล้วค่ะว่าคนกับสิ่งของนั้นต่างกัน
รู้ว่าเมื่อคนหนึ่งหยุดอีกคนก็จะเริ่ม การเรียนรู้เชิงสังคมก็มากขึ้น
รู้จักที่จะยิ้มให้ จ้อง ทำเสียงกู๊กู๋กับพ่อแม่ เรียกว่ารู้จักที่จะแสดงอารมณ์
หรือแสดงความรู้สึกโต้ตอบนั่นเอง
อย่างไรก็ตามความรู้สึกสับสนต่อสิ่งรอบตัวก็ยังมีอยู่

แต่การรู้จักตัวเอง รู้ว่าตนเองเป็นหนึ่งเดียวที่แตกต่างจากเด็กอื่น
หรือสิ่งอื่นจะค่อย ๆ เพิ่มพูนมากขึ้น ลูกเรียนรู้ที่จะมีความรู้สึก
มีความคิดของตนเอง เช่น ลูกจะเข้าใจน้ำเสียงที่แสดงอารมณ์
และอาจร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงดุ แม้จะเป็นพ่อแม่คนอื่นดุลูกของเขาก็ตาม
นั่นแสดงว่าลูกมีความรู้สึกของตนเอง
รู้สึกกลัวต่อเสียงดุนั้น แล้วก็เลยร้องไห้ออกมา

ดังนั้นในวัยนี้ ลูกเริ่มรู้จักที่จะได้ตอบความคิด อารมณ์
ความรู้สึกของคนอื่นที่แสดงต่อลูก ด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของลูกเองแล้วค่ะ

***   7-9 เดือน
ในวัย 8-9 เดือน พัฒนาการด้านการรับรู้ของลูกจะมีความสำคัญต่อ
การเป็นตัวของตัวเองของลูกมากขึ้น โดยมีเครื่องมือช่วยคือ
ความสามารถในการจำ นั่นคือในวัยนี้ลูกจะรู้แล้วว่าสิ่งของหรือคนนั้น
มีอยู่ยังอยู่ แม้จะไม่อยู่ในสายตาของแกก็ตาม
ดังนั้น เรื่องที่ลูกวัยนี้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น
ก็คือรู้ว่าตัวแกมีอยู่และแยกต่างหากจากสิ่งอื่น หรือคนอื่น

นอกจากนั้นพัฒนาการด้านสายตา หรือการมองเห็นก็ช่วยให้ลูกเรียนรู้
ถึงความแตกต่างระหว่าง "นี่" และ "โน่น" ด้วย และการได้สัมผัส
ก็ช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น
รวมทั้งรู้ว่าสิ่งของเหล่านั้นแตกต่างจากตัวแกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางสังคม
ของตนเองอยู่ดี ช่วยให้ลูกเรียนรู้ถึงการเป็นผู้เริ่มและเป็นผู้โต้ตอบ
และลูกวัยนี้เริ่มอ่านสีหน้าของคนอื่นออกแล้วค่ะ ว่าเขาแสดงอารมณ์
ความรู้สึกอย่างไร ซึ่งทำให้แกสามารถโต้ตอบได้ถูกต้องสอดคล้องมากขึ้น
รวมทั้งจะได้ตัดสินใจได้ว่าแกควรจะทำหรือไม่ทำเพื่อเพิ่มพูน
ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากสีหน้าท่าทางที่พ่อแม่แสดงอยู่นั้นหรือไม่
เช่น ทันทีที่ลูกเห็นแมว แกก็จะยื่นมือไปสัมผัส
แต่ก่อนที่มือน้อย ๆ นั้นจะถึงตัวแมว เสียงห้ามของแม่ก็ดังขึ้น
แกก็จะหันไปมองแม่ค่ะ เพื่อดูว่าแม่ห้ามจริงจังแค่ไหน
ก่อนจะตัดสินใจยื่นมือเพื่อสัมผัสแมวอีกครั้งหรือไม่

การค้นพบศักยภาพของตนเองที่มีมากขึ้นนี้ จะทำให้ลูกสนใจ
ที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้นด้วย ซึ่งบางอย่างก็มีอันตราย
ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรประมาท
ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนไงคะ

