วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะ

อาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะ

ถ้าคุณมีอาการอาหารไม่ย่อย แต่ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น เช่น ไม่พบร่องรอยของแผลหรือการไหลย้อนขึ้นของน้ำย่อย ฯลฯ แพทย์ก็มักจะวินิจฉัยว่าเป็นอาการของอาหารไม่ย่อยชนิดที่ไม่ได้เกิดจากแผล

อาหารไม่ย่อยชนิดนี้ไม่สามารถตรวจและวินิจฉัยสาเหตุได้ทันที ฉะนั้นก่อนที่แพทย์จะลงความเห็นได้ก็ต้องมีการตรวจพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแบบเดียวกัน จากนั้นจึงใช้วิธีคัดออก การตรวจอาจทำโดยการตรวจร่างกายโดยตรงหรือด้วยวิธีอื่น พยาธิสภาพที่กล่าวนี้คือสภาพที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาหารไม่ย่อยชนิดนี้ได้

***   พยาธิสภาพที่ต้องพิจารณาเพื่อตัดความเป็นไปได้ออก   ***

+ นิ่วในน้ำดี (gallstones) เป็นก้อนหินที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดทรายไปจนถึง 2-3 ชม. ประกอบด้วยคอเลสเตอรอลและสารที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง ก้อนหินเหล่านี้เกิดในถุงน้ำดีและไปรบกวนเยื่อบุถุงน้ำดี เมื่อถุงน้ำดีมีการหดตัวทำให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะหลังจากคุณรับประทานอาหารมัน ๆ บางครั้งก้อนหินเหล่านี้ไปอุดที่ท่อน้ำดีทำให้เกิดอาการดีซ่าน

+ Irritable bowel syndrome พบได้บ่อยมากและเกี่ยวข้องกับการเกร็งของกล้ามเนื้อภายในผนังของลำไส้เล็ก สาเหตุนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบ แต่ในผู้ป่วยหลาย ๆ รายดูเหมือนว่าความเครียดเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง

+ อาการปวดบริเวณชายโครงและกล้ามเนื้อที่ผนังช่องท้อง
อาการที่สำคัญของอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผล คือ การแสบและปวดบริเวณช่องท้องส่วนบน ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการรับประทาน (การรับประทานอาจทำให้มีอาการปวดน้อยลงหรือปวดมากขึ้นก็ได้) และบางครั้งมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย นอกจากนั้นหลายคนยังมีอาการที่เรียกว่า "กระเพาะไว" (nervous stomach) เพราะเมื่อใดที่มีความเครียด อาการก็จะกำเริบ สำหรับสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะมาจากหลายสาเหตุ ทฤษฎีหนึ่งเชื่อกันว่า ผู้ที่มีปัญหานี้มีกระเพาะอาหารที่ไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น ไวต่อกรดในกระเพาะอาหารหรือไวต่ออาหารบางชนิด ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่ากล้ามเนื้อที่ผนังกระเพาะอาหารจะเกร็งมากในเวลาที่มีความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มี "กระเพาะไว" สภาพนี้จะทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยมากยิ่งขึ้น

หากจะกล่าวกันตามความเห็นทางการแพทย์ล้วน ๆ แล้ว อาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลนั้นไม่มีอันตรายใด ๆ แต่เป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากกว่า ที่สำคัญมากคือ ต้องตรวจให้แน่ใจว่า สาเหตุนั้นไม่ได้มาจากแผลจริง ๆ หากคุณมีอาการอาหารไม่ย่อยพร้อม ๆ กับน้ำหนักลดด้วย แพทย์จำเป็นต้องหาสาเหตุอื่น ๆ ให้พบ เพราะบางครั้งอาจเป็นเรื่องร้ายแรงก็ได้ เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผล น้อยครั้งมากที่จะทำให้น้ำหนักลด และถ้าคุณรับประทานยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อยู่ด้วย แพทย์จำเป็นต้องตรวจเพื่อตัดความเป็นไปได้จากการมีแผลออก ก่อนจะลงความเห็นว่าเป็นอาการอาหารไม่ย่อยชนิดที่เกิดจากสาเหตุอื่นจริง ๆ

***   การรักษา   ***
ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยรู้จักอาการของตนเองและทราบแน่ว่าอาการนั้นไม่ได้มาจากสาเหตุที่ร้ายแรง ขั้นต่อมาคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตที่ทำให้อาการแย่ลง โดยทั่วไปแล้ว การปรับเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดที่คุณจะทำให้ตนเองมีสุขภาพดีขึ้นคือ การเลิกสูบบุหรี่ การลดน้ำหนักหากจำเป็น และเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม อาหารที่มักทำให้อาการเป็นมากขึ้นคือ อาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัดและเผ็ดร้อน หรือผักบางชนิด เช่น หัวหอมและมะเขือเทศ สารกาเฟอีนในกาแฟและน้ำอัดลมประเภทน้ำดำนั้น บางครั้งก็มีผลเช่นเดียวกัน หากพบว่าอาหารเหล่านี้มีผลต่อการย่อยของคุณก็ควรงดรับประทาน และเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเป็นประจำ การเลือกรับประทานอาหารเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้มาจากแผลเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งลำไส้ อาหารที่มีประโยชน์คือ อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าวกล้องธัญพืชที่ไม่ได้ขัดสีเปลือกออกจนขาว และขนมปังโฮลวีท

***   การรักษาด้วยยา   ***
ยังไม่มียาขนานใดที่มีสรรพคุณ "ครอบจักรวาล" ที่สามารถรักษาอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดจากแผลในกระเพาะได้ผลกับทุกคน ยาแรง ๆ บางตัวอาจใช้ได้ แต่แพทย์มักจะสั่งให้เฉพาะกับผู้ที่เปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น

อาการอาหารไม่ย่อยแบบนี้ต่างจากอาการอาหารไม่ย่อยที่มีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะหรือที่เกิดจากการไหลย้อนขึ้นของน้ำย่อย เพราะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลดกรด ยาที่ใช้ได้ผลดีที่สุดมักเป็นยาที่เปลี่ยนวิธีการทำงานของกระเพาะในการขับดันสิ่งที่อยู่ภายในกระเพาะ ตัวอย่างตัวยา "ขับ" เหล่านี้ เช่น ดอมเปริโดน (domperidone) และเมโตคลอปราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น ยา 2 ตัวนี้ต้องให้แพทย์สั่งโดยผู้ป่วยจะรับประทานยาครึ่งชั่วโมงก่อนอาหารเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำหน้าที่ประสานกันอย่างพอเหมาะ จะได้ลดอาการเกร็งที่ผนังกระเพาะและอาการเวียนศีรษะ ปกติผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาติดต่อกันนานหลายเดือน ฉะนั้นจึงควรทราบถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากยาด้วย เนื่องจากยาพวกนี้มีผลต่อการ "เคลื่อนไหว" ทั้งของกระเพาะอาหารและรวมไปถึงลำไส้เล็ก บางครั้งจึงอาจทำให้เกิดอาการปวดแบบตะคริวที่ช่องท้องส่วนล่าง และท้องเสีย แต่โดยทั่วไปแล้วตัวยาพวกนี้ไม่มีอันตราย ยกเว้นแต่อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเมโตคลอปราไมด์ ที่ปกติแพทย์จะไม่สั่งยาให้กับสตรีอายุน้อยหรือเด็ก เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าและลำคอเกิดการเกร็ง หรือที่เรียกกันว่า ปฏิกิริยาดิสโตนิค (dystonic reaction) (ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการหดตัว เป็นเหตุให้อวัยวะผิดรูปไป) แต่ผลข้างเคียงเช่นนี้เกิดน้อยมากกับเพศชายและในหญิงที่สูงวัย

***   สรุป   ***
อาการอาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากแผลนี้เป็นอาการที่พบได้บ่อย ถึงแม้จะทำให้รู้สึกไม่สบายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรง คุณสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการนี้ในบริเวณช่องท้องส่วนบนและอาการเวียนศีรษะได้โดยไม่ยาก โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ลดความเครียด เลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็มีอยู่บ้างที่แม้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลา ในกรณีนี้อาจต้องรับประทานยาประเภทช่วย "ขับ" การวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อยโดยไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะนี้ แพทย์ต้องตรวจให้แน่ใจจริง ๆ ว่าไม่ใช่อาการที่เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องหาวิธีรักษาที่ต่างออกไป ถ้าน้ำหนักตัวลด (หรือลดโดยไม่ได้เจตนา) หรือถ้าคุณรับประทานยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อยู่และเพิ่งเกิดมีอาการอาหารไม่ย่อย ก็ควรปรึกษาแพทย์

***   ประเด็นสำคัญ   ***
+ อาหารไม่ย่อยที่ไม่ได้เกิดจากแผลในกระเพาะ เป็นอาการอาหารไม่ย่อยที่พบได้บ่อยที่สุด และไม่มีอันตรายใด ๆ
+ วิธีรักษาคือทำความเข้าใจกับสภาพของอาการ และไม่รับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการ

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง-การใช้เฝือกพยุงหลัง

ปวดหลัง-การใช้เฝือกพยุงหลัง

เมื่อผู้ที่มีอาการปวดหลังไปหาแพทย์ จะพบว่าบ่อยครั้งที่แพทย์ผู้รักษานอกจากจะสั่งยาให้รับประทาน หรือส่งตัวไปรับการรักษาทางกายภายบำบัด หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและการออกกำลังกายแล้ว แพทย์ยังสั่งให้ใส่เฝือกพยุงหลังหรือเฝือกพยุงเอวอีกด้วย

ความจริงมนุษย์เรารู้จักใช้เฝือกพยุงร่างกายมานานนักหนาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีการสอนวิชาแพทย์ในโลกนี้ด้วยซ้ำไป บรรพบุรุษของเรารู้ดีว่า เมื่อมีแขนหรือขาหัก หากให้แขนหรือขานั้นอยู่นิ่ง ๆ อาการเจ็บปวดจะน้อยลงได้ และวิธีที่จะให้แขนขานั้นอยู่นิ่งได้อย่างค่อนข้างแน่นอนก็คือ การใช้กิ่งไม้มาทาบหรือดามไว้ หรือใช้หนังสัตว์มาพันรัดไว้ให้แน่นนั่นเอง สำหรับที่ลำตัวหรือหลังนั้น เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น หากได้ลงนอนพักนิ่ง ๆ ก็จะบรรเทาอาการเจ็บปวดลงได้ และถ้าสามารถหาอะไรมารัดลำตัวได้ก็จะยิ่งดี ที่นิยมทำกันในสมัยโบราณก็คือ การออกหาต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับลำตัวของผู้ป่วย เมื่อหาได้แล้วก็ลอกเอาเปลือกไม้นั้นออกมา หลังจากตากแดดให้แห้งแล้วก็เอามาโอบรัดรอบตัว เพียงเท่านั้นก็จะได้เฝือกพยุงหลังหรือเฝือกพยุงเอวที่ใช้ได้เป็นอย่างดี หากต้องการให้แข็งแรงมากก็ใช้เชือกหรือหนังสัตว์มารัดให้แน่นยิ่งขึ้น ผู้ป่วยก็อาจลุกขึ้นเดินไปมาได้โดยไม่ต้องนอนอยู่นิ่ง ๆ

G.Elliot Smith ศาสตราจารย์ทางกายวิภาคศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้กล่าวว่าตัวท่านนับเป็นผู้โชคดีมาก เพราะได้เห็นของจริงคือเฝือกที่ใช้ดามขาที่หักในศพของชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งประมาณว่ามีอายุกว่า 5,000 ปีมาแล้ว และคงจะถือได้ว่าเป็นเฝือกพยุงกายอันแรกของโลกก็ได้

5,000 ปีผ่านไป จากวันนั้นถึงวันนี้ วิวัฒนาการของเฝือกที่ใช้ตามร่างกาย หรือเฝือกพยุงกายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่เพียงวัสดุที่ใช้และวิธีการทำเท่านั้น แต่หลักการหรือความมุ่งหมายในการใช้เฝือกพยุงกายนี้ยังคงยึดหลักการเดิมเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือมุ่งหมายที่จะให้ส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บได้อยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ความเจ็บปวดน้อยลง และช่วยให้เจ้าตัวเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์สมัยใหม่ คือเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เองเราได้เพิ่มจุดประสงค์ในการใช้เฝือกพยุงกาย หรือออร์โธสิส (orthoses) มากขึ้นกว่าเดิม คือมิใช่ใส่เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวหรือลดการเจ็บปวดเท่านั้น แต่ยังมีการประดิษฐ์เฝือกชนิดที่ทำหน้าที่ตรงกันข้าม คือใส่แล้วช่วยให้ร่างกายส่วนนั้นมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่นในกรณีที่เป็นอัมพาตและเท้าห้อยตกลงไป กระดกขึ้นไม่ได้ (foot drop) ก็สามารถใส่เฝือกพยุงข้อเท้าชนิดที่มีสปริงซ่อนอยู่ภายใน ช่วยให้ข้อเท้ากระดกขึ้นสู่สภาพปกติได้ ทำให้เดินได้สะดวกขึ้น เพราะปลายเท้าไม่ครูดไปกับพื้น นอกจากนี้เรายังได้มีการใช้เฝือกพยุงกายโดยมุ่งประโยชน์ทางด้านกลศาสตร์ชีวภาพ ให้ร่างกายเพิ่มความมั่นคงแข็งแรง ให้ร่างกายบางส่วนรับน้ำหนักได้มากขึ้น หรือให้บางส่วนรับน้ำหนักน้อยลง หรือจะไม่ให้ร่างกายส่วนนั้นรับน้ำหนักเลยก็ได้

การที่แพทย์ส่งผู้ป่วยไปใส่เฝือกพยุงหลังหรือพยุงเอวนั้นอาจมีจุดมุ่งหมายได้หลายประการเช่น

1. ในกรณีที่ปวดหลังมาก เนื่องจากกล้ามเนื้อมีสปัสซั่มหรือเกร็งแข็ง เพื่อตรึงร่างกายส่วนนั้นให้อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว อันเป็นกลไกตามธรรมชาติ การใช้เฝือกพยุงหลังหรือเอวจะไปช่วยให้กล้ามเนื้อนั้นไม่ต้องเกร็งต่อไป เพราะเฝือกมาทำหน้าที่ตรึงทุกส่วนให้อยู่นิ่งแทนกล้ามเนื้อ มีอยู่เสมอที่ผู้ป่วยปวดหลังเดินตัวเอียงหลังแข็งหน้านิ่วคิ้วขมวดเข้ามา หลังจากใส่เฝือกพยุงหลังรัดแน่นดีแล้ว ก็ทุเลาความเจ็บปวดจนเดินตัวตรงได้ทันที ผลของการใช้เฝือกนี้จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคของผู้รักษามากทีเดียว

2. เพื่อช่วยกล้ามเนื้อหน้าท้องในกรณีที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรงพอ เช่น ผู้ที่ลงพุงมาก ๆ หรือหน้าท้องหย่อนยาน เฝือกพยุงเอว (หรือพยุงพุง) จะช่วยเก็บหน้าท้องเข้ามาได้ อันเป็นผลให้จุดศูนย์ถ่วง (C.G.) อยู่ใกล้กระดูกสันหลังเข้ามา ซึ่งจะทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังรับน้ำหนักน้อยลงมาก (ตามหลักของโมเม้นต์) การลงพุงหรือมีกล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อนนั้น นอกจากจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงห่างจากกระดูกสันหลังออกมาแล้ว ยังทำให้ไม่สามารถที่จะเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องอย่างมีประสิทธิภาพได้ การเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับแรงกดเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในนักยกน้ำหนัก ซึ่งจะต้องมีเข็มขัดรัดรอบเอว เข็มขัดสำหรับนักยกน้ำหนักนี้ไม่จำต้องมีหน้ากว้างเหมือนกับเฝือกพยุงเอวทั่วไป เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องของนักยกน้ำหนักเหล่านี้แข็งแรงพอสมควรอยู่แล้ว เข็มขัดนี้จะเป็นเสมือนปลอกเหล็ก หรือปลอกหลายที่รัดรอบถังไม้หรือถังเบียร์นั่นเอง เมื่อต้องการจะเพิ่มแรงดันในช่องท้องขณะที่ออกแรงยกน้ำหนัก เขาจะหายใจออกอย่างแรงโดยปิดหลอดลมเสีย คือกลั้นหายใจเบ่งลมนั่นเอง เพื่อเพิ่มแรงดันภายในช่องท้อง (ช่องอกด้วย) ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แรงดันที่เพิ่มขึ้นมากมายนี้นอกจากจะดันออกโดยรอบแล้ว ยังดันขึ้นบน และลงล่างด้วย ทำให้หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักน้อยลงมาก กลไกของการกลั้นใจเบ่งนี้เรียกว่า Valsalva maneuver ซึ่งหากปราศจากกลไกนี้แล้ว หมอนรองกระดูกของนักยกน้ำหนักระดับโลกคงจะไม่สามารถทนอยู่ได้

อย่างไรก็ตามการกลั้นหายใจเบ่งนี้ หากทำระยะสั้น ๆ ชั่วอึดใจเดียวก็ไม่เป็นไร แต่หากทำอยู่นานจะมีผลเสียได้ เพราะการเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องและช่องอกนั้น ทำให้หลอดเลือดใหญ่ทางด้านหลังของลำตัวถูกกดจากแรงดันนี้ด้วย เลือดจึงไหลเวียนไม่ได้สะดวก ทำให้เกิดหน้ามืดและแรงดันเลือดขึ้นสูง ผู้ที่มีแรงดันเลือดสูงอยู่แล้วหรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจจะต้องระวังเป็นพิเศษในการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อที่เรียกว่า แบบไอโซเมตริคนั้นผู้ทำมักจะกลั้นใจออกแรงเกร็งเสมอ ซึ่งนับเป็นผลเสียและอาจเกิดอันตรายได้มากเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่นิยมที่จะให้ผู้ที่มีแรงดันเลือดสูง หรือมีโรคเกี่ยวกับหัวใจออกกำลังกายในแบบไอโซเมตริค หรือหากจะทำก็ควรจะทราบถึงกลไกของ Valsalva maneuver และพยายามไม่กลั้นหายใจในขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อ

3. เพื่อไม่ให้หลังส่วนนั้นเคลื่อนไหวมากเกินต้องการ เฝือกพยุงหลังนั้นอาจใส่เพื่อลดการเคลื่อนไหวลง หรืออาจปรับให้ถึงกับเคลื่อนไหวไม่ได้เลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของแพทย์ผู้รักษา

4. เพื่อช่วยดัน หรือดึงให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ต้องการ เช่น การใส่เฝือกพยุงหลังในผู้ที่กระดูกสันหลังคด (scoliosis) หรือผู้ที่หลังโกง (kyphosis) เป็นต้น

5. ในหญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ ซึ่งครรภ์มีขนาดใหญ่มาก มักจะเกิดอาการปวดหลังได้มาก ๆ การใช้เฝือกพยุงเอวหิ้วท้องไว้จะช่วยได้มาก แต่จะต้องเป็นเฝือกชนิดที่ทำสำหรับคนท้องเป็นพิเศษ เป็นเฝือกที่ใช้ใส่เพื่อพยุง หรือหิ้วท้องไว้ ไม่ใช่ใส่เพื่อรัดท้อง หากใช้ผิดชนิดอาจเกิดอันตรายได้

เมื่อพิจารณาดูจุดมุ่งหมายในการใส่เฝือกพยุงหลัง หรือพยุงเอวแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าการใส่นั้นจำต้องใส่ให้แน่นมากพอ มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลตามต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ 1-4 ต้องรัดให้แน่นมากทีเดียว ผู้เขียนได้พบอยู่เสมอว่า ผู้ป่วยบ่นว่าแน่นเกินไปบ้าง อึดอัดบ้าง หายใจไม่ออกบ้าง ที่เกรงว่าใส่แล้วจะรับประทานอาหารไม่ได้ก็มี สรุปก็คือจะขอใส่ไว้เพียงหลวม ๆ โดยเข้าใจว่าขอให้ได้ใส่ไว้กับตัวแล้วโรคก็จะหายได้เอง

เฝือกพยุงหลังและเอวที่ใช้กันในวงการแพทย์ปัจจุบันนี้มีอยู่มากมาย N.Berger และ R.lusskin ได้รวบรวมไว้ว่ามีกว่า 40 ชนิด แต่ที่แพทย์มักจะสั่งใช้จริง ๆ นั้นมีไม่มากนัก สำหรับในประเทศไทยเรานี้ นิยมใช้กันเพียง 5-6 ชนิด และที่ใช้บ่อยก็มีเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น มีเฝือกอยู่หลายแบบที่ทำด้วยวัสดุจำพวกพลาสติค หรือฟองน้ำที่ค่อนข้างแข็งซึ่งนิยมในต่างประเทศ แต่ดูจะไม่เหมาะกับประเทศไทยเพราะมีอากาศร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยมักจะทนไม่ได้ ที่เหมาะกับบ้านเรา คือ พวกที่ทำด้วยผ้า (ควรเป็นผ้าฝ้ายหรือผสมฝ้าย) หรือโลหะเบาที่ออกแบบให้โปร่ง สมัยหนึ่งที่โรงพยาบาลศิริราชเคยใช้หนังวัวมาทำเฝือกพยุงตัวให้กับเด็กที่เป็นวัณโรคของกระดูกสันหลัง ซึ่งก็ให้ความมั่นคงแข็งแรงดี แต่ค่อนข้างร้อนและหนัก แม้จะได้เจาะรูเพื่อระบายอากาศและลดน้ำหนักแล้วก็ตาม ปัจจุบันเลิกวิธีเช่นนั้นหมดแล้ว

