วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

อาหารเบาหวาน และ การออกกำลังกาย

อาหารเบาหวาน และ การออกกำลังกาย

อาหารเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบทั่วไปทุกประเทศ มักพบในผู้ที่รับประทานอาหารที่ให้พลังงานมาก และใช้แรงงานน้อย ถึงแม้เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถควบคุมได้โดยการรักษาด้วยยา การควบคุมอาหาร การออกกำลังกายอย่างถูกต้องและเหมาะสม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงปกติ ตลอดจนช่วยลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ

ถ้าท่านเป็นเบาหวาน ท่านต้องรู้จักบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ กะปริมาณ หรือจำนวนของอาหารต่างๆ ให้พอเหมาะกับภาวะของร่างกาย ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารประจำวันของท่านและปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ จากแพทย์พยาบาลและนักโภชนาการอย่างเคร่งครัด

อาหารเบาหวาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. อาหารที่ไม่ควรรับประทาน
2. อาหารที่รับประทานได้ในปริมาณจำกัด
3. อาหารที่รับประทานได้โดยไม่จำกัด

1. อาหารที่ไม่ควรรับประทาน ได้แก่
1.1 น้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลที่อัดเป็นก้อน น้ำตาลปีบ น้ำตาลกรวด น้ำตาลผลไม้ น้ำผึ้ง นมข้นหวาน
1.2 อาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น ทอฟฟี่ ลูกอม ช็อกโกแลต น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำอัดลม
ควรดื่ม น้ำเปล่า น้ำชาไม่ใส่น้ำตาล ถ้าเป็นกาแฟ ควรใส่นมจืดพร่องไขมันแทนคอฟฟี่เมท
1.3 เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ไวน์ ทุกชนิด ยาดองเหล้า
1.4 ขนมหวานต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ขนมหม้อแกง อะลัว ไอศกรีม
1.5 ขนมเชื่อมหรือผลไม้กวน เช่น ทุเรียนกวน สับปะรดกวน ลูกหยีกวน
1.6 ผลไม้ตากแห้ง เช่น กล้วยตาก ลูกเกด ลูกพรุน มะขามหวาน ลำไยแห้ง อินทผลัม
1.7 ผลไม้บรรจุกระป๋อง ได้แก่ เงาะ ลิ้นจี่ ขนุน ลำไย
1.8 ผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน น้อยหน่า ละมุด องุ่น ลิ้นจี่
ควรรับประทาน ผลไม้ที่ไม่หวานมาก เช่น
ส้มเขียวหวาน มื้อละ 1 ผล เงาะ มื้อละ 3 ผล ฝรั่ง มื้อละ 1/2 ผลเล็ก ชมพู่ มื้อละ 2 ผล แอปเปิ้ล มื้อละ 1/2 ผลใหญ่ มะละกอ มื้อละ 6 คำ พุทรา มื้อละ 4 - 5 ผล แตงโม มื้อละ 10 คำ สับปะรด มื้อละ 6 คำ กล้วยน้ำว้า มื้อละ 1 ลูกเล็ก

2. อาหารที่รับประทานได้ในปริมาณจำกัด
2.1 เนื้อสัตว์ไม่ติดมันต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก รวมทั้งเต้าหู้ และโปรตีนเกษตร รับประทานวันละ 12 ช้อนโต๊ะ หรือมื้อละ 4 ช้อนโต๊ะ
น้ำนม ดื่มวันละ 1 กล่อง ควรเป็นน้ำนมจืดชนิดพร่องมันเนย ไข่ รับประทานได้ 2 ฟองต่อสัปดาห์ ถั่วเป็นอาหารรวมไขมัน แป้ง และโปรตีนประเภทให้แป้งมาก เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถ้ารับประทานจะต้องลดอาหารแป้งอื่นลง เช่น ข้าวประเภทให้ไขมัน เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถ้ารับประทานถั่วลิสงต้ม 10 เม็ด ต้องงดให้กระเทียมเจียวใส่ในอาหารมื้อนั้น
2.2 ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น ข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปัง วุ้นเส้น ข้าวโพด ผู้เป็นโรคเบาหวานที่อ้วนควรรับประทานน้อยลงกว่าที่เคยครึ่งหนึ่ง แ ต่ถ้าไม่อ้วนก็รับประทานได้ตามปกติ
2.3 ไขมัน น้ำมันทุกชนิด ทำให้อ้วนง่าย สำหรับน้ำมันจากไขมันสัตว์ ทำให้อ้วนและเพิ่มระดับไขมันในเลือดให้สูง แต่น้ำมันสกัดจากพืชประเภทถั่ว รำข้าว ข้าวโพด สามารถลดไขมันในเลือดได้ ยกเว้นน้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำมันปาล์ม ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดทุกชนิด ใช้การนึ่ง ต้มแทน ถ้าจำเป็นจะใช้ผัดควรใช้น้ำมันพืชปริมาณจำกัด

