วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทำไมต้องแกล้งกันด้วย (พฤติกรรมเด็ก)

ทำไมต้องแกล้งกันด้วย
*************************************

******   ลูกของคุณเป็นหนึ่งในเด็กที่ดูขี้อาย ตัวเล็กแคระแกร็น ฟันหลอ
ผิวคล้ำ ผมหยิกฟู หรือใส่แว่น ตัวอ้วนกลม ดูไม่แข็งแรงหรือเปล่าครับ
ถ้าใช่!!! ลูกของคุณอาจตกเป็นที่ล้อเลียน หรือ เป้าสายตาของเพื่อนๆ
ที่ชอบรังแกคนอื่นได้โดยง่ายครับ สังเกตง่ายๆ
คำล้อเลียนไม่ว่าจะเป็นคำว่ายายหมูอ้วน เจ้าแว่น น้องขี้โรค นังฟันหลอ
คุณกาดำ อาจตกเป็นชื่อเรียกขานประจำยามที่ลูกรักก้าวขาเข้าไปในโรงเรียน
ซึ่งถ้ามองในมุมหนึ่งแล้วดูเหมือนลูกของคุณเป็นที่สนใจของเพื่อนๆ
แต่อีกมุมมองหนึ่งแน่นอนว่าการเรียกขานนั้นๆ ย่อมทำให้ลูกรักรู้สึกอับอาย
ไม่สบายใจจนมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน หรือไม่อยากพูดคุยกับใคร

******   ถ้าการถูกล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งกันรุนแรงในความรู้สึกของลูกรัก
ถึงขั้นที่ลูกร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน เกลียดโรงเรียน นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ฯลฯ
เมื่อนั้นตามความเห็นของผู้เกี่ยวข้องด้านนี้
คุณพ่อคุณแม่ควรรีบยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพร้อมประสานงานกับคุณครูโดยด่วนครับ

******   ซึ่งก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือลูกรัก
ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรหาสาเหตุที่แท้จริงกันก่อนว่าทำไมเด็กๆถึงต้องรังแกกัน

*************************************
ทำไมต้อง "รังแก" กัน
*************************************

******   การรังแกกันของเด็กๆ จะรวมตั้งแต่การล้อเลียนกันซึ่งเป็นการพูดถึง
จุดด้อยของคนอื่น ไปถึงการตี การแกล้งกัน สาเหตุหลักๆ มาจากผู้ใหญ่ของเราเอง
นั่นแหละครับ ที่ไม่ค่อยนึกถึงว่าการล้อเลียนหรือแกล้งผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร
จึงละเลยไม่ค่อยอบรมสั่งสอนเด็กๆ ในเรื่องนี้ เด็กจึงพูดหรือทำแบบนั้นโดยไม่ยั้งคิด
และตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแล้ว
พฤติกรรมเหล่านี้ดูเหมือนเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่มีความก้าวร้าวอยู่ในตัว
ซึ่งการอบรมเลี้ยงดูที่ดีจะสามารถลดพฤติกรรมดังว่าได้
ถ้าเด็กได้รับการสอนให้ควบคุมตัวเอง และได้รับการสอนให้รู้จักถูกผิด
รู้อะไรควรไม่ควร ทั้งที่บ้านและโรงเรียน
เด็กก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมล้อเลียน หรือพูดเสียดสี ฯลฯ ได้โดยง่ายครับ

"ช่วงเด็ก 3 - 6 ขวบนี้ พัฒนาการของเด็กหลายๆ ด้านยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
เช่น ด้านภาษา ไม่สามารถบรรยายความโกรธออกมาเป็นคำพูด
จึงต้องอาศัยความก้าวร้าวรุนแรงทางด้านร่างกายมาแทนที่ เด็กบางคนจึงชอบหยิก
ชอบตี หรือกัดแทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้ได้ครับ"


