วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หนูเป็นนักสืบ (พัฒนาการเด็ก)

หนูเป็นนักสืบ
*******************
******   การเลียนแบบเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
สิ่งใดที่เด็กและผู้ใหญ่เลียนแบบนั้นคือสิ่งที่เขาสนใจ พอใจ มีความรู้สึกแปลกและพิศวง
อาจเป็นคนหรือสัตว์ก็ได้ ซึ่งเขาได้สัมผัสจากการเห็น การใกล้ชิด การแตะต้อง

******   เด็กเลียนแบบสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ เพราะเด็กชอบเล่นสมมติ
เล่นและมีความฝันจินตนาการ เด็กยิ่งโตขึ้นการเลียนแบบจะน้อยลง
เขามีเหตุผลขึ้นและรู้ว่าความจริงคืออะไร
เด็กวัยรุ่นสนใจตัวเองมากขึ้น เด็กผู้ชายอยากให้คนนิยมยอมรับ
เด็กผู้หญิงชอบสวยงามสะดุดตา
เขาจะเลียนแบบการแต่งกายของนักแสดงและดารามากขึ้น
การพูดจาและท่าทาง เครื่องประดับที่ใส่ แฟชั่นอันทันสมัย
พ่อค้าแม่ค้าต่างหาประโยชน์จากเด็กระดับวัยรุ่น
ศูนย์การค้าลงทุนให้นักออกแบบเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า
สำหรับเด็กวัยรุ่นราคาแพงเกินความจำเป็นออกขาย ใครไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้
กลายเป็นเชยล้าสมัย เด็กที่ฐานะปานกลางบางคนต้องอดค่าอาหารกลางวัน
เพื่อนำเงินไปซื้อของที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ เด็กซึ่งพ่อแม่ร่ำรวยก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
กลายเป็นนิสัยไม่ดีเมื่อเติบโตขึ้น เด็กที่ยากจนบางคนพยายามหาเงินเพื่อซื้อของล่อตาล่อใจ
อาจตกเป็นเครื่องมือคนทุจริตหลอกล่อเด็กให้นำยาเสพย์ติดไปขายเพื่อนๆ
ทุกอย่างกลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบันนี้
ที่แน่ๆ ก็คือ วัฒนธรรมประเพณีของไทยค่อยๆ เลือนลางไปทีละน้อย

****** วันนี้ที่ศูนย์เด็กเทศบาลของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งแถวถนนสามเสน
โต้ง เมฆ และลูกข่าง กำลังค้นหาของสิ่งหนึ่งอยู่ตรงสวนหย่อม
ซึ่งอยู่ติดกับบันไดชั้นสองของอาคาร ชั้นเรียนของเด็กเล็ก
เด็ก ป.1 และเด็ก ป.2 จะอยู่ชั้นสองของอาคาร ชั้น ป.3. ป.4. ป.5 ป.6 นั้นอยู่ชั้นสาม
ชั้นล่างมีห้องอาจารย์ใหญ่และห้องธุรการ ห้องพยาบาล ต่อจากนั้นก็เปิดโล่งตลอด
ใช้เป็นที่รับประทานอาหารของเด็ก ที่เล่นของเด็กในร่ม และที่ประชุมผู้ปกครองกับครู