3. อาหารที่รับประทานได้โดยไม่จำกัด
3.1 ผักต่างๆ ได้แก่ ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักตำลึง บวบ แตงกว่า มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฯลฯ
3.2 เครื่องปรุงที่ไม่มีพลังงาน เช่น น้ำส้มสายชู พริกไทย มะนาว เครื่องเทศต่างๆ นอกจากนี้ได้แก่ ชา กาแฟ ขัณทสกร วุ้นมัสตาดที่ไม่เติมน้ำตาล

การออกกำลังกาย
เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทำให้สุขภาพแข็งแรงคลายเครียด สนุกสนานเพลิดเพลิน กล้ามเนื้อยืดหยุ่นลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดทำให้น้ำหนักลด

การออกกำลังกายให้เริ่มออกกำลังกายแต่น้อยก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 15 - 30 นาที ในเวลาเดียวกันของทุกวัน และควรออกกำลังกายหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 1 ชั่วโมง ขณะดูโทรทัศน์ก็ได้ โดยลุกขึ้นยืนตรง ฝึกปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้
1. ก้มศีรษะไปข้างหน้า กลับมาทางตรง และหงายศีรษะไปข้างหลัง กลับมาท่าตรงสลับไปมา 2 นาที
2. พลิกศีรษะไปข้างซ้ายกลับมาท่าตรง และพลิกศีรษะไปข้างขวา กลับมาท่าตรง สลับไปมา 2 นาที
3. แกว่งแขนขวา เหยียดตรงไปข้างหน้า กลับไปข้างหลัง สลับไปมา 2 นาที
4. แกว่งแขนซ้ายเหยียดตรงไปข้างหน้า กลับไปข้างหลัง สลับไปมา 2 นาที
5. แกว่งแขนทั้ง 2 ข้างเหยียดตรงไปข้างหน้า กลับไปข้างหลัง พร้อมๆ กัน สลับไปมา 2 นาที
6. ยกแขนทั้ง 2 ข้างเสมอไหล่ งอข้อศอก เอามือทั้งสองข้างซ้อนกัน แล้วดึงแขนเหยียดตรงไปข้างลำตัวสลับไปมา 2 นาที
7. ชูแขนขวาตรงขึ้น ส่วนแขนซ้ายเหยียดตรงลงข้างล่าง ตวัดไปด้านหน้า สลับกันโดยเปลี่ยนเป็นชูแขนซ้ายตรงขึ้น ส่วนแขนขวาเหยียดตรงลงข้างล่าง ตวัดไปด้านหน้า สลับไปมา 2 นาที
8. ชูแขนขวาตรงขึ้น ส่วนแขนซ้ายเหยียดตรงลงข้างล่าง ตวัดไปด้านหลัง สลับกันโดยเปลี่ยนเป็นชูแขนซ้ายตรงขึ้น ส่วนแขนขวาเหยียดตรงลงข้างล่าง ตวัดไปด้านหลัง สลับไปมา 2 นาที
9. ก้มหน้าลงเสมอเอว แล้วแหงนหน้าขึ้นตั้งตรงทำสลับกันไปมา 2 นาที
10. ยืนให้น้ำหนักตัวลงบนขาข้างหนึ่ง ใช้มือเกาะเก้าอี้หรือโต๊ะ แกว่งเท้าอีกข้างไปมาประมาณ 3 นาที แล้วเปลี่ยนสลับข้างทำเหมือนกันอีก 3 นาที
11. ยืนเอามือเกาะเก้าอี้หรือโต๊ะ ย่อตัวลงนั่งและยืนตัวตรง สลับไปมา 2 นาที
12. ยืนเอามือเกาะเก้าอี้หรือโต๊ะ เดินย่ำอยู่กับที่โดยยกส้นเท้า ขึ้น-ลง สลับกัน 3 นาที
ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถเลือกออกกำลังกายได้ดังต่อไปนี้
การบริหารต่างๆ เดิน ถีบจักรยาน รำมวยจีน กรรเชียงบก ว่ายน้ำ เล่นกอล์ฟ ตีเทนนิส วิ่ง แบดมินตัน กระโดดเชือก ขึ้นลงบันได

หยุดออกกำลังกายทันทีเมื่อมีอาการ
--->>> ตื่นเต้นกระสับกระส่าย
--->>> มือสั่น ใจสั่น
--->>> เหงื่อออกมากผิดปกติ อ่อนเพลีย
--->>> ปวดศีรษะ ตาพร่า หิว
--->>> เจ็บแน่นหน้าอก
--->>> เจ็บหน้าอกร้าวไปที่แขน คอ ขากรรไกร
--->>> หายใจหอบมากผิดปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น