วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำธุรกิจ-ห้ามละเลยทำเล

ทำธุรกิจ-ห้ามละเลยทำเล

ทำเลคือสภาพแวดล้อมของบริษัท สภาพแวดล้อมกับสถานที่ตั้งของบริษัทมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก

สำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ย้ายจากใจกลางเมืองไปที่ใหม่ที่ไกลออกไป เพราะค่าเช่าถูกกว่า
ปรากฎว่ากิจการตกต่ำถึงขีดสุด
ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมีสำนักงานใหญ่โตในเมือง ภายหลังได้ย้ายไปแถบชานเมือง ซึ่งกว้างขวางกว่าเดิม แต่ไม่ถึง 3 เดือน ก็ต้องย้ายกลับมาที่เดิม

ทำเลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกิจการฟาสต์ฟู้ด และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แมคโดแนลประสบผลสำเร็จ ดูเหมือนว่าแมคโดแนลสามารถหาทำเลที่ดีที่สุดได้เสมอ เช่นเดียวกับในวงการซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่นับได้ว่าห้างเวลคัม (WELCOME) ประสบผลสำเร็จมากที่สุด

หลายคนว่าทำเลคือฮวงจุ้ย แท้จริงฮวงจุ้ยเป็นเพียงการเอาสิ่งงมงายมาแปลงโฉมให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น หรือในโลกนี้อาจจะมีเรื่องฮวงจุ้ยจริงๆ ก็ได้ แต่ทำเลที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง เป็นแค่ส่วนหนึ่งของฮวงจุ้ยเท่านั้น เหตุผลง่ายนิดเดียวที่ตั้งของบริษัทจะต้องสะดวกแก่ผู้คนที่มาติดต่อเป็นประจำ ซึ่งรวมทั้งลูกค้า การส่งสินค้า และพนักงาน สิ่งเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับลักษณะกิจการของบริษัท

หลักการนี้จะว่าไปแล้วก็คือ กิจการใดๆ ที่จะเจริญรุ่งเรือง ในทำเลใดๆ ล้วนแต่มีเหตุผลในตัวเองทั้งสิ้น ธุรกิจขนาดเล็กอย่าได้อุตริไปบุกเบิกทำเลแหล่งใหม่ๆ น่าจะยอมชำระค่าเช่าที่แพงหน่อย ยอมเสียเงินตกแต่งร้านให้ดูดีหน่อย และกล้าที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แข่งขันกันมาก ไม่ควรได้เห็นแก่ค่าเช่าถูกๆ แล้วย้ายไปสถานที่ที่ผู้คนสัญจรไปมาไม่สะดวกหรือเป็นที่ที่ไม่มีใครรู้จัก

แหล่งช้อปปิ้งสำคัญๆ เช่น ราชดำริ เป็นผลพลอยได้จากการสร้างห้างสรรพสินค้าไดมารู พ่อค้าใหญ่มาบุกเบิกทำเลไว้ก่อน ทำให้กิจการเล็กๆ ในละแวกนั้นผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แม้ค่าเช่าจะแพงแต่ก็คุ้ม ผู้ที่มีอายุราว 40 - 50 ปี คงจะจำสภาพเงียบเหงาของราชดำริก่อนมีไดมารูได้

สรุปแล้ว การไม่เสียทำเล ซึ่งอาศัยหลักที่ว่า "สถานการณ์อยู่เหนือคน" นักธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถสร้างสถานการณ์ได้ ทำได้แต่เพียงโอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์ ฉะนั้น การดำเนินธุรกิจในแหล่งชุมชน ย่อมเป็นการลงทุนที่ได้ผลดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น