วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

ชีววิทยา - ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต

ชีววิทยา - ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
ชีววิทยา ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า biology ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณ 2 คำ คือ
          bios   หมายถึง ชีวิต
          logos หมายถึง ความคิดและเหตุผล
ดังนั้น ชีววิทยา จึงมีความหมายว่า "การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต"
1.1 <<<   สิ่งมีชีวิตคืออะไร   >>>
สมบัติของสิ่งมีชีวิต
คือ เป็นหน่วยที่ต้องใช้พลังงาน และพลังงานที่ใช้นั้นต้องเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในเซลล์หรือในร่างกายสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ๆ สิ่งมีชีวิตมีสมบัติทางกายภาพและชีวภาพดังนี้

1.1.1 สิ่งมีชีวิตมีการสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ (reproduction)
การสืบพันธุ์ หมายถึง การเพิ่มจำนวนลูกหลานที่มีลักษณะเหมือนเดิมของสิ่งมีชีวิตโดยสิ่งมีชีวิตรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นนี้จะทดแทนสิ่งมีชีวิตรุ่นเก่าที่ล้มหายตายจากไป ทำให้สิ่งมีชีวิตเหลือรอดอยู่ในโลกได้ โดยไม่สูญพันธุ์ไป

1.1.2  สิ่งมีชีวิตต้องการสารอาหารและพลังงาน
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการสารอาหารและพลังงาน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของตัวสิ่งมีชีวิตเองกิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตจะต้องประกอบด้วยกระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) กระบวนการเมแทบอลิซึมเป็นกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ หรือภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต กระบวนการนี้แบ่งได้เป็น 2 กระบวนการย่อย คือ
1. แคแทบอลิซึม (catabolism) หรือกระบวนการสลาย เป็นการเปลี่ยนแปลงของสารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ ให้เป็นสารที่มีโมเลกุลเล็กลง กระบวนการนี้มักมีพลังงานและความร้อนถูกปลดปล่อยออกมาจากกระบวนการ เช่น การย่อยสลาย การหายใจ
2. แอแนบอลิซึม (anabolism) หรือกระบวนการสร้าง เป็นการเปลี่ยนแปลงของสารโมเลกุลเล็กให้เป็นสารที่มีขนาโมเลกุลใหญ่ขึ้น เป็นผลให้มีการเก็บพลังงานไว้ในสารโมเลกุลใหญ่นั้น เช่น กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง กระบวนการสังเคราะห์โปรตีนและกรดอะมิโน มีผลให้เกิดการเพิ่มปริมาณของโพรโทพลาซึม ทำให้เกิดการเจริญเติบโต กระบวนการเมแทบอลิซึมทั้งสองขบวนการนี้ต้องมีเอนไซม์ (anzymc) และพลังงานต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องและร่วมกระบวนการเสมอ

1.1.3. สิ่งมีชีวิตมีการเจริญเติบโต มีอายุขัยและขนาดจำกัด
การเจริญเติบโตจะประกอบด้วยกระบวนการต่าง ๆ 4 กระบวนการ คือ
(1) การเพิ่มจำนวนเซลล์ (cell multiplication)
ในสิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียวเมื่อมีการแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ก็จะทำให้เกิดการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศขึ้น ส่วนในพวกสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เมื่อเกิดปฏิสนธิแล้ว เซลล์ที่ได้ก็คือไซโกตซึ่งจะมีการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากขึ้น ผลจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ทำให้ได้เซลล์ใหม่มากขึ้นและมีขนาดเพิ่มขึ้น การจะมีเซลล์มากมายแค่ไหนก็แล้วแต่ชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นว่ามีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เท่าใด
(2) การเจริญเติบโต (growth)
ในสิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียว การเพิ่มของโพรโทพลาซึมก็จัดว่าเป็นการเจริญเติบโต เมื่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตแบ่งเซลล์ในตอนแรกเซลล์ใหม่ที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่าเซลล์เดิม ในเวลาต่อมาเซลล์ใหม่ที่ได้จะสร้างสารต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทำให้ขนาดของเซลล์ใหม่นั้นขยายขนาดขึ้น ซึ่งจัดเป็นการเจริญเติบโตด้วย ในสิ่งมีชีวิตพวกที่เป็นหลายเซลล์ผลจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ก็คือการขยายขนาดให้ใหญ่โตขึ้น ซึ่งจัดเป็นการเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน
(3) การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ (cell differentiation)
สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียวก็มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ เหมือนกัน เช่น มีการสร้างเซลล์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี เช่น การสร้างเอนโดสปอร์ (endospore) ของแบคทีเรียในพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินก็มีเช่นการสร้างเซลล์พิเศษซึ่งเรียกว่า เฮเทอโรซิลต์ (heterocyst) มีผนังหนาและสามารถจับก๊าซไนโตรเจนในอากาศเปลี่ยนเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่มีประโยชน์ต่อเซลล์ของสาหร่ายชนิดนั้น ๆ ได้
ในสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบมีเพศ เมื่อไข่และอสุจิผสมกันก็จะได้เซลล์ใหม่คือไซโกต ซึ่งมีเพียงเซลล์เดียว ต่อมาไซโกตจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากขึ้นเซลล์ใหม่ ๆ ที่ได้จะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน เช่น เซลล์กล้ามเนื้อทำหน้าที่ในการหดตัว ทำให้เกิดการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหว เซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ลำเลียงก๊าซออกซิเจน เซลล์ประสาททำหน้าที่ในการนำกระแสประสาทเกี่ยวกับความรู้สึกและคำสั่งต่าง ๆ เซลล์ต่อมไร้ท่อทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า เซลล์ภายในร่างกายของเราจะเริ่มต้นมาจากเซลล์เซลล์เดียวกันแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ กันไป เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กันได้
(4) การเกิดรูปร่างที่แน่นอน (morphogenesis)
เป็นผลจากการเพิ่มจำนวนเซลล์การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่าง ๆ กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะเอมบริโออยู่ตลอดเวลา มีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ขึ้น อัตราเร็วของการสร้างในแต่ละแห่งบนร่างกายจะไม่เท่ากัน ทำให้เกิดรูปร่างของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดขึ้นโดยที่สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีแบบแผนและลักษณะต่าง ๆ เป็นแบบที่เฉพาะตัวและไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งถูกควบคุมโดยจีนบนโครโมโซมของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ๆ