การเลือกชนิดของเฝือกพยุงหลังนั้นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยปกติแล้วเราจะทำเฝือกพยุงหลังให้กับผู้ป่วยต่อเมื่อมีใบสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และจะต้องจัดให้ตามที่แพทย์สั่งด้วย ส่วนผู้ป่วยนั้นเมื่อได้เฝือกพยุงหลังแล้วก็ควรนำไปให้แพทย์ผู้รักษาดูอีกครั้งว่าตรงตามที่สั่งหรือไม่ (โดยเฉพาะหากไปทำในสถานที่ ๆ ไม่มีแพทย์ประจำ) และแพทย์ผู้รักษาก็ควรจะต้องตรวจสอบให้ละเอียด รวมทั้งอธิบายวิธีถอด วิธีใส่ ตลอดจนกลไกของเฝือกและความจำเป็นที่ต้องใช้ให้ผู้ป่วยเข้าใจด้วย หากผู้ป่วยมีสิ่งใดที่สงสัยก็ควรซักถามให้กระจ่าง เช่น ใส่เวลาใดบ้าง ต้องใส่นานเท่าใด และต้องกลับมาให้ตรวจสอบอีกเมื่อไหร่ เป็นต้น ในกรณีที่เฝือกนั้นมีเหล็กสปริงเพื่อเสริมความแข็งแรงใส่ไว้ด้วย จะต้องกลับมาให้ตรวจสอบเป็นครั้งคราวว่าความโค้งยังถูกต้องอยู่หรือไม่ และหากใส่ไปแล้วเกิดความไม่พอดี เช่น กดเจ็บ หรือผิวหนังพองช้ำ ก็ควรรีบกลับไปแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะพวกที่ทำด้วยโลหะเบา หากส่วนโค้งที่ตัดไว้เกิดเปลี่ยนแปลงคลาดเคลื่อนไป นอกจากจะทำให้เจ็บหรือไม่กระชับแล้ว ยังอาจเป็นผลเสียต่อการรักษาได้ ปัญหารการใช้เฝือกพยุงเอวอย่างอ่อนที่พบเสมอคือ หลังจากใช้ไปได้ระยะหนึ่ง พุงยุบเล็กลงเฝือกพยุงเอวนั้นก็จะหลวม หากไม่ได้รับการแก้ไขยังคงใส่ไปทั้งหลวม ๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ควรรีบกลับไปแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะสามารถแก้ไขได้โดยไม่ยาก

เฝือกพยุงหลังหรือพยุงเอวก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ คือมีทั้งคุณและโทษ โทษของการใช้เฝือกพยุงหลังที่จะต้องระลึกไว้เสมอก็คือ การใส่ไว้ตลอดเป็นเวลานาน ๆ บางคนใส่นานเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี เกิดการติดเฝือกเหมือนติดเหล้าติดบุหรี่ คือเลิกใส่ไม่ได้เลย การติดเฝือกนี้เกิดได้จากสาเหตุ 2 ประการคือ

1. ทางด้านจิตใจ โดยมีความรู้สึกว่าเฝือกนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้กระดูกสันหลังมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ หากถอดเสียแล้วก็จะขาดความมั่นคงแข็งแรงไป แล้วก็จะปวดหลังอีกและจะมีอันตรายต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นพอเช้าขึ้นมาก็ขอคว้ามาใส่ไว้ก่อน ความจริงแล้วกระดูกสันหลังของเรานั้นจะมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ก็ด้วยเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบ การใส่เฝือกก็คือการไปช่วยกล้ามเนื้อทำงานนั่นเอง ดังนั้นหากเราสามารถออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และอยู่ในภาวะที่สมดุลแล้ว ก็ไม่จำต้องใช้เฝือกพยุงอีกต่อไป จริงอยู่ในระยะแรก ๆ ที่มีอาการปวดและกล้ามเนื้อเกร็งแข็งนั้น เฝือกนี้จะช่วยได้มาก แต่เมื่ออาการต่าง ๆ ทุเลาลงแล้ว ก็ควรรีบลงมือบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง กล้ามเนื้อที่แข็งแรงก็คือเฝือกธรรมชาติที่ดีที่สุดนั่นเอง ไม่ต้องถอด ไม่ต้องใส่ และไม่เปลืองเงินทองเพื่อซื้อหา แล้วยังเป็นเฝือกที่มีความทนทานที่สุดด้วย

2. ติดเฝือกนั้นจริง ๆ คือเอาออกไม่ได้ ถ้าถอดออกเมื่อใดก็จะเกิดอาการปวดเมื่อนั้น เป็นการปวดจริง ๆ ที่มิใช่คิดไปเอง ทั้งนี้เพราะใส่เฝือกนานเกินไปโดยมิได้มีการออกกำลังกล้ามเนื้อเลย กล้ามเนื้อที่ไม่ได้ทำงานมานานเหล่านี้ก็เลยเหี่ยวลีบเล็กและอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ซึ่งนับว่าเป็นผลร้ายอย่างยิ่ง ดังนั้นแพทย์ผู้สั่งใช้เฝือกพยุงหลังก็ดี หรือตัวผู้ป่วยเองก็ดี จะต้องระลึกไว้เสมอว่า เมื่อใดที่เราใส่เฝือกอยู่ เมื่อนั้นกล้ามเนื้อจะไม่ทำงาน หรือทำน้อยลงมาก ซึ่งมีผลให้เกิดความอ่อนแอของหลังได้ ดังนั้นเมื่อใส่เฝือกพออาการทุเลาลงแล้วจะต้องเริ่มบริหารกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่อยู่รอบหลังทันที โดยเริ่มจากน้อย ๆ แล้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ระยะแรกอาจใส่เฝือกให้น้อยชั่วโมงลงบ้าง และเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงพอก็ควรจะเลิกใส่ หรือใส่เฉพาะเวลาที่ต้องทำงานหนักเท่านั้น อย่างไรก็ตามวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการติดต่อสอบถามกับแพทย์ที่รักษาไว้เสมอ

ปวดหลัง-การออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดหลัง

ปวดหลัง-การออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดหลัง

ในการออกกำลังกายหรือบริหารร่างกายเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดหลังนั้น มีความแตกต่างกับการออกกำลังหรือบริหารร่างกายทั่ว ๆ ไปอยู่หลายประการ

เพราะจุดมุ่งหมายนั้นมิใช่เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่ความสมดุลของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับหลังทั้งหมด ดังนั้นการออกกำลังกายที่ผิดวิธีจึงมิเพียงแต่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ยังอาจเกิดเป็นโทษได้ด้วย เพราะไปทำให้เสียความสมดุลมากยิ่งขึ้น

มีผู้ที่ปวดหลังเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า หลังจากออกกำลังกายท่านั้นท่านี้แล้วกลับปวดหลังมากขึ้น ทั้งที่เพื่อนอีกคนหนึ่งเขาทำอย่างนี้เหมือนกัน แต่อาการปวดหลังของเขาดีขึ้นมาก สรุปก็คือการออกกำลังกายในผู้ที่มีอาการปวดหลังนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวมาก คือเอาอย่างกันไม่ได้ แต่จะต้องพิจารณาดูแต่ละคนว่า ความผิดปกติหรือสาเหตุนั้นอยู่ตรงไหน ควรแก้ที่จุดใดก่อน เช่น ผู้ที่มีกล้ามเนื้อทางด้านหลัง (ของกระดูกสันหลัง) กับกล้ามเนื้อทางด้านหน้า (กล้ามเนื้อหน้าท้อง) อ่อนแอพอ ๆ กัน การบริหารกล้ามเนื้อทั้ง 2 ส่วนนี้หนักเท่ากัน ให้ขึ้นมาแข็งแรงเท่า ๆ กันย่อมเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่ถ้าผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อทางด้านหลังที่แข็งแรงมากอยู่แล้ว แต่กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอและหย่อนยานมาก (เสียสมดุลมากอยู่แล้ว) การออกกำลังกายก็จะต้องมุ่งที่กล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรงมากที่สุด ส่วนกล้ามเนื้อทางด้านหลังนั้นยังไม่ต้องไปเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้นอีก เพราะจะทำให้เสียสมดุลยิ่งขึ้น แต่ควรจะต้องบริหารด้วยการยืด (stretching) ให้มากจึงจะถูกต้อง เปรียบเหมือนเสาสูงที่มีลวดสลิงดึงอยู่โดยรอบ จำต้องให้ลวดสลิงเหล่านี้มีความตึงเท่า ๆ กัน เสาจึงจะตั้งอยู่ได้ หากลวดสลิงด้านใดด้านหนึ่งหย่อนเกินไป หรือตึงเกินไป เสานั้นย่อมจะต้องเอียงโย้เย้ไปเป็นแน่ หลังของเราก็เช่นกัน กระดูกสันหลังทั้ง 24 อัน จะตั้งได้อย่างมั่นคงและอยู่ในแนวที่ปกติได้ จะต้องอาศัยกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและมีความสมดุลกันเท่านั้น

การจัดวางโปรแกรมเพื่อให้ผู้ที่ปวดหลังออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้อ จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์คือความรู้ (โดยเฉพาะกลศาสตร์ชีวภาพ) และศิลป

และที่สำคัญยิ่งก็คือจะต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ เพราะโปรแกรมการออกกำลังกายที่จัดให้นั้น อาจจะยังไม่เหมาะสมอย่างเต็มที่ เช่น มีบางท่าทำไปแล้วกลับเจ็บมากขึ้น ก็จะต้องนำกลับมาทบทวนดูใหม่ ว่ามีอะไรผิดพลาดหรือไม่ เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจนำไปปฏิบัติไม่ถูกต้องทั้งหมด หรืออาจเป็นเพราะตัวแพทย์เองมองข้ามบางสิ่งบางอย่างไปก็ได้

ในการออกกำลังกายเพื่อป้องกันหรือรักษาอาการปวดหลังนั้น อย่าลืมหลักสำคัญดังต่อไปนี้

1. ต้องปรึกษากับแพทย์ของท่าน และได้รับการตรวจร่างกายก่อนเสมอ แล้วแพทย์จึงจะจัดวางโปรแกรมให้ว่าควรออกกำลังกายท่าใด และงดเว้นท่าใด เพราะบางท่าอาจจะยังไม่เหมาะที่จะทำในเวลานั้นก็ได้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังปวดหลัง หรือเคยปวดหลังมาก่อน อย่าพยายามวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง หรือทำตามที่เพื่อนบอกกล่าว เพราะอาจเกิดผลร้ายได้

2. เมื่อตั้งใจว่าจะออกกำลังกายแล้ว จะต้องทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ วัน เหมือนเช่นที่เราต้องแปรงฟันทุกวัน ทั้งนายแพทย์ leon Root และนานแพทย์ Hans Kraus ต่างก็เน้นในเรื่องนี้มากว่าต้องทำทุก ๆ วัน ถึงกับกล่าวว่า หากคิดว่าจะทำทุกวันไม่ได้แล้ว อย่าเริ่มต้นทำเสียเลยจะดีกว่า ส่วน Marjorie Jaffe นักกายภาพบำบัดผู้มีประสบการณ์ในเรื่องปวดหลังมานาน ก็ให้ความเห็นว่าควรทำทุกวัน หากมีความจำเป็นทำเต็มเวลาไม่ได้ ทำสักครึ่งเวลาก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย

3. การออกกำลังกายนั้นจะทำเวลาใดก็ได้ที่สะดวก แต่ต้องให้มีเวลาพอ ไม่ควรทำอย่างรีบเร่งมาก เพราะจะเกิดเป็นความเครียด หากเวลามีน้อยควรทำน้อยท่าลง หรือทำแต่ละท่าด้วยเวลาที่น้อยลง อย่าเร่งรีบทำ เพราะหากมีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว จะมีผลเสียมากกว่าดี ควรกันเวลาไว้วันละประมาณ 20-30 นาทีทุก ๆ วัน ไม่ควรอ้างว่าไม่มีเวลา เพราะการสละเวลาเพียงวันละเท่านี้เพื่อสุขภาพของตนเองนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด

4. ออกกำลังกายด้วยท่าที่ง่ายและเบา ๆ ก่อนเสมอ แล้วจึงไปท่าที่หนักมากขึ้น เป็นการอุ่นร่างกายหรือ warm up ไปในตัว ในวันแรก ๆ อย่าได้หักโหมทำมากจนปวดกล้ามเนื้อ หรือเมื่อยล้าจนเกินไป ให้ค่อยทำค่อยไป และต้องคอยสังเกตอาการตอบโต้ของร่างกายเสมอ หากมีท่าใดที่ทำแล้วปวดเมื่อยมาก หรือเจ็บมากขึ้น ต้องหยุดไว้ก่อนแล้วปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

5. การออกกำลังกายทุก ๆ ท่า ควรทำอย่างมีสมาธิ ให้นึกถึงกล้ามเนื้อที่กำลังทำงานอยู่ ไม่ใช่ตัวออกกำลังกายไป แต่ใจไปนึกถึงเรื่องงาน เรื่องค้าขาย เรื่องแชร์ เรื่องเรียนของลูก หรือปัญหารกสมองอื่น ๆ และในการเคลื่อนไหวนั้น ต้องทำอย่างช้า ๆ นุ่มนวล อย่าทำด้วยจังหวะที่เร็วมากเกินไปจนเป็นกระตุก (jerky movement) ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์น้อยแล้ว ยังอาจเกิดเป็นโทษได้ด้วย

6. ในขณะที่ทำท่าต่าง ๆ นั้น อย่ากลั้นหายใจ โดยเฉพาะท่าที่ต้องเกร็งค้างไว้แล้วนับ หรือแบบไอโซเมตริค มักจะเผลอกลั้นหายใจกันเป็นส่วนมาก ซึ่งจะมีผลเสียจาก Valsalva effect วิธีป้องกันการกลั้นหายใจที่ดีที่สุดคือ การนับออกมาดัง ๆ เช่น นับ 1-5 ดัง ๆ จะทำให้หยุดกลั้นหายใจไปเองโดยอัตโนมัติ

7. การหายใจระหว่างที่กำลังออกกำลังกายนั้น ควรหายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในปอดให้ได้มากที่สุด และให้หายใจเข้าทางจมูก แต่ให้หายใจออกทางปาก

8. ผู้ปวดหลังที่มีปัญหาของข้อเข่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือแม้ไม่สูงอายุก็ตาม แต่ถ้าข้อหัวเข่าไม่ดี เช่น มีเจ็บข้อเข่า หรือข้อเข่าไม่มีแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกับพื้น เพราะจะมีปัญหาได้เวลาลงนั่งหรือลุกขึ้น โดยเฉพาะเวลาจะลุกขึ้นยืนนั้นจะเจ็บข้อเข่าหรืออาจถึงล้มลงได้ ควรที่จะนอนทำบนเตียงเตี้ย ๆ ที่จะลุกนั่งได้โดยสะดวก สำหรับผู้ที่ต้องการนอนทำกับพื้นนั้น ควรมีที่นอนบาง ๆ เนื้อแน่นปูรองไว้ จะได้เคลื่อนไหวได้สบายโดยไม่เจ็บตามปุ่มกระดูก

ท่าในการออกกำลังกาย การออกกำลังกายนั้นอาจทำได้หลายท่า เช่น ท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน แต่ท่าที่ทำกันมาก โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลังก็คือท่านอน เพราะท่านอนเป็นท่าที่ร่างกายผ่อนคลายมากที่สุด และเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกสันหลังรับแรงกดน้อยที่สุดด้วย การนอนออกกำลังกายนั้นอาจทำได้ทั้งท่านอนหงาย นอนตะแคง และนอนคว่ำ

1. ท่านอนหงาย (supine) ในการนอนหงายนี้ นิยมทำกัน 2 อย่างคือ

1.1 ท่านอนหงายเหยียดขาตรงทั้ง 2 ข้าง (backlying) 
คือ นอนราบกับพื้น ข้อเข่าและข้อสะโพกเหยียดตรง แขนและมือทั้ง 2 อยู่ข้างลำตัว (มือคว่ำลงกับพื้น) หรือแขนอาจกางออกเพื่อความมั่นคงของร่างกายส่วนบนก็ได้ เช่น ออกกำลังในท่าที่ต้องยกขา หรือบิดเอี้ยวลำตัว

การนอนหงายโดยเหยียดขาตรงทั้ง 2 ข้างนี้ มักทำให้หลังแอ่นมากขึ้น หรือเป็นการเพิ่มโค้งลอร์โดติค ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในผู้ที่มีอาการปวดหลัง

1.2 ท่านอนหงายชันเข่า (hooklying หรือ crooklying) 
นอนหงายคล้ายท่าแรก แต่งอข้อสะโพกและข้อเข่า (ข้อเข่างอราว 90 องศา) เท้าทั้ง 2 วางราบกับพื้น ห่างกันเล็กน้อย ท่านี้เป็นท่าที่ใช้มากในการออกกำลังของผู้ที่ปวดหลัง โดยเฉพาะเมื่อต้องการออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ต้องการให้กล้ามเนื้อหน้าท้องได้ทำงานจริง ๆ เพราะการงอข้อสะโพกเข้ามานี้ นอกจากช่วยลดโค้งลอร์โดติคแล้ว ยังทำให้กล้ามเนื้ออิลิโอโซแอส (ซึ่งมีหน้าที่งอต้นขามาข้างหน้า หรือช่วยยกลำตัวขึ้นนั่งในท่าที่นอนหงายอยู่) ไม่เข้ามาร่วมทำงานด้วย กล้ามเนื้อหน้าท้องจึงได้ทำงานเต็มที่

สำหรับแขนทั้ง 2 ข้างนั้นโดยปกติจะวางไว้ข้างลำตัว แต่ถ้าเป็นการออกกำลังในท่าที่นอนหงายและเกร็งตัวลุกขึ้นนั่ง (หรือเกือบจะนั่ง) ตำแหน่งของแขนทั้ง 2 ข้างนี้อาจช่วยเปลี่ยนความยากง่ายของการลุกขึ้นนั่งได้ เช่น ถ้าพยายามเกร็งตัวลุกขึ้นนั่งในท่าที่แขนทั้ง 2 เหยียดตรงมาข้างหน้า (ยื่นมาทางหัวเข่า) จะทำได้ง่ายกว่าท่าที่มือกอดอก และจะยากยิ่งขึ้นถ้าเอามือทั้ง 2 ข้างไปประสานกันไว้ที่ด้านหลังของศีรษะ ทั้งนี้ก็เพราะน้ำหนักของแขนและมือทั้ง 2 นั่นเอง คือ ถ้าแขนและมือยิ่งเลื่อนออกไปทางศีรษะมากขึ้น (น้ำหนักออกห่างจากจุดหมุนมากขึ้น) แรงที่จะต้องกระทำเพื่อต่อต้านกับแรงดึงดูดของโลกก็จะมากยิ่งขึ้นด้วย

ในท่าที่นอนหงายนี้บางคนอาจรู้สึกไม่สบาย เนื่องจากคอแอ่นมาก ถ้ารู้สึกเช่นนั้นก็ควรหาหมอนเตี้ย ๆ หนุนศีรษะจนรู้สึกว่าสบาย

2. ท่านอนตะแคง (sidelying) เป็นท่าที่ใช้ไม่บ่อยนัก โดยนอนตะแคงทางด้านใดด้านหนึ่ง ขาทั้ง 2 เหยียดตรง จะเห็นได้ว่าการนอนท่านี้ฐานที่รองรับร่างกายค่อนข้างแคบ จึงขาดความมั่นคง ดังนั้นจึงนิยมที่งอขาที่อยู่ด้านล่าง เพื่อให้ฐานที่รองรับมั่นคงขึ้น และลดโค้งลอร์โดติคของเอวด้วย บางคนชอบงอแขนมาหนุนศีรษะ ซึ่งก็เป็นการทำให้ฐานตอนบนกว้างขึ้นเช่นกัน การนอนตะแคงนี้มักใช้ในท่าออกกำลังกล้ามเนื้อขาและกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก เพราะเป็นท่าที่ขาข้างที่อยู่ด้านบนจะเคลื่อนไหวได้มากที่สุดท่าหนึ่ง

3. ท่านอนคว่ำ (prone หรือ facelying) เป็นท่าที่ใช้ไม่มากนัก โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการปวดหลังเราไม่นิยมให้นอนท่านี้อยู่แล้ว ดังนั้นหากต้องการออกกำลังกล้ามเนื้อหลังในท่านี้ จะต้องมีหมอนที่หนาพอควรมาหนุนใต้ท้องและเชิงกราน เพื่อป้องกันไม่ให้หลังแอ่นมาก (หรือเพิ่มโค้งลอร์โดติค) เป็นที่น่าสังเกตว่าในการออกกำลังของพวกปฏิบัติโยคะนั้น มีหลายท่าที่ให้แอ่นหลังมาก ๆ หากผู้ทำเป็นผู้ที่ไม่มีปัญหาของหลังก็คงจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้มีปัญหาปวดหลังอยู่แล้วไม่น่าจะเป็นท่าที่ดี สำหรับศีรษะนั้นในท่าที่นอนคว่ำนี้อาจต้องตะแคงศีรษะไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งก็เป็นท่าที่ไม่ดีสำหรับกระดูกคอมากนัก บางคนจึงใช้หมอนหนุนที่หน้าผาก หรือใช้มือทั้ง 2 มาประสานกันรองรับหน้าผากไว้ก็ได้ ในปัจจุบันมีหมอนสำหรับนอนคว่ำเพื่อออกกำลังในท่านี้ ทำเป็นหลุมคล้ายโดนัท หรือบางสถานที่จะทำเป็นเตียงแบบมีหลุมให้เอาหน้าซุกลงไปได้

