ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา บริษัทใหญ่อาจสามารถหันไปทำการค้าอย่างอื่นได้
แต่สำหรับกิจการเล็กๆ แล้ว ทำได้เพียงอดทนและหลบหลีกกระแสคลื่นชั่วคราว
ความแตกต่างของทั้งสองอยู่ที่ ในขณะที่ตลาดซบเซา
พ่อค้าใหญ่ยังมีทุนเก่าพอที่จะใช้จ่ายไปก่อน ในขณะที่หลายคนทนอยู่ไม่ไหว ต้องรีบปล่อยสินค้าในสต็อคแลกเป็นเงินสด พ่อค้าใหญ่เหล่านี้ก็ยังพอมีเงินสดที่จะสั่งสินค้าเข้าร้านได้ แต่พ่อค้าย่อยนั้นเล่า แค่จะประทังชีวิตให้อยู่ต่อไปก็เป็นปัญหาเสียแล้ว เรื่องจะบากบั่นเดินหน้าต่อไป ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
เนื่องจากไม่มีทุนสำรอง และความเสี่ยงที่ต้องเป็นห่วง พ่อค้าย่อยต้องยอมรับกฎที่ว่า "สถานการณ์อยู่เหนือคน" คำว่าสถานการณ์ก็คือโอกาสนั่นเอง
นักธุรกิจใหญ่สามารถเดินสวนทางกับสถานการณ์ หรือควบคุมสถานการณ์ได้ แต่พ่อค้าย่อยต้องรู้จักประมาณตน และเอนลู่ไปกับสถานการณ์แต่โดยดี
ที่ว่าสถานการณ์และโอกาสนั้น ในภาษาการค้าก็คือ ด้านดีหรือร้ายของตลาด ซึ่งต้องพิจารณาทั้งสองด้าน คือจากภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ และจากภาวะแวดล้อมของการค้าชนิดนั้นๆ
มีทัศนคติแบบหนึ่งที่คิดแต่ได้ เห็นว่าถ้าดำเนินการโดยสวนกับภาวะเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น อนาคตก็จะรุ่งโรจน์ นี่คือความมักใหญ่ใฝ่สูงของธุรกิจเล็กที่เลียนแบบธุรกิจใหญ่อย่างผิดๆ ในขณะที่โอกาสไม่อำนวย แต่มีความมั่นใจที่จะทำ ควรจะพักไว้สักระยะหนึ่งก่อน รอจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จึงค่อยลงมือจะง่ายกว่า แผนการส่วนใหญ่สามารถจะรอกันได้ ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าพระอาทิตย์ก็จะขึ้น แล้วไยต้องลำบากคลำทางในความมืดเล่า
ก่อนแสงสว่างมาถึงมักมืดที่สุดเสมอ ภาวะที่เศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดมักเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกผันเข้าสู่ภาวะที่ดี การฉกฉวยสถานการณ์ที่เกิดการแปรเปลี่ยน ไม่ใช่การฝืนหรือเดินสวนทางกับสถานการณ์ เนื่องจากภาระของพ่อค้าย่อยค่อนข้างเบา ความคล่องตัวสูง หากปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ได้เร็วมากเท่าใด ความสำเร็จก็มีมากเท่านั้น เรื่องที่ว่าจะทำได้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งทดสอบการมองการณ์ไกล และความสามารถของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ดีที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น