คือ กลองทัดหรือกลองเพลของภาคกลางเป็นดนตรีประเภทเครื่องตี ในภาคใต้มีไว้ประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า "คุมโพน" ใช้ตีประชันเสียงเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เรียกว่า "แข่งโพน" และนำไปเล่น "หลักโพน" โพนจะมีค่าเพียงใดขึ้นอยู่กับความนุ่มนวลและความดังของเสียง ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำตัวโพน (หรือ "หน่วยโพน") กับวิธีหุ้ม
การทำหน่วยโพน
หน่วยโพน ทำด้วยไม้ที่มีเนื้อเหนียว แข็ง ไม่แตกง่าย เช่น ไม้ขนุน ไม้พยอม ไม้ตาลโตนด ฯลฯ โดยเลือกต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุตครึ่งเป็นอย่างน้อย ตัดไม้เป็นท่อนให้ความยาวพอ ๆ กับเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อนไม้หรือยาวกว่าเล็กน้อย นำมาถากด้านนอกให้มีลักษณะสอบหัวสอบท้าย แต่งผิวให้เรียบแล้วเจาะตามแนวยาวตรงจุดศูนย์กลางให้ทะลุ ทะลวงรูให้กว้างขึ้นขนาดอย่างน้อยพอกำหมัดล้วงได้ จากนั้นใช้เครื่องมือขุดแต่งภายในให้รูผายกว้างออกเป็นรูปกรวยทั้ง 2 หน้า เรียกว่า "แต่งอกไก่" กะความหนาตรงปากโพนทั้ง 2 หน้าประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ ให้เหล็กกลมเจาะรูรอบปากทั้งสองเพื่อใส่ลูกสัก รูนี้จะเจาะห่างจากขอบปากเข้ามาราว 2 นิ้ว และเจาะห่างกันราว 1.5 นิ้ว โดยเจาะให้ทะลุ ขนาดรูเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย เจาะรูที่กึ่งกลางโพน เอาเหล็กทำบ่วงร้อยสำหรับแขวน ต่อไปก็เตรียมอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการหุ้มโพนให้พร้อม ได้แก่
1. ลูกสัก
ทำด้วยไม้ไผ่ตงที่แก่จัด ตัดให้ด้านหนึ่งติดข้อ อีกด้านหนึ่งวัดให้ได้ขนาดสั้นกว่ารัศมีปากโพนสัก 1.5 นิ้ว ผ่าเป็นซี่สี่เหลี่ยมจำนวนเท่ารูใส่ลูกสักที่เจาะไว้ เหลาให้กลม ด้านที่ติดข้อแต่งให้หน้าตัดโค้งมน บากหัวทำมุม 90 องศา ตัดจากจุดบากราว 1 นิ้ว ค่อยแต่งให้เรียว แล้วตากแดดไว้ให้แห้ง
2. ปลอกหวาย
ใช้สำหรับรัดหนังให้ตึงก่อนตอกลูกสัก ทำด้วยหวายเป็นขดกลมขนาดโตเท่าเส้นรอบวงของโพนบริเวณตัดเข้าไปจากรูใส่ลูกสัก
3. หนังหุ้ม
ใช้หนังวัวหรือหนังควายแล้วแต่ความเหมาะสม คือ ถ้าเป็นโพนขนาดใหญ่จะใช้หนังควาย เพราะผืนใหญ่และหนากว่าหนังวัว หนังต้องฟอกเสียก่อน การฟอกมีวิธีต่าง ๆ กัน เช่น นำหนังแช่น้ำในภาชนะ ทุบข่า รากต้นช้าพลูแล้วหมักไว้ 2 วัน หนังที่นำมาหมักนี้ต้องขูดขนออกเสียก่อน และต้องใช้ 2 ผืน
4. สถานที่วางโพนสำหรับหุ้ม
ปักหลักไม้ขนาดสูง 1.5 เมตร 4 อัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างกว่าขนาดโพนเล็กน้อย บากหัวไม้ด้านในเป็นมุม 90 องศาให้เสมอกัน (ถ้าบากไว้ก่อนก็ตอกให้เสมอกัน) เลื่อยหรือตัดไม้กระดานเป็นแผ่นกลมขนาดพอดีกับพื้นที่ระหว่างไม้หลักทั้ง 4 วางปูลงบนรอยบาก เรียกกระดานนี้ว่า "แป้น" หรือ "พื้น" สำหรับเป็นที่วางโพน ห่างจากหลักไม้ทั้ง 4 ออกไปราว 2 เมตร ปักหลักวางราวโดยรอบ ราวจะสูงจากพื้นไม่เกินแนวแป้น และราวแต่ละอันจะตอกสกัดด้วยไม้ง่ามหรือเรียกว่า "สมอบก" อย่างแข็งแรง หาไม้คันชั่งขนาดเท่าข้อมือยาวราว 2.5 เมตร ไว้ 7 - 8 อัน และเชือกหวายสำหรับผูก และดึงหนังสักจำนวนหนึ่ง แต่ละเส้นยาวราว 2 เมตร
