วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปืด - เครื่องประโคมชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้

ปืด - เครื่องประโคมชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้

มีใช้กันมากแถวอำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อกันว่าเครื่องประโคมชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย แต่เข้ามาแพร่หลายในจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่น่าสังเกตว่าเครื่องประโคมชนิดนี้ชาวบ้านชาวเมืองไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เองที่บ้าน แต่จะสร้างไว้ที่วัดเท่านั้น จึงน่าจะเกี่ยวพันกับพิธีทางศาสนามากกว่าพิธีอย่างอื่นมาตั้งแต่โบราณ

ปืดมีลักษณะคล้ายคลึงกับตะโพน แต่ตะโพนมีรูปหัวท้ายสวยกว่าและมีขนาดโตกว่า ปืดมีลักษณะรูปทรงยาว มี 2 หน้า หุ้มด้วยหนัง หน้าหนึ่งโตกว่าอีกหน้าหนึ่งเพียงเล็กน้อย ร้อยโยงหนังหุ้มทั้ง 2 หน้าด้วยสายหนังดิบหรือด้วยตอกหวาย ปืดลูกหนึ่ง ๆ มีน้ำหนักมาก เพราะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน หลุมพอ ไม้มะหวด ไม้ขนุน เป็นต้น มักเรียกชื่อตามไม้ที่ทำ เช่น อ้ายหนุน อ้ายหลุมพอ เป็นต้น ภายในของตัวปืดเจาะเป็นรูปกรวย จากหน้าทั้งสองเข้าหากัน ให้ยอดกรวยที่เจาะพบกันที่กึ่งกลางหรือค่อนไปทางหัวหรือท้ายแล้วแต่เทคนิคของผู้ทำ เรียกส่วนที่พบกันนี้ว่า "คอสาก" ซึ่งจะเป็นรูขนาดกำหมัดหรือท่อนแขนพอลอดได้ ปืดที่ทำขึ้นมี 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก โดยประมาณขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางโต 12 นิ้ว หน้าเล็ก 11 นิ้ว ขนาดกลางหน้าโต 10 นิ้วครึ่ง หน้าเล็ก 9 นิ้วครึ่ง ขนาดเล็กหน้าโต 10 นิ้ว หน้าเล็ก 9 นิ้ว หนังที่ขึงตึงทั้ง 2 หน้าอาจใช้หนังชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันก็แล้วแต่สะดวก มักนิยมหนังค่าง หนังแมว หนังตะกวด หนังลูกวัวหลวน (วัวที่ออกมาก่อนครบกำหนด) โอกาสที่ใช้ปืด ใช้ในงานที่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนาและประชันกันเพื่อความบันเทิงในบางโอกาส เช่น งานลากพระ (ชักพระ) สมโภชกฐิน (ซึ่งจะประโคมในคืนก่อนวันที่จะแห่องค์กฐินไปทอดจนตลอดคืน ที่เรียกว่า "คุมฐิน") และใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา การใช้ปืดประโคมในโอกาสดังกล่าวแล้วยังมีเครื่องประโคมอื่นประกอบด้วย ได้แก่ กลองใหญ่ ฆ้อง ระฆัง โดยใช้เสียงปืดนำ แล้วตามด้วยเสียงเครื่องประโคมอื่น เช่น "ป๊ะยั้ง  ป๊ะยั้ง  ป๊ะยั้ง  ยั้งป๊ะ  ยั้งยั้ง" หรือ "ยั้งป๊ะยั้ง  ยั้งป๊ะยั้ง" ตามด้วยเสียงฆ้อง ระฆัง กลอง ดังพร้อม "โหม่ง  เข้ง  ตุม" หรือ "ป๊ะยั้ง  โหม่ง  เข้ง  ตุม"

