ตาก-นำชมโบราณสถานวัดดอยข่อยเขาแก้ว
...หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "วัดพระเจ้าตากสิน" ตั้งอยู่บนเนินดิน ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก อยู่ห่างจากลำน้ำปิงประมาณ ๒๕๐ เมตร ยังมีโบสถ์ซึ่งมีใบเสมาคู่ วิหาร เจดีย์ และพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์ด้วย วัดนี้เห็นจะสร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๑๗ ยังเสด็จไปหาสมภารวัดนี้ ตรัสถามถึงเรื่องลูกแก้วที่พระองค์ทรงเสี่ยงทายเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อพระยาตากได้เสี่ยงทายลูกแก้วแล้ว จึงนำลูกแก้วนั้นไปติดไว้ที่ยอดเจดีย์ และว่ากันว่ายังมีเจดีย์ที่ประดิษฐานลูกแก้วเสี่ยงทายชนิดนี้อีกองค์หนึ่ง อยู่ที่วัดกลางสวนดอกไม้ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกับวัดดอยข่อยเขาแก้ว แต่ยอดเจดีย์ของวัดนี้หักพังลงมาหลายสิบปีแล้ว และลูกแก้วที่ติดอยู่บนยอดเจดีย์ก็หายไปเช่นเดียวกัน ส่วนยอดเจดีย์นั้นท่านเจ้าอาวาสวัดสวนดอกไม้ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙
...วัดดอยข่อยเขาแก้วนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งพระอาราม เมื่อคราวเสด็จกลับจากเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๓๑๗ โดยทรงเอาอย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่โปรดให้สร้างวัดขึ้นบนเนินวัดดอยช่อยเขาแก้วนี้เหมือนกัน เมื่อคราวเสด็จกลับจากเชียงใหม่ หลังจากตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.๒๒๐๕ ฝีมือการก่อสร้างนั้นเป็นแบบสมัยกรุงธนบุรีทั้งสิ้น
มณฑป
...อาคารสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่ออิฐถือปูน ขนาด ๖.๘๐x๖.๘๐ เมตร ตั้งอยู่ฐานก่ออิฐขนาด ๖.๙๐x๑๕.๒๔เมตร
หลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินเผา ตรงกลางคงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ได้ถูกขุดทำลายหมดสภาพไปแล้ว พบโบราณวัตถุ ประเภทกระเบื้องเชิงชายแบบลายเทพพนม และลายกนก นอกจากนี้ยังพบหินสบู่แกะสลักเป็นลวดลายกระจัง ลายประดับซุ้ม พระพุทธรูปแบบศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย และรูปหน้าบุคคลชาวต่างประเทศ ไว้ผมยาวสวมหมวกปีก เป็นต้น มณฑปแห่งนี้มีการบูรณะอย่างน้อย ๒ สมัยในสมัยอยุธยาตอนกลาง - ตอนปลาย ครั้งหลังสุดเป็นครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสด็จกลับจากการสงครามกับพม่าที่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๓๑๗
บุญญาบารมีพระเจ้าตากสิน Charisma of King Taksin the Great
...ในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชดำรงตำแหน่งพระยาตาก พระองค์ได้เสี่ยงทายที่วัดนี้ ด้วยการขว้างไม้เคาะระฆังไปยังถ้วยแก้วซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๕ วา โดยให้ถูกจำเพาะท่อนกลางให้แตกหักที่คอดกิ่วโดยส่วนอื่นไม่แตกเสียหาย ปรากฏว่าเป็นไปตามคำอธิษฐานจนเล่าลืมกันถึงความเป็นผู้มีบุญญาธิการและบารมี โดยพระองค์ได้ให้ช่างนำลูกแก้วทั้งสองไปติดตั้งไว้ที่ยอดเจดีย์วัดดอยข่อยเขาแก้วลูกหนึ่ง ส่วนอีกลูกหนึ่งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้ขออนุญาตนำไปติดตั้งไว้ที่ยอดเจดีย์วัดกลางสวนดอกไม้ จากนั้นไม่นานพระยาตากก็ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน
...In the time when King Taksin was the Prince of Tak he consulted the oracles in this temple by throwing a wood chime to a glass jar 10 meters away to be broken into two pieces at the middle. It was in the oracle with spreading a rumor of his charisma. He ordered to put a piece of the broken glass jar at the tip of stupa at Wat Dop Khoi Khao Kaeo and another piece was put at the tip of stupa at Wat Klang Suan Dok Mai. Someyears later the Prince of Tak was throned to be the King Taksin.
ร่องรอยของแม่น้ำปิงโบราณ Remnant of the Ancient Ping River
...พื้นที่วัดแห่งนี้เป็นเนินตะกอนกรวดที่มีลักษณะเป็นรูปทรงมนผิวเรียบแบบตะกอนกรวดในร่องน้ำ เป็นตะกอนในร่องแม่น้ำปิงโบราณที่เคยไหลผ่านบริเวณนี้ ต่อมามีการยกตัวของแผ่นดินทำให้แม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทางการไหลจนมาอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันซึ่งห่างออกไปประมาณ ๒๕๐ เมตร การยกตัวของแผ่นดินพร้อมกับการไหลของน้ำหลากได้ชะล้างเอาตะกอนขนาดเล็กออกไป ทิ้งไว้แต่ตะกอนกรวดเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบข้าง
...The area is a small hill consisting of well-rounded gravel deposits the same as the gravel found in the modern river channels. It is considered as a remnant of the ancient Ping River. The uplift of the terrain has changed the flow directions to be the present position about 250 meters away together with washing by runoff had wiped out the finer sediments leaving behind the coarser gravels in the form of a hill higher than the nearby area.
พระอุโบสถ
...อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๗.๒๗ เมตร ผนังสูง ๓.๓๐ เมตร มีลานประทักษิณและกำแพงแก้วล้อมรอบขนาด ๒๒.๖๐x๒๕.๔๐ เมตร ประตูทางเข้าอยู่ด้านทิศเหนือ มีบันไดขึ้น ๒ ทาง ลักษณะผนังมีการเจาะเป็นช่องแบบศิลปะอยุธยาตอนกลาง - ตอนปลาย ภายในมีฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน นอกจากนี้ยังพบบ่อหมักปูนบริเวณทิศเหนือของพระวิหารและพระอุโบสถ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น