วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มีอันตรายมั้ย ถ้าเด็กต้องถ่ายเอกซเรย์ฟัน

มีอันตรายมั้ย ถ้าเด็กต้องถ่ายเอกซเรย์ฟัน

ผู้ปกครองหลายท่านเกิดความสงสัยว่าพาลูกไปทำฟันแล้วทันตแพทย์ขอเอกซเรย์ฟันก่อนทำการรักษา หรืออาจเกิดคำถามว่า แค่อุดฟันทำไมต้องถ่ายเอกซเรย์ฟัน ด้องเอกซเรย์ก่อนถอนฟันด้วยหรือ เอกซเรย์จะมีความปลอดภัยไหม มีอันตรายหรือไม่

เนื่องจากฟันของคนเรามีส่วนของตัวฟัน ซึ่งโผล่ฟันขึ้นมาในช่องปาก และส่วนของรากฟันที่ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ทันตแพทย์ไม่สามารถมองเห็นได้จากการตรวจ และมองด้วยตาเพียงอย่างเดียว ภาพรังสีหรือภาพเอกซเรย์ให้ข้อมูลที่ไม่สามารถเห็นได้จากการตรวจในช่องปาก จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการตรวจวินิจฉัยโรคของบุตรหลานท่าหากไม่มีก็อาจไม่สามารถบอกถึงความผิดปกติอะไรบางอย่างได้ เช่น ฟันผุที่ซอกฟัน รอยโรคปลายราก ฟันเกิน รากฟันที่หักเนื่องจากอุบัติเหตุ เป็นต้น

อีกทั้งช่วยให้เห็นพัฒนาการของฟันและขากรรไกร บางทีเราอาจจะพบว่าเด็กบางคนมีฟันเกินในขากรรไกร หรือบางทีอาจจะมีฟันที่ฝังอยู่ในขากรรไกร โดยอาจเป็นฟันคุด หรือฟันที่ขึ้นไม่ได้ ในเด็กที่มีปัญหาในเรื่องของรากฟันน้ำนมที่มีการละลายตัวผิดปกติ สิ่งเหล่านี้จะมีผลทำให้ฟันถาวรขึ้นผิดปกติไป

ภาพรังสีหรือเอกซเรย์ทางทันตกรรมมี 3 ชนิดหลัก ๆ คือ
1. ภาพรังสีในช่องปาก (Intraoral radiography ; periapical, bitewing, occlusal) มักใช้ฟิล์มขนาดเล็ก เจาะถ่ยเฉพาะซี่ฟัน มีความชัดเจนและเที่ยงตรงในการตรวจสอบรายละเอียดเฉพาะจุด ใช้เพื่อดูบริเวณรอบปลายรากฟันหรือดูรอยผุด้านประชิดของฟัน
2. ภาพรังสีนอกช่องปาก (extraoral radiography) ซึ่งมักใช้ฟิล์มขนาดใหญ่ เพื่อฟันและอวัยวะใกล้เคียงในบริเวณกว้างๆ เห็นฟันทั้งปากในภาพเดียว เพื่อดูรอยพยาธิสภาพขนาดใหญ่ เช่น ถุงน้ำ เนื้องอก รอยหักของใบหน้าและขากรรไกร และใช้ในทันตกรรมจัดฟัน
3. ปัจจุบันมีภาพรังสีคอมพิวเตอร์ทางทันตกรรม Cone Beam Computed Tomography (CBCT) หรือเรียกกันว่าเด็นทัลซีที (Dental CT) หลอดรังสีให้ลำรังสีเป็นรูปกรวย ตัวรับภาพติดอยู่ด้านตรงข้ามกับหลอดรังสี จับภาพในทิศทางรอบผู้ป่วย 360 องศา แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลสร้างภาพในแนวระนาบแกน (axial plane) ระนาบหน้าหลัง (coronal plane) ระนาบแบ่งซ้ายขวา (sagittal plane) รวมทั้งการสร้างเป็นภาพ 3 มิติ

สามารถใช้ประโยชน์ในงานเตรียมแผนการรักษาในด้านทันตกรรมรากเทียม (dental implant) ศึกษาความสัมพันธ์รากฟันคุด (impacted tooth) กับคลองประสาทขากรรไกรล่าง (mandibular canal) หรือโพรงอากาศแก้ม (Maxillary Sinus) ศึกษาตำแหน่งฟันฝังในขากรรไกร (localization) ตรวจดูข้อต่อขากรรไกร เป็นต้น

รังสีในทางทันตกรรมปลอดภัยหรือไม่
รังสีในทางทันตกรรมเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในทางการแพทย์ ต่างกันที่จะใช้กระแสไฟต่ำกว่า โดยจะอยู่ที่ไม่เกิน 15 มิลลิแอมแปร์ ทางการแพทย์จะอยู่ที่ 100 - 600 มิลลิแอมแปร์ และเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมปล่อยรังสีเข้าบนเนื้อเยื่อร่างกายด้วยพื้นที่น้อยกว่า คือ รังสีจะผ่านเฉพาะเนื้อเยื่อของฟันและช่องปากเท่านั้น เอกซเรย์ในทางทันตกรรม ให้ปริมาณรังสีต่ำหรืออยู่ในกลุ่ม low dose ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานหรือการพบว่ามีผลข้างเคียงใด ปริมาณรังสีในการถ่ายภาพทางทันตกรรมถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับปริมาณรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพทางการแพทย์ชนิดอื่น ๆ และในปัจจุบันเทคนิคการถ่ายภาพรังสีก้าวหน้ามาไกลมีการนำระบบดิจิตอลมาใช้ ซึ่งช่วยในการลดปริมาณรังสีในการถ่ายแต่ละครั้ง
****************************************************
ผศ.ทพญ.ศิรินันท์ วิเศษสินธุ์ ภาควิชารังสีวิทยาช่องปากและเม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น