วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ปวดหลัง-อารมณ์เครียดกับการปวดหลัง

ปวดหลัง-อารมณ์เครียดกับการปวดหลัง

ได้มีผู้สังเกตมานานแล้วว่า อาการปวดหลังนั้นบ่อยครั้งที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดทางอารมณ์
ใน พ.ศ.2489 M.Sargent ได้รายงานผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังโดยหาความผิดปกติอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เท่านั้น เขาจึงเรียกอาการปวดหลังนี้ว่า
ปวดหลังจากจิตสรีระแปรปรวน (psychosomatic backache) แต่ดูเหมือนว่าเวลานั้นจะไม่มีใครสนใจมากนัก ไม่มีผู้คัดค้านแต่ก็ไม่มีผู้สนับสนุน และไม่มีผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ต่อจนเวลาล่วงมาอีกนาน
นายแพทย์ John E.Sarno จากนิวยอร์คจึงได้รายงานการศึกษาที่ทำให้ผู้ที่มีอาการปวดหลัง 108 ราย พบว่ามีถึง 78 รายที่มีอาการอย่างอื่นที่มีสาเหตุจากจิตใจร่วมด้วย เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด โรคจามจากภูมิแพ้ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) โรคลำไส้ใหญ่หดเกร็ง (spastic colon) โรคปวดศีรษะจากความเครียด (tension headache) โรคปวดศีรษะข้างเดียว (migraine headache) หัวใจเต้นเร็วไม่เป็นจังหวะ (palpitation) และโรคผิวหนังเนื่องจากประสาท (neurodermatitis) เป็นต้น และบางรายก็มีอาการเหล่านี้ร่วมกันหลาย ๆ อย่าง ที่มากถึง 4 อย่างก็มี ซาร์โนเรียกอาการปวดหลังจากสาเหตุนี้ว่า กล้ามเนื้ออักเสบจากความเครียด (tension myositis) ซาร์โนพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีบุคลิกเฉพาะตัวที่คล้าย ๆ กัน คือ บุคคลพวก type A เช่นมีความตั้งอกตั้งใจในการทำงานอย่างจริงจัง มีความรับผิดชอบสูง เมื่อจะทำสิ่งใดก็พยายามทำให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนนั้น ๆ เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ดีของครอบครัว รักลูก รักสามี (หรือภรรยา) และด้วยความที่จริงจังกับชีวิตมากนี้เอง ทำให้บุคคลเหล่านี้มีความเครียดเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันและคนที่เห็นแก่ตัว ความเครียดก็ยิ่งมาก ผู้ป่วยเหล่านี้มักไปพบแพทย์ด้วยประวัติว่า รถที่นั่งไปถูกชน หรือลงมาเข็นรถเนื่องจากเครื่องเสีย หรือเอี้ยวตัวไปหยิบของที่เบาะหลัง แล้วเกิดอาการเจ็บเล็กน้อย หรืออาจไม่เจ็บเลยในระยะแรกก็ได้ อาการเจ็บปวดมักจะเริ่มใน 1-5 วันต่อมา แต่ส่วนมากจะไม่รุนแรงและผู้ป่วยยังไม่ต้องการการรักษา ต่อมาอาการเจ็บจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ การถ่ายภาพเอ็กซเรย์มักไม่พบสิ่งผิดปกติ การรักษาจึงมักจะเป็นการให้พัก ให้ยารับประทาน (มักเป็นยาแก้ปวด ยาแก้การเกร็งของกล้ามเนื้อ และยากล่อมประสาท) อาจร่วมกับการดึงเอว และใส่เฝือกพยุงเอว (ถ้าเป็นที่คอก็ดึงคอและใส่เฝือกพยุงคอ)