ผู้ทำปืดในสมัยก่อนส่วนมากมักเป็นพระโดยมีศิษย์และชาวบ้านเป็นผู้ช่วย เมื่อทำเสร็จก็ตีลองเสียง โดยเอาตัวปืดมาวางนอนตามยาวให้หัวท้ายออกข้าง ไว้บนขารองซึ่งทำด้วยไม้ เพื่อยกให้ตัวปืดสูงขึ้นจากพื้น ผู้ตีจะนั่งยอง ๆ แล้วตรวจดูหนังหุ้มทั้ง 2 ด้าน ดูเชือกร้อยโยงว่าคงทนแข็งแรงดีหรือไม่ สิ่งแรกที่จะต้องทำใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้พอหมาด ๆ เช็ดหน้าปืดทั้ง 2 ข้าง แล้วดึงเชือกร้อยโยงให้หนังหน้าตึงพอดี เพื่อให้ปืดมีเสียงดัง ต่อจากนั้นนำข้าวสุก 1 กำมือ ผสมกับขี้เถ้าทางมะพร้าว หรือขี้เถ้าไม้ปอ ไม้โมก เพราะมีน้ำหนักเบา มาบดผสมจนละเอียดและเหนียวจนได้ที่ เรียกกันว่า "เปียก"

การทำเปียกเพื่อให้เหนียวมากมีผู้นิยมใช้ข้าวเหนียวสุกเพราะมีความเหนียวดีกว่าใช้เมล็ดข้าวเจ้า เอาเปียกที่ได้ปิดหน้าใหญ่ของปืดที่จุดกึ่งกลางเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ใช้นิ้วมือกดเปียกให้หนาเท่ากันโดยตลอด จะทำให้หน้าปืดตึงขึ้นกว่าเดิม ถ้าประโคมเวลากลางวันระวังมิให้หน้าปืดเปียกหรือแห้งจนเกินไป เพราะจะทำให้เสียงไม่ไพเราะเท่าที่ควร ผู้ประโคมจะต้องหันหน้าปืดด้านโตไปทางขวามือของตนให้ระดับไหล่สูงกว่าปืดเล็กน้อย วิธีตีประโคม ใช้นิ้วมือซ้ายตีก่อน ป๊ะ แล้วตีตามด้วยมือขวา ยั้ง ขณะตีนิ้วมือทั้งสี่ชิดติดกัน เริ่มเสียงเบาก่อนค่อยให้เสียงดังขึ้นตามลำดับ ผู้ที่จะนั่งตีอย่างมีสมาธิและคอยฟังเสียงที่ดังตามไปด้วย เมื่อหยุดก็จะวิจารณ์เสียงที่ดัง จากนั้นก็ผลัดเปลี่ยนให้ผู้อื่นตีแทน ตนเองคอยฟังสลับกันไปหลายครั้ง จนเป็นที่แน่ใจว่ามีเสียงไพเราะตามต้องการจึงประโคมประกอบกับเครื่องประโคมอื่นดังกล่าวแล้ว