<<<   การเลี้ยงดู   >>>
******   ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการปลูกฝังและเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ดีให้กับเด็กได้ครับ
ถ้าครอบครัวไหนพ่อและแม่เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่พูดล้อเลียนคนอื่น ไม่พูดกระทบกระเทียบผู้อื่น
ไม่ทะเลาะกัน เด็กจะซึมซับตัวอย่างที่ดีแบบนี้ไปโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าครอบครัวไหนชอบลงโทษลูกด้วยการตี หรือดุด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
หรือทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เป็นประจำ
แนวโน้มของเด็กในครอบครัวนี้เมื่อออกสู่สังคมย่อมจะไปกระทำกับผู้อื่นต่อไป
ทั้งด้วยวาจาและการกระทำได้โดยง่ายครับ

******   การหันกลับมาดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูกๆ
และพยายามสอนลูกว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร ไม่ตามใจจนเกินไป
เลี้ยงลูกด้วยเหตุผล ไม่ใช้กำลังตัดสินปัญหาจะช่วยเด็กที่มีพฤติกรรมชอบล้อเลียนเพื่อนๆ
หรือรังแกเพื่อนๆ ให้ลดหรือละพฤติกรรมดังกล่าวได้

<<<   ธรรมชาติของเด็กเอง   >>>
******   เด็กบางคนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นและมีอาการหุนหันพลันแล่น
จะคิดจะทำอะไรจะไม่ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน บางครั้งควบคุมตัวเองไม่ได้
จึงอาศัยการทำร้ายร่างกายเพื่อนคนอื่นๆ เป็นการระบายออก
หรือเด็กบางคนอาจมีพัฒนาทางภาษาล่าช้า
เมื่อพรรณนาออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ดีตามใจปรารถนา
จึงระบายออกทางการกระทำหรือทำร้ายรังแกผู้อื่น

******   เด็กบางคนพื้นฐานของอารมณ์เป็นคนหุนหันพลันแล่นขี้โมโห
การทำร้ายร่างกายเด็กคนอื่นอาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายเช่นกันครับ
ซึ่งทั้งหมดตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแล้ว
เด็กที่ชอบรังแกเด็กคนอื่นๆ ลึกๆ แล้วเขานั่นแหละที่เป็นเด็กมีปัญหา
ซึ่งควรได้รับการแก้ไขต่อไป

<<<  ปฏิกิริยาของคุณครู   >>>
******   ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่าปฏิกิริยาของคุณครูเองอาจเป็นแรงกระตุ้น
ให้เด็กชอบรังแกเด็กคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เช่น คุณครูอาจเพ่งเล็ง
ให้ความสนใจเด็กที่ชอบทำร้ายคนอื่นมากจนเกินไป
แทนที่จะระงับพฤติกรรมกลับเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมนั้นๆ
อย่างต่อเนื่อง เพราะยิ่งทำยิ่งได้รับความสนใจครับ แต่คุณครูสามารถลดพฤติกรรม
ดังกล่าวได้โดยหาจุดดีของเขาแล้วชมเชย ให้เขาเรียนรู้ว่าสิ่งดีๆ มักจะมีคนชม
สำหรับเด็กที่ถูกรังแกคุณครูควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ
เพราะเด็กที่ถูกรังแกมักจะไม่กล้าบอกใคร และเต็มไปด้วยความกลัว วิตกกังวล

***********************************
เมื่อลูก  "ถูกรังแก"
***********************************
******   เด็กที่ถูกรังแกมักจะมีอาการงอแง ไม่ยอมไปโรงเรียนหรือมีอาการซึมเศร้า
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นเด็กร่าเริง บางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นฝันร้าย เบื่ออาหาร

"เด็กบางคนเวลาถูกรังแกมาอาจเห็นได้ชัดๆ คือ จะเห็นว่ามีรอยแผล
แขนขาช้ำเพราะถูกรังแกมา ซึ่งในส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยสื่อสาร
กับคุณครูที่โรงเรียนให้ดีๆ เพราะส่วนใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา
โรงเรียนมักปกปิดด้วยเกรงว่าคุณครูที่โรงเรียนดูแลลูกของตัวเองได้ไม่ดี
แต่พ่อแม่เองควรทำความเข้าใจด้วยว่าจำนวนนักเรียนในห้องต่อคุณครู
มีสัดส่วนไม่เท่ากัน ถ้าพ่อแม่เข้าใจอย่างนี้และไม่คาดหวังมาก
พร้อมร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ปัญหาดังกล่าวอาจจะถูกแก้ไขได้ด้วยดีผ่านการร่วมมือกัน"