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเหล่านี้ก็คือ การรักษาทุกอย่างนั้นทำให้ดีขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แล้วอาการเจ็บปวดก็จะกลับมาอีก หรือไม่เคยหายจากเจ็บปวดเลย ทำให้ยิ่งกลัดกลุ้มและเครียดมากขึ้น ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ ใบหน้าที่แสดงความกังวลเศร้าหมอง หรือมีทีท่าที่หงุดหงิดอย่างเห็นชัด ถ้าฟังดูสาเหตุที่ผู้ป่วยเล่าแล้วมักจะเห็นว่าไม่สัมพันธ์กับอาการที่เป็น เช่นรถที่ชนกันนั้นก็ชนเพียงเบา ๆ แต่ความเจ็บปวดกลับมากขึ้นเรื่อย ๆ นายแพทย์ซาร์โนเชื่อว่าสาเหตุอันเล็กน้อยเหล่านี้ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดโดยตรง แต่ไปเป็นตัวจุดชนวน (trigger) ให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่พร้อมจะเกร็งแข็งจากความเครียดทางอารมณ์อยู่แล้ว บริเวณที่ปวดนั้นอาจเป็นที่หลังส่วนล่าง หรือด้านหลังของต้นคอ ไหล่ และสะบักด้วยก็ได้

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างของผู้ป่วยเหล่านี้ก็คือ ลักษณะของการเจ็บปวดหรือการดำเนินของโรคไม่ใคร่แน่นอน เช่นบางครั้งการลงนอนพักทำให้อาการทุเลา แต่บางครั้งการลงนอนกลับทำให้เจ็บปวดมากขึ้น บางคนบอกว่าถ้าเดินแล้วสบายขึ้น แต่พอเดินไปอีกนิดกลับปวดมาก ในผู้ที่อายุมากแพทย์ต้องระวังในการอธิบายการบอกผู้ป่วยว่าสาเหตุของความเจ็บปวดนั้นมาจากความเสื่อมตามอายุไข อาจทำให้เกิดเป็นความกังวลได้อย่างมาก เพราะคิดว่าจากนี้ไปก็คงจะเสื่อมลงอีกเรื่อย ๆ และไม่นานก็คงถึงพิการ ใจหนึ่งอยากซักถามคุณหมอให้ละเอียดมากกว่านี้ แต่ใจหนึ่งก็กลัวว่าคำตอบที่ได้รับจะน่ากลัวยิ่งขึ้น จิตใจจึงเต็มไปด้วยความกังวลและเครียดยิ่งขึ้น อาการต่าง ๆ ก็อาจเลวร้ายลงได้อีก

อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์แล้วมีความสำคัญเสมอ การที่จะบอกว่าใครเจ็บป่วยเพราะสาเหตุมาจากจิต หรือจิตสรีระแปรปรวน (pyschosomatic disorder) นั้นเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ชอบฟังคำนี้ เนื่องจากฟังแล้วเหมือนเป็นคนมีปมด้อย เป็นคนอ่อนแอ หรือเป็นคนจิตใจมีปัญหา อย่างที่ปัจจุบันนี้นิยมเรียกว่า "ประสาท" นั่นเอง ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จึงไม่นิยมที่จะบอกผู้ป่วยว่า อาการปวดหลังนั้นมาจากจิตใจ หรือถึงกับส่งผู้ป่วยไปหาจิตแพทย์ เรื่องของโรคที่สัมพันธ์กับจิตใจที่เห็นได้ชัด คือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งวงการแพทย์ทราบดีว่าสาเหตุที่สำคัญยิ่งคือความเครียดทางอารมณ์ หรือเหตุมาจากจิต หรือเป็นจิตสรีระแปรปรวนอย่างหนึ่ง แต่แม้จะวิเคราะห์ได้แน่นอน แพทย์ก็ไม่ถึงกับส่งผู้ป่วยไปหาจิตแพทย์ (อาจมีบ้างแต่น้อยมาก) ส่วนมากก็เพียงให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท และคำแนะนำเท่านั้น ในเรื่องปวดหลังจากอารมณ์ก็เช่นกัน ส่วนมากไม่ต้องถึงมือจิตแพทย์ (เว้นรายที่หนักหนาจริง ๆ) แต่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ตามสถิติของนายแพทย์ซาร์โนนั้น ผู้ป่วยบางรายอาการปวดหลังหายได้เด็ดขาดโดยไม่ต้องทำการรักษาอะไรเลย เพียงแต่ทราบว่าตนเองนั้นไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ที่เกิดปวดนั้นก็เพราะกล้ามเนื้อเกร็ง และกล้ามเนื้อเกร็งแข็งก็เพราะความเครียดของตนนั่นเอง