วิธีหุ้มโพน
วางโพนบนแป้น ยกหนังมาตัดให้ได้ผืนโตกว่าหน้าโพนโดยกะให้หนังเหลือจากหน้าโพนไว้มาก ๆ เอาหนังปิดลงบนหน้าโพนนั้น ดูให้หนังรอบ ๆ หน้าโพนห้อยลงพอ ๆ กัน ใช้เหล็กหรือปลายมีดแหลมเจาะหนังให้ทะลุเป็นรูเป็นคู่ ๆ ห่างกันราว 2 - 3 นิ้ว ใช้ไม้สั้น ๆ ขนาดดินสอดำสอดรูแต่ละคู่ไว้ เสร็จแล้วใช้เชือกร้อยรูแต่ละคู่ผูกเป็นบ่วงตามยาวเสมอขอบแป้น ใช้ไม้คันชั่งสอดบ่วงขัดปลายไม้ด้านในไว้กับแป้น ปลายไม้ด้านนอกดึงกดลงเอาเชือกผูกยึดไว้กับราวซึ่งมีสมอบกยึด การดึงไม้คันชั่งพยายามให้แต่ละอันดึงหนังตึงพอ ๆ กัน จากนั้นตากลมทิ้งไว้ คอยชโลมน้ำและตีเป็นระยะ ๆ เพื่อให้หนังยืดตัว ทุกครั้งที่ชโลมน้ำและตีพยายามดึงไม้คันชั่งให้ดึงหนังให้ตึงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทำเช่นนี้ราว 2 - 3 วัน พอเห็นว่าหนังตึงได้ที่แล้ว ก็นำปลอกหวายสวมทับลงไป ตอกปลอกให้ลดต่ำอยู่ใต้ระดับรูลูกสัก ใช้เหล็กเจาะหนังตรงรูลูกสักให้ทะลุแล้วใส่ลูกสักให้ตะขอหงายขึ้นบน ตอกอัดลูกสักให้แน่นทุกรูปลดไม้คันชั่งออก ตัดหนังระหว่างปลอกกับลูกสักโดยรอบ เอาหนังส่วนที่ตัดออก เป็นอันเสร็จการหุ้มโพนไป 1 หน้า หน้าต่อไปก็หุ้มเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการ ถ้าจะวางตีก็ใส่ขา 2 ขา โดยทำขาคล้ายซี่ฟากขนาดโตเท่าหัวแม่เท้า 2 อันยาวกว่ากลองเล็กน้อยสอดเข้าใต้ปลอกด้านหนึ่งให้ห่างกันราว 5 นิ้ว ปลายให้รวบสอดที่ปลอกบน
คุมโพน
การคุมโพน แต่ละวัดจะทำล่วงหน้าก่อนถึงวันชักพระเพื่อบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าวัดนั้นจะมีกิจกรรมการชักพระตามประเพณี ในทางตรงกันข้ามถ้าวัดใดไม่มีการคุมโพนล่วงหน้าตามกำหนด ย่อมแสดงว่าวัดนั้นงดจัดกิจกรรมการชักพระในปีนั้น
การคุมโพน นิยมกระทำก่อนถึงวันชักพระ (เดือน 11 แรม 1 ค่ำ หรือ เดือน 5 แรม 1 ค่ำ) เป็นเวลา 3 วัน แต่บางวัดอาจจะเริ่มเร็วกว่านั้น และโดยมากจะคุมโพนในเวลากลางคืน โพนที่นำมาตีประโคมนิยมใช้ 2 ใบ เป็นเสียงแหลม (เสียงตึ้ง) 1 ใบ และเสียงทุ้ม (เสียงท็อม) 1 ใบ มีจังหวะและลีลาการตีโดยเฉพาะและตีสลับเสียงกันดังนี้
ตึ้ง ตึ้ง ท็อม
ตึ้ง ตึ้ง ตึ้ง ตึ้ง ท็อม
ตึ้ง ตึ้ง ท็อม ท็อม
ตึ้ง ท็อม ตึ้ง ท็อม
การคุมโพน 2 คืนแรก จะเริ่มตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงเที่ยงคืน ส่วนคืนที่ 3 จะคุมตลอดทั้งคืน (แต่ไม่ถือเป็นข้อบังคับ) ผู้ที่ประโคมมักเป็นศิษย์วัดและอุบาสกที่อยู่ใกล้ ๆ วัด โดยปกติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตี อาจตีคนเดียว 2 ใบ หรือคนละใบสลับเสียงกันตามวิธีที่กล่าวแล้ว เชื่อกันว่าผู้ร่วมคุมโพนจะได้กุศลด้วย
เมื่อถึงวันชักพระ เรือพระ (เรือที่จัดตกแต่งขึ้นสำหรับชักพระ) ทุกลำจะมีการคุมโพนตลอดเวลา แต่อาจมีเครื่องประโคมอย่างอื่นประกอบ เช่น ฉิ่ง ฉาบ ฆ้องคู่ รำมะนา เป็นต้น ลีลาการตีบางตอนอาจเปลี่