สำหรับท่านั่งออกกำลังกายนั้น นิยมนั่งกันอยู่ 3 ท่าคือ

1. นั่งเหยียดขาตรงออกไปข้างหน้าทั้ง 2 ข้าง (long sitting) 
การนั่งท่านี้ไม่นิยมนั่งตัวตรงตั้งฉากกับพื้น เพราะทางด้านหลังของต้นขาจะตึงมากด้วยกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์ที่รั้งอยู่ หลาย ๆ คนจะนั่งเหยียดขาหลังตรงไม่ได้ การนั่งจึงมักนั่งให้ตัวเอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย และใช้มือทั้ง 2 ยันไว้ทางด้านหลัง

2. นั่งชันเข่า เท้าวางราบกับพื้น (hook sitting) 
คล้ายกับท่าแรกแต่งอเข่าและข้อสะโพกเข้ามา (เข่างอประมาณ 90 องศา) ตัวเอนมาทางด้านหลังและมือทั้ง 2 ยันไว้ทางด้านหลังเช่นเดียวกับท่าแรก

3. นั่งขัดสมาธิ (cross legs sitting หรือ Indian sitting) 
เป็นท่านั่งที่คนไทยเรารู้จักดีและนั่งเป็นกันเกือบทุกคน (โดยเฉพาะผู้ชาย) การนั่งขัดสมาธินี้ต้องนั่งตัวตรง หลังตรง มืออาจกอดอก หรือวางไว้บนตัก หรือที่เข่าทั้ง 2 ก็ได้ การนั่งท่านี้จะไม่มีปัญหาการตึงทางด้านหลังของต้นขา เพราะการงอข้อเข่าทำให้กล้ามเนื้อแฮมสตริงส์หย่อนมาก อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่เจ็บข้อเข่า หรือข้อเข่าไม่ดี ไม่ควรนั่งท่านี้

สำหรับท่ายืนออกกำลังกายนั้น ไม่มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ นิยมที่จะยืนให้เท้าทั้ง 2 ข้างห่างกันประมาณเท่าความกว้างของช่วงไหล่ หรือถ้าต้องการความมั่นคงมากก็อาจกางขามากกว่านี้เล็กน้อย ส่วนเท้านั้นอาจวางให้ขนานกัน หรือปลายเท้าหันออกประมาณ 10-15 องศาก็ได้

ในการออกกำลังกายหรือบริหารกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดหลังนั้น ควรเริ่มด้วยท่าผ่อนคลายความเครียด และท่าอุ่นร่างกาย (warm up) ก่อนเสมอ (ท่าที่ 1 และ 2)

ท่าที่ 1 นอนหงาย ชันเข่า เท้าทั้ง 2 วางราบกับพื้นและห่างกันเล็กน้อย ศีรษะจะหนุนหมอนเตี้ย ๆ หรือไม่หนุนก็ได้แล้วแต่ชอบ มือทั้ง 2 วางบนหน้าท้อง ทำใจให้สงบและสบายที่สุดละความกังวลทั้งหลาย หลับตา หรือถ้าลืมตาก็ให้มองที่มือ (ถ้าพุงโตจะเห็นมือได้ง่าย) หรือที่เข่า อย่ามองเพดาน สูดหายใจเข้าช้า ๆ (ทางจมูก) แล้วหายใจออกช้า ๆ (ทางปาก ไม่ต้องอ้ากว้างมาก ห่อปากพอให้ลมออกได้เท่านั้น) ความคิดทั้งหลายให้รวมอยู่ที่มือทั้ง 2 ที่วางอยู่บนหน้าท้องที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามจังหวะการหายใจ หายใจเข้าออกช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ จนครบ 10 ครั้ง (เข้า 10 ครั้ง ออก 10 ครั้ง) จากนั้นหันศีรษะไปทางซ้ายช้า ๆ จนสุด แล้วหันกลับมาทางขวาช้า ๆ จนสุดเช่นกัน การหันนี้ให้หันอย่างช้า ๆ และอย่าเกร็ง ทำข้างละ 5 ครั้ง ถ้าหันไม่ถนัดเพราะหนุนหมอนก็เอาหมอนออกเสียก่อน ต่อไปยกไหล่ทั้ง 2 ขึ้นหาใบหูช้า ๆ แล้วเอาลง สลับกับการห่อไหล่เข้ามาช้า ๆ และแบะไหล่ออกช้า ๆ ให้ทำอย่างละ 5 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เป็นท่าเริ่มเพื่อรวบรวมสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และเริ่มอุ่นร่างกายด้วย

ท่าที่ 2 นอนหงาย ชันเข่า เท้าวางราบกับพื้น มืออยู่ 2 ข้างลำตัว งอเข่าขวามาทางศีรษะให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วเหยียดขาตรงออกไปจนวางราบกับพื้น แล้วจึงงอเข่ากลับมาสู่ท่าตั้งต้น จากนั้นเปลี่ยนมาทำกับขาข้างซ้ายอย่างเดียวกัน ทำอย่างนี้สลับกันข้างละ 10 ครั้ง จากนั้นให้ทำทั้ง 2 ขาพร้อม ๆ กันอีก 5 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่ออุ่นร่างกายส่วนล่าง และยืดกล้ามเนื้อหลังอย่างเบา ๆ (ถ้ายืดแรงจะใช้มือดึงเข้ามาเต็มที่ ซึ่งจะมีทำในท่าต่อ ๆ ไป)

เมื่อได้ตั้งสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และอุ่นร่างกายในท่าที่ 1 และ 2 แล้ว ต่อไปจะเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อแต่ละส่วน ซึ่งจะมีทั้งที่ทำให้แข็งแรงมากขึ้น (strengthening exercise) และที่ยืดให้ยาวออก (stretching exercise) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุล

กล้ามเนื้อสำคัญที่มักจะอยู่ในสภาพที่อ่อนแอหรือหย่อนยานในผู้ที่มีอาการปวดหลังทั่ว ๆ ไป ก็คือกล้ามเนื้อหน้าท้อง การออกกำลังจึงมุ่งที่จะทำให้กล้ามเนื้อกลุ่มนี้แข็งแรงมากขึ้น เพราะเมื่อแข็งแรงแล้วก็จะช่วยดึงกระดูกเชิงกรานให้หงายขึ้นบนได้ อันเป็นการลดโค้งลอร์โดติคให้น้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถเบ่งเพื่อเพิ่มแรงดันภายในช่องท้องได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

การออกกำลังกายใน 5 ท่าต่อไปนี้ จะเป็นท่าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

ท่าที่ 3 นอนหงาย ชันเข่า เท้าวางราบกับพื้น มืออยู่ 2 ข้างลำตัว หรือประสานกันไว้หลังศีรษะ หายใจเข้าพร้อมกับแขม่วท้องเข้าให้เต็มที่ เกร็งก้นให้หลังส่วนเอวกดลงบนพื้นให้มากทึ่สุด ถ้าสงสัยว่าหลังจะกดพื้นมากหรือไม่ อาจใช้ฝ่ามือสอดเข้าไปดูก็ได้ การเกร็งท่านี้ก้นจะยกขึ้นเล็กน้อยโดยอัตโนมัติ พยายามอย่าให้ก้นลอยมาก หลายคนพอเกร็งท่านี้แล้วมักจะกลั้นหายใจซึ่งไม่ถูกต้อง ควรหายใจไปเรื่อย ๆ พร้อมกับนับ 1-5 ช้า ๆ แล้วจึงผ่อนคลายกลับสู่ท่าตั้งต้นทำซ้ำ 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อให้กระดูกเชิงกรานหงายขึ้น (posterior pelvic rotation หรือ upward pelvic rotation หรือ upward pelvic tilt) พร้อมกันนั้นก็ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกคือกลูเตียสแมกซิมัส และกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมัดที่อยู่ตามขวาง คือ ทรานสเวอร์ส แอบโดมินิส

ท่าที่ 4 นอนหงาย ชันเข่า เท้าวางราบกับพื้น แขนอยู่ 2 ข้างลำตัว จากนั้นเกร็งกล้ามเนื้อท้องยกไหล่และศีรษะให้พ้นจากพื้นพร้อมกับยกแขนเหยียดให้มือยื่นไปที่เข่า เกร็งไว้นับ 1-5 ช้า ๆ (อย่ากลั้นหายใจ) แล้วกลับสู่ท่าเดิม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง โดยอาจเริ่มด้วย 5 ครั้งก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเป็น 10 ครั้ง คนที่กล้ามเนื้อหน้าท้องยังอ่อนแอมากอาจทำลำบาก

จุดประสงค์ 
เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้อง ท่านี้เป็นท่าออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่กระทบกระเทือนต่อหมอนรองกระดูกสันหลังน้อยที่สุด

ท่าที่ 5 ทุกอย่างเหมือนท่าที่ 4 แต่จะเกร็งยกตัวเลยขึ้นมาจนเป็นท่านั่ง (sit up) ท่านี้อาจต้องมีผู้ช่วยจับเท้ากดไว้ หรือสอนเท้าเข้าใต้ตู้หรือโต๊ะที่หนัก ๆ

ในการออกกำลังท่าที่ 4 และท่าที่ 5 นี้ อาจดัดแปลงให้แตกต่างกันได้ 3 วิธีคือ

1. ทำโดยเหยียดแขนตรงมาทางข้อเข่า ท่านี้จะเบาแรงและทำได้ง่ายที่สุด
2. ทำในท่ามือกอดอก ท่านี้จะยกลำตัวขึ้นยากกว่าท่าแรกเล็กน้อย
3. ทำในท่ามือทั้ง 2 ประสานกันไว้ที่ด้านหลังของศีรษะเป็นท่าที่หนักแรงที่สุด เพราะน้ำหนักที่จะต้องยกขึ้นนั้นบางส่วน (แขนมือ) เลื่อนห่างจากจุดหมุนออกไปมากขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องจึงต้องออกแรงทำงานหนักมากขึ้นด้วย ในการทำควรเริ่มด้วยท่าที่เบาแรงก่อน เมื่อแข็งแรงขึ้นแล้ว จึงเปลี่ยนตำแหน่งของแขนเป็นท่าที่ยากขึ้น

การนอนแล้วเกร็งตัวลุกขึ้นนั่งเพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องนี้ ควรทำในท่าชันเข่าเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อ อิลิโอโซแอส (ซึ่งมีหน้าที่ทั้งงอข้อสะโพกและยกลำตัวจากท่านอน) เข้ามาร่วมทำงานด้วย กล้ามเนื้อหน้าท้องจะได้ออกกำลังเต็มที่ แต่ถ้ามีความประสงค์ต้องการจะออกกำลังให้กล้ามเนื้ออิลิโอโซแอสแข็งแรงด้วย ก็ทำในท่าเหยียดเข่าได้ แต่ในแง่ของกลศาสตร์ชีวภาพแล้วไม่เหมาะกับผู้ที่ปวดหลัง เพราะกล้ามเนื้อมัดนี้มักแข็งแรงเกินดุลอยู่แล้ว หากแข็งแรงมากยิ่งขึ้นหรือมากเกินกลุ่มตรงกันข้าม จะทำให้โค้งลอร์โดติคเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเสียต่อผู้ปวดหลัง

จุดประสงค์ 
ท่านอนแล้วเกร็งตัวลุกขึ้นนั่ง หรือท่าซิทอัพนี้เป็นท่าออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ดีที่สุด และเป็นที่นิยมกันมานาน แต่หลังจากการศึกษาของนายแพทย์ Nachemson พบว่าการออกกำลังในท่านี้ ไม่ว่าจะทำในท่างอเข่าหรือเหยียดเข่าก็ตาม ล้วนแต่ทำให้แรงดันในหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งสิ้น ระยะหลังนี้จึงมีผู้ระวังในเรื่องนี้มาก หากเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง ท่าที่ 4 จะเหมาะกว่า คือเกร็งพอให้ไหล่พ้นพื้นเท่านั้น แต่หากต้องการทำท่าที่ 5 นี้ก็ควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลก่อน

ท่าที่ 6 เหมือนกับที่ 5 แต่ทำกลับกัน คือแทนที่จะนอนแล้วลุกขึ้นนั่ง ก็ให้นั่งก่อนแล้วจึงเอนตัวลงนอน ทั้งนี้เพราะบางคนนอนแล้วเกร็งตัวลุกขึ้นนั่งไม่ไหว ท่านี้ให้เริ่มด้วยการนั่งชันเข่า แขนทั้ง 2 เหยียดไปข้างหน้า คือเหมือนตอนสุดท้ายของท่าที่ 5 จากนั้นจึงค่อย ๆ เอนตัวลงช้า ๆ โดยเกร็งกล้ามเนื้อท้องขืนไว้ การทำงานของกล้ามเนื้อท้องในท่านี้จึงเป็นการหดตัวแบบยืดออก หรือ eccentric contraction ส่วนท่าที่นอนแล้วลุกขึ้นนั่งนั้น กล้ามเนื้อหดตัวแบบสั้นเข้า หรือ concentric contraction อย่างไรก็ตามการเอนตัวลงนั้นต้องพยายามลงให้ช้า ๆ ไม่ใช่หงายลงมาทันทีเพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องจะยังไม่ทันได้ทำงาน

จุดประสงค์ 
เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้อง เหมือนท่าที่ 5 แต่ง่ายกว่า

ท่าที่ 7 นอนหงาย ชันเข่า เท้าราบกับพื้น มือทั้ง 2 ประสานกันไว้หลังศีรษะ เกร็งตัวลุกขึ้นนั่งโดยเอี้ยวตัวขึ้น ให้ศอกข้างขวาไปจรดกับเข่าข้างซ้าย นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วกลับสู่ท่าตั้งต้น จากนั้นเกร็งตัวลุกขึ้นใหม่โดยเอี้ยวตัวให้ศอกซ้ายจรดเข่าขวาบ้าง ทำสลับกันเช่นนี้ข้างละ 5-10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อเอ็กซเตอร์นัล ออบลีก และอินเตอร์นัล ออบลีก

ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง ไม่จำเป็นต้องเกร็งจนลุกขึ้นมานั่ง แต่เกร็งตัวเอี้ยวไปทางซ้ายและขวาเพียงให้ไหล่พ้นพื้น แล้วนับ 1-5 ช้า ๆ คล้ายกับที่ที่ 4 ก็พอ

มีผู้ที่ปวดหลังจำนวนมากที่มักจะเสียความสมดุลโดยที่กล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อนและอ่อนแอ แต่กล้ามเนื้อทางด้านหลังกลับแข็งแรงและตึงมาก ดังนั้นนอกจากจะออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรงขึ้นแล้ว ยังจะต้องพยายามยืดกล้ามเนื้อทางด้านหลังให้ยาวออกเท่าปกติด้วย ในอีก 3 ท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นท่าที่ยืดกล้ามเนื้อทางด้านหลังของลำตัว

ท่าที่ 8 จากท่ามาตรฐานคือนอนหงาย ชันเข่า ค่อย ๆ งอข้อสะโพกและเข่าทั้ง 2 ข้างมาทางศีรษะให้มากที่สุด จากนั้นใช้มือทั้ง 2 โอบเข่าทั้ง 2 ดึงเข้ามากดกับหน้าอกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วปล่อยมือสักครู่ จากนั้นดึงเข้ามาใหม่ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่านี้อาจดัดแปลงโดยขณะที่ดึงขาเข้ามานั้น ให้เกร็งไหล่และคอขึ้นมาหาหัวเข่า คล้ายกับจะจูบเข่าก็ได้ จะได้ยืดกล้ามเนื้อหลังตอนบน และได้ออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วย

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อทางด้านหลังของลำตัว นายแพทย์ Lan Macnab แนะนำให้ใช้ท่านี้ โดยมีหมอนหนุนที่ศีรษะและให้ทำอย่างช้า ๆ ว่าเป็นท่าที่จะช่วยคลายความเครียด หรือการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง ในผู้ที่มีอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี จะทำในท่านอนหงาย หรือนอนตะแคงก็ได้

ท่าที่ 9 เปลี่ยนมาเป็นท่านั่งทำ ถ้าเป็นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่า ควรนั่งทำบนเก้าอี้ที่มีความสูงพอดี เท้าวางราบกับพื้น และห่างกันเล็กน้อย ค่อย ๆ ก้มตัวและศีรษะลงมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนรู้สึกตึงทางด้านหลัง นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วกลับมานั่งตัวตรงสักครู่ แล้วจึงก้มลงอีก ทำซ้ำ 10 ครั้ง ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเข่า จะนั่งขัดสมาธิทำกับพื้นก็ได้

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อหลัง ถ้านั่งทำกับพื้นในท่าเหยียดขาจรง จะได้ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังของต้นขาด้วย

ท่าที่ 10 เปลี่ยนเป็นท่าคุกเข่า ข้อสะโพกงอ 90 องศา มือทั้ง 2 เท้าพื้นห่างกันเท่าช่วงไหล่หน้าแหงนมองไปข้างหน้า จากนั้นก้มศีรษะลงพร้อมกับแขม่วท้องและโก่งหลังให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ คล้ายกับท่าโก่งหลังของแมว จึงเรียกท่านี้ว่า ท่าหลังแมว (cat back) นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วกลับสู่ท่าตั้งต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อด้านหลังของลำตัว และออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วย

กล้ามเนื้อที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับหลังอีกกลุ่มหนึ่งคือ กล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพก คือ กลูเตียส แมกซิมัส และแฮมสตริงส์ กล้ามเนื้อทั้ง 2 นี้จะช่วยดึงให้กระดูกเชิงกรานหงายขึ้นได้ ยิ่งถ้าได้ทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อหน้าท้องจะยิ่งได้ผลมาก อย่างไรก็ตามหากกล้ามเนื้อนี้แข็งแรงมาก แต่ยืดออกไม่ได้เท่าปกติก็จะมีปัญหาได้เพราะเสียสมดุล ผู้ที่ยืนในท่าเข่าเหยียดตรงแล้วก้มลงเอาปลายนิ้วมือแตะนิ้วเท้าไม่ถึงนั้น ก็เพราะกล้ามเนื้อนี้ตึงมากเกินไป บางคนห่างตั้งคืบกว่าแสดงว่าตึงมากเป็นผลเสียต่อหลังได้ นายแพทย์ Hans Kraus และแพทย์หญิง Sonya Weber ซึ่งได้ร่วมกันบุกเบิกเรื่องเกี่ยวกับการปวดหลังในสหรัฐอเมริกามานาน ได้ตั้งสูตรสำหรับทดสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับหลัง คือ Kraus-Weber test หรือ K-W test ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 ท่า และท่าสุดท้ายของการทดสอบก็คือ ให้ยืนตัวตรง เข่าเหยียดตรง แล้วก้มตัวลงเอานิ้วมือจรดปลายเท้า ใครที่ทำไม่ได้ถือว่าไม่ผ่านการทดสอบนี้ เพราะมีกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกและกล้ามเนื้อหลังตึงมากกว่าปกติ เป็นสาเหตุของการปวดหลังได้ สรุปว่ากล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกนี้จะต้องแข็งแรงด้วย และยืดออกเท่าปกติด้วย

ในอีก 3 ท่าต่อไปนี้ (ท่าที่ 11-13) จะเป็นท่าที่ทำเพื่อยืดกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพก และกล้ามเนื้อทางด้านหลังของต้นขา (กลูเตียส แมกซิมัส และแฮมสตริงส์) ซึ่งจะทำได้ทั้งในท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน

ท่าที่ 11 นอนหงาย ชันเข่า เท้าวางราบกับพื้น แขนอยู่ข้างลำตัว งอเข่ามาทางศีรษะ จากนั้นค่อย ๆ เหยียดข้อเข่าให้ปลายเท้าชี้ขึ้นเพดาน พยายามเหยียดข้อเข่าให้ตรงที่สุดเท่าที่จะตรงได้ จนรู้สึกตึงด้านหลังของต้นขาเป็นอย่างมาก นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วเอาลง การออกกำลังยืดกล้ามเนื้อในท่านี้ อาจเริ่มด้วยการทำทีละข้างสลับกัน เมื่อยืดได้ดีขึ้นแล้วจะทำพร้อมกันทั้ง 2 ขาก็ได้ ถ้าทำทีละข้างให้ทำข้างละ 10 ครั้ง หรือทำทั้ง 2 ขาพร้อมกัน 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพก และได้ออกกำลังกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา คือกล้ามเนื้อควอดไดรเซปส์ด้วย

ท่าที่ 12 นั่งเหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้ง 2 ข้าง เท้าห่างกันประมาณความกว้างของช่วงไหล่ ค่อย ๆ โน้มตัวลงไปทางด้านหน้า แขนทั้ง 2 เหยียดไปที่ปลายเท้าข้างขวา พยายามยื่นไปให้ใกล้นิ้วเท้ามากที่สุดที่จะมากได้ ถ้าเลยไปได้ก็ยิ่งดี แสดงว่ากล้ามเนื้อยืดได้ดีมาก แล้วนับ 1-5 ช้า ๆ กลับขึ้นมาสู่ท่าตั้งต้น แล้วก้มลงใหม่แต่เปลี่ยนมือไปที่เท้าข้างซ้าย ทำสลับกันเช่นนี้ 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพก และกล้ามเนื้อหลัง และได้ออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วย