1.1.4. สิ่งมีชีวิตมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
เป็นการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีที่เกิดขึ้น สิ่งเร้า (stimulus) อย่างเดียวกันอาจจะตอบสนอง (response) ไม่เหมือนกันก็ได้ ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เช่น แสงเป็นสิ่งเร้าที่พืชเอนเข้าหา ส่วนโพรโทซัวหลายชนิดจะเคลื่อนหนี ตัวอย่างของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น มือเกาะ (tendril) ของบวบ น้ำเต้า ฟัก จะพันรอบกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อพยุงลำต้นให้สูงขึ้น พืชเอนเข้าหาแสง พืชตระกูลถั่วจะหุบใบในตอนเย็นหรือกลางคืน ซึ่งเรียกว่าต้นไม้นอน สำหรับสัตว์การตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยการปรับตัว เช่น หลบร้อน หลบหนาว การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาหาร ที่อยู่ หรือการผสมพันธุ์ เป็นต้น

1.1.5. สิ่งมีชีวิตมีการรักษาดุลยภาพของร่างกาย
เซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะดำรงชีวิตและทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างปกติสุขได้นั้นจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมต่าง ๆ นั้น ได้แก่ ระดับน้ำในร่างกายและในเซลล์ ความเป็นกรด-เบส อุณหภูมิ แร่ธาตุ ระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นการรักษาระดับของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเซลล์และร่างกายสิ่งมีชีวิต

เซลล์คุมแตกต่างจากเซลล์เอพิเดอร์มิสอื่น คือ เซลล์คุมมีคลอโรฟิลล์อยู่ด้วย จึงสามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้และการสังเคราะห์ด้วยแสงนี้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเปิดปิดของปากใบ, การคายน้ำและการลำเลียงสารของพืช ผิวของเซลล์ชั้นเอพิเดอร์มิสมีสารพวกขี้ผึ้ง เรียกว่า คิวทิน (cutin) ฉาบอยู่ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ ออกจากผิวใบพืช

1.1.6 สิ่งมีชีวิตมีลักษณะจำเพาะ
สิ่งมีชีวิตมีลักษณะจำเพาะ เช่น ลักษณะของคนจะมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า คน แมวก็เช่นกัน สุนัข หรือ แม้แต่ต้นพืชหรือสาหร่ายขนาดเล็กก็มีลักษณะเฉพาะเช่นกัน