นายแพทย์ Hugo A.Kein (จากนิวยอร์คเช่นกัน) ซึ่งได้เขียนหนังสือเรื่อง How to care for your back พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2524 เรียกผู้ที่มีอาการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ หรือความรู้สึกนึกคิดด้วยชื่อที่ค่อนข้างน่ากลัวและน่ารังเกียจว่า ผู้ป่วยฮิสทีเรีย (hysterical patient) โดยกล่าวว่าผู้มีอาการปวดหลังจากสาเหตุนี้มักเป็นหญิงมากกว่าชาย อาการปวดอาจเป็นได้อย่างรุนแรงมาก ทั้งที่ไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นทางกายที่ชัดเจน แต่ความเครียดนั้นทำให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็งได้ และการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ (ใครที่เคยเป็นตะคริวจะทราบได้เป็นอย่างดี) และความเจ็บปวดนี้ก็กลับไปเพิ่มความเครียดขึ้นอีก ดังนั้นหากไม่ได้มีการแก้ไขที่ถูกต้อง วงจรหรือวัฏจักรนี้ก็จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ การปวดจึงอาจเป็นได้อย่างรุนแรง บางคนถึงกับโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลเพื่อมารับตัวไปพบแพทย์

นายแพทย์ Keim ให้ข้อสังเกตว่าผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนมากจะเริ่มด้วยการตำหนิติเตียนแพทย์ที่เคยรักษามาก่อน (เพราะเปลี่ยนหมอกันมาหลาย ๆ คนแล้ว) เช่นคนนั้นก็ไม่ดี คนโน้นก็ไม่ได้ความ พร้อมกันนั้นก็ยกย่องแพทย์ที่กำลังมาหานี้ว่า ได้ยินมาว่าดีอย่างนั้นเก่งอย่างนี้ ซึ่งอย่าได้หลงดีใจ เพราะอีกไม่นานหมอที่กำลังได้รับคำชมนี้แหละที่จะต้องไปต่อท้ายชื่อของผู้ที่จะถูกตำหนิต่อไป เมื่อรักษาเขาไม่หายและเขาไปหาคนใหม่

การซักถามประวัติให้ละเอียดเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ (การรักษาผู้ป่วยประเภทนี้อย่างที่ทำกับผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยเราจึงไม่ได้ผล เพราะไม่มีเวลาพอ) อาจต้องพูดกันหลายครั้งจนผู้ป่วยให้ความไว้วางใจในแพทย์ผู้รักษา จึงยอมพูดถึงสาเหตุอันเป็นความกดดันที่ซ่อนอยู่ภายใน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการงาน ตลอดจนปัญหาทางเพศ เรื่องปัญหาทางเพศนี้เป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอ เพราะอาการปวดหลังอาจทำให้ภรรยาปฏิเสธความต้องการของสามี สามีก็เลยไปมีหญิงอื่น อันยิ่งเพิ่มความเครียดให้ภรรยามากขึ้น และอาการปวดหลังก็มากยิ่งขึ้นด้วย (บางคนอาจออกมาเป็นอาการปวดศีรษะได้อย่างมาก ๆ)