ในการนั่งยืดกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์นี้ มีบางตำราแนะนำให้ทำโดยงอเข่าไว้ข้างหนึ่ง กล่าวว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้หลังได้รับอันตราย และเรียกการทำท่านี้ว่า protective hamstrings stretching exercise ซึ่งถ้าพิจารณาตามกลศาสตร์ชีวภาพแล้วจะเห็นว่า หากงอข้อสะโพก และเข่า (ชันเข่า) เสียข้างหนึ่งแล้ว จะเป็นการยืดกล้ามเนื้อหลังมากกว่ากล้ามเนื้อแฮมสตริงส์ ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์เกาะจากปุ่มกระดูกอิสเคี่ยมของกระดูกเชิงกราน ซึ่งอยู่ทางด้านหลังไปเกาะที่ตอนบนของกระดูกหน้าแข้ง (กระดูกทิเบีย) ทางด้านหลังเช่นกัน การงอข้อสะโพกไว้นั้นเท่ากับตรึงไม่ให้กระดูกเชิงกรานเคลื่อนไหวมาก หรือไม่ให้เคลื่อนไหวเลย ส่วนขาที่วางอยู่กับพื้นนั้นก็ไม่เคลื่อนไหวอยู่แล้ว ดังนั้นแม้จะก้มตัวขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างไรก็คงจะยืดกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์ไม่ได้มากนัก หรือเกือบไม่ได้เลย นอกจากเป็นผู้ที่กล้ามเนื้อนี้ตึงมาก ก็อาจได้รับการยืดบ้าง แต่ก็จากการเคลื่อนไหวของข้อเข่ามากกว่าการก้ม ๆ เงย ๆ ที่หลัง สำหรับการกลัวว่ากล้ามเนื้อนี้จะได้รับการยืดมากเกินไปนั้น ผู้เขียนคิดว่าไม่น่ากลัว เพราะความตึงและความเจ็บจะเป็นตัวป้องกันอยู่แล้ว ถ้าได้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจก็คงจะไม่เกิดอันตรายขึ้น หรือถ้าไม่แน่ใจก็กลับไปทำท่าที่ 11 จะดีกว่า เพราะการนั่งยืดโดยชันเข่าข้างหนึ่งนั้น ผู้เขียนเองได้พยายามลองหลายครั้งรู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นท่าที่ดีเลย

ท่าที่ 13 เป็นท่ายืน เริ่มด้วยยืนตัวตรง เท้าห่างกันเท่าความกว้างของช่วงไหล่ เหยียดแขนทั้ง 2 ขึ้นเหนือศีรษะแล้วก้มตัวลงช้า ๆ พยายามใช้ข้อสะโพกให้มาก อย่างอแต่เพียงหลัง เข่าทั้ง 2 ข้างต้องตึง พยายามให้ปลายนิ้วมือไปใกล้นิ้วเท้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าเลยไปจนฝ่ามือแตะพื้นได้แสดงว่ากล้ามเนื้อด้านหลังยืดได้ดีมาก นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วกลับสู่ท่าตั้งต้น ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง อาจสังเกตว่าครั้งหลัง ๆ ลงได้มากขึ้น สำหรับผู้ที่นิ้วมือยังห่างนิ้วเท้ามากนั้น อย่าได้ท้อแท้ใจ จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองพบว่า กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ยืดได้ค่อนข้างง่าย ทั้งที่ตอนแรกห่างตั้งคืบ แต่ตั้งใจทำเพียงไม่กี่วันก็ลงได้ถึง ข้อที่ต้องระวังก็คือ เมื่อทำได้ถึงแล้ว หยุดไปเพียงไม่กี่วันก็จะตึงและลงไม่ถึงอีก ดังนั้นจึงต้องหมั่นยืดไว้เสมอ

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์ กล้ามเนื้อกลูเตียส และกล้ามเนื้อหลัง

ข้อพึงระวัง การยืดกล้ามเนื้อทั้ง 3 ท่านี้ (ท่าที่ 11-13) จะต้องทำอย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ใช้ในการยืดกล้ามเนื้อทุกมัด ผู้ที่กำลังมีอาการปวดหลังอยู่ไม่ควรทำ หรือแม้ไม่มีอาการ แต่ถ้าทำแล้วเกิดปวดก็ต้องหยุดและปรึกษาแพทย์

มีท่ายืดกล้ามเนื้อแฮมสตริงส์อยู่ท่าหนึ่ง ซึ่งพวกนักกีฬานิยมทำกันมาก ใช้ทำกันทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา แต่ผู้เขียนไม่อยากแนะนำให้ผู้ที่มีอาการปวดหลังทำ นักกีฬานั้นทำได้ เพราะส่วนมากหนุ่มสาว ร่างกายและกล้ามเนื้อก็แข็งแรง วิธีการยืดของนักกีฬาคือ ยืนขาเดียว อีกขาหนึ่งพาดบนโต๊ะ หรือเก้าอี้ หรือราวสะพาน หรือยันไว้กับต้นไม้ เข่าเหยียดตรง แล้วโน้มตัวมาข้างหน้าให้มากที่สุด แล้วโยกตัวไปมา ทำสลับกันทั้ง 2 ขา

นักยิมนาสติคเป็นอีกพวกหนึ่งที่กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกยืดได้มาก และทุกคนจะยืดได้มากเกินปกติทั้งสิ้น

สำหรับการออกกำลังเพื่อให้กลุ่มกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกแข็งแรงขึ้นนั้น เมื่อทำแล้วก็มักจะพลอยได้ออกกำลังกล้ามเนื้อหลังด้วย ดังนั้นต้องระวัง โดยขณะที่เหยียดขานั้นพยายามให้กระดูกเชิงกรานอยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะนิ่งได้ (เพื่อไม่ให้หลังแอ่น) และให้กล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกเท่านั้นที่ได้ทำงาน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้นกล้ามเนื้อหลังจะได้ทำงานเสมอ เพราะต้องมาช่วยยืดกระดูกเชิงกรานไว้ ถ้าเหยียดขาและแอ่นหลังมาก กล้ามเนื้อหลังก็จะทำงานมาก

ท่าที่ 14 นอนคว่ำ มีหมอนหนุนใต้ท้องน้อยและสะโพก (ถ้านอนคว่ำจะต้องมีหมอนหนุนไว้เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้หลังแอ่นมาก) เหยียดข้อสะโพกยกขาข้างขวาขึ้นให้พ้นพื้นแล้วเกร็งไว้ นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วเอาลง ยกขาข้างซ้ายทำอย่างเดียวกันทำสลับข้างละ 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อกลุ่มเหยียดข้อสะโพกและได้ออกกำลังกล้ามเนื้อหลังด้วย

ท่าที่ 15 นอนหงายในท่ามาตรฐาน คือชันเข่า เท้าวางราบกับพื้น มืออยู่ 2 ข้างลำตัว เกร็งตัวยกก้นให้ลอย คือเหยียดข้อสะโพกและแอ่นหลัง เหยียดข้อสะโพกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วกลับสู่ท่าตั้งต้น ทำ 5-10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อออกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกและกล้ามเนื้อหลัง

ข้อพึงระวัง ในท่าเหยียดหรือแอ่นหลังทุกท่า หากทำแล้วเจ็บหรือเสียวร้าวไปที่ขา จะต้องหยุดและปรึกษาแพทย์ทันที

สำหรับกล้ามเนื้อกลุ่มที่ทำหน้าที่งอข้อสะโพกนั้น ส่วนมากจะแข็งแรงเกินดุลอยู่แล้ว เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ได้ใช้งานอยู่เสมอ คล้ายกับกล้ามเนื้อทางด้านหลังของเอว หากกล้ามเนื้อกลุ่มนี้แข็งแรงมาก จะทำให้หลังแอ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้ออิลิโอโซแอส ซึ่งเริ่มเกาะจากกระดูกสันหลังส่วนเอวทั้ง 5 อัน เลยขึ้นไปถึงส่วนอกอันสุดท้าย และจากแอ่งกระดูกเชิงกราน แล้วลงมาเกาะที่ตอนบนของกระดูกต้นขา ทำหน้าที่ทั้งยกขาและงอลำตัวมาทางข้างหน้า ถ้ากล้ามเนื้อนี้แข็งแรงมากจะดึงให้กระดูกเชิงกรานคว่ำลงและมีโค้งลอร์โดติคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดี และเป็นสาเหตุของการปวดหลังได้ ในสมัยก่อนเคยนิยมการออกกำลังหลายท่า ที่ทำให้กล้ามเนื้อนี้แข็งแรง เช่น การนอนหงายแล้วยกขาที่เหยียดตรงทั้ง 2 ข้างให้สูงพ้นพื้น ซึ่งเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้ออิลิโอโซแอส และกล้ามเนื้อหน้าท้อง แต่ปัจจุบันนี้ถือเป็นท่าอันตรายสำหรับผู้ปวดหลังทีเดียว

สรุปว่าการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อกลุ่มงอข้อสะโพกแข็งแรงยิ่งขึ้นนั้น เกือบไม่มีที่ใช้หรือทำกันในผู้ปวดหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นการออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อกลุ่มนี้มากกว่า

ท่าที่ 16 ยืนตัวตรง มือเกาะโต๊ะหรือพนักเก้าอี้เพื่อความมั่นคง งอเข่าขวาให้เท้าไปทางด้านหลังของสะโพก ใช้มือขวาจับเท้าแล้วดึงขึ้นไปทางด้านหลังจนรู้สึกตึงที่หน้าขา นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วผ่อนแรงที่ดึง จากนั้นดึงใหม่ ทำสลับกันข้างละ 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อกลุ่มที่งอข้อสะโพก

ท่าที่ 17 ก้มตัวลงใช้มือทั้ง 2 ข้างยันพื้น คล้ายกับท่าเตรียมของนักวิ่ง แต่ขาทางหลังเหยียดออกไปไกลกว่า กดตัวลงพร้อมกับยืดไปทางด้านหน้าจนรู้สึกตึงที่หน้าขา นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วกลับท่าตั้งต้น ทำสลับขากันข้างละ 10 ครั้ง

การทำท่านี้อาจดัดแปลงทำในท่าที่ลำตัวตั้งตรง ซึ่งจะยืดกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ได้ดีกว่า

จุดประสงค์ 
เพื่อยืดกล้ามเนื้อกลุ่มที่งอข้อสะโพก

สำหรับกล้ามเนื้อรอบ ๆ สะโพกมัดอื่น ๆ ควรออกกำลังให้แข็งแรง และยืดออกให้ได้เท่าปกติด้วย ซึ่งมีท่าออกกำลังได้อีกหลายท่าคือ

ท่าที่ 18 นอนหงายในท่ามาตรฐาน มือทั้ง 2 ประสานกันไว้ใต้ศีรษะ งอเข่าเข้ามาทั้ง 2 ข้างให้ชิดกัน จากนั้นบิดเข่าทั้ง 2 ไปทางขวาให้มากที่สุดพร้อมกับหันหน้าไปทางซ้าย นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วบิดกลับไปด้านตรงข้าม ทำซ้ำ 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
ออกกำลัง และยืดกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อข้างลำตัว และกล้ามเนื้อสะโพก โดยข้างหนึ่งหด ข้างหนึ่งยืด สลับกันไป

ท่าที่ 19 นอนหงาย แขนอยู่ข้างลำตัวกางออกเล็กน้อยเพื่อความมั่นคง ยกขาทั้ง 2 ขึ้นชี้เพดาน เข่าเหยียดตรง กางขาทั้ง 2 ออกแล้วหุบกลับเข้ามาไขว้กันช้า ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วกางออกไปใหม่ ทำสลับกันโดยเอาขาข้างขวามาทางด้านหน้าบ้าง เอาขาซ้ายมาหน้าบ้าง ทำ 10-20 ครั้ง

จุดประสงค์ 
ออกกำลังและยืดกล้ามเนื้อกางและหุบข้อสะโพก รวมทั้งออกกำลังกล้ามเนื้อเหยียดข้อเข่า และกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วย

ท่าที่ 20 คล้ายท่าที่ 19 แต่แทนที่จะเหยียดขาตรงและไขว้กันไปมา ให้งอและเหยียดข้อเข่าและสะโพกสลับกัน คล้ายถีบจักรยานในอากาศ หากมีหมอนรองที่ก้นจะทำได้สะดวกขึ้น ถีบไปเรื่อย ๆ ราว 20-40 ครั้ง อาจดัดแปลงโดยยกก้นสูง และใช้มือทั้ง 2 ยันสะโพกไว้ก็ได้

จุดประสงค์ 
ออกกำลังกล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อขา

ท่าที่ 21 นอนตะแคงซ้าย งอศอกใช้แขนหนุนศีรษะ กางขาขวายกขึ้นให้สูงที่สุด เกร็งค้างไว้นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วเอาลง ทำ 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนไปทำอีกข้างหนึ่ง 10 ครั้ง

จุดประสงค์ 
ออกกำลังกล้ามเนื้อกางข้อสะโพก ได้กล้ามเนื้อหน้าขาด้วย

ผู้ที่ปวดหลังหรือต้องการป้องกันมิให้ปวดหลังทุกคนไม่จำต้องทำทั้ง 21 ท่านี้ แต่ควรเลือกทำเฉพาะท่าที่ต้องการคือ เลือกกลุ่มกล้ามเนื้อที่ต้องการทำให้แข็งแรงมากขึ้น หรือต้องการให้ยืดออกได้เท่าปกติ ดังนั้นก่อนจะทำจึงควรต้องตรวจร่างกายเสียก่อนว่ามีกล้ามเนื้อมัดใดที่ยังอ่อนแออยู่ และมัดใดที่ยืดออกไม่ได้เต็มที่ ความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องพิจารณา

การตรวจและวางโปรแกรมการออกกำลังกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่ปวดหลังนั้น ควรทำโดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้ทางด้านนี้ การจัดทำโปรแกรมที่ดีนั้นจะต้องถือหลักว่า

"จัดทำโปรแกรมให้เหมาะกับผู้ป่วย (แต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน) มิใช่จับผู้ป่วยบรรจุลงในโปรแกรมที่มี"
เข้าทำนองว่า "หารองเท้าที่ดี มาใส่เท้าที่มี มิใช่ เอาเท้าที่ดียัดลงในรองเท้าที่มี"

อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าที่ 1 และท่าที่ 2 ซึ่งเป็นท่าผ่อนคลายความเครียด และอุ่นร่างกายนั้นจะต้องทำด้วยเสมอ โดยใช้เป็นทั้งท่าเริ่มต้น และท่าส่งท้าย เช่นโปรแกรมมีทั้งหมด 8 ท่า ก็ให้เริ่มด้วยท่าที่ 1 และ 2 ไปเรื่อย ๆ เมื่อครบ 8 ท่าตามโปรแกรมแล้ว ให้ทำท่าที่ 2 อีกครั้ง จากนั้นจึงปิดท้ายด้วยท่าที่ 1 แล้วจึงเลิก เป็นการ warm up และ cool down ที่จะได้ประโยชน์มาก

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง-การรักษาอาการปวดหลัง

ปวดหลัง-การรักษาอาการปวดหลัง

เนื่องด้วยอาการปวดหลังนั้นเป็นอาการที่เกิดกับผู้คนจำนวนมากมาย และมีคนเป็นกันมานานแสนนานแล้ว อีกทั้งอาการก็มักจะไม่รุนแรงมากนัก เข้าทำนองรักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย (แล้วก็กลับเป็นอีก) หรือแม้จะทำการรักษาผิดพลาดไปบ้างก็ไม่หนักหนาถึงตาย (แต่ที่ถึงพิการนั้นมีเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว) ดังนั้นจึงมีผู้มาเข้าร่วมวงการในการรักษาอาการปวดหลังกันมาก มีตั้งแต่หมอพื้นบ้านที่รักษาด้วยการบีบ ๆ นวด ๆ ไปจนถึงแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่รักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าจะลองแยกแยะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาอาการปวดหลังที่มีอยู่ในประเทศไทยก็จะมี

1. ศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคส์ (orthopedic surgeon) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำการรักษาโรคอันเกี่ยวกับกระดูก เอ็น ข้อ และกล้ามเนื้อ ตลอดจนโรคที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งหมด การรักษานั้นอาจทำด้วยการผ่าตัด หรือไม่ผ่าตัดก็ได้ ในประเทศที่เจริญแล้วมักจะแยกลงไปชำนาญกันเฉพาะอวัยวะทีเดียว เช่น ชำนาญเฉพาะเรื่องเท้า รักษาแต่โรคของเท้าอย่างเดียวไม่รับรักษาอย่างอื่น (แต่ยังไม่ถึงกับแยกเป็นเท้าซ้ายหรือเท้าขวา หรือชำนาญเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า แต่ในอนาคตอาจถึงอย่างนั้นก็ได้) หรือชำนาญเฉพาะเรื่องเข่า เรื่องหลัง เรื่องมือ เป็นต้น ในประเทศไทยเราเวลานี้ก็มีผู้ที่แยกรักษาเฉพาะส่วนของร่างกายมากขึ้น ทำให้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้น ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ส่วนมากมักจะยังไม่ยอมทิ้งการรักษาในส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะยังมีผู้ป่วยในประเทศไทยเราไม่น้อยที่มีความคิด หรือความเชื่อว่า หมอที่เก่งจริงนั้นจะต้องรักษาได้ทุกอย่าง ใครที่ทำเฉพาะอย่าง แทนที่จะคิดว่าเก่งหรือชำนาญกลับกลายเป็นหมอที่ไม่เก่งไป อย่างไรก็ตามเนื่องจากในประเทศไทยเราเริ่มมีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะอวัยวะบ้างแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยที่คิดจะไปหาผู้ชำนาญด้วยตนเอง ควรต้องทราบด้วยว่าแพทย์ผู้นั้นชำนาญในอวัยวะส่วนใด เช่น ถ้าปวดหลังก็ไม่น่าจะไปหาผู้ที่ชำนาญเฉพาะทางมือเป็นต้น

2. ศัลยแพทย์ทางระบบประสาท (neurosurgeon) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเช่นกัน เนื่องด้วยอาการปวดหลังนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอยู่มาก โดยเฉพาะกรณีที่มีการกดเบียดไขสันหลัง หรือรากประสาทไขสันหลัง ดังนั้นศัลยแพทย์ทางระบบประสาทจึงทำการรักษาผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่หากตรวจแล้วพบว่าอาการปวดหลังนั้นมิได้เกี่ยวกับระบบประสาทเลย แพทย์กลุ่มนี้ก็มักจะไม่รับรักษา

3. อายุรแพทย์ทางระบบประสาท (neurologist) เป็นแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทที่ทำการรักษาทางยา ไม่ใช่ด้วยวิธีผ่าตัด หากตรวจพบว่าต้องทำการผ่าตัด ก็จะส่งต่อให้แพทย์ในกลุ่มที่ 1 หรือ 2 ทำการผ่าตัดต่อไป

4. แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ (physiatrist) เป็นแพทย์เฉพาะทางเช่นกัน ทำการฉีดยาเข้าข้อได้ แต่ไม่ทำการผ่าตัด ส่วนมากจะทำการักษาทางยา ร่วมกับทางกายภาพบำบัด เช่น ใช้ความร้อน ความเย็น หรือเครื่องมือทางไฟฟ้า เช่น คลื่นแสง คลื่นเสียง ตลอดจนการดัดนวด กดจุด และการออกกำลังกาย เป็นต้น

5. แพทย์ฝังเข็ม (acupuncturist) นับตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่เปิดการติดต่อกับต่างประเทศเรื่องของการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มก็ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราก็มีแพทย์แผนปัจจุบันที่สนใจในเรื่องนี้อยู่หลายคน บางคนได้เดินทางไปดูงานด้านนี้จากประเทศจีน และกลับมาทำการรักษาได้ผลน่าพอใจ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด เช่น ปวดหลัง อย่างไรก็ตามควรต้องระวังในพวกที่ไม่ใช่แพทย์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการติดเชื้อ เนื่องจากความไม่สะอาดในการทำได้ อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังไว้เสมอก็คือ ต้องแน่ใจว่าไม่มีโรคร้ายอย่างอื่นที่เป็นสาเหตุของการปวดหลังอยู่ด้วย การไปหลงฝังเข็มจนโรคร้ายที่มีอยู่ลุกลามไปมากนั้นเป็นสิ่งที่พบได้เป็นครั้งคราว

6. แพทย์ทางเวชปฏิบัติทั่วไป (general practitioner) เนื่องด้วยเป็นแพทย์ที่รักษาโรคโดยทั่ว ๆ ไป จึงสามารถรักษาผู้ที่มีอาการปวดหลังได้ แท้จริงแล้วผู้ที่มีอาการปวดหลังควรที่จะพบแพทย์กลุ่มนี้ก่อน เพราะมักจะเป็นแพทย์ที่รักษากันเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นผู้ที่รู้สภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยเป็นอย่างดี หากแพทย์กลุ่มนี้เห็นว่าอาการปวดหลังนั้นเหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำการรักษาเองได้ ก็จะส่งต่อไปให้ผู้ที่เห็นสมควรต่อไป ดีกว่าที่ผู้ป่วยจะไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรงมากทีเดียว

7. นักกายภาพบำบัด (physical therapist) ประเทศไทยเรามีโรงเรียนกายภาพบำบัดมานานกว่า 20 ปีแล้ว และได้ผลิตนักกายภาพบำบัดระดับปริญญาตรีออกมาจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันนี้มีการสอนถึงระดับปริญญาโทด้วย นักกายภาพบำบัดเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญในการรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างครบถ้วน ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับแพทย์กลุ่มต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

