เมื่อตรวจพบว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อย่าเพิ่งตกใจ
เนื้องอกไม่ใช่มะเร็ง แต่อันตรายหรือไม่ คุณหมอเท่านั้นที่บอกได้
"เนื้องอก" แค่ฟังก็ตกใจแล้วครับ ก็มีเนื้ออะไรก็ไม่รู้งอกเพิ่มขึ้นมาจากปกติ
เอ...แล้วจะใช่เรื่องเดียวกันกับมะเร็งหรือเปล่า แถมยังมาเป็นตอนตั้งครรภ์อีกด้วยหรือนี่ แล้วอย่างนี้จะท้องกันอย่างไร แล้วลูกจะอยู่ในท้องกับเนื้องอกได้อย่างไร ฯลฯ คำถามต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อเอ่ยถึงเนื้องอกที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า "เนื้องอก" นั้น เป็นคำรวมๆ ไม่ได้หมายถึงมะเร็งเสมอไปครับ เนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรงก็มี (เนื้องอกชนิดร้ายก็คือมะเร็ง) เนื้องอกนั้นเกิดขึ้นได้กับเกือบทุกอวัยวะ แต่ครั้งนี้เราจะพูดถึงที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอด และพบได้บ่อยๆ นั่นก็คือ เนื้องอกของมดลูก และเนื้องอกของรังไข่ครับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มเป็นช่วงตั้งครรภ์หรอกครับ เป็นมาก่อนนี้แล้ว แต่ไม่ทราบ หรือไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่พอตั้งครรภ์ขึ้นมาก็มาตรวจพบว่ามีเนื้องอก หรือเริ่มมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นมานั่นเอง
เมื่อมีเนื้องอกที่มดลูก
เป็นเนื้องอกของตัวมดลูกนั่นเองครับ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งที่บริเวณใต้เยื่อบุโพรงมดลูกและโตเข้าไปในโพรงมดลูกหรือเกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของมดลูกเอง หรือเป็นก้อนเนื้องอกที่ผนังด้านนอกของมดลูก เนื้องอกมดลูกนี้พบได้บ่อยพอสมควรในระหว่างตั้งครรภ์
อย่างที่บอกว่าเนื้องอกมดลูกนี้ ไม่ใช่ว่าจะมาเกิดเฉพาะตอนที่ตั้งครรภ์ แต่มาตรวจพบตอนตั้งครรภ์นั่นเองครับ ส่วนหนึ่งที่พบเนื้องอกมดลูกช่วงตั้งครรภ์บ่อย ก็เพราะอิทธิพลของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เนื้องอกมีการเจริญเติบโต มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ครับ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นเหมือนกันหมดทุกคนครับ บางรายไม่โตขึ้นเลยก็มี
อันตรายอย่างไรนะ
แน่นอนครับว่าการมีเนื้องอกที่มดลูกนั้น มีโอกาสที่จะส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้หลายๆ อย่างทีเดียว ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งหลังคลอดทีเดียว โดยอันตรายต่างๆ นั้นมีดังนี้
- อาจทำให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือรกลอกตัวก่อนกำหนดได้
- ทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็ที่มันแคบลงกว่าปกตินี่ครับก็เลยโตได้จำกัด
- ทำให้ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ คือ ไม่ใช่ท่าศีรษะนั่นเอง เพราะมีก้อนเนื้องอกขวางอยู่และการที่รูปร่างของโพรงมดลูกผิดปกติไปนั่นเอง
- ทำให้การคลอดผิดปกติ สิ่งที่ตามมาก็คือ เพิ่มโอกาสที่จะผ่าท้องคลอดมากขึ้น นอกจากเพราะทารกอยู่ในท่าผิดปกติแล้ว อาจเป็นเพราะเนื้องอกไปขวางช่องทางคลอด หรือทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีอีกด้วย
- มีโอกาสตกเลือดหลังคลอดเนื่องจากก้อนเนื้องอกจะขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติในการหยุดเลือดออกจากการคลอดครับ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงมากๆ ไม่สามารถห้ามเลือดได้จนเกิดอันตรายต่อคุณแม่ อาจจำเป็นต้องตัดมดลูกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมดาหรือการผ่าท้องคลอดก็ตาม
รู้ได้อย่างไร
โดยทั่วไปคุณแม่ไม่ค่อยทราบว่า ก่อนตั้งครรภ์ตัวเองมีเนื้องอกมดลูกอยู่ ส่วนใหญ่มักจะมาพบระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะจากการตรวจร่างกาย พบขนาดของมดลูกโตมากกว่าที่ควรจะเป็นหรือคลำได้เป็นก้อนชัดเจน นอกจากนั้นปัจจุบันการตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์ ก็ช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ ขนาดจำนวน หรือตำแหน่งของเนื้องอก นอกจากนั้นการอัลตร้าซาวนด์ ยังมีประโยชน์ในการติดตามทั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกและทารกในครรภ์ด้วย