***********************************
ช่วยลูกที่  "ถูกรังแก"
***********************************
******   ให้โอกาสลูกระบายความรู้สึก
หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นแล้วว่าลูกมีอาการซึมเศร้า
บ่อยครั้งไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีรอยแผลกลับมาบ้านอยู่เป็นประจำ
ควรไถ่ถามและเปิดโอกาสให้ลูกรักได้ระบาย
หรือบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะสมที่สุด
เพราะเด็กๆ ควรได้มีโอกาสบอกเล่าถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาไม่สบายใจ
กับพ่อและแม่อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ควรวู่วาม แสดงความโกรธเคืองขัดจังหวะลูก

******   ร่วมมือกับคุณครูหาสาเหตุและแก้ปัญหา
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่โรงเรียนประสานการทำงานร่วมกัน
เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยต่างฝ่ายต่างไม่โทษซึ่งกันและกัน
ปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนจะได้รับการแก้ไขได้ด้วยดีครับ
บทบาทหน้าที่ของคุณครูหลังจากที่รับรู้ว่าเด็กคนหนึ่งถูกรังแก
ควรหาสาเหตุว่าทำไมเด็กถึงต้องมีการรังแกกัน
ครอบครัวของเด็กที่ชอบรังแกคนอื่นเป็นอย่างไร
สภาพแวดล้อมภายในบ้านการเลี้ยงดูเป็นอย่างไร
ทัศนคติของพ่อแม่ต่อคำว่ารังแกเป็นอย่างไร
โรงเรียนมีกฎมีระเบียบอย่างไร และคุณครูตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร

******   ที่สำคัญที่สุด เมื่อรู้แล้วว่าอะไรเป็นสาเหตุ
ขั้นตอนการดำเนินการอาจเป็นการโยกย้ายให้เด็กที่ชอบรังแกเพื่อนคนอื่นๆ
ไปนั่งมุมหนึ่งมุมใดของห้องที่ไกลจากเด็กที่กำลังถูกรังแกอยู่
และตัวคุณครูเองคอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็กให้มากขึ้นด้วย
เพื่อป้องกันการรังแกที่อาจเกิดขึ้นในคราวต่อไป
และคุณครูควรพูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กที่ชอบรังแกคนอื่น
แนะนำให้พ่อแม่ของเด็กคนนั้นปรับพฤติกรรมลูกอย่างถูกวิธี

******   และคุณครูเองก็สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรังแกกันในห้องเรียน
โดยสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยให้เด็กได้ทำงานร่วมกัน
มีการช่วยเหลือเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
รวมทั้งให้โอกาสเด็กที่ชอบรังแกคนอื่นให้ปลดปล่อยอารมณ์โกรธอย่างถูกทาง
เช่น ให้เล่นกีฬาประเภทที่ได้ออกกำลังกายมากๆ

******   ผู้เชี่ยวชาญเองก็ได้แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกให้ระบายความโกรธ
ให้ถูกทาง เช่น หาสิ่งของจำพวกตุ๊กตาให้ลูกระบายความโกรธ
แทนที่จะระบายความโกรธด้วยการทำลายข้าวของหรือรังแกเพื่อนๆ ครับ
พร้อมกับหมั่นสอนให้ลูกรู้จักใจเขาใจเรา รู้จักอดทนอดกลั้น สิ่งไหนดีไม่ดี
อะไรเหมาะอะไรควร การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม

******   เรื่องล้อเลียนหรือแกล้งกันในห้องเรียน
เป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ทั้งคุณครู คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกถูกรังแก
และฝ่ายที่ลูกรังแกเพื่อนด้วย จึงจะสัมฤทธิ์ผลครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น