8. หมอนวดแผนโบราณ พวกนี้มีอยู่คู่บ้านคู่เมืองกับชาวไทยมานานแล้ว ชาวบ้านทั่วไปมักจะเรียกใช้กันอยู่เสมอ เพราะหาง่ายและราคาไม่แพง แต่ผู้เขียนทราบมาว่า หมอนวดมือชั้นครูนั้นค่ารักษาแพงมากเหมือนกัน หมอนวดแผนโบราณนี้มีอยู่หลายระดับ มีทั้งที่ผ่านโรงเรียน และที่ฝึกหัดกันเองโดยไม่ผ่านโรงเรียน การนวดประเภทนี้ หากผู้ทำไม่มีความรู้ หรือทำผิดวิธี อาจเกิดอันตรายได้ เช่น การดัดหลังให้แอ่นมากเกินไปในผู้ที่มีโรคของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือการขึ้นไปยืนเหยียบบนตัวผู้ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็มีมาแล้ว

9. หมอพระ หมอน้ำมัน หมอน้ำมนต์ และหมอเล่นกล ซึ่งขอรวมไว้ในกลุ่มเดียวกัน พวกนี้อาจใช้วิธีเล่นกล เช่น การทำพิธีเป่าเสกเอาตะปู (ที่สนิมเขรอะ) หรือปอยผมออกมาจากตัวผู้ป่วยแล้วอาการปวดหลังก็หายไป หรือใช้วิธีอาบน้ำมนต์ หรือใช้น้ำมันซึ่งมีทั้งน้ำมันเย็นและน้ำมันร้อน (เดือด) พ่นลงที่หลัง หรือใช้ทาถู ซึ่งผลของการรักษาวิธีนี้บางครั้งก็ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และทำเอาแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอายมาแล้ว แต่หากเราจะทราบว่าอาการปวดหลังนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเครียดทางอารมณ์ หรือจากความกลัดกลุ้ม หรือเป็นปัญหาทางจิตใจ การรักษาที่ได้ผลดีของหมอกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร

10. หมอตี๋ คือผู้ที่ฟังอาการแล้วจ่ายยาชุดให้ไปรับประทาน พวกนี้นับเป็นพวกที่มีอันตรายมากที่สุด เพราะยาชุดแก้ปวดเมื่อยเหล่านี้ ส่วนมากจะมียาอันตรายอยู่ด้วย เมื่อผู้ปวดหลังรับประทานแล้วมีอาการดีขึ้นก็มักจะไปซื้อมารับประทานกันบ่อย ๆ ทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงกว่าอาการปวดหลังมากทีเดียวที่ถึงกับกระเพาะอาหารทะลุก็มี

สำหรับในต่างประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ มีผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษาอาการปวดหลังอีกหลายพวกเช่น

11. ออสตีโอแพธส์ (Osteropaths หรือ osteopathic physician) พวกนี้ใช้วิธีที่เรียกว่า manipulation เป็นส่วนใหญ่ คือ การใช้มือเพื่อ บีบ นวด คลึง ดึง ดัด หรือกด บนผิวหลัง กล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก ความจริงวิชานี้เริ่มในสหรัฐอเมริกามานานแล้วกว่าร้อยปีแล้ว โดย A.T.Still จากรัฐมิสซูรี ปัจจุบันนี้ถือว่าพวกนี้เป็นแพทย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องเรียนหนักและเรียนนานเช่นเดียวกับแพทย์สาขาอื่น เมื่อจบก็จะได้รับปริญญาเป็น Doctor of Osteopathy และใช้ตัวย่อว่า D.O. คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพวกนี้มีศักดิ์ศรีและภูมิความรู้น้อยกว่าแพทย์ ซึ่งไม่เป็นความจริงเสมอไป แพทย์ออสตีโอแพธส์ที่เก่ง ๆ นั้น สามารถรักษาโรคทางกระดูกได้ดีทีเดียว แพทย์เหล่านี้มีสิทธิ์สั่งยาเพื่อรักษา ตลอดจนทำการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนได้ จากสถิติเมื่อ พ.ศ.2524 ในสหรัฐอเมริกามีแพทย์ประเภทนี้อยู่ราวร้อยละ 5 ของแพทย์ทั้งหมด และในบางรัฐได้ยอมให้ใช้อักษรย่อปริญญาต่อท้ายชื่อว่า M.D. เช่นแพทย์อื่น ๆ แล้วก็มี ในประเทศอังกฤษมีโรงเรียนที่เรียกว่า British School of Osteopathy ในประเทศไทยเราก็มีนักกายภาพบำบัดที่ไปศึกษาต่อจากประเทศอังกฤษ และสนใจในเรื่องนี้ เมื่อกลับมาก็ได้ใช้วิธีแมนิพูเลชั่นทำการรักษาผู้ที่ปวดหลังและคอ

12. ไคโรแพรคเตอร์ (Chiropractor) พวกนี้ใช้วิธีแมนิพูเลชั่นคล้ายกับพวกออสตีโอแพธส์ แต่การเรียนนั้นไม่ถึงขั้นปริญญา พวกนี้จึงไม่มีปริญญาทางการแพทย์ และไม่สามารถที่จะสั่งยา หรือทำการผ่าตัดใด ๆ ทั้งสิ้น พวกนี้มีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า ความผิดปกติของกระดูกสันหลังของคนเรานั้น ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ หรือเกิดโรคได้มากมาย ดังนั้นหากเราสามารถกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้กระดูกเหล่านี้เข้าที่เข้าทางอย่างถูกต้องแล้ว อาการหรือโรคต่าง ๆ ก็จะหายไปได้ การกดจุดหรือ acupressure เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งของหมอพวกนี้ และอาจถึงขั้นฝังเข็มร่วมด้วยก็ได้ พวกไคโรแพรคเตอร์เหล่านี้มีสมาคมของตนเองทั้งในระดับประเทศ เช่น American Chiropractic Association หรือระดับระหว่างประเทศคือ International Chiropractic Association ในสหรัฐอเมริกาที่กำลังนิยมการวิ่งกันมากมายนี้ มีนักวิ่งที่เจ็บแข้งเจ็บขาไปให้ไคโรแพรคเตอร์รักษากันไม่น้อย ประเทศไทยเราก็มีนักกายภาพบำบัดที่ไปเรียนวิธีรักษาเช่นนี้มา ผู้เขียนเองยังได้เคยเข้าชมการสาธิตของเธอที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ไม่ทราบว่าเธอได้นำวิชานี้มาใช้ในประเทศไทยอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะดูเหมือนจะมีเรื่องของกฎหมายประกอบโรคศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

13. Pain clinic หรือ center for pain relief ซึ่งปัจจุบันนี้มีเกิดขึ้นมากทั้งในสหรัฐอเมริการและยุโรป ความจริงในประเทศไทยก็มีแทรกอยู่บ้างตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ สถานที่เหล่านี้จะรับรักษาอาการปวดทุกชนิด ซึ่งรวมถึงอาการปวดหลังด้วย และอาจดำเนินการโดยแพทย์หลายสาขา อาทิ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ ตลอดจนจิตแพทย์ วิธีการรักษาจึงมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ผ่าตัด ใช้ยารับประทาน ฝังเข็ม สะกดจิต ตลอดจนถึงใช้วิธี biofeedback และการกระตุ้นปลายประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าผ่านทางผิวหนัง (transcutaneous electrical nerve stimulation หรือ TENS)

แม้จะมีผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาอาการปวดหลังอยู่มากมายหลายกลุ่ม และมีกรรมวิธีในการรักษามากมายก็ตาม แต่วงการแพทย์ในปัจจุบันนี้ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า ใครจะเป็นผู้รักษาก็ตามหรือจะรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม หากต้องการให้ได้ผลจากการรักษาดีที่สุด หรือป้องกันไม่ให้กลับมาปวดหลังได้อีกนั้น จำต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญยิ่ง 4 ประการคือ

1. ระมัดระวังการจัดท่วงท่า หรือท่าทางในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง

2. พยายามขจัดอารมณ์เครียด ซึ่งเกิดขึ้นเสมอกับมนุษย์ในยุคนี้ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แม้จะทราบว่าเป็นการยากที่จะขจัดให้หมดไปได้ แต่ต้องพยายามให้เหลือน้อยที่สุด และอย่าให้ติดอยู่ในอารมณ์นาน ๆ

3. รับประทานอาหารแต่เพียงพอดี เพื่อมิให้เกิดภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน เพราะเมื่ออ้วนแล้วก็จะลงพุง ซึ่งการลงพุงนั้นมีผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อโครงสร้างของหลังเป็นอย่างมาก ดังได้กล่าวมาแล้ว คนที่ลงพุงนั้นก็คล้ายกับหญิงมีครรภ์ แต่จะแย่กว่ามากตรงที่เป็นครรภ์ที่ไม่รู้จักคลอดสักที โครงสร้างของหลังจึงต้องรับภาระหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เรื่องของภาวะอ้วนกับการปวดหลังนี้ ถึงกับมีคำกล่าวว่า "Running up your weight can running down your back" ซึ่งผู้เขียนอยากจะขอแปลเอาความว่า "ยิ่งน้ำหนักตัวเพิ่ม ยิ่งซ้ำเติมให้ปวดหลัง"

4. การออกกำลังกายด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ต่อผู้ปวดหลัง และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังด้วยเหตุสำคัญ 3 ประการคือ

ประการแรก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั้นจะทำให้ไม่อ้วน แม้บางครั้งจะรับประทานมากเกินไปบ้าง แต่เมื่อได้ออกกำลังกายเสียแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลือที่จะไปสะสมเป็นไขมันได้

ประการที่สอง การออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจสดชื่น เป็นการขจัดความเครียดในอารมณ์ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

ประการสุดท้าย เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะการออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และการออกกำลังกายที่ถูกต้องจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดความสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในผู้ที่มีอาการปวดหลัง สิ่งที่จะต้องระวังและคำนึงถึงเสมอในการออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดหลังก็คือ มีหลายอย่างหรือหลายท่าที่แตกต่างกับการออกกำลังกายทั่ว ๆ ไป ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป
หากผู้ที่ปวดหลังปฏิบัติตามที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้ไม่ได้แล้ว แม้การรักษา (รวมถึงการผ่าตัดด้วย) จะทำได้อย่างดีวิเศษเพียงใดก็ตาม อาการปวดหลังก็จะต้องกลับเป็นอีกแน่นอน หรือผู้ที่ยังไม่เคยมีอาการปวดหลัง หากละเลยต่อปัจจัยทั้ง 4 ที่กล่าวมานี้แล้วก็เชื่อได้ว่าไม่ช้าคงจะต้องมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นเป็นแน่

แม้หลักการใหญ่ ๆ ของการรักษาอาการปวดหลังจะเหมือนกัน แต่สำหรับรายละเอียดหรือวิธีการแล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสับสน ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์ John S.Sarno จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์คที่กล่าวไว้ว่า

"ไม่มีเรื่องใดทางการแพทย์ที่จะมีข้อโต้เถียง หรือความคิดเห็นที่ขัดแย้ง เท่ากับการวินิจฉัยโรค หรือการรักษาอาการปวดหลัง"

หากอ่านหนังสือแต่เพียงเล่มเดียวหรือสองเล่ม อาจยังไม่พบปัญหานี้ แต่ถ้าได้อ่านหลาย ๆ เล่มหรือหลายสิบเล่ม (ผู้เขียนมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องหลังและอาการปวดหลังกว่า 50 เล่ม) ก็จะเห็นว่าแต่ละผู้แต่งหรือแต่ละสถาบันจะมีวิธีการที่แตกต่างกันมาก และบางครั้งก็ต่างกันมากจนเป็นตรงกันข้าม อาการปวดหลังและการตรวจพบชนิดเดียวกัน แพทย์คนหนึ่งอาจเห็นว่าควรผ่าตัด แต่แพทย์อีกคนหนึ่งกลับเห็นว่าไม่สมควรผ่าตัดเป็นอย่างยิ่ง แม้การออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อก็เช่นเดียวกัน คนหนึ่งเห็นว่าควรทำท่านี้ แต่อีกคนหนึ่งกลับห้ามไม่ให้ทำท่านี้

อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการปวดหลังนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
2. การรักาาด้วยวิธีประคับประคอง หรือวิธีไม่ผ่าตัด

สำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้น มีวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก หากการวินิจฉัยโรคทำได้อย่างถูกต้องแน่นอน และการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ที่ชำนาญจริง ๆ ผลที่ได้ก็จะดีและน่าพอใจมาก แต่ถ้าการวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้องและผู้ทำมีประสบการณ์น้อยหรือฝีมือไม่ดีจริงแล้ว ผลร้ายที่อาจเกิดแทรกซ้อนย่อมมีได้เสมอ แม้ในประเทศที่การแพทย์เจริญมาก ๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาก็ยังกลัวกัน เพราะบ่อยครั้งที่ผลไม่ดีอย่างที่หวังไว้ และมีผลให้โครงสร้างของหลังเกิดความอ่อนแอด้วย นายแพทย์ Ernest Johnson จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ได้กล่าวถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดหลังไว้ว่า

"เหมือนเอาฆ้อนไล่ทุบแมลงวันที่มาเกาะกระจกหน้าต่าง ถึงแม้จะตีแมลงวันให้ตายไปได้ แต่กระจกก็จะแตกละเอียดไปด้วย"

เมื่อได้รับคำถามว่า แล้วทำไมจึงทำการผ่าตัดผู้ที่มีอาการปวดหลังกันมากมาย เพราะในสหรัฐนั้นมีการผ่าตัดเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังถึงปีละกว่าสองแสนราย (สถิติเมื่อ พ.ศ.2523) นายแพทย์จอนสันตอบว่า

"เมื่อคุณมีฆ้อนอยู่ในมือ คุณก็จะเห็นอะไรต่อมิอะไรเป็นตะปูไปหมด"

ดังนั้นหากท่านมีอาการปวดหลัง อย่าเพิ่งรีบร้อนไปพบศัลยแพทย์โดยตรงเลย เพราะนอกจากฆ้อนในมือแล้ว ท่านยังมีทั้งมีด เลื่อย สิ่ว สว่าน ฯลฯ อยู่ในมืออีกด้วย ควรปรึกษาแพทย์ประจำของท่านก่อนจะดีกว่า

นายแพทย์ Lan Macnab ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์ชื่อดังจากประเทศคานาดา ได้กล่าวไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของหนังสือ Backache (พ.ศ. 2522) ว่า

"ในการวินิจฉัยโรคและรักษาอาการปวดหลังนั้น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิคส์จะต้องทำหน้าที่หลาย ๆ อย่าง เช่น เป็นเสมือนแพทย์ประจำครอบครัว แพทย์ทางยา (ให้ยารับประทาน) รังสีแพทย์ (ต้องดูฟิล์มเอ็กซเรย์) แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ (ให้คำแนะนำทางกายภาพบำบัด) จิตแพทย์ (รับฟังปัญหาและให้กำลังใจ) ช่างทำเฝือกพยุงกาย (แนะนำเรื่องเฝือกพยุงหลัง) นักสังคมสงเคราะห์และเป็นเพื่อนของผู้ป่วย แต่สิ่งหนึ่งที่ศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคส์มักจะไม่ได้ทำเลยก็คือ การเป็นศัลยแพทย์นั่นเอง (คือไม่ได้ทำผ่าตัด)

คำกล่าวข้างต้นนี้หมายความว่า การรักษาอาการปวดหลังนั้น แท้จริงแล้วมีที่จะต้องถึงกับผ่าตัดน้อยมาก สำหรับประเทศไทยเรานี้แพทย์หลาย ๆ คนก็ระมัดระวังในการตัดสินใจที่จะทำผ่าตัดมากขึ้น

สำหรับรายละเอียดของการผ่าตัดนั้น ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้แต่สรุปได้ว่า ผลจากการผ่าตัดจะดีเลวประการใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ

1. ศัลยแพทย์ผู้ทำมีฝีมือและประสบการณ์มากน้อยเพียงใด

2. ภายหลังการผ่าตัดมีการดูแลที่ถูกต้องเพียงใด แม้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำได้อย่างวิเศษและดียิ่ง แต่ถ้าการดูแลภายหลังการผ่าตัดไม่ถูกต้องแล้ว ผลก็จะดีไม่ได้

3. การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วยภายหลังหายจากการผ่าตัดแล้ว เช่น เรื่องของท่วงท่าในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น หากการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ไม่ช้าอาการปวดหลังก็จะกลับมาอีก และการรักษาจะยุ่งยากยิ่งกว่าเดิม

สำหรับการรักษาด้วยวิธีประคับประคอง หรือโดยไม่ทำการผ่าตัดนั้น หากสามารถทำได้ย่อมจะดีกว่าวิธีผ่าตัด เพราะไม่ไปรบกวนต่อโครงสร้างเดิมของกระดูกสันหลัง อีกทั้งผู้ป่วยก็ไม่ต้องเจ็บตัว อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังนั้นด้วย หากมีการกดเบียดหรือระคายระบบประสาทอย่างชัดเจน หรือมีอาการเสียวร้าวมากขึ้น และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีประคับประคองแล้ว การผ่าตัดก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

มีวิธีรักษาอาการปวดหลังอย่างหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นแก่วงการแพทย์พอสมควร คือการฉีดสาร chymopapain (สกัดจากยางมะละกอ อย่างเดียวกับที่ใช้คลุกเนื้อให้นุ่ม) เข้าไปละลายส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังที่ยื่นโป่งออกมา แต่วิธีนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเห็นว่ามีอันตรายจากการแทรกซ้อนได้มากจึงไม่ยอมให้ทำ แต่ก็มีทำกันมากในประเทศคานาดา ดังนั้นผู้ปวดหลังในสหรัฐที่ไม่กลัว หรืออยากลองจึงต้องเดินทางไปทำกันในประเทศคานาดา

ผู้ที่ได้รับอันตรายที่กระดูกสันหลังอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง หรือจากอุบัติเหตุการจราจร การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และการรักษาในระยะแรกอย่างทันท่วงทีมีความสำคัญมาก เพราะหากทำผิดพลาดในระยะแรกแล้ว อาจกลายเป็นผู้มีอาการปวดหลังเรื้อรังต่อไปได้ ดังนั้นหากได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงจึงควรพบแพทย์ทันที แม้บางครั้งการได้นอนพักชั่วระยะหนึ่งอาจทำให้หายเจ็บปวดได้ก็ตาม แต่การรักษาที่ถูกต้องแต่ต้นมือจะช่วยแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างของหลังได้ ตัวอย่างที่พบได้เสมอเช่นการหกล้มก้นกระแทกแล้วมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น หากแพทย์ตรวจพบว่ามีส่วนบอดี้ของกระดูกสันหลังยุบตัวลงเป็นรูปลิ่ม (ที่เรียกกันว่ากระดูกสันหลังหัก) การเข้าเฝือกปูน หรือใช้เฝือกพยุงหลังชนิดที่ดัดให้พลังอยู่ในท่าแอ่นเสียแต่แรก อาจช่วยให้กระดูกที่ยุบนั้นกลับคืนสภาพปกติได้ หากปล่อยไว้อาการที่รุนแรงในระยะแรกอาจหายไปได้เองก็จริง แต่การยุบตัวของกระดูกสันหลังไม่ได้รับการแก้ไขโครงสร้างก็จะเสียไป และมีแนวโน้มที่จะยุบตัวเพิ่มมากขึ้นได้เรื่อย ๆ ซึ่งผู้เขียนได้พบอยู่บ่อย ๆ บางคนประสบอุบัติเหตุตั้ง 3 ปีแล้ว จึงถูกส่งตัวมาใส่เฝือกพยุงหลังเพราะปวดหลังมาก เมื่อนำเอาภาพเอ็กซเรย์เก่ามาเปรียบเทียบก็เห็นได้ชัดเจนว่า การยุบตัวของกระดูกสันหลังได้เพิ่มขึ้นมาก การยุบตัวของกระดูกสันหลังที่ยุบลงมาเป็นรูปทรงลิ่มนี้ จะยุบมากน้อยเพียงใด หรือยุบเร็วเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวกระดูกที่หักว่าอยู่ตรงไหน บางตำแหน่งก็อาจไม่ยุบตัวเพิ่มขึ้น แต่ในบางตำแหน่งจะยุบตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก อีกปัจจัยหนึ่งที่เสริมให้ยุบตัวได้เร็ว คือผู้ที่ต้องทำงานหนักเช่นต้องยก หรือแบกหามของหนัก ตลอดจนท่วงท่าที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้ยุบได้เร็วขึ้น ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ก็มีนักกายภาพบำบัดนำผู้ป่วยจากต่างจังหวัดคนหนึ่ง ซึ่งตกจากต้นสาเกและมีกระดูกสันหลังหัก แพทย์ที่ต่างจังหวัดได้เข้าเฝือกปูนให้ทันทีในท่าหลังแอ่นและเข้ามานานเดือนเศษแล้ว เวลานี้อยากขอเปลี่ยนมาใส่เฝือกพยุงหลังที่โปร่งกว่าและอึดอัดน้อยกว่า เมื่อได้ดูภาพเอ็กซเรย์ที่ถ่ายเมื่อตกลงมาใหม่ ๆ กับภาพที่ถ่ายหลังเข้าเฝือกปูนอย่างถูกต้องมาเดือนเศษ ก็พบว่าตัวกระดูกที่ยุบลงมาเมื่อตอนแรกนั้น ได้กลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างดีมากทีเดียว