นายแพทย์ Keim มีความเห็นว่า แม้จะแน่ใจว่าผู้ป่วยเหล่านี้อยู่ในกลุ่มฮิสทีเรีย แต่ก็ไม่ควรบอกผู้ป่วยตรง ๆ แต่ควรให้ความมั่นใจว่าผู้ป่วยเองไม่มีอะไรผิดปกติที่ร้ายแรงเลย ขอให้ทำใจให้สบาย และรับประทานยาที่ให้อย่างสม่ำเสมอ (ยากล่อมประสาทและยานอนหลับอ่อน ๆ ที่ไม่เป็นอันตราย) การแสดงความเห็นใจและแสดงว่าเข้าใจปัญหาทุกอย่างที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการทางจิตมาก ก็ต้องให้จิตแพทย์เข้ามาช่วยด้วย นายแพทย์ Keim มีความเห็นว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นนี้เป็นทางระบายออก หรือเป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจที่เครียดอยู่นั้น หากไม่ได้ออกมาด้วยอาการปวดหลัง ก็อาจออกมาทางด้านอื่น เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร มีอาการทางลำไส้ หรืออาการทางหัวใจก็ได้ ดังนั้นการรักษาที่ถูกต้องจึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอจริง ๆ คือที่จิตใจ โดยให้มีความเครียดเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ผู้ที่ให้ความเห็นในเรื่องปวดหลังที่สัมพันธ์กับจิตใจที่น่าสนใจมากอีกผู้หนึ่งคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ Howard D.Kurland ซึ่งเป็นจิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทอร์นในสหรัฐ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง Back pain (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2524) ท่านมองผู้ป่วยเหล่านี้อย่างจิตแพทย์โดยแท้ คือเห็นว่าผู้ป่วยเหล่านี้ปวดหลังเพราะต้องการจะปวด คือใช้อาการปวดหลังเป็นเครื่องเรียกร้องให้ผู้ใกล้ชิด เช่น ลูก สามี (หรือภรรยา) ตลอดจนพ่อแม่มาเอาใจใส่ตนให้มากขึ้น หากปราศจากอาการปวดหลังนี้แล้ว ก็จะปราศจากผู้สนใจหรือเอาใจใส่ด้วย อาการปวดหลังเหล่านี้จึงเป็นอาการที่รักษาให้หายยากที่สุด
นอกจากใช้เรียกร้องความสนใจแล้ว อาการปวดหลังยังใช้ได้อย่างดีที่สุดในการอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการจะกระทำ ไม่ว่าจะเป็นงานนอกบ้าน งานในบ้าน หรือแม้แต่เรื่องบนเตียงนอน อาการปวดหลังใช้มาอ้างเพื่อเป็นการขอยกเว้นได้เสมอ บางคนนั้นเม้ทำงานล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็อาจอ้างอาการปวดหลังเป็นเหตุได้ เช่น
"เพราะฉันปวดหลังแท้ ๆ จึงทำงานนี้ไม่เสร็จ"
"คืนนี้ฉันปวดหลังมาก อย่ากวนนะ"
นายแพทย์ Kurland ได้เน้นให้ระวังผลร้ายที่อาจตามมา คือการเปลี่ยนแปลงทางกายและบุคลิกภาพ เช่น การปวดหลังทำให้เคลื่อนไหวน้อยลงและไม่ออกกำลังกาย ผลก็คือกล้ามเนื้ออ่อนแอและอ้วนขึ้น นอกจากนี้อาจกลายเป็นผู้ติดยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ตลอดจนติดเหล้าติดบุหรี่ได้

นายแพทย์ Hans Kraus ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมรักษาอาการปวดหลังของท่านอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี้ ได้กล่าวถึงการเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดสัญชาตญาณ "สู้ หรือ หนี" คือ "fight or flight" หรือ "fight or flee" ไว้ในหนังสือเรื่อง Backache, stress and tension อย่างน่าสนใจมาก แม้หนังสือนี้จะเขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2508 แต่เรื่องของการสู้หรือหนีนี้ยังไม่ล้าสมัยแต่อย่างใด