จะทำไงดีล่ะ
ถ้าตรวจพบว่ามีเนื้องอกมดลูกระหว่างตั้งครรภ์จะทำอย่างไร ตัดออกไปได้หรือเปล่า โดยทั่วไป เราไม่ทำอะไรหรอกครับ คอยเฝ้าติดตามการโตของเนื้องอกเป็นระยะๆ และเฝ้าระวังการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้นก็พอ
การผ่าตัดระหว่างตั้งครรภ์นั้นค่อนข้างอันตรายทีเดียวทั้งต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ เรามักจะรอจนหลังคลอดจึงค่อยมาประเมินกันอีกทีว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่ อย่างไร
นอกจากนี้ อย่างที่บอกว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เนื้องอกโตขึ้นนั้น ก็คือฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ พอคลอดแล้วฮอร์โมนก็ลดต่ำลง ก้อนเนื้องอกก็จะลดขนาดลงด้วยครับ ซึ่งท้ายที่สุดอาจไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ครับ ในกรณีที่คุณแม่ผ่าท้องคลอด คุณหมอผู้ผ่าท้องอาจพิจารณาผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกไปด้วยในคราวเดียวกัน ถ้าทำได้ไม่ยากนักและไม่มีอันตรายมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นเนื้องอกที่ผนังด้านนอกของมดลูกครับ
เมื่อมีเนื้องอกที่รังไข่
เป็นเนื้องอกอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นเนื้องอกของรังไข่ไม่เกี่ยวกับมดลูกเลย แต่ก็สำคัญ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไปกับเนื้องอกมดลูก โดยส่วนใหญ่เนื้องอกรังไข่มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งคคภ์และการคลอดเท่าใดนัก แต่มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนกับตัวเนื้องอกเอง ซึ่งจะมีผลต่อตัวคุณแม่เสียมากกว่า
เนื้องอกของรังไข่มักจะเป็นถุงน้ำเสียมากกว่าจะเป็นก้อนเนื้อ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ รังไข่อาจมีขนาดโตขึ้นได้บ้าง แต่จะไม่โตมากนัก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตั้งครรภ์อย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษแต่อย่างไร หลังคลอดแล้วก็ยุบลงได้เป็นปกติ
อันตรายเมื่อเนื้องอกบิดขั้ว
อย่างที่บอกว่าภาวะแทรกซ้อนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเนื้องอกหรือถุงน้ำเอง ไม่เกี่ยวกับมดลูกหรือทารกในครรภ์ ซึ่งก็คือ "การบิดตัว" หรือ "บิดขั้ว" นั่นเอง รังไข่นั้นห้อยติดอยู่กับปีกมดลูก เมื่อโตขึ้นเป็นเนื้องอกหรือถุงน้ำขึ้นมา ก็เหมือนกับเป็นผลไม้หรือลูกโป่งใส่น้ำ ซึ่งมีก้านหรือขั้วติดอยู่กับปีกมดลูก ดังนั้น ถ้าก้อนเนื้องอกโตพอสมควรก็จะมีโอกาสเกิดการบิดของขั้วเป็นเกลียวขึ้นมานั่นเอง
การบิดขั้วของเนื้องอกรังไข่นั้น ไม่ใช่ว่าจะเกิดในทุกๆ รายหรอกครับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่าง คือขนาดของก้อน ถ้าขนาดเล็กมากก็จะไม่เกิดการบิด แต่ถ้าขนาดกำลังดี เช่น 5 - 10 เซนติเมตร ก็มีโอกาสบิดขั้วมากขึ้น
นอกจากนั้นยังขึ้นกับระยะของการตั้งครรภ์ด้วย ช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์มดลูกยังไม่โตมากนัก ทั้งมดลูกและรังไข่จะยังอยู่ในบริเวณช่องเชิงกราน ทำให้มีที่ไม่มากนักจึงไม่ค่อยเกิดการบิดของเนื้องอก แต่ในช่วง 4 - 5 เดือนขึ้นไป ก้อนก็จะลอยขึ้นมาอยู่ในช่องท้อง ทำให้มีโอกาสบิดมากขึ้น
อีกระยะหนึ่งที่พบการบิดขั้วของเนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่ได้บ่อย ก็คือระยะหลังคลอดครับ พอคลอดเสร็จมดลูกจะลดขนาดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีโอกาสที่ก้อนจะบิดมากขึ้นครับ
หากเนื้องอกบิดตัว คุณแม่จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ปวดจนตัวงอเลยครับ อาการมักเกิดค่อนข้างเฉียบพลัน ซึ่งถ้าเกิดอาการนี้ต้องรีบมาโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที ถ้าปล่อยเนิ่นนานไปอาจเกิดการแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงมากขึ้นไปอีกได้ เช่น มีการติดเชื้อในก้อน หรือก้อนเนื้องอกแตก ฯลฯ ซึ่งอันตรายมากครับ
การตรวจและการรักษา
การวินิจฉัยเนื้องอกรังไข่หรือถุงน้ำรังไข่นั้น อาจตรวจพบจากการตรวจภรรภ์ตามปกติ โดยคลำพบก้อนแยกจากมดลูก โดยพบว่าลอยไปลอยมาได้ในท้อง แต่การตรวจให้ได้ผลแน่นอนนั้นมักได้จากการตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์ครับ ซึ่งจะบอกรายละเอียดของลักษณะ ขนาด และรูปร่างของเนื้องอกได้ รวมทั้งจะเห็นอีกด้วยว่าเป็นก้อนเนื้อหรือเป็นเพียงถุงน้ำเท่านั้น