สำหรับผู้ที่ได้รับอันตรายไม่รุนแรง แต่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ที่พบอยู่เสมอเช่นในวันสุดสัปดาห์ เกิดขยันไปยกหรือย้ายกระถางต้นไม้ หรือเอี้ยวตัวฟากลูกกอล์ฟเต็มแรง หรือถลาออกรับลูกเทนนิสที่หยอดมาหน้าตาข่าย หรือแอ่นตัวแหงนหน้าเต็มที่หมายจะตบลูกขนไก่ให้สุดแรง หรือลงเข็นรถที่เครื่องเสีย หรือแม้แต่การไอหรือจามอย่างแรง และที่เพียงแต่เอี้ยวตัวอย่างเร็วจะตบยุง แล้วเกิดอาการแปล็บที่หลังทันที หรือเสียวร้าวไปด้านหลังของต้นขา หรือวันรุ่งขึ้นลุกจากที่นอนไม่ได้เพราะหลังแข็ง อาการเหล่านี้ส่วนมากแพทย์จะรักษาได้ด้วยวิธีประคับประคอง เช่นให้ยารับประทาน ให้นอนพัก หรือให้ใส่เฝือกพยุงเอวชนิดอ่อน หรือทำด้วยอีลาสติกอย่างหนา เมื่ออาการปวดทุเลาแล้วก็ให้การรักษาทางกายภาพบำบัดต่อไป เรื่องการใช้เฝือกรัดหลังนี้ ผู้เขียนเคยดูโทรทัศน์ในข่าวผ่านดาวเทียม ได้เห็นนักเทนนิสมือระดับโลก เกิดอาการปวดหลังทันทีในขณะแข่งขัน เขาได้ใช้ผ้ายืดพันรอบเอวทันที (พันไว้นอกเสื้อ) และเล่นต่อไปได้จนจบ

ส่วนพวกที่มีอาการปวดหลังไม่มากนัก คือปวดเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ พอทนได้ หรือเป็น ๆ หาย ๆ พอให้เกิดเป็นความหงุดหงิดรำคาญใจ พวกนี้ควรสนใจตนเองให้มากขึ้น พยายามหาสาเหตุให้ได้แล้วทำการแก้ไขเสีย หากหาเองไม่พบก็ลองปรึกษาผู้รู้ให้ช่วยหาให้ เพราะการละเลยนาน ๆ อาจทำให้กลายเป็นปวดหลังเรื้อรังอันยากแก่การแก้ไขต่อไป

สิ่งแรกที่ควรพิจารณาก็คือดูว่า ตนเองนั้นอ้วนเกินไปหรือไม่ ลงพุงมากหรือเปล่า หากมีก็ต้องรีบแก้ไขเสีย เพราะภาวะอ้วนนั้นมิใช่สาเหตุของการเกิดอาการปวดหลังเท่านั้น ยังเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิดอาการปวดเข่า ปวดขาต่อไปได้ด้วย (ส่วนมากจะปวดเข่าก่อนปวดหลัง)

ต่อมาก็ต้องพิจารณาดูว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์หรือไม่ หงุดหงิดเสมอ และเครียดตลอดเวลาใช่ไหม ยิ่งเครียดก็จะยิ่งปวดหลัง และยิ่งปวดหลังก็ยิ่งเครียด ผู้ที่ปวดหลังจากสาเหตุนี้ หลาย ๆ คนยิ่งรักษายิ่งปวด คือยิ่งรักษายิ่งโมโห เพราะเปลี่ยนไปกี่หมอกี่หมอก็ไม่หาย รับประทานยากี่ขนานก็ไม่หาย สารพัดวิธีทางกายภาพบำบัดก็ไม่หาย ใส่เฝือกพยุงหลังกี่แบบกี่ตัวก็ไม่หาย แต่ถ้าลองถามดูให้ดี ๆ ว่า เคยมีสักช่วงหนึ่งในชีวิตที่หายจากอาการปวดหลังหรือไม่ ก็อาจพบว่าเคยมีเหมือนกัน คือตอนที่ได้พักผ่อนไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ อาการสารพัดอย่างจะหายเป็นปลิดทิ้ง แม้ว่าระหว่างท่องเที่ยวนั้นจะต้องเดินทั้งวัน หรือต้องหอบหิ้วของพะรุงพะรังและเหนื่อยแสนเหนื่อยก็ตาม

ควรต้องสังเกตให้มากว่า อาการปวดหลังนั้นมีความสัมพันธ์กับวันเวลาหรือไม่ เช่นปวดเฉพาะก่อนหรือหลัง หรือขณะที่มีประจำเดือน หรือปวดหลังแล้วมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่นปัสสาวะเป็นเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือมีอุจจาระเป็นมูกเป็นเลือด หรือมีอาการเบื่ออาหารมาก หรือมีปวดหลังพร้อมกับอาการที่ซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว หากพบอาการร่วมเหล่านี้ ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ

มีมะเร็งอยู่หลายชนิดที่เป็นกับอวัยวะอื่นแล้วลุกลามมาที่กระดูกสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้มาก ๆ เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งของเต้านม เป็นต้น แม้จะได้ทำการรักษามะเร็งนั้นไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม หากมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นต้องรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบทันที การใช้เฝือกพยุงหลังเพื่อให้หลังอยู่นิ่ง ๆ นั้น นอกจากช่วยลดอาการปวดได้แล้ว ยังเป็นการป้องกันการแทรกซ้อน เช่น การยุบตัวของกระดูกสันหลังได้ด้วย

ถ้าอาการปวดหลังนั้นเป็นมากเมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ แต่เมื่อได้ลุกขึ้นขยับเนื้อขยับตัว หรือได้อาบน้ำอุ่น ๆ แล้วอาการก็ทุเลาไปทำงานได้อย่างปกติ แต่พอตื่นนอนในวันรุ่งขึ้นก็เป็นเช่นนี้อีก ก็น่าจะนึกถึงว่าอาการปวดหลังนั้นอาจจะเกี่ยวกับเรื่องของการนอนก็ได้ เช่น ที่นอนอ่อนยวบยาบเกินไป หรือท่านอนที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนคว่ำ เพราะในขณะที่เรานอนหลับนั้น เอ็นและกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะคลายตัวหรือหย่อนไปหมด กระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เคยเรียงกันอย่างมีระเบียบ และถูกยึดให้อยู่กับที่ได้มั่นคงแข็งแรงด้วยเอ็น พังผืดและกล้ามเนื้อ ก็จะเสียความมั่นคงแข็งแรงไป หากกระดูกเหล่านี้ต้องอยู่ในภาวะที่ไม่เหมาะสมนาน ๆ ก็เกิดเป็นความเมื่อยล้าได้ โดยปกติแล้ว เมื่อมีความเมื่อยเกิดขึ้น ร่างกายก็จะแก้ไขเองด้วยการพลิกตัวเปลี่ยนท่าเสียใหม่โดยอัตโนมัติ (เจ้าตัวมักจะไม่รู้สึก) อันเป็นวิธีแก้ปัญหาตามธรรมชาติ ซึ่งในคืนหนึ่ง ๆ นั้นเราจะพลิกตัวไปมาตั้ง 20-30 ครั้ง

ในทางตรงข้ามหากตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความสดชื่นสบายดี ปฏิบัติงานประจำวันลุล่วงไปได้เรียบร้อย แต่พอกลับถึงบ้านก็ปวดเมื่อยหลังเป็นกำลัง พอได้นอนพักสักคืน รุ่งเช้าก็สบายอย่างเดิม แต่พอตกเย็นก็เป็นเช่นเดิมอีก กรณีเช่นนี้น่าจะนึกถึงท่าทางในการปฏิบัติงาน หรือท่วงท่าในการใช้ชีวิตประจำวันให้มากว่า อยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ หากพบว่ามีก็ต้องรีบแก้ไข

สรุปว่าในการรักษาอาการปวดหลังนั้น จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่หลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอันจะขาดเสียไม่ได้ก็คือ การบริหารกล้ามเนื้อหรือการออกกำลังกายที่ถูกต้อง

ปวดหลัง-อารมณ์เครียดกับการปวดหลัง

ปวดหลัง-อารมณ์เครียดกับการปวดหลัง

ได้มีผู้สังเกตมานานแล้วว่า อาการปวดหลังนั้นบ่อยครั้งที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดทางอารมณ์
ใน พ.ศ.2489 M.Sargent ได้รายงานผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังโดยหาความผิดปกติอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เท่านั้น เขาจึงเรียกอาการปวดหลังนี้ว่า
ปวดหลังจากจิตสรีระแปรปรวน (psychosomatic backache) แต่ดูเหมือนว่าเวลานั้นจะไม่มีใครสนใจมากนัก ไม่มีผู้คัดค้านแต่ก็ไม่มีผู้สนับสนุน และไม่มีผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ต่อจนเวลาล่วงมาอีกนาน
นายแพทย์ John E.Sarno จากนิวยอร์คจึงได้รายงานการศึกษาที่ทำให้ผู้ที่มีอาการปวดหลัง 108 ราย พบว่ามีถึง 78 รายที่มีอาการอย่างอื่นที่มีสาเหตุจากจิตใจร่วมด้วย เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด โรคจามจากภูมิแพ้ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) โรคลำไส้ใหญ่หดเกร็ง (spastic colon) โรคปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) โรคปวดศีรษะข้างเดียว (migraine headache) หัวใจเต้นเร็วไม่เป็นจังหวะ (palpitation) และโรคผิวหนังเนื่องจากประสาท (neurodermatitis) เป็นต้น และบางรายก็มีอาการเหล่านี้ร่วมกันหลาย ๆ อย่าง ที่มากถึง 4 อย่างก็มี ซาร์โนเรียกอาการปวดหลังจากสาเหตุนี้ว่า กล้ามเนื้ออักเสบจากความเครียด (tension myositis) ซาร์โนพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีบุคลิกเฉพาะตัวที่คล้าย ๆ กัน คือ บุคคลพวก type A เช่นมีความตั้งอกตั้งใจในการทำงานอย่างจริงจัง มีความรับผิดชอบสูง เมื่อจะทำสิ่งใดก็พยายามทำให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนนั้น ๆ เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ดีของครอบครัว รักลูก รักสามี (หรือภรรยา) และด้วยความที่จริงจังกับชีวิตมากนี้เอง ทำให้บุคคลเหล่านี้มีความเครียดเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันและคนที่เห็นแก่ตัว ความเครียดก็ยิ่งมาก ผู้ป่วยเหล่านี้มักไปพบแพทย์ด้วยประวัติว่า รถที่นั่งไปถูกชน หรือลงมาเข็นรถเนื่องจากเครื่องเสีย หรือเอี้ยวตัวไปหยิบของที่เบาะหลัง แล้วเกิดอาการเจ็บเล็กน้อย หรืออาจไม่เจ็บเลยในระยะแรกก็ได้ อาการเจ็บปวดมักจะเริ่มใน 1-5 วันต่อมา แต่ส่วนมากจะไม่รุนแรงและผู้ป่วยยังไม่ต้องการการรักษา ต่อมาอาการเจ็บจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ การถ่ายภาพเอ็กซเรย์มักไม่พบสิ่งผิดปกติ การรักษาจึงมักจะเป็นการให้พัก ให้ยารับประทาน (มักเป็นยาแก้ปวด ยาแก้การเกร็งของกล้ามเนื้อ และยากล่อมประสาท) อาจร่วมกับการดึงเอว และใส่เฝือกพยุงเอว (ถ้าเป็นที่คอก็ดึงคอและใส่เฝือกพยุงคอ)

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเหล่านี้ก็คือ การรักษาทุกอย่างนั้นทำให้ดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แล้วอาการเจ็บปวดก็จะกลับมาอีก หรือไม่เคยหายจากเจ็บปวดเลย ทำให้ยิ่งกลัดกลุ้มและเครียดมากขึ้น ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ ใบหน้าที่แสดงความกังวลเศร้าหมอง หรือมีทีท่าที่หงุดหงิดอย่างเห็นชัด ถ้าฟังดูสาเหตุที่ผู้ป่วยเล่าแล้วมักจะเห็นว่าไม่สัมพันธ์กับอาการที่เป็น เช่นรถที่ชนกันนั้นก็ชนเพียงเบา ๆ แต่ความเจ็บปวดกลับมากขึ้นเรื่อย ๆ นายแพทย์ซาร์โนเชื่อว่าสาเหตุอันเล็กน้อยเหล่านี้ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดโดยตรง แต่ไปเป็นตัวจุดชนวน (trigger) ให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่พร้อมจะเกร็งแข็งจากความเครียดทางอารมณ์อยู่แล้ว บริเวณที่ปวดนั้นอาจเป็นที่หลังส่วนล่าง หรือด้านหลังของต้นคอ ไหล่ และสะบักด้วยก็ได้

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างของผู้ป่วยเหล่านี้ก็คือ ลักษณะของการเจ็บปวดหรือการดำเนินของโรคไม่ใคร่แน่นอน เช่นบางครั้งการลงนอนพักทำให้อาการทุเลา แต่บางครั้งการลงนอนกลับทำให้เจ็บปวดมากขึ้น บางคนบอกว่าถ้าเดินแล้วสบายขึ้น แต่พอเดินไปอีกนิดกลับปวดมาก ในผู้ที่อายุมากแพทย์ต้องระวังในการอธิบายการบอกผู้ป่วยว่าสาเหตุของความเจ็บปวดนั้นมาจากความเสื่อมตามอายุไข อาจทำให้เกิดเป็นความกังวลได้อย่างมาก เพราะคิดว่าจากนี้ไปก็คงจะเสื่อมลงอีกเรื่อย ๆ และไม่นานก็คงถึงพิการ ใจหนึ่งอยากซักถามคุณหมอให้ละเอียดมากกว่านี้ แต่ใจหนึ่งก็กลัวว่าคำตอบที่ได้รับจะน่ากลัวยิ่งขึ้น จิตใจจึงเต็มไปด้วยความกังวลและเครียดยิ่งขึ้น อาการต่าง ๆ ก็อาจเลวร้ายลงได้อีก

อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์แล้วมีความสำคัญเสมอ การที่จะบอกว่าใครเจ็บป่วยเพราะสาเหตุมาจากจิต หรือจิตสรีระแปรปรวน (pyschosomatic disorder) นั้นเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ชอบฟังคำนี้ เนื่องจากฟังแล้วเหมือนเป็นคนมีปมด้อย เป็นคนอ่อนแอ หรือเป็นคนจิตใจมีปัญหา อย่างที่ปัจจุบันนี้นิยมเรียกว่า "ประสาท" นั่นเอง ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จึงไม่นิยมที่จะบอกผู้ป่วยว่า อาการปวดหลังนั้นมาจากจิตใจ หรือถึงกับส่งผู้ป่วยไปหาจิตแพทย์ เรื่องของโรคที่สัมพันธ์กับจิตใจที่เห็นได้ชัด คือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งวงการแพทย์ทราบดีว่าสาเหตุที่สำคัญยิ่งคือความเครียดทางอารมณ์ หรือเหตุมาจากจิต หรือเป็นจิตสรีระแปรปรวนอย่างหนึ่ง แต่แม้จะวิเคราะห์ได้แน่นอน แพทย์ก็ไม่ถึงกับส่งผู้ป่วยไปหาจิตแพทย์ (อาจมีบ้างแต่น้อยมาก) ส่วนมากก็เพียงให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท และคำแนะนำเท่านั้น ในเรื่องปวดหลังจากอารมณ์ก็เช่นกัน ส่วนมากไม่ต้องถึงมือจิตแพทย์ (เว้นรายที่หนักหนาจริง ๆ) แต่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ตามสถิติของนายแพทย์ซาร์โนนั้น ผู้ป่วยบางรายอาการปวดหลังหายได้เด็ดขาดโดยไม่ต้องทำการรักษาอะไรเลย เพียงแต่ทราบว่าตนเองนั้นไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ที่เกิดปวดนั้นก็เพราะกล้ามเนื้อเกร็ง และกล้ามเนื้อเกร็งแข็งก็เพราะความเครียดของตนนั่นเอง

นายแพทย์ Hugo A.Kein (จากนิวยอร์คเช่นกัน) ซึ่งได้เขียนหนังสือเรื่อง How to care for your back พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2524 เรียกผู้ที่มีอาการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ หรือความรู้สึกนึกคิดด้วยชื่อที่ค่อนข้างน่ากลัวและน่ารังเกียจว่า ผู้ป่วยฮิสทีเรีย (hysterical patient) โดยกล่าวว่าผู้มีอาการปวดหลังจากสาเหตุนี้มักเป็นหญิงมากกว่าชาย อาการปวดอาจเป็นได้อย่างรุนแรงมาก ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นทางกายที่ชัดเจน แต่ความเครียดนั้นทำให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็งได้ และการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ (ใครที่เคยเป็นตะคริวจะทราบได้เป็นอย่างดี) และความเจ็บปวดนี้ก็กลับไปเพิ่มความเครียดขึ้นอีก ดังนั้นหากไม่ได้มีการแก้ไขที่ถูกต้อง วงจรหรือวัฏจักรนี้ก็จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ การปวดจึงอาจเป็นได้อย่างรุนแรง บางคนถึงกับโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลเพื่อมารับตัวไปพบแพทย์

นายแพทย์ Keim ให้ข้อสังเกตว่าผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนมากจะเริ่มด้วยการตำหนิติเตียนแพทย์ที่เคยรักษามาก่อน (เพราะเปลี่ยนหมอกันมาหลาย ๆ คนแล้ว) เช่นคนนั้นก็ไม่ดี คนโน้นก็ไม่ได้ความ พร้อมกันนั้นก็ยกย่องแพทย์ที่กำลังมาหานี้ว่า ได้ยินมาว่าดีอย่างนั้นเก่งอย่างนี้ ซึ่งอย่าได้หลงดีใจ เพราะอีกไม่นานหมอที่กำลังได้รับคำชมนี้แหละที่จะต้องไปต่อท้ายชื่อของผู้ที่จะถูกตำหนิต่อไป เมื่อรักษาเขาไม่หายและเขาไปหาคนใหม่

การซักถามประวัติให้ละเอียดเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ (การรักษาผู้ป่วยประเภทนี้อย่างที่ทำกับผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยเราจึงไม่ได้ผล เพราะไม่มีเวลาพอ) อาจต้องพูดกันหลายครั้งจนผู้ป่วยให้ความไว้วางใจในแพทย์ผู้รักษา จึงยอมพูดถึงสาเหตุอันเป็นความกดดันที่ซ่อนอยู่ภายใน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการงาน ตลอดจนปัญหาทางเพศ เรื่องปัญหาทางเพศนี้เป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอ เพราะอาการปวดหลังอาจทำให้ภรรยาปฏิเสธความต้องการของสามี สามีก็เลยไปมีหญิงอื่น อันยิ่งเพิ่มความเครียดให้ภรรยามากขึ้น และอาการปวดหลังก็มากยิ่งขึ้นด้วย (บางคนอาจออกมาเป็นอาการปวดศีรษะได้อย่างมาก ๆ)

นายแพทย์ Keim มีความเห็นว่า แม้จะแน่ใจว่าผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในกลุ่มฮิสทีเรีย แต่ก็ไม่ควรบอกผู้ป่วยตรง ๆ แต่ควรให้ความมั่นใจว่าผู้ป่วยเองไม่มีอะไรผิดปกติที่ร้ายแรงเลย ขอให้ทำใจให้สบาย และรับประทานยาที่ให้อย่างสม่ำเสมอ (ยากล่อมประสาทและยานอนหลับอ่อน ๆ ที่ไม่เป็นอันตราย) การแสดงความเห็นใจและแสดงว่าเข้าใจปัญหาทุกอย่างที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการทางจิตมาก ก็ต้องให้จิตแพทย์เข้ามาช่วยด้วย นายแพทย์ Keim มีความเห็นว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นนี้เป็นทางระบายออก หรือเป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจที่เครียดอยู่นั้น หากไม่ได้ออกมาด้วยอาการปวดหลัง ก็อาจออกมาทางด้านอื่น เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีอาการทางลำไส้ หรืออาการทางหัวใจก็ได้ ดังนั้นการรักษาที่ถูกต้องจึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอจริง ๆ คือที่จิตใจ โดยให้มีความเครียดเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ผู้ที่ให้ความเห็นในเรื่องปวดหลังที่สัมพันธ์กับจิตใจที่น่าสนใจมากอีกผู้หนึ่งคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ Howard D.Kurland ซึ่งเป็นจิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทอร์นในสหรัฐ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง Back pain (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2524) ท่านมองผู้ป่วยเหล่านี้อย่างจิตแพทย์โดยแท้ คือเห็นว่าผู้ป่วยเหล่านี้ปวดหลังเพราะต้องการจะปวด คือใช้อาการปวดหลังเป็นเครื่องเรียกร้องให้ผู้ใกล้ชิด เช่น ลูก สามี (หรือภรรยา) ตลอดจนพ่อแม่มาเอาใจใส่ตนให้มากขึ้น หากปราศจากอาการปวดหลังนี้แล้ว ก็จะปราศจากผู้สนใจหรือเอาใจใส่ด้วย อาการปวดหลังเหล่านี้จึงเป็นอาการที่รักษาให้หายยากที่สุด
นอกจากใช้เรียกร้องความสนใจแล้ว อาการปวดหลังยังใช้ได้อย่างดีที่สุดในการอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการจะกระทำ ไม่ว่าจะเป็นงานนอกบ้าน งานในบ้าน หรือแม้แต่เรื่องบนเตียงนอน อาการปวดหลังใช้มาอ้างเพื่อเป็นการขอยกเว้นได้เสมอ บางคนนั้นเม้ทำงานล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็อาจอ้างอาการปวดหลังเป็นเหตุได้ เช่น
"เพราะฉันปวดหลังแท้ ๆ จึงทำงานนี้ไม่เสร็จ"
"คืนนี้ฉันปวดหลังมาก อย่ากวนนะ"
นายแพทย์ Kurland ได้เน้นให้ระวังผลร้ายที่อาจตามมา คือการเปลี่ยนแปลงทางกายและบุคลิกภาพ เช่น การปวดหลังทำให้เคลื่อนไหวน้อยลงและไม่ออกกำลังกาย ผลก็คือกล้ามเนื้ออ่อนแอและอ้วนขึ้น นอกจากนี้อาจกลายเป็นผู้ติดยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ตลอดจนติดเหล้าติดบุหรี่ได้

