วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

รอบรู้เรื่อง "ยาแก้แพ้"

รอบรู้เรื่อง "ยาแก้แพ้"

ปัจจุบันอากาศในประเทศไทยมีความแปรปรวนมากขึ้น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เต็มไปด้วยมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เชื้อรา ที่ปะปนอยู่ในอากาศ สารเคมีที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาเอง ซึ่งอาจแอบแฝงอยู่ในรูปของอาหารการกิน สิ่งที่เราสัมผัสซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ทั้งสิ้น จากสาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดอาการเป็นหวัด คัดจมูก แพ้อากาศได้

ด้วยเหตุนี้ยาแก้แพ้จึงเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอัตราการใช้สูงมากในประเทศไทย แม้ยาในกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในกลุ่มยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้นเราจึงมาเรียนรู้ถึงประโยชน์ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้กัน

ประโยชน์ของยาแก้แพ้
1. ใช้บรรเทาอาการแพ้อากาศ บรรเทอาการจาม น้ำมูกไหล เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) กินในตอนเช้าและก่อนนอน หรือเวลาใดเวลาหนึ่ง จะช่วยบรรเทาอาการได้ และต้องกินไปเรื่อยๆ หากหยุดเมื่อใดก็จะเป็นอีก นอกจากเป็นเฉพาะฤดูใดก็กินเฉพาะช่วงฤดูนั้น
2. ใช้บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง ลมพิษ ผื่นคันต่างๆ ที่นิยมใช้ คือ ฮัยดร๊อกซิซีน (Hydroxyzine) ซัยโปรเฮ็ปตาดีน (Cyproheptadine) ยาซัยโปรเฮ็ปตาดีน ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจาก มีผลกดสมอง ทำให้เด็ก เตี้ย แคระแกร็นได้
3. การใช้ยาแก้แพ้ในโรคหวัด ความจริงแล้วยาจะมีฤทธิ์ลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง ช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้นเท่านั้น ยังไม่มียาใดที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสอันเป็นสาเหตุของหวัด และควรใช้กรณีที่มีน้ำมูกใสเท่านั้น เมื่อน้ำมูกข้นเหนียวควรหยุดใช้ยา มิฉะนั้นอาจทำให้น้ำมูกเหนียวข้นมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะเด็กเล็ก

ข้อแนะนำ-ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้
1. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้ก่อนสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้แพ้หรือใช้ทันทีที่แพ้แล้ว
2. ยาแก้แพ้ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปากแห้ง จมูกแห้ง ปัสสาวะลำบาก และที่สำคัญคือ ทำให้ง่วงนอน ซึม เวลาใช้ยานี้จึงควรระวังการขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตาม หากกินยาชนิดนี้แล้วมีอาการง่วงนอนมาก และจำเป็นต้องทำงานอาจเลี่ยงไปใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง เช่น เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine) แอสทิมิโซล (Astemizole)
3. ห้ามกินยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดสมอง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากันชัก
4. ในกรณีหอบหืด ซึ่งแม้จะเป็นอาการแพ้อย่างหนึ่งก็ตาม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ควรระวังในการใช้ยานี้ เนื่องจากเด็กมีความไวในการตอบสนองต่อยานี้มาก อาการข้างเคียงของยาอาจเกิดในทางกลับกัน คือ แทนที่เด็กจะง่วงนอน กลับนอนไม่หลับร้องไห้ กวนโยเย เด็กบางคนจะมีอาการใจสั่น ตื่นเต้นหรือถึงกับชัก ถ้าได้รับยาในขนาดสูงๆ
5. ในหญิงมีครรภ์ มักใช้ยาประเภทนี้ในรูปของยาแก้แพ้ท้อง ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรจะดีกว่า สำหรับหญิงให้นมบุตรการกินยาแก้แพ้อาจทำให้น้ำนมลดน้อยลง และยาจะขับออกทางน้ำนม จึงควรให้ลูกงดนมแม่ ดูดนมขวดชั่วคราวขณะใช้ยา

นอกจากการใช้ยาแล้ว ก็ต้องพยายามสังเกตว่าสิ่งที่แพ้คืออะไร แล้วหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ การออกกำลังกายที่เหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบาน เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ดีขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น