ครูนงนาฏ ประจำชั้นเด็กเล็ก เดินผ่านมาที่สวนหย่อม
เห็นโต้ง เมฆ และลูกข่าง ก้มๆ เงยๆ อยู่ตามกระถางต้นไม้
"นั่นทำอะไรกันจ๊ะ"
"หนูหาของครับ"
"หาอะไรล่ะ"
"ไม่รู้ว่าเป็นอะไรครับ"
"ไม่รู้ว่าของอะไรครูก็ช่วยหาไม่ถูก"
"หนูกำลังเป็นนักสืบอยู่ ติ๊ต่างว่าผู้ร้ายจะซ่อนของในกระถาง จะซ่อนตรงไหน"
"อ้อ นี่เป็นนักสืบรึ เป็นมานานไหม"
"เป็นนานแล้วครับ หนูสามคนเคยไปสืบมาแล้วที่บ้านผีสิง"
"ชื่อน่ากลัวนะ บ้านผีสิงอยู่ที่ไหน"
"ก็แถวบ้านคุณยายอาจารย์ที่แวะมาเยี่ยมเด็กๆ ที่นี่บ่อยๆ
บ้านผีสิงตรงข้ามมุมบ้านคุณยายอาจารย์ หนูเข้าไปบ่อย
ไม่มีผีหรอกมีแต่หญ้ารก บ้านเล็กๆ มืดด้วยไม่มีคน"
"แล้วหนูเข้าไปได้อย่างไร"
"หนูเข้าไปได้สบาย เอียงตัวเข้าตรงประตูรั้ว เขาใส่โซ่มีลูกกุญแจด้วย" เมฆกับลูกข่างตอบ
"โต้งเข้าลำบาก โต้งอ้วนติดประตูนิดหน่อย หัวเข่าถลอกด้วย"
"ไหนโต้งมาให้ครูดูขาหน่อย ตามตัวเจ็บหรือเปล่า"
"หัวเข่าถลอกนี่ ใครทายาแดงให้"
"แม่หนูครับ"
"ดีแล้วเวลามีแผลหรือเจ็บปวดที่ตรงไหนต้องบอกให้ผู้ใหญ่รู้ อยู่โรงเรียนก็บอกครู"
"ทุกกระถางไม่มีสิ่งใดซ่อนอยู่ใช่ไหม"
"ไม่มีครับ"
"ในโรงเรียนของเราไม่มีผู้ร้าย เราก็ไม่ต้องสืบ และที่บ้านผีสิงก็ไม่มีใครอยู่ ไม่มีสิ่งของอะไร มีแต่หญ้ารก บ้านมืด ชื้น หยากไย่รกรุงรัง ในที่เช่นนั้นอาจมีตัวแมลงเป็นพิษ เช่น แมงป่อง ตะขาบ หรืองู คางคก เรามองไม่เห็น ไปเหยียบมันเข้า มันก็จะกัดโขกหรือต่อยเราเจ็บก็ได้ ผู้ใหญ่ไม่รู้เข้าไปไม่ได้ใครจะช่วยเราล่ะ ตรงประตูก็เหมือนกัน เราต้องตะแคงตัวเข้าไป เผลอโดนซี่เหล็กหรือโซ่ที่ล่ามไว้เป็นสนิม ถลอกเป็นแผลเราก็อาจได้เชื้อบาดทะยัก ต้องไปหาหมอฉีดยา เชื่อครูนะ หนูอย่าไปอีกเลย"
"คุณครูครับ หนูยังไม่ได้ขุดดินหาหืบสมบัติเลย" นายโต้งนักสร้างปัญหาเสนอข้อต่อรอง
"ประชุมอะไรกันจ๊ะ" คุณยายอาจารย์ก้าวเข้ามาตรงหน้านักสืบทั้งหลาย
"อ๋อ ยังไม่ได้ขุดดินหาหีบสมบัติ ดูโทรทัศน์เรื่องโจรสลัดในการ์ตูนมากไป กับเกมหาสมบัติที่นักแสดงเขาเล่นกันในโทรทัศน์ ยายจะบอกให้นะ ไม่มีใครทิ้งสมบัติไว้หรอก เจ้าของเขาก็เอาไปหมดแล้ว"
"นักสืบไปเข้าชั้นเรียนได้" ครูนงนาฏบอก เด็กเดินไปแต่โดยดี
คุณยายอาจารย์ "นี่หนู ครูว่าพวกนักสืบคงได้เล่าเรื่องผจญภัยให้เพื่อนๆ ฟังแน่ เด็กผู้ชายซนๆ ชอบนัก ครูชักเป็นห่วง"
"ทำอย่างไรจะยุติพวกนักสืบได้ล่ะคะ"
"ครูว่าเปลี่ยนการค้นคว้าใกล้อันตรายของพวกเขาเป็นกิจกรรมการเล่นเสียดีไหม เช่น การค้นหาตัวอักษร รูปภาพ ก้อนไม้เล็กๆ รูปเรขาคณิต เราซ่อนไว้ในที่ต่างๆ ในห้องเรียน ซ่อนในกล่องกระดาษวางไว้ตามโต๊ะตามชั้นก็ได้ เมื่อใครค้นพบ ก็แสดงให้เพื่อนเห็นแล้วอธิบายว่า สิ่งที่ค้นพบนั้นคืออะไร บางครั้งใช้ภาพคนแสดงท่าทางต่างๆ ก็ได้ เช่น เด็กใส่บาตร หมอตรวจเด็ก เด็กโปรยข้าวให้ไก่กิน เด็กเห็นภาพบอกได้ถูกต้อง ครูก็เล่าเรื่องประกอบเน้นด้านคุณธรรมให้เด็ก หรือให้เด็กแสดงท่าตามภาพก็ได้ เด็กสนุกได้ความรู้ เป็นวิธีสอนทางตรงและทางอ้อมของครู"
"ขอบคุณอาจารย์ค่ะ ที่แนะวิธีการสอนให้หนู"
"เพราะสมัยเด็กครูเป็นเด็กซุกซนมาก ชอบเล่นอะไรผาดโผนและเพ้อฝัน มีความอิสระสนุกสุขใจ ทุกสิ่งฝังแน่นในความทรงจำ ครูจึงอยากให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยการเล่น"
**************************************
ไม่มีความสุขใดจะเท่า ความสนุกสุขใจจากการได้เล่น
ขอให้เด็กๆ ของเราได้ใช้เวลา
ในช่วงวัยของเขาให้คุ้มค่าเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น