นายแพทย์ Hans Kraus ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมรักษาอาการปวดหลังของท่านอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี้ ได้กล่าวถึงการเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดสัญชาตญาณ "สู้ หรือ หนี" คือ "fight or flight" หรือ "fight or flee" ไว้ในหนังสือเรื่อง Backache, stress and tension อย่างน่าสนใจมาก แม้หนังสือนี้จะเขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2508 แต่เรื่องของการสู้หรือหนีนี้ยังไม่ล้าสมัยแต่อย่างใด

ย้อนหลังไปเมื่อมนุษย์ยังอยู่ป่าอยู่ถ้ำและล่าสัตว์กินเป็นอาหาร ชีวิตก็คล้ายกับสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่ต้องระวังภัยที่อาจมาถึงตัวเมื่อใดก็ได้ มนุษย์ในยุคนั้นจึงพร้อมเสมอที่จะสู้หรือหนี เช่น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกระทิงป่าในระยะกระชั้นชิด สมองจะสั่งการทันทีว่าควรสู้หรือหนี โดยพิจารณาจากสิ่งแวดล้อม เช่น อาวุธที่มีอยู่ในมือ หรือระยะห่างว่าพอเหมาะหรือไม่ การตัดสินใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดได้ ในขณะที่รอการตัดสินใจว่าจะสู้หรือหนีนั้น ร่างกายจะเกิดความเครียดอย่างมาก ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ถ้าในอดีต หรือมนุษย์ที่อยู่ตึกระฟ้าในปัจจุบันก็เกิดความเครียดเหมือน ๆ กัน แต่มนุษย์ที่อยู่ถ้ำในสมัยโบราณได้เปรียบตรงที่ความเครียดนั้นจะไม่เกิดอยู่นาน คือเมื่อตัดสินใจว่าหนี ก็หนี (จะเป็นหนีขึ้นต้นไม้หรือหลบหลังกอไผ่ก็ตาม) และถ้าตัดสินใจว่าสู้ ก็สู้ และเมื่อได้ทำตามที่ตัดสินใจไปแล้วความเครียดก็หมดไป ส่วนมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนมากจะโต้ตอบด้วยการสู้หรือหนีไม่ได้ คือแม้คิดว่าควรสู้ก็ไม่ได้สู้ หรือคิดว่าควรหนีก็หนีไม่ได้ ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงไม่หมดไปง่าย ๆ หรืออาจเกิดสะสมมากยิ่งขึ้นก็ได้

ในขณะที่รอการตัดสินใจว่าจะสู้หรือหนี และเกิดความเครียดนั้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย สารแอดรีนาลินจะหลั่งออกมามาก รวมทั้งน้ำตาลก็ออกมาอยู่ในเลือดมากด้วย (เพื่อเตรียมเป็นพลังงาน) หัวใจจะเต้นเร็วและแรง แรงดันเลือดขึ้นสูง หายใจเร็วจนอาจถึงหอบ และกล้ามเนื้อจะเกร็ง เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรอรับคำสั่งจากสมองต่อไป เมื่อปฏิบัติเสร็จสิ้น (จะเป็นสู้หรือหนีก็ตาม) ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกร็งก็จะคลายตัวสู่สภาพเดิมด้วย ปฏิกิริยาหรือสัญชาตญาณเช่นนี้มีอยู่ในสัตว์โลกเกือบทุกชนิด ใครที่เลี้ยงแมวและสุนัขอยู่ด้วยกันคงจะเคยเห็นบ้างว่า แมวนั้นต้องเผชิญกับปัญหาเช่นว่านี้บ่อย ๆ บางครั้งกำลังเล่นหรือนอนพักอยู่เพลิน ๆ เจ้าสุนัขตัวโตก็มายืนแยกเขี้ยวอยู่ใกล้ ๆ เสียแล้ว แมวจะยืนโก่งหลังตัวงอ ขนพองทั้งตัว แยกเขึ้ยว ขู่ฟ่อกลับไปทันที ระหว่างนั้นก็จะตัดสินใจว่าควรสู้หรือหนี หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ ที่จะเผ่นขึ้นไปได้โดยปลอดภัยแมวก็มักจะตัดปัญหาด้วยการหนีขึ้นต้นไม้ แต่ถ้าไม่มีต้นไม้อยู่ใกล้ หรือคิดว่าหนีไม่พ้น แมวก็จะสู้ทันที ผู้เขียนเคยเห็นแมวตัวเล็ก ๆ ที่สามารถไล่สุนัขตัวโตกว่ามากเปิดหนีไปได้บ่อย ๆ และระหว่างที่แมวเกร็งตัวสู้นั้น มันอยู่ในสภาพที่เครียดมากทีเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อสุนัขหนีไปแล้วความเครียดทั้งหมดของแมวก็สิ้นสุดลงด้วย
ถ้าเราลองพิจารณาถึงชีวิตของคนในปัจจุบันนี้ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่พึงประสงค์ เรายังคงมีสัญชาตญาณของการสู้หรือหนีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมเฉกเช่นบรรพบุรุษของเราเมื่อหลายพันปีก่อน มีแอดรีนาลินหลั่งออกมา หัวใจเต้นแรง แรงดันเลือดสูง หายใจหอบ และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง สมองพร้อมที่จะออกคำสั่งให้สู้หรือหนี แต่ปัญหาของมนุษย์ปัจจุบันก็คือ สมองอันเดียวกันนี้แหละที่เกิดความยั้งคิดขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามที่สัญชาตญาณต้องการได้ ด้วยขัดกับระเบียบของสังคมบ้าง หรือขัดกับธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎหมายที่บังคับอยู่ ทำให้ต้องเก็บกดสัญชาตญาณของการสู้หรือหนีไว้ ความเครียดทั้งหลายจึงไม่หมดไป

เช่น นาย ก. ถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิอย่างแรงต่อหน้าผู้คนมากมายว่าปฏิบัติงานผิดพลาด แต่นาย ก. คิดว่าตนนั้นทำถูกต้องและดีที่สุดแล้ว สัญชาตญาณเกิดขึ้นทันทีว่าตัวได้รับความไม่ยุติธรรม ควรต้องสู้หรือมิฉะนั้นก็หนีไปเสีย ระหว่างนั้นความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็เกิดขึ้นเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่จิตสำนึกทำให้นาย ก. ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จะสู้โดยลุกขึ้นมาต่อยหน้าคนว่าสักทีหรืออย่างน้อยให้ได้เถียงว่าที่พูดมานั้นไม่จริงเลย ก็ทำไม่ได้ หรืออยากจะหนีไปให้พ้นก็ยังหนีไม่ได้ ต้องอยู่ทนฟังจนจบ อย่างมากที่นาย ก. จะทำได้ก็คือหน้าแดง ใจเต้นเร็ว แรง หรือสั่น หายใจหอบ ขบกราม และกำมือแน่น ตัวเกร็งไปหมด เรื่องของนาย ก. ยังไม่หมด เพราะขณะที่ขับรถกลับบ้านในตอนเย็นมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งเฉี่ยวเอากระจกส่องข้างหักและหนีไปต่อหน้าต่อตา นาย ก. อยากทำอะไรหลายอย่างกับนักขับมอเตอร์ไซค์เลว ๆ คนนี้ แต่ที่ทำได้จริง ๆ ก็คือ นั่งตัวแข็ง มือกำพวงมาลัยแน่น และสะสมความเครียดต่อไป เคราะห์ของนาย ก. อาจยังไม่หมดเพียงเท่านี้ก็ได้ เพราะเมื่อกลับเข้าบ้านอาจพบว่า ทั้งโทรทัศน์สีและวีดีโอ ถูกยกไปจนเกลี้ยง ซ้ำร้ายเมื่อไปแจ้งความยังถูกนายร้อยเวรพูดจาถากถางเอาอีกด้วย

คนอย่างนาย ก. นี้หากจะมีอาการปวดหลัง ปวดคอ เกิดขึ้นก็อย่าได้สงสัยอะไรเลย เพราะความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้รับการปลดปล่อยเท่าที่ควร และยังมีใหม่เกิดสะสมเข้ามาอีกด้วย นายแพทย์ John V.Basmajian จากมหาวิทยาลัย แม็คมาสเตอร์ เมืองออนตาริโอ ประเทศคานาดา ได้กล่าวไว้ว่า อาการปวดหลัง ก็คืออาการปวดศีรษะที่เลื่อนจากศีรษะลงมาที่หลัง นั่นเอง คือเกิดขึ้นในสมองแล้วเลื่อนมาที่หลัง (หรือคอก็ได้)

เคยมีหญิงสาวคนหนึ่งที่มีอาการปวดต้นคอ ไหล่ และสะบักมานาน รักษากับแพทย์หลายต่อหลายคน (เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ) อาการไม่เคยหายขาดหรือทุเลาอย่างจริงจังเลย เปลี่ยนแพทย์ครั้งหนึ่งเธอก็จะไปหาผู้เขียนครั้งหนึ่งเพื่อใส่เฝือกพยุงคอ เพราะแพทย์แต่ละคนสั่งแบบที่ไม่เหมือนกัน ผู้เขียนได้คุยกับเธอแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอาการของเธอจึงไม่หายสักที

หญิงสาวผู้นี้แต่งงานกับสามีซึ่งมีเชื้อจีนและเป็นลูกชายคนโต เมื่อแต่งงานแล้วสามีก็ยังไม่ยอมแยกบ้าน ทั้งที่รายได้ของทั้ง 2 คนพอทำได้ แต่เป็นความประสงค์ของแม่สามีที่ต้องการให้ลูกชายคนโตอยู่ด้วย แม่รักลูกชายคนนี้มากจนเรียกได้ว่าหวง นอกจากนี้ยังมีนิสัยขี้บ่น จู้จี้ และที่สำคัญยิ่งก็คือ ไม่ให้เกียรติลูกสะใภ้เลย พยายามจะให้ทำตัวเช่นสะใภ้จีนโบราณ ซึ่งหญิงสาวผู้นี้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเธอเองมีการศึกษาดีและออกทำงานนอกบ้าน มีรายได้เลี้ยงตัวได้ แต่ด้วยความรักและเกรงใจสามี เธอจำต้องอดทนอย่างมาก ทุกครั้งที่เธอถูกแม่ของสามีบ่นว่าด้วยความไม่เป็นธรรม เธอจะเกิดสัญชาตญาณดั้งเดิม คือสู้หรือหนี เธออยากสู้โดยเถียง แต่ก็ทำไม่ได้ เธออยากหนีไปให้พ้น เพราะไม่อยากฟัง แต่ก็หนีไม่พ้น ความเครียดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตัวเธอจึงไม่มีทางระบายออกเลย

เธอเล่าว่าเมื่อแรก ๆ นั้น พอตื่นเช้าขึ้นมาได้แต่งตัวออกจากบ้านไปทำงาน ก็แสนจะสบายใจ แต่พอตกเย็นขึ้นรถกลับบ้าน (บ้านเธออยู่ไกลที่ทำงานมาก) เธอก็เริ่มมีอาการปวดบริเวณต้นคอ (ตอนแรก ๆ แพทย์คิดว่เกี่ยวกับท่าทีเธอนั่งทำงาน แต่แก้ไขแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น) ยิ่งใกล้บ้านอาการยิ่งมาก และเมื่อเข้าบ้านได้ยินเสียงบ่นของแม่สามีเท่านั้น อาการก็รุนแรงทันที บางครั้งมีปวดศีรษะอย่างมากด้วย เธอเคยปรับทุกข์กับสามี สามีก็บอกแต่ให้อดทนไปก่อน พอน้อง ๆ โตแล้วก็คงจะแยกออกมาได้ (อีกนาน) เธอจึงอดทนเรื่อยมา พร้อมกับความปวดที่เพิ่มขึ้น ระยะหลัง ๆ นั้น ที่เคยปวดเฉพาะเวลาเย็นก็กลายเป็นปวดแม้ในที่ทำงาน และมากขึ้นจนเกือบจะเป็นตลอดเวลา อันเป็นผลให้เธอเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อย ๆ
เรื่องของความเครียดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในร่างกายนั้น เป็นสิ่งที่วงการแพทย์สนใจมานานแล้ว นักสรีรวิทยาชื่อ Walter B.Cannon จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทดลองในสัตว์ที่ทำให้เกิดความเครียด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเช่นที่กล่าวมาแล้วอย่างครบถ้วน ต่อมาเขาได้ศึกษาในนักฟุตบอลของฮาร์วาร์ด 25 คน พบว่าความเครียดที่เกิดเมื่อเข้าแข่งขันทำให้มีน้ำตาลออกมามากจนตรวจพบได้ในปัสสาวะ แม้ตัวสำรองที่นั่งเชียร์เพื่อนอยู่ที่ขอบสนามก็มีน้ำตาลออกมามากเช่นเดียวกัน

นักสรีรวิทยาชาวเยอรมันอีกผู้หนึ่งคือ Tiegel ได้ศึกษาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ พบว่าการเกิดความเครียดและทำให้กล้ามเนื้อเกร็งบ่อย ๆ นั้น จะทำให้ความยาวของกล้ามเนื้อลดลง คือยืดออกไม่ได้เท่าเดิม อันเป็นผลให้ข้อที่กล้ามเนื้อนั้นเกี่ยวข้องอยู่เคลื่อนไหวไมได้เช่นปกติด้วย และหากมีการเคลื่อนไหวข้อนั้นอย่างรวดเร็ว หรือรุนแรงก็อาจทำให้กล้ามเนื้อที่ยืดไม่ได้เต็มที่นี้ฉีกขาดได้ และถ้ากล้ามเนื้อที่ยืดไม่ได้เต็มที่นี้เป็นกล้ามเนื้อบริเวณหลังหรือคอ ก็อาจมีผลให้เกิดการเสียสมดุล ทำให้โค้งลอร์โดติคที่คอ หรือเอวผิดไปได้ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของการปวดหลัง ปวดคอ

นักวิจัยชาวอังกฤษ 2 คนคือ Peter Sainsbury และ T.G.Gibson ได้ทำการศึกษาที่น่าสนใจมาก คือใช้เครื่องบันทึกการหดตัวของกล้ามเนื้อไปติดไว้ในบริเวณที่มีอาการปวด และบริเวณที่ไม่มีอาการปวด จากนั้นก็ชวนให้ผู้ป่วยคุยในเรื่องที่รู้แน่ว่าจะทำให้เขาเกิดความเครียดได้ เช่น เรื่องร้าย ๆ ในที่ทำงาน เรื่องข่าวลือว่าภรรยามีชู้ หรือเรื่องลูกวัยรุ่นที่ติดยา เขาได้พบว่าเมื่อชวนคุยให้เกิดความเครียดแล้ว กล้ามเนื้อในบริเวณที่ไม่ได้ปวดมาก่อนนั้นก็มีการเกร็งแข็งเหมือนกัน แต่จะไม่มากเท่าบริเวณที่มีความปวดอยู่ก่อนแล้ว และที่น่าสนใจมากก็คือ ในบริเวณที่ปกตินั้น เมื่อความเครียดหมดไป (หยุดพูดคุยแล้ว) การเกร็งแข็งก็หมดไปด้วย แต่ในบริเวณที่มีความเจ็บปวดอยู่เดิมนั้นแม้จะหยุดคุยแล้ว ความเครียดหมดไปแล้ว การเกร็งแข็งก็ยังคงอยู่ไม่ยอมหมดไปง่าย ๆ และเกิดเป็นความเจ็บปวดมากขึ้น

เรื่องของความเครียดที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีทางปลดปล่อยนั้นนับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ทั้งกายและจิต) ของคนเมืองทุกวันนี้เป็นอย่างมาก ลูกที่คิดว่าถูกพ่อแม่บังคับกดขี่ก็ดี ผู้น้อยที่ไม่พอใจผู้ใหญ่ก็ดี ผู้ใหญ่ที่ดิ้นรนอยากจะใหญ่ยิ่งขึ้นแต่ไม่สำเร็จก็ดี หรือความสับสนวุ่นวายในการใช้รถใช้ถนนก็ดี ล้วนทำให้เกิดความเครียดหรือสัญชาตญาณของการ สู้หรือหนี ได้ทั้งสิ้น ลูก ๆ หลายคนใช้วิธีหนี โดยกลับบ้านดึก ๆ หรือไปอยู่บ้านเพื่อนจนเสียผู้เสียคนไปก็มีไม่น้อย ผู้น้อยที่ขาดความยั้งคิดคว้าเอาปืนมายิงนายขี้บ่นจนตายก็มีเป็นข่าวให้ได้ยิน ผู้ใหญ่ที่สู้กันจนถูกย้ายทั้งคู่ก็มีอยู่เป็นครั้งคราว ยิ่งเรื่องของการจราจรด้วยแล้วยิ่งวุ่นวายมาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากทำกันจริง ๆ เมื่อประสบความไม่พอใจก็คือ "ไม่สู้และไม่หนี" เพราะสู้ไม่ได้และหนีไม่ได้ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีที่หญิงสาวปวดคอใช้ นั่นคืออดทน หรือเก็บกด ซึ่งนับว่ามีอันตรายมาก เพราะทำให้เกิดเป็นอาการทางกายได้สารพัดอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดท้องและปวดหลัง เป็นต้น เป็นอาการที่รักษาให้หายยากที่สุดหากไม่เข้าถึงสาเหตุ และไม่ได้แก้ที่สาเหตุนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง - สาเหตุของการปวดหลัง

ปวดหลัง - สาเหตุของการปวดหลัง

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการปวดหลังนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็นเพียงอาการของโรค ความจริงแม้ไม่มีโรคอะไรเลยก็ปวดหลังได้ และมีมากเสียด้วย เช่น เสมียนสาวคนหนึ่งมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องนั่งพิมพ์หนังสือทั้งวันในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น เก้าอี้ที่นั่งสูงเกินไป หรือโต๊ะที่วางแป้นพิมพ์เตี้ยเกินไป อีกทั้งยังต้องเอี้ยวตัวไปมาเพื่อหยิบนั่นหยิบนี่ หรือต้องชะโงกดูต้นฉบับที่วางห่างออกไปมาก พอตกเย็นก็อาจมีอาการปวดหลัง (หรือคอ) ได้ ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม หรือศัลยแพทย์ที่ต้องยืนวันละนาน ๆ ในท่าที่ไม่เหมาะก็ปวดหลังได้เช่นกัน หญิงที่แข็งแรงดี แต่พอแต่งงานและตั้งครรภ์ก็ปวดหลังได้

นักบริหารที่นั่งทำงานทั้งวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ พอวันเสาร์ก็แต่งตัวคว้าไม้เทนนิสลงสนามทันที แล้วไม่นานเพื่อนก็ต้องพยุงตัวส่งแพทย์เพราะหลังแข็ง หรือพอวันรุ่งขึ้นก็ลุกจากเตียงไม่ได้เนื่องจากปวดหลังมาก ซึ่งมีให้พบได้อยู่เสมอ

สาเหตุของการปวดหลังนั้น บางครั้งก็ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย เช่น ลูกสะใภ้ที่มีเรื่องทะเลาะกับแม่ผัวอยู่บ่อย ๆ ก็ปวดหลังได้ หรือคนที่กินดีอยู่ดีมากเกินไปจนอ้วนลงพุงก็ปวดหลังได้เช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำราว่าด้วยเรื่องปวดหลังนั้นมักจะแบ่งสาเหตุของการปวดหลังไม่ใคร่เหมือนกัน ผู้เขียนลองค้นหนังสือเหล่านี้หลาย ๆ เล่ม ซึ่งเขียนโดยแพทย์ที่มีความชำนาญต่างสาขากัน อาทิ
ศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคส์ เช่น Lan Macnab (คานาดา) , Albert Gob (เยอรมัน), Yumashev (รัสเซีย), Hugo Keim (สหรัฐ), Leon Root (สหรัฐ)
แพทย์ทางเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ เช่น Rene Cailiet (สหรัฐ), Hans Kraus (สหรัฐ)
แพทย์ทางประสาทศัลยศาสตร์ เช่น Phillip Weinstein (สหรัฐ)
แพทย์ทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เช่น Howard Kurland (สหรัฐ)
และแพทย์ปริญญาที่ไปโด่งดังทางออสติโอแพธส์ (osteopaths) จากอังกฤษ เช่น Alan Stoddard ต่างก็มีวิธีแบ่งสาเหตุของการปวดหลังที่ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม แม้รายละเอียดของการแบ่งจะมีหลายแบบ แต่หลักการใหญ่ ๆ ก็ยังคงคล้าย ๆ กัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันนี้ต่างก็มุ่งเน้นในเรื่องอารมณ์เครียดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปวดหลังและรักษาไม่ใคร่หาย นายแพทย์ Rothman (แพทย์ทางออร์โธปิดิคส์) ถึงกับกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้การรักษาอาการปวดหลังไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะแพทย์ผู้รักษามองดูแต่ที่หลังและมองข้ามความซึมเศร้าของผู้ป่วยไป