การรักษานั้นก็ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างเช่นเดียวกันครับ อย่างแรกคือขนาดและลักษณะของก้อน ถ้าก้อนไม่โตมากนัก ก็คงไม่ต้องรีบทำอะไร คอยเฝ้าตรวจติดตามเป็นระยะๆ ก็เพียงพอ แต่ถ้าก้อนมีขนาดโตมาก หรือมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อไม่ใช่ถุงน้ำอย่างนี้ คงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาก้อนออกมา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่บอกมา และเพื่อเอาก้อนออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาว่าเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือไม่
การผ่าตัดนั้นมักจะทำในขณะที่ตั้งครรภ์ประมาณ 4 - 5 เดือน เพราะทำง่าย และโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดจะน้อย แต่ในกรณีที่ก้อนไม่โตมาก หรือมาตรวจพบตอนช่วงหลังของการตั้งครรภ์แล้ว อาจค่อยพิจารณาผ่าตัดหลังคลอดแล้วก็ได้ครับ แต่ถ้าระหว่างการตั้งครรภ์ ก้อนเนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่เกิดการบิดขั้วขึ้นมา ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างรีบด่วน มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ครับ
มะเร็งรังไข่
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของเนื้องอกรังไข่ซึ่งต่างกับเนื้องอกมดลูกนั้น คือจะพบว่ามีบางส่วนอาจเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งรังไข่นั่นเอง ส่วนเนื้องอกมดลูกนั้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายครับ กรณีของมะเร็งรังไข่นั้นการตรวจพบต่างๆ คงไม่แตกต่างกับเนื้องอกชนิดไม่ร้าย แต่อาจมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ชวนสงสัยว่าจะเป็นเนื้อร้าย เช่น ก้อนมีขนาดใหญ่มาก หรือมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อล้วนๆ หรือปนกับถุงน้ำ ฯลฯ ซึ่งลักษณะต่างๆ นี้ การตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์จะช่วยบอกได้ค่อนข้างดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเนื้อร้ายทุกรายไป คงต้องตรวจยืนยันทางพยาธิวิทยาอีกครั้งหนึ่ง
ในกรณีที่เป็นมะเร็งรังไข่นั้น การรักษานั้นคงต้องคำนึงถึงคุณแม่มากกว่าลูกในท้องนะครับ เพราะเป็นโรคที่รุนแรงและลุกลามได้รวดเร็ว การรักษาโดยทั่วไปคือการผ่าตัด ซึ่งรวมถึงต้องตัดมดลูกทิ้งไปด้วยครับ
อ้าว... แล้วลูกในท้องล่ะครับจะทำอย่างไร คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปครับ ถ้ายังตั้งครรภ์อ่อนๆ อยู่อาจจำเป็นต้องตัดมดลูกไปเลยโดยไม่สนใจการตั้งครรภ์ ถ้าใกล้คลอดพอสมควรแล้ว อาจรอให้ทารกเจริญเติบโตพอสมควรที่จะออกมาเลี้ยงข้างนอกได้ จึงจะผ่าท้องคลอดและผ่าตัดรักษาไปพร้อมกันเลยทีเดียว ส่วนผลการรักษาจะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นกับชนิดของเนื้อร้ายนั้น ระยะของโรคและการลุกลามของโรค รวมทั้งการตอบสนองต่อการรักษานอกจากการผ่าตัด เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นต้น แต่จริงๆ แล้ว มะเร็งรังไข่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นพบน้อยมากๆ เลยครับ อย่าเพิ่งตกใจจนเกินไปนะครับ
เนื้องอกที่อวัยวะอื่น
เนื้องอกของอวัยวะอื่นในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานในระหว่างตั้งครรภ์นั้นพบได้น้อยมากๆ และมักจะแยกได้ยากจากเนื้องอกของมดลูกหรือรังไข่ ส่วนการตรวจวินิจฉัยและการให้การรักษานั้นก็คงแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของเนื้องอกนั้นครับ จะเห็นว่าระหว่างการตั้งครรภ์นั้น แม้จะไม่มีอาการอะไรผิดปกติปรากฏชัดๆ แต่ยังมีโอกาสที่จะมีความผิดปกติบางสิ่งบางอย่างแอบแฝงอยู่ได้ เนื้องอกที่พูดถึงนี้แม้จะพบไม่บ่อยนัก แต่ก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ การมาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เป็นวิธีป้องกันดีที่สุดครับ
*************************************************
ผศ.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น