ย้อนหลังไปเมื่อมนุษย์ยังอยู่ป่าอยู่ถ้ำและล่าสัตว์กินเป็นอาหาร ชีวิตก็คล้ายกับสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่ต้องระวังภัยที่อาจมาถึงตัวเมื่อใดก็ได้ มนุษย์ในยุคนั้นจึงพร้อมเสมอที่จะสู้หรือหนี เช่น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกระทิงป่าในระยะกระชั้นชิด สมองจะสั่งการทันทีว่าควรสู้หรือหนี โดยพิจารณาจากสิ่งแวดล้อม เช่น อาวุธที่มีอยู่ในมือ หรือระยะห่างว่าพอเหมาะหรือไม่ การตัดสินใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดได้ ในขณะที่รอการตัดสินใจว่าจะสู้หรือหนีนั้น ร่างกายจะเกิดความเครียดอย่างมาก ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ถ้าในอดีต หรือมนุษย์ที่อยู่ตึกระฟ้าในปัจจุบันก็เกิดความเครียดเหมือน ๆ กัน แต่มนุษย์ที่อยู่ถ้ำในสมัยโบราณได้เปรียบตรงที่ความเครียดนั้นจะไม่เกิดอยู่นาน คือเมื่อตัดสินใจว่าหนี ก็หนี (จะเป็นหนีขึ้นต้นไม้หรือหลบหลังกอไผ่ก็ตาม) และถ้าตัดสินใจว่าสู้ ก็สู้ และเมื่อได้ทำตามที่ตัดสินใจไปแล้วความเครียดก็หมดไป ส่วนมนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนมากจะโต้ตอบด้วยการสู้หรือหนีไม่ได้ คือแม้คิดว่าควรสู้ก็ไม่ได้สู้ หรือคิดว่าควรหนีก็หนีไม่ได้ ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงไม่หมดไปง่าย ๆ หรืออาจเกิดสะสมมากยิ่งขึ้นก็ได้

ในขณะที่รอการตัดสินใจว่าจะสู้หรือหนี และเกิดความเครียดนั้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย สารแอดรีนาลินจะหลั่งออกมามาก รวมทั้งน้ำตาลก็ออกมาอยู่ในเลือดมากด้วย (เพื่อเตรียมเป็นพลังงาน) หัวใจจะเต้นเร็วและแรง แรงดันเลือดขึ้นสูง หายใจเร็วจนอาจถึงหอบ และกล้ามเนื้อจะเกร็ง เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรอรับคำสั่งจากสมองต่อไป เมื่อปฏิบัติเสร็จสิ้น (จะเป็นสู้หรือหนีก็ตาม) ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกร็งก็จะคลายตัวสู่สภาพเดิมด้วย ปฏิกิริยาหรือสัญชาตญาณเช่นนี้มีอยู่ในสัตว์โลกเกือบทุกชนิด ใครที่เลี้ยงแมวและสุนัขอยู่ด้วยกันคงจะเคยเห็นบ้างว่า แมวนั้นต้องเผชิญกับปัญหาเช่นว่านี้บ่อย ๆ บางครั้งกำลังเล่นหรือนอนพักอยู่เพลิน ๆ เจ้าสุนัขตัวโตก็มายืนแยกเขี้ยวอยู่ใกล้ ๆ เสียแล้ว แมวจะยืนโก่งหลังตัวงอ ขนพองทั้งตัว แยกเขึ้ยว ขู่ฟ่อกลับไปทันที ระหว่างนั้นก็จะตัดสินใจว่าควรสู้หรือหนี หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ ที่จะเผ่นขึ้นไปได้โดยปลอดภัยแมวก็มักจะตัดปัญหาด้วยการหนีขึ้นต้นไม้ แต่ถ้าไม่มีต้นไม้อยู่ใกล้ หรือคิดว่าหนีไม่พ้น แมวก็จะสู้ทันที ผู้เขียนเคยเห็นแมวตัวเล็ก ๆ ที่สามารถไล่สุนัขตัวโตกว่ามากเปิดหนีไปได้บ่อย ๆ และระหว่างที่แมวเกร็งตัวสู้นั้น มันอยู่ในสภาพที่เครียดมากทีเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อสุนัขหนีไปแล้วความเครียดทั้งหมดของแมวก็สิ้นสุดลงด้วย
ถ้าเราลองพิจารณาถึงชีวิตของคนในปัจจุบันนี้ เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่พึงประสงค์ เรายังคงมีสัญชาตญาณของการสู้หรือหนีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมเฉกเช่นบรรพบุรุษของเราเมื่อหลายพันปีก่อน มีแอดรีนาลินหลั่งออกมา หัวใจเต้นแรง แรงดันเลือดสูง หายใจหอบ และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง สมองพร้อมที่จะออกคำสั่งให้สู้หรือหนี แต่ปัญหาของมนุษย์ปัจจุบันก็คือ สมองอันเดียวกันนี้แหละที่เกิดความยั้งคิดขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามที่สัญชาตญาณต้องการได้ ด้วยขัดกับระเบียบของสังคมบ้าง หรือขัดกับธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎหมายที่บังคับอยู่ ทำให้ต้องเก็บกดสัญชาตญาณของการสู้หรือหนีไว้ ความเครียดทั้งหลายจึงไม่หมดไป