1.2 ชีววิทยาคืออะไร
ชีววิทยาเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต ชีววิทยามีหลายสาขาได้แก่
1.2.1. การศึกษาสิ่งมีชีวิตและกลุ่มของสิ่งมีชีวิต
(1) สัตววิทยา (zoology) เป็นการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของสัตว์ แบ่งออกเป็นสาขาย่อย ๆ เช่น
1. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate)
2. สัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrate)
3. มีนวิทยา (icthyology) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปลาชนิดต่าง ๆ
4. สังขวิทยา (malacology) ศึกษาเกี่ยวกับหอยชนิดต่าง ๆ
5. ปักษินวิทยา (ornithology) ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนก
6. วิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (mammalogy)
7. กีฏวิทยา (entomology) ศึกษาเกี่ยวกับแมลง
8. วิทยาเห็บไร (acarology) ศึกษาเกี่ยวกับเห็บและไร
(2) พฤกษศาสตร์ (botany) ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของพืช เช่น
1. พืชชั้นต่ำ (lower plant)
2. พืชมีท่อลำเลียง (vascular plant)
3. พืชมีดอก (angiosperm)
(3) จุลชีววิทยา (microbiology) คือการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ของจุลินทรีย์ เช่น
1. วิทยาแบคทีเรีย (bacteriology) ศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรีย
2. วิทยาไวรัส (virology) ศึกษาเกี่ยวกับ ไวรัส
3. ราวิทยา (mycology) ศึกษาเกี่ยวกับ รา เห็ด ยีสต์
4. วิทยาสัตว์เซลล์เดียว (protozoology) ศึกษาเกี่ยวกับพวกโพรโทซัว
1.2.2. การศึกษาจากโครงสร้างหน้าที่และการทำงานของสิ่งมีชีวิต
(1) กายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ศึกษาโครงสร้างต่าง ๆ โดยการตัดผ่า
(2) สัณฐานวิทยา (morphology) ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปร่างของสิ่งมีชีวิต
(3) สรีรวิทยา (physiology) ศึกษาหน้าที่การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต
(4) พันธุศาสตร์ (genetics) ศึกษาลักษณะต่าง ๆ ทางพันธุกรรมและการถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน
(5) นิเวศวิทยา (ecology) ศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
(6) มิญชยวิทยาหรือเนื้อเยื่อวิทยา (histology) ศึกษาลักษณะของเนื้อเยื่อทั้งทางด้านโครงสร้างและหน้าที่การทำงาน
(7) วิทยาเอมบริโอ (embryology) ศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตของตัวอ่อน
(8) ปรสิตวิทยา (parasitology) ศึกษาเกี่ยวกับการเป็นปรสิตของสิ่งมีชีวิต
(9) วิทยาเซลล์ (cytology) ศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์สิ่งมีชีวิต

1.2.3. การศึกษาเรื่องราวของสิ่งมีชีวิต
(1) อนุกรมวิธาน (taxonomy) ศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งหมวดหมู่ การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ
(2) วิวัฒนาการ (evolution) ศึกษาเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
(3) บรรพชีวินวิทยา (paleontology) ศึกษาเกี่ยวกับซากโบราณของสิ่งมีชีวิต
ในปัจจุบันการศึกษาทางชีววิทยาได้พัฒนาไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต เช่น การผลิตสารต่าง ๆ เช่น ผลิตกรดอะมิโน ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ผลิตเอนไซม์ การเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตก๊าซชีวภาพ การโคลนนิ่ง (cloning) การตัดต่อจีน ซึ่งกระทำในพวกจุลินทรีย์ เพื่อประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการสาธารณสุข ซึ่งเรียกว่าพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) ซึ่งกำลังเจริญพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยการศึกษาของนักจุลชีววิทยา นักเคมี และนักชีวเคมี