ส่วนการชันปืด (ประชันปืด) นั้นเกิดขึ้นจากผู้ทำปืดและพรรคพวกถือหางกันว่าปืดของวัดตนเสียงดังกว่าของวัดอื่น ต่างวัดต่างไม่ยอมกัน จึงนัดให้นำปืดพบกันที่วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อประชันกันหลังจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นต้น ไปจนถึงวันแรม 2 ค่ำเดือน 11 เพราะในช่วงนี้ตามวัดต่าง ๆ มีขนมพอง ลา เหลือจากการทำบุญเดือน 10 กันวัดละมาก ๆ ชาวบ้านและศิษย์วัดจึงมาเที่ยวที่วัดในเวลากลางคืน เพื่อถือโอกาสรับประทานขนมของวัดไปในตัวด้วย ก่อนรับประทานขนมได้ตีปืดของวัดเพื่อเตรียมการลากพระแห่พระประจำปีในเดือน 11 แรม 1 ค่ำที่กำลังจะมาถึง จึงได้นัดหมายปืดจากหลายวัดมารวมกัน และตีฟังเสียงกันในเชิงสนุก ๆ ผลัดเปลี่ยนสถานที่กันไปเรื่อย ๆ วัดใดเป็นเจ้าของสถานที่ก็จัดเลี้ยงขนมกันตามธรรมเนียมไทย เมื่อนาน ๆ เข้าก็กลายเป็นการประชันกัน ถึงกับมีรางวัด และมีการพนันกัน การชันปืดมีขนบนิยมแปลกออกไป คือ ผู้ร่วมประชันกำหนดเวลาที่ว่างจากงาน หรือในงานแห่พระโดยนำปืดของตนพร้อมคณะไปยังสถานที่กำหนด ส่วนใหญ่เป็นที่วัด แต่มีตามทุ่งนาบ้างเพราะเงียบดี นำปืดเข้าตั้งรวมกัน แบ่งปืดตามขนาดใหญ่ กลาง เล็ก โดยถือหน้าโตของปืดเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงเสียงเล็กใหญ่ เลือกกรรมการขึ้นมา 3 - 4 คน ต้องรู้เรื่องปืดเป็นอย่างดี กรรมการจะไปยังจุดที่กำหนดฟังเสียงซึ่งอยู่ห่างจากจุดประชันประมาณ 2 กิโลเมตร โดยมีกลองและฆ้องเป็นเครื่องบอกผลการตัดสิน นอกจากนั้นยังมีกรรมการอีก 1 - 2 คน เป็นกรรมการหน้าปืด ทำหน้าที่ควบคุมปืดเข้าประชันกัน ก่อนการแข่งขันกรรมการยินยอมให้ตกแต่งหน้าปืด เกี่ยวกับการแต่งเปียกแต่งกายโยงดึงให้ตึงประมาณ 15 นาที เมื่อนำปืดเข้าที่ประชันแล้ว ห้ามตบแต่งหน้าปืดอย่างเด็ดขาด การประชันกันจะทำกันครั้งละคู่ ปืดที่วางอยู่หน้าเรียก "ปืดหลัก" ที่วางอยู่ข้างหลังเรียกว่า "ปืดยืน" เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่ม ปืดยืนประโคมก่อนแล้วปืดหลักตีตามสลับกันไป ปืดใบใดดังไปไกลเสียงใหญ่เสียงหวาน กลมแน่นเป็นใยยืดไม่ขาดห้วน ถือว่าดีกว่าก็ชนะ คณะกรรมการซึ่งอยู่ไกลฟังแต่เสียง จะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตีปืดใบใดอาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลัก ก็จะตีสัญญาณถ้าปืดหลักชนะก็จะตีกลองเป็นสัญญาณชนะ ถ้าปืดยืนชนะก็จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ จากนั้นก็สับที่กันให้ปืดหลักเป็นปืดยืน ปืดยืนเป็นปืดหลัก ถ้าปืดใดแพ้ 2 ครั้งเป็นอันตกรอบไป ถ้าผลัดกันแพ้ชนะต้องแข่งขันเป็นหนที่ 3 แต่ละคู่จะดำเนินการเช่นเดียวกันจนครบทุกคู่ ให้ตบแต่งหน้าปืดกันใหม่ เอาผู้ชนะพบกับชนะ แพ้พบแพ้ จนเหลือพวกละ 2 ใบ ในแต่ละประเภท เพื่อชิงชนะเลิศ ในการประชันให้ประชันนั่งหันหลังตามลม กรรมการนั่งฟังเสียงคอยฟังอยู่ใต้ทิศทางลมเช่นเดียวกัน เพื่อการฟังจะชัดเจนยิ่งขึ้น และเสียงปืดจะดังทางด้านหลังมากกว่าด้านหน้า

การเก็บปืดเมื่อหมดฤดูกาลแล้วมักเก็บไว้ตามหอฉัน บนกุฏิสมภาร ก่อนนี้เมื่อถึงเดือน 11 จะได้ยินปืดดังไปทั่วทั้งก่อนแห่พระและหลังแห่พระ ในการแห่พระจะมีปืดนับร้อย แต่ปัจจุบันร่อยหรอลงทุกที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น