เช่น นาย ก. ถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิอย่างแรงต่อหน้าผู้คนมากมายว่าปฏิบัติงานผิดพลาด แต่นาย ก. คิดว่าตนนั้นทำถูกต้องและดีที่สุดแล้ว สัญชาตญาณเกิดขึ้นทันทีว่าตัวได้รับความไม่ยุติธรรม ควรต้องสู้หรือมิฉะนั้นก็หนีไปเสีย ระหว่างนั้นความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็เกิดขึ้นเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่จิตสำนึกทำให้นาย ก. ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จะสู้โดยลุกขึ้นมาต่อยหน้าคนว่าสักทีหรืออย่างน้อยให้ได้เถียงว่าที่พูดมานั้นไม่จริงเลย ก็ทำไม่ได้ หรืออยากจะหนีไปให้พ้นก็ยังหนีไม่ได้ ต้องอยู่ทนฟังจนจบ อย่างมากที่นาย ก. จะทำได้ก็คือหน้าแดง ใจเต้นเร็ว แรง หรือสั่น หายใจหอบ ขบกราม และกำมือแน่น ตัวเกร็งไปหมด เรื่องของนาย ก. ยังไม่หมด เพราะขณะที่ขับรถกลับบ้านในตอนเย็นมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งเฉี่ยวเอากระจกส่องข้างหักและหนีไปต่อหน้าต่อตา นาย ก. อยากทำอะไรหลายอย่างกับนักขับมอเตอร์ไซค์เลว ๆ คนนี้ แต่ที่ทำได้จริง ๆ ก็คือ นั่งตัวแข็ง มือกำพวงมาลัยแน่น และสะสมความเครียดต่อไป เคราะห์ของนาย ก. อาจยังไม่หมดเพียงเท่านี้ก็ได้ เพราะเมื่อกลับเข้าบ้านอาจพบว่า ทั้งโทรทัศน์สีและวีดีโอ ถูกยกไปจนเกลี้ยง ซ้ำร้ายเมื่อไปแจ้งความยังถูกนายร้อยเวรพูดจาถากถางเอาอีกด้วย

คนอย่างนาย ก. นี้หากจะมีอาการปวดหลัง ปวดคอ เกิดขึ้นก็อย่าได้สงสัยอะไรเลย เพราะความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้รับการปลดปล่อยเท่าที่ควร และยังมีใหม่เกิดสะสมเข้ามาอีกด้วย นายแพทย์ John V.Basmajian จากมหาวิทยาลัย แม็คมาสเตอร์ เมืองออนตาริโอ ประเทศคานาดา ได้กล่าวไว้ว่า อาการปวดหลัง ก็คืออาการปวดศีรษะที่เลื่อนจากศีรษะลงมาที่หลัง นั่นเอง คือเกิดขึ้นในสมองแล้วเลื่อนมาที่หลัง (หรือคอก็ได้)

เคยมีหญิงสาวคนหนึ่งที่มีอาการปวดต้นคอ ไหล่ และสะบักมานาน รักษากับแพทย์หลายต่อหลายคน (เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ) อาการไม่เคยหายขาดหรือทุเลาอย่างจริงจังเลย เปลี่ยนแพทย์ครั้งหนึ่งเธอก็จะไปหาผู้เขียนครั้งหนึ่งเพื่อใส่เฝือกพยุงคอ เพราะแพทย์แต่ละคนสั่งแบบที่ไม่เหมือนกัน ผู้เขียนได้คุยกับเธอแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอาการของเธอจึงไม่หายสักที