< < <   1.3 ชีววิทยากับการดำรงชีวิต   > > >
ชีววิทยาจะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมาก เช่น
1.3.1. การดูแลรักษาสุขภาพของร่างกาย ได้แก่
(1) การเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น เลือกกินอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ ๆ ไม่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งอาจติดโรคพยาธิได้ ไม่กินอาหารที่แมลงวันตอมเพราะอาจจะแพร่โรคได้ เลือกอาหารที่ปลอดจากสารพิษต่าง ๆ เป็นต้น
(2) การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพแข็งแรง รู้จักเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศและวัยและสภาพของร่างกาย
(3) การรู้จักระบบต่าง ๆ ของร่างกายช่วยให้การดูแลและรักษาระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบโครงกระดูก ระบบผิวหนัง ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ฯลฯ เป็นไปอย่างถูกต้อง อันจะเป็นผลให้สุขภาพของระบบต่าง ๆ รวมถึงร่างกายเป็นปกติสุขด้วย
ฯลฯ
1.3.2. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่
(1) การไม่ตัดไม้ทำลายป่า เพราะต้นไม้มีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมและเป็นตัวการสำคัญในการผลิตออกซิเจนให้แก่โลก และลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่โลกด้วย
(2) การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การสงวนน้ำรักษาน้ำ ดินแร่ธาตุ และอากาศมีผลต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโลกให้ยั่งยืนทั้งสิ้น
(3) การเข้าใจสมดุลของ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ในฐานะผู้ผลิตอาหาร ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลายสารอันจะก่อให้เกิดวัฏจักรต่าง ๆ ของสารในระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่ความสมดุลของสารในธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น
ฯลฯ
1.3.3. การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการอยู่ดีกินดีของมนุษย์ชาติ ได้แก่
(1) การผลิตสารต่าง ๆ ที่เป็นอาหารและช่วยในการรักษาโรค เช่น การผลิตฮอร์โมนอินซูลินจากยีสต์เพื่อรักษาโรคเบาหวานในคน การผลิตฮอร์โมนโกรท โดยสุกรเพื่อใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับการเจริญเติบโตที่มากหรือน้อยเกินไป การผลิตกรดอะมิโนจำเป็นโดยแบคทีเรีย การผลิตสาหร่ายสไปรูไลนา ซึ่งมีโปรตีนสูง การถนอมอาหาร โดยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้น
(2) การพัฒนาทางด้านพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) มาใช้ในการตัดต่อสารพันธุกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ให้ผลตอบแทนหรือมีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาถึงผลดีและผลเสียกันต่อไป
(3) การพัฒนาเทคนิคทางด้าน DNA เพื่อนำมาใช้ในการตรวจหาสายสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก นอกจากนี้ยังใช้ในการสืบสวนสอบสวนทางคดีของแพทย์และตำรวจได้เป็นอย่างดี
(4) การศึกาาทางด้านพืชสมุนไพรสามารถนำมาผลิตเป็นยาแผนโบราณใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีนับเป็นภูมิปัญญาไทยที่น่าภาคภูมิใจ
(5) การศึกษาทางด้านเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น การผสมเทียมในหลอดแก้ว แล้วถ่ายฝากตัวอ่อน (InVitro Fertilization - Embryo Transfer) การนำเซลล์สืบพันธุ์ไปใส่ที่ท่อนำไข่หรือที่เรียกว่า กิ๊ฟ (GIFT หรือ Gamete Intrafallopian Transfer) การทำอิ๊กซี่ (ICSI, หรือ Intracytoplasmic Sperm Injection) รวมไปถึงการทำโคลนนิ่ง (Cloning) ด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้คนมีบุตรยากมีบุตรได้ทั้งสิ้น สำหรับการทำโคลนนิ่งยังไม่มีข่าวว่าทำสำเร็จแล้วในคน แต่พบว่าสำเร็จแล้วในสัตว์หลายชนิด เช่น แกะ วัว ลิง เป็นต้น

< < <   ชีวจริยธรรม   > > >
การศึกษาทางด้านชีววิทยาเป็นการศึกษาเรื่องของสิ่งมีชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากในการศึกษาและกระทำ เพราะอาจจะผิดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย หรือจริยธรรมได้ เช่น
1.4.1. การโคลนนิ่งมนุษย์ เพื่อใช้อวัยวะบางส่วนมารักษาโรคหรือเพื่อผลิตลูกหลานขึ้นมาเพราะอาจมีปัญหาต่อสถาบันครอบครัวได้
1.4.2. การทำแท้ง ในหลายประเทศสามารถทำแท้งได้แต่ในหลายประเทศก็เป็นการผิดกฎหมาย
1.4.3. การใช้สัตว์ทดลองทางชีววิทยา เพราะสัตว์ก็มีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นการทดลองต้องไม่ทรมานสัตว์ และใช้สัตว์ให้น้อยที่สุดและได้ผลความรู้มากที่สุด และต้องไม่ผิดกฎหมายด้วย
1.4.4. การใช้สารเร่งการเจริญเติบโตในพืชหรือในสัตว์ อันจะก่อให้เกิดสารตกค้างได้นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงให้แก่เนื้อหมูซึ่ง่จะมีผลเสียต่อผู้บริโภคได้
1.4.5. การใช้สารฟอร์มาลิน ในการแช่ผัก ปลา หรือเนื้อ ช่วยให้ผัก ปลา และเนื้อเน่าเสียช้าลงแต่เป็นพิษต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การใช้สารบอร์แรกซ์ใส่ในลูกชิ้นเด้ง การฉีดดีดีทีให้แก่ปลาเค็ม เนื้อเค็มก็มีผลเสียต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น

1.4.6. การผลิตอาวุธชีวภาพ เช่น การนำเชื้อโรคใส่ในซองจดหมาย แล้วส่งไปในที่ต่าง ๆ ทางไปรษณีย์ การปล่อยเชื้อโรคไปในที่สาธารณะ การผลิตระเบิดติดหัวรบที่มีเชื้อโรคซึ่งเรียกว่าอาวุธเชื้อโรคหรืออาวุธชีวภาพ ซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างมาก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถือว่าผิดทางด้านชีวจริยธรรมทั้งสิ้นและเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงและตระหนักอยู่เสมออันจะเป็นผลให้โลกของเราเกิดสภาพไม่สงบสุขได้