นายแพทย์ Hans Kruas เน้นมากในเรื่องของ "จุดชนวน" หรือ trigger point โดยถือว่าจุดชนวนนี้เกิดได้ทุกแห่งในร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อย ๆ คือบริเวณต้นคอ ไหล่ หลังส่วนล่างหรือเอว และที่สะโพก เขาเชื่อว่าจุดชนวนนี้เกิดจากกล้ามเนื้อได้รับภยันตรายเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เรื่อย ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อซึ่งทำให้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งต้องเกร็งตัวทำงานมากกว่าอีกมัดหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เกิดจุดชนวน หรือทริกเกอร์พอยท์ที่กล้ามเนื้อนั้นได้ ถ้าลองกดที่จุดชนวนนี้จะรู้สึกเจ็บ และถ้ามีอะไรมากระตุ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ไปเกร็งยกของหนัก หรือนั่งไปในรถที่ชนกันเพียงเบา ๆ หรือลงเข็นรถหรือเกิดอารมณ์เครียดขึ้นมาก็จะมีการกระตุ้นที่จุดชนวนนี้ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็งและเกิดเป็นความเจ็บปวดได้ เมื่อปวดก็จะยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งเกร็ง และยิ่งเกร็งก็ยิ่งปวด การเกิดจุดชนวนที่กล้ามเนื้อนั้น เปรียบเหมือนปืนที่บรรจุกระสุนพร้อม เพียงแต่รอผู้ที่จะมาลั่นไกเท่านั้น และการกระตุ้นที่จุดชนวนนี้ (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) ก็คือการลั่นไกให้เกิดเป็นความเจ็บปวดขึ้นมานั่นเอง

เมื่อได้อ่านจากตำราปวดหลังหลาย ๆ เล่ม ที่เขียนโดยผู้ชำนาญจากหลายสาขา รวมทั้งที่ผู้เขียนได้พบเห็นจากผู้ที่มีอาการปวดหลังในประเทศไทยเราอีกมาก พอจะสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ดังนี้คือ

1. ภยันตราย (trauma) ที่เกิดกับหลัง เป็นสาเหตุโดยตรง ซึ่งแยกได้เป็น 2 อย่างคือ

1.1 ภยันตรายที่เกิดอย่างเฉียบพลัน (acute trauma) พวกนี้ส่วนมากจะเกิดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ได้แก่ ตกจากที่สูง เช่น ตกต้นไม้ ตกจากตึก ตกจากนั่งร้านก่อสร้าง หรือนักโดดร่มที่ลงผิดท่า หรืออาจตกจากที่ไม่สูงนัก แต่ลงมาอย่างแรง เช่น หลุดออกมาจากรถเช่นชนกัน หรือล้มก้นกระแทกพื้น หรือถูกทำร้ายที่หลังโดยตรง เช่น ถูกตี ถูกแทง ถูกยิง หรือถูกสะเก็ดระเบิด เป็นต้น หรือ อาจถูกของหนัก ๆ หล่นทับหลัง ที่พบในบ้านเราได้บ่อย ๆ เช่น กระสอบข้าว กระสอบแป้ง กระสอบปูนซีเมนต์ หรือซุงหล่นทับหลัง ที่มุดเข้าไปซ่อมรถแล้วแม่แรงหลุดรถทับลงมาจนหลังหักก็มี ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีอาการรุนแรงและต้องไปพบแพทย์ทันที ส่วนมากจะได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

1.2 ภยันตรายที่เกิดอย่างเรื้อรัง (chronic trauma หรือ chronic overloading) เป็นภยันตรายที่เกิดอย่างช้า ๆ แต่เกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ หรือเป็นภยันตรายที่เกิดทีละเล็กละน้อย (micro trauma) มักเริ่มด้วยอาการปวด ๆ เมื่อย ๆ เมื่อได้พักผ่อนก็จะหายไป แล้วก็กลับเป็นขึ้นมาอีก อาการเหล่านี้หากไม่ได้รับความสนใจและปล่อยไว้อาการก็จะเพิ่มมากขึ้น เช่น เสมียนที่นั่งพิมพ์งานผิดท่าทั้งวันที่กล่าวถึงในตอนต้น หรือกรรมกรที่ต้องแบกหามของหนักอยู่เสมอ หรือคนขับรถบรรทุกที่แล่นไปบนถนนที่ขรุขระเป็นประจำ หรือแม้แต่การนอนบนที่นอนที่นุ่มเกินไป หรือนอนผิดท่าอยู่เสมอ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้ทั้งสิ้น
การปล่อยให้แนวโค้งของกระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ผิดปกตินาน ๆ หรือบ่อย ๆ จากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อจัดเป็นสาเหตุของการปวดหลังในหัวข้อนี้เช่นกัน เมื่อประมาณ พ.ศ.2487 แพทย์กลุ่มหนึ่งจากศูนย์การแพทย์ Columbia Presbyterian ซึ่งนำโดยแพทย์หญิง Barbara Stimson ได้ตรวจร่างกายของผู้ที่มีอาการปวดหลังจำนวน 3,000 คน และแพทย์กลุ่มเดียวกันนี้ได้ไปตรวจผู้ปวดหลังอีก 2,000 คนที่ Institute of Physical Medicine and Rehabilitation มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค พบว่าราวร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอาการปวดหลังนั้น มีสาเหตุมาจากความอ่อนแอและไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ เขาได้ติดตามผู้ป่วยเหล่านี้นานถึง 8 ปีอยู่ 233 คน พบว่าทั้งหมดมีอาการดีขึ้นเมื่อได้ออกกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและสมดุลบริหารให้ดีมากขึ้นเท่าใด อาการปวดหลังก็น้อยลงเท่านั้น และอาการปวดหลังจะกลับเป็นอีกเมื่อหยุดออกกำลัง ปล่อยให้กล้ามเนื้ออ่อนแอและเสียสมดุลอีก

สำหรับการเปลี่ยนแนวโค้งของกระดูกสันหลังส่วนเอวในระหว่างมีครรภ์นั้น เมื่อบวกกับน้ำหนักของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นและจุดศูนย์ถ่วงที่ห่างกระดูกสันหลังออกมามาก อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้มาก ๆ ผู้เขียนมีผู้ป่วยหลายรายที่ปวดมากจนต้องมาใส่เฝือกหิ้วท้องไว้ อย่างไรก็ตามพวกนี้เมื่อคลอดแล้วอาการก็จะหายไป ไม่เหมือนกับพวกคนอ้วนที่ลงพุงมาก ๆ เหมือนคนท้อง 9 เดือนที่ไม่ยอมคลอดสักที พวกนี้นานไปจะปวดหลังเรื้อรังได้

เหตุเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนมีครรภ์ปวดหลังได้มากขึ้นก็คือ ในช่วงท้าย ๆ ของครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนพิเศษที่ช่วยให้เอ็นที่ยึดกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของกระดูกเชิงกรานหย่อนตัวลงกว่าเดิม เป็นการเตรียมเพื่อความสะดวกเวลาคลอด แต่ผลของฮอร์โมนนี้มิได้เกิดกับเอ็นของกระดูกเชิงกรานเท่านั้น แต่ไปมีผลต่อเอ็นของกระดูกสันหลังด้วย เมื่อเอ็นหย่อนกระดูกสันหลังก็เสียความมั่นคง ทำให้อาการปวดหลังมากยิ่งขึ้น บางคนอาจมากถึงมีขาชาก็ได้ สำหรับอาการปวดขาซึ่งมักจะเกิดร่วมได้บ่อย ๆ นั้น สาเหตุมักมาจากเส้นเลือดขอดที่ขามากกว่า ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้หญิงมีครรภ์บางคนทุกข์ทรมานมากทีเดียว

2. ความเสียหายของหมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral disc damage) หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ภยันตรายที่เกิดกับหลังในข้อแรกที่กล่าวมาแล้ว ส่วนมากจะทำให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อหมอนรองกระดูกสันหลังเสมอ แนวโค้งของกระดูกสันหลังที่ผิดไปจากปกติจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังผิดรูปไปได้ และถ้ามีแรงกดลงมามาก ๆ ในแนวที่ผิดปกตินี้ ก็อาจทำให้ส่วนของหมอนรองกระดูกยื่นโป่งออกทางด้านใดด้านหนึ่งได้ ซึ่งมักจะออกทางด้านหลังเฉียงไปทางข้าง ๆ เพราะเป็นจุดที่แอนนูลัสของหมอนรองนี้อ่อนแอที่สุด และบังเอิญเป็นจุดที่ใกล้กับทางออกของรากประสาทไขสันหลังด้วย โอกาสที่รากประสาทจะถูกกดเบียดหรือถูกรบกวนจึงมีได้ ภยันตรายที่ทำให้เกิดแรงกดเบียนลงมามาก ๆ อาจทำให้แอนนูลัสแตกตรงจุดที่อ่อนที่สุดแล้วตัวนิวเคลียสทะลักออกมาก็ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังที่รุนแรงอย่างเฉียบพลันทันทีและมีอาการเสียวร้าวไปที่ขา

เมื่อมีอายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังจะเสื่อมและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ทั้งสิ้น

ในการที่หมอนรองกระดูกสันหลังยื่นโป่งออกไปนั้น ส่วนมากจะเข้าใจว่า เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดก็มากตาม แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น วัยที่พบว่ามีหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวยื่นโป่งออกมามากที่สุดนั้น คือวัยกลางคน (อายุ 30-40 ปี) จากสถิติของนายแพทย์ Albert Gob (จากมิวนิค เยอรมัน) พบว่า

อายุ (ปี)                       หมอนรองกระดูกโป่งออกคิดเป็นร้อยละ
10-19                             2.2
20-29                           11.2
30-39                           39.2
40-49                           29.2
50-59                           14.0
60-70                             3.0

จะเห็นว่าการยื่นโป่งออกนั้นมีมากที่สุดในวัย 30-40 ปี และเมื่อมีอายุมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้จะกลับน้อยลง ทั้งนี้อาจเป็นด้วยว่าในวัย 30-40 ปีนั้น เป็นวัยที่ต้องทำงานหนัก และมีการเคลื่อนไหวมาก นายแพทย์ Leon Root จากสหรัฐอเมริกาก็ให้ตัวเลขไว้ทำนองนี้เหมือนกัน

3. การติดเชื้อ (infection) เนื่องด้วยกระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่มีเลือดไปเลี้ยง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ โรคติดเชื้อที่กระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยในอดีตของไทยเราก็คือ วัณโรคกระดูกสันหลัง ซึ่งทำให้มีอาการปวดหลังได้มาก ๆ (โดยเฉพาะในเวลากลางคืน) แม้ในปัจจุบันนี้จะลดลงมาก แต่ก็มีให้เห็นเป็นครั้งคราว โรคนี้หากละเลยปล่อยให้ลุกลามมาก อาจถึงเป็นอัมพาตของขาได้ การติดเชื้อนี้นอกจากเกิดกับกระดูกสันหลังแล้ว อาจเกิดกับอวัยวะอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ระบบประสาท ก็ทำให้ปวดหลังได้

4. การอักเสบที่ปราศจากเชื้อ การอักเสบของกระดูกนั้นอาจเกิดโดยมีเชื้อโรค หรือปราศจากเชื้อก็ได้ หากมีเชื้อก็จัดไว้ในพวกที่ 3 ที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการอักเสบที่ปราศจากเชื้อนั้นได้แก่ การอักเสบในพวกรูห์มาตอยด์ ซึ่งอาจเกิดกับมือ เท้า สะโพก หรือ หลังก็ได้

การอักเสบปราศจากเชื้อที่พบได้บ่อยอีกอย่างหนึ่งคือการอักเสบที่เกิดจากความเสื่อม ได้แก่พวก osteoarthritis หรือ osteoarthrosis ซึ่งอาจเกิดกับเข่า (พบได้บ่อยมาก) หรือเกิดกับหลังก็ได้ ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน

5. กระดูกจาง (osteoporosis) บางคนเรียกกระดูกกร่อน กระดูกผุ หรือกระดูกพรุน ซึ่งล้วนฟังดูน่ากลัวมาก ผู้เขียนคิดว่าแพทย์ไม่น่าใช้คำเหล่านี้กับผู้ป่วย หรือถ้าใช้ก็ควรอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจ เพราะผู้ป่วยหลายคนที่มาซักถามกับผู้เขียนด้วยความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งว่า กระดูกสันหลังของผม (หรือของฉัน) ที่มันกร่อน มันผุ หรือมันพรุนอยู่นี้จะทำให้หลังพังได้รวดเร็วหรือไม่ เพียงใด ภาวะกระดูกจางนี้เกิดจากมีแคลเซียมในกระดูกน้อยลง ทำให้เนื้อกระดูกไม่แน่นและแข็งแรงเช่นปกติ ความจริงเมื่อเรามีอายุสูงมากขึ้นกระดูกก็จะจางลงได้ โดยเฉพาะถ้าอายุมากและขาดการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวน้อยจะยิ่งจางลงได้มาก หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็จะมีภาวะนี้เกิดขึ้นได้ แขนขาที่ไม่ได้เคลื่อนไหว เช่นถูกเข้าเฝือกไว้นาน ๆ ก็กระดูกจางได้ แต่ที่ต้องระวังให้มาก ๆ ก็คือ การรับประทานยาพวกที่มีสตีรอยด์ หรือเพรดนิโซโลน ซึ่งหากรับประทานติดต่อกันนานจะทำให้กระดูกจางได้อย่างมาก ๆ ทีเดียว ภาวะกระดูกจางนี้จะทำให้ปวดหลังได้และมักเป็นอย่างเรื้อรัง โดยอาจปวดเพียงเล็กน้อยแค่รำคาญ หรืออาจปวดมากจนต้องหาแพทย์ สำหรับภาวะกระดูกจางในผู้ที่สูงอายุนั้น การออกกำลังกายที่พอเหมาะจะเป็นการป้องกันได้อย่างดีที่สุด

6. เนื้องอก (tumor) อาจเป็นชนิดร้ายแรง (มะเร็ง) หรือไม่ร้ายแรงก็ได้ แต่โชคดีที่ส่วนมากของเนื้องอกมักเป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรง เนื้องอกนี้อาจเกิดที่ตัวกระดูกสันหลังเอง หรือกับส่วนอื่น เช่น ระบบประสาทก็ได้ ก้อนเนื้องอกแม้จะไม่ร้ายแรง แต่ถ้าไปกดเบียดไขสันหลังหรือรากประสาทก็ทำให้ปวดและเสียวร้าวไปที่ขาได้ สำหรับเนื้องอกที่ร้ายแรงหรือมะเร็งนั้น อาจเริ่มที่ตัวกระดูกสันหลังเองก็ได้ เช่น มัลติเพิล มัยอีโลม่า แต่ที่พบได้บ่อย ๆ คือ มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น เช่น เป็นมะเร็งของเต้านม มะเร็งของมดลูก หรือ มะเร็งของต่อมลูกหมาก เป็นต้น มีผู้ป่วยมะเร็งของเต้านม (ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว) ที่ถูกส่งไปใส่เฝือกพยุงหลังอยู่เสมอ เพราะเนื้อมะเร็งได้กระจายไปที่กระดูกสันหลังแล้ว การใส่เฝือกพยุงหลังในผู้ป่วยเหล่านี้นอกจากทำให้ลดความเจ็บปวดแล้ว ยังป้องกันมิให้กระดูกสันหลังยุบลงได้ด้วย

7. ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือระหว่างการเจริญเติบโต (congenital and developemental defect) ความผิดปกติเหล่านี้มีหลายอย่างที่ทำให้ปวดหลังได้ โดยเฉพาะถ้าความปกตินั้นทำให้โครงสร้างของหลังเสียความมั่นคง หรือไม่อยู่ในภาวะที่สมดุล บางคนเกิดมามีจำนวนของกระดูกสันหลังส่วนเอวไม่เท่าผู้อื่น เช่น มีเพียง 4 อัน หรือมากเกินเป็น 6 อัน อาจทำให้กลไกการเคลื่อนไหวผิดปกติและปวดหลังได้ บางคนมีแนวของกระดูกเหนือก้นกบอันบนสุดเอียงเฉียงมาก ทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่บนนี้เอียงมากไปด้วย คือมีมุมลัมโบเซครัลเกิน 30 องศาไปมาก ๆ ทำให้มีโค้งลอร์โดติคมาก หรือเอวแอ่นมาก โอกาสที่จะปวดหลังย่อมมีได้มาก บางคนเกิดมาหลังงอ หลังคด ก็เป็นสาเหตุให้ปวดหลังได้
ความผิดปกติที่เกิดระหว่างการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สปอนดัยโลลัยสิส (spondylolysis) และสปอนดัยโลลิสธีลิส (spondylolisthesis) คือมีส่วนของกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างอาร์ติคิวล่าร์โปรเซสส์อันบนกับล่างหรือพาร์สอินเตอร์อาร์ติคิวลาริสขาดตอนจากกัน หรือมีความอ่อนแอมากกว่าปกติ เมื่อต้องมารับแรงมาก ๆ โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ 4 และ 5 ก็อาจทำให้แตกหรือร้าวได้ หากเอ็กซเรย์พบว่ามีรอยแยกที่บริเวณนี้ แต่ยังไม่มีการเลื่อนไถลของตัวกระดูกสันหลัง เราเรียกว่าสปอนดัยโลลัยสิส แต่ถ้าพบว่ามีตัวกระดูกสันหลังเลื่อนไถลเลยมาทางข้างหน้าจะเรียกว่า สปอนดัยโลลิสธีสิสซึ่งมักจะเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนเอวอันที่ 4 หรือ 5 เช่นอันที่ 4 เลื่อนเลยออกมาจากอันที่ 5 หรืออันที่ 5 เลื่อนเลยออกมาจากกระดูกเหนือก้นกบอันบนสุดเป็นต้น การเลื่อนนี้อาจเลื่อนน้อยหรือมากก็ได้ และนิยมคิดกันเป็นเปอร์เซนต์หรือร้อยละ เช่นเลื่อนมาร้อยละ 25 หรือร้อยละ 50 เป็นต้น การเลื่อนของกระดูกนี้อาจไปกดเบียด หรือไปรบกวนรากประสาทไขสันหลังได้ ทำให้เกิดอาการปวดหรือเสียวร้าวไปที่ขา แต่ผู้ที่มีความผิดปกตินี้ อาจไม่มีอาการเลยก็ได้ และตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อตรวจทางเอ็กซเรย์ด้วยเรื่องอื่น

8. จากอวัยวะภายในที่อยู่ใกล้เคียง (viscerogenic pain หรือ referred pain) ที่เคยเชื่อกันมากว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการปวดหลังคือโรคไต แม้ในประเทศอังกฤษเองก็เคยมีการโฆษณาขายยาเม็ดบำรุงไตแก้อาการปวดหลังที่เรียกว่า Doan's backache kidney pills ซึ่งปรากฎว่ามีกรรมกรที่ทำงานหนักและปวดหลังซื้อกินกันมาก ความจริงโรคไต หรือโรคของระบบขับถ่ายบริเวณนั้นทำให้เกิดอาการปวดหลังได้จริง ๆ เพียงแต่ไม่มากอย่างที่เคยเชื่อกัน อย่างไรก็ตามจะต้องนึกถึงไว้เสมอ ผู้เขียนยังจำผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งได้ เป็นครูที่มีอายุ 50 ปีเศษ แพทย์เจ้าของไข้ส่งไปหาผู้เขียนเพื่อใส่เฝือกพยุงเอวอย่างอ่อน เพราะมีอาการปวดหลัง ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง หากผู้ป่วยจะได้สังเกตปัสสาวะของตนมาก่อนและบอกให้แพทย์ทราบเสียแต่แรกก็คงจะวินิจฉัยโรคได้เร็วกว่านี้

โรคของกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่ ตลอดจนโรคของระบบสืบพันธุ์สตรี อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ทั้งสิ้น

9. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต (circulatory disorder) หรือความผิดปกติของหลอดเลือดอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือปวดขามากจนเข้าใจผิดว่ามีการยื่นโป่งของหมอนรองกระดูกสันหลังไปกดเบียดประสาท สาเหตุนี้แม้จะไม่เกิดบ่อยแต่ก็อาจเกิดได้ เช่น การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง (aneurysm of abdominal aorta) อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ เพราะหลอดเลือดใหญ่นี้อยู่ใกล้กระดูกสันหลังมาก ผู้ป่วยอาจมีขาชาร่วมด้วยก็ได้

10. ความเครียดทางอารมณ์ (emotional tension หรือ stress) ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ให้ความสนใจในสาเหตุนี้มาก เพราะพบว่าความเครียดทางอารมณ์นั้นมิใช่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคแผลในกระเพาะอาหาร หอบหืด ลมพิษ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดอาการปวดหลังปวดคอได้ด้วย เพราะความเครียดทำให้เกิดการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อได้มาก ๆ โดยเฉพาะบริเวณต้นคอและหลัง สาเหตุนี้เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชีวิตของคนปัจจุบันต้องเผชิญกับความเครียดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมาประกอบกับการออกกำลังกายที่น้อยลง เคลื่อนไหวน้อยลง (เพราะมีเครื่องทุ่นแรงมาก) และรับประทานมากขึ้น (ทำให้อ้วน) โอกาสที่จะปวดหลังก็เพิ่มเป็นทวีคูณ

เรื่องของความเครียดทางอารมณ์กับการปวดหลังนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก จึงขอแยกกล่าวไว้ต่างหาก