หญิงสาวผู้นี้แต่งงานกับสามีซึ่งมีเชื้อจีนและเป็นลูกชายคนโต เมื่อแต่งงานแล้วสามีก็ยังไม่ยอมแยกบ้าน ทั้งที่รายได้ของทั้ง 2 คนพอทำได้ แต่เป็นความประสงค์ของแม่สามีที่ต้องการให้ลูกชายคนโตอยู่ด้วย แม่รักลูกชายคนนี้มากจนเรียกได้ว่าหวง นอกจากนี้ยังมีนิสัยขี้บ่น จู้จี้ และที่สำคัญยิ่งก็คือ ไม่ให้เกียรติลูกสะใภ้เลย พยายามจะให้ทำตัวเช่นสะใภ้จีนโบราณ ซึ่งหญิงสาวผู้นี้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเธอเองมีการศึกษาดีและออกทำงานนอกบ้าน มีรายได้เลี้ยงตัวได้ แต่ด้วยความรักและเกรงใจสามี เธอจำต้องอดทนอย่างมาก ทุกครั้งที่เธอถูกแม่ของสามีบ่นว่าด้วยความไม่เป็นธรรม เธอจะเกิดสัญชาตญาณดั้งเดิม คือสู้หรือหนี เธออยากสู้โดยเถียง แต่ก็ทำไม่ได้ เธออยากหนีไปให้พ้น เพราะไม่อยากฟัง แต่ก็หนีไม่พ้น ความเครียดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตัวเธอจึงไม่มีทางระบายออกเลย

เธอเล่าว่าเมื่อแรก ๆ นั้น พอตื่นเช้าขึ้นมาได้แต่งตัวออกจากบ้านไปทำงาน ก็แสนจะสบายใจ แต่พอตกเย็นขึ้นรถกลับบ้าน (บ้านเธออยู่ไกลที่ทำงานมาก) เธอก็เริ่มมีอาการปวดบริเวณต้นคอ (ตอนแรก ๆ แพทย์คิดว่เกี่ยวกับท่าทีเธอนั่งทำงาน แต่แก้ไขแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น) ยิ่งใกล้บ้านอาการยิ่งมาก และเมื่อเข้าบ้านได้ยินเสียงบ่นของแม่สามีเท่านั้น อาการก็รุนแรงทันที บางครั้งมีปวดศีรษะอย่างมากด้วย เธอเคยปรับทุกข์กับสามี สามีก็บอกแต่ให้อดทนไปก่อน พอน้อง ๆ โตแล้วก็คงจะแยกออกมาได้ (อีกนาน) เธอจึงอดทนเรื่อยมา พร้อมกับความปวดที่เพิ่มขึ้น ระยะหลัง ๆ นั้น ที่เคยปวดเฉพาะเวลาเย็นก็กลายเป็นปวดแม้ในที่ทำงาน และมากขึ้นจนเกือบจะเป็นตลอดเวลา อันเป็นผลให้เธอเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อย ๆ
เรื่องของความเครียดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในร่างกายนั้น เป็นสิ่งที่วงการแพทย์สนใจมานานแล้ว นักสรีรวิทยาชื่อ Walter B.Cannon จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทดลองในสัตว์ที่ทำให้เกิดความเครียด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเช่นที่กล่าวมาแล้วอย่างครบถ้วน ต่อมาเขาได้ศึกษาในนักฟุตบอลของฮาร์วาร์ด 25 คน พบว่าความเครียดที่เกิดเมื่อเข้าแข่งขันทำให้มีน้ำตาลออกมามากจนตรวจพบได้ในปัสสาวะ แม้ตัวสำรองที่นั่งเชียร์เพื่อนอยู่ที่ขอบสนามก็มีน้ำตาลออกมามากเช่นเดียวกัน

นักสรีรวิทยาชาวเยอรมันอีกผู้หนึ่งคือ Tiegel ได้ศึกษาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ พบว่าการเกิดความเครียดและทำให้กล้ามเนื้อเกร็งบ่อย ๆ นั้น จะทำให้ความยาวของกล้ามเนื้อลดลง คือยืดออกไม่ได้เท่าเดิม อันเป็นผลให้ข้อที่กล้ามเนื้อนั้นเกี่ยวข้องอยู่เคลื่อนไหวไมได้เช่นปกติด้วย และหากมีการเคลื่อนไหวข้อนั้นอย่างรวดเร็ว หรือรุนแรงก็อาจทำให้กล้ามเนื้อที่ยืดไม่ได้เต็มที่นี้ฉีกขาดได้ และถ้ากล้ามเนื้อที่ยืดไม่ได้เต็มที่นี้เป็นกล้ามเนื้อบริเวณหลังหรือคอ ก็อาจมีผลให้เกิดการเสียสมดุล ทำให้โค้งลอร์โดติคที่คอ หรือเอวผิดไปได้ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของการปวดหลัง ปวดคอ