***   10-12 เดือน
วัยนี้ การใช้ภาษาของลูกเริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้น
ในวัย 9-10 เดือน ลูกจะใช้ภาษาร่างกายและการเคลื่อนไหว
เพื่อสื่อสารกับคนหรือสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง
เช่น ถ้าลูกอยากได้ตุ๊กตา แกก็จะคลานเข้าไปหาและเอื้อมมือ
หยิบตุ๊กตามากอด ซึ่งการสื่อสารลักษณะนี้จะค่อย ๆ พัฒนา
มาเป็นการออกเสียงประกอบด้วยเมื่อลูกอายุราว 11-12 เดือน

แต่พัฒนาการที่สำคัญของลูกวัยนี้ที่ช่วยให้แกค้นพบและรู้ถึง
ศักยภาพความสามารถของตนเองดีขึ้น ก็คือการลุกยืนและเดินได้ค่ะ
ซึ่งจะทำให้ลูกเห็นความแตกต่างของตัวเองกับเด็กอื่น หรือสิ่งอื่นได้ชัดเจน
เพราะลูกสามารถ "ทำ" เพื่อตอบสนองตัวเองได้มากขึ้น
ไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นเหมือนเมื่อครั้งยังเป็นทารกน้อยอีกแล้ว

เห็นไหมคะว่าแค่ขวบปีแรกของชีวิต การเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง
เห็นถึงศักยภาพความสามารถของตัวเองของลูกน้อยก็มีการพัฒนา
ไปอย่างมากมายและรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ที่ต้องอาศัยมือแข็งแรงและอบอุ่นของพ่อแม่คอยโอบอุ้มค่ะ

***   เมื่อลูกร้อง แล้วคุณโอบอุ้ม ให้นม ปลอบโยน พูดคุยกับลูก
         ยิ้มให้เมื่อลูกส่งยิ้มมา และอีกมากมายที่คุณปฏิบัติต่อลูก
         นั่นล่ะค่ะ คือเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้นพบศักยภาพของตนเองแล้ว
***   ถ้านำกระจกมาให้ทารกวัยนี้ดู เจ้าตัวน้อยจะยังไม่มีท่าทีสนใจ
         ภาพที่สะท้อนจากกระจกหรอกค่ะ แต่แกจะสนใจ
         และทำตามท่าทางง่าย ๆ ของพ่อแม่ที่อยู่เบื้องหน้าแกมากกว่า
         เช่น ถ้าแม่แลบลิ้นให้แกดู แกก็แลบลิ้นตาม เป็นต้น
***   ลูกจะรีบไปที่กระจกทันที ถ้าเห็นภาพสะท้อนของของเล่น ตุ๊กตา
         หรือคนในกระจก อย่างไรก็ตามการเรียนรู้จักตัวเองของลูก
         ยังอยู่ในขั้นพื้นฐานมาก เช่น แม้ภาพที่เห็นในกระจกจะเป็นตัวแกเอง
         ลูกก็ไม่รู้หรอกค่ะว่านั่นคือตัวแก
        แต่จะเข้าใจว่าเป็นคนอื่นซึ่งแยกจากแกต่างหาก
***   เจ้าตัวน้อยวัยนี้จะชอบยิ้ม หัวเราะ หรือส่งเสียงใส่กระจกค่ะ
         แถมบางครั้งยังยื่นมือสัมผัสด้วยการตบเบา ๆ ที่ภาพสะท้อนตัวแกด้วย
         โดยทำเหมือนกับกำลังโต้ตอบกับเด็กอื่นอยู่ค่ะ
***   ในวัยนี้ ลูกเริ่มสนใจสิ่งของมากกว่าหนึ่งแล้วค่ะ
         ถ้าเห็นภาพสะท้อนของคนอื่นอยู่ในกระจกด้วย ลูกก็จะมอง
         ด้วยความรู้สึกแปลกใจสักครู่ จากนั้นก็จะหันมาเล่นกับ
         ภาพสะท้อนของตัวเองเช่นเดิม
        โดยยังคงเข้าใจว่ากำลังเล่นกับคนอื่นอยู่ ที่ไม่ใช่ตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น