นักวิจัยชาวอังกฤษ 2 คนคือ Peter Sainsbury และ T.G.Gibson ได้ทำการศึกษาที่น่าสนใจมาก คือใช้เครื่องบันทึกการหดตัวของกล้ามเนื้อไปติดไว้ในบริเวณที่มีอาการปวด และบริเวณที่ไม่มีอาการปวด จากนั้นก็ชวนให้ผู้ป่วยคุยในเรื่องที่รู้แน่ว่าจะทำให้เขาเกิดความเครียดได้ เช่น เรื่องร้าย ๆ ในที่ทำงาน เรื่องข่าวลือว่าภรรยามีชู้ หรือเรื่องลูกวัยรุ่นที่ติดยา เขาได้พบว่าเมื่อชวนคุยให้เกิดความเครียดแล้ว กล้ามเนื้อในบริเวณที่ไม่ได้ปวดมาก่อนนั้นก็มีการเกร็งแข็งเหมือนกัน แต่จะไม่มากเท่าบริเวณที่มีความปวดอยู่ก่อนแล้ว และที่น่าสนใจมากก็คือ ในบริเวณที่ปกตินั้น เมื่อความเครียดหมดไป (หยุดพูดคุยแล้ว) การเกร็งแข็งก็หมดไปด้วย แต่ในบริเวณที่มีความเจ็บปวดอยู่เดิมนั้นแม้จะหยุดคุยแล้ว ความเครียดหมดไปแล้ว การเกร็งแข็งก็ยังคงอยู่ไม่ยอมหมดไปง่าย ๆ และเกิดเป็นความเจ็บปวดมากขึ้น

เรื่องของความเครียดที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีทางปลดปล่อยนั้นนับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ทั้งกายและจิต) ของคนเมืองทุกวันนี้เป็นอย่างมาก ลูกที่คิดว่าถูกพ่อแม่บังคับกดขี่ก็ดี ผู้น้อยที่ไม่พอใจผู้ใหญ่ก็ดี ผู้ใหญ่ที่ดิ้นรนอยากจะใหญ่ยิ่งขึ้นแต่ไม่สำเร็จก็ดี หรือความสับสนวุ่นวายในการใช้รถใช้ถนนก็ดี ล้วนทำให้เกิดความเครียดหรือสัญชาตญาณของการ สู้หรือหนี ได้ทั้งสิ้น ลูก ๆ หลายคนใช้วิธีหนี โดยกลับบ้านดึก ๆ หรือไปอยู่บ้านเพื่อนจนเสียผู้เสียคนไปก็มีไม่น้อย ผู้น้อยที่ขาดความยั้งคิดคว้าเอาปืนมายิงนายขี้บ่นจนตายก็มีเป็นข่าวให้ได้ยิน ผู้ใหญ่ที่สู้กันจนถูกย้ายทั้งคู่ก็มีอยู่เป็นครั้งคราว ยิ่งเรื่องของการจราจรด้วยแล้วยิ่งวุ่นวายมาก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากทำกันจริง ๆ เมื่อประสบความไม่พอใจก็คือ "ไม่สู้และไม่หนี" เพราะสู้ไม่ได้และหนีไม่ได้ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีที่หญิงสาวปวดคอใช้ นั่นคืออดทน หรือเก็บกด ซึ่งนับว่ามีอันตรายมาก เพราะทำให้เกิดเป็นอาการทางกายได้สารพัดอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดท้องและปวดหลัง เป็นต้น เป็นอาการที่รักษาให้หายยากที่สุดหากไม่เข้าถึงสาเหตุ และไม่ได้แก้ที่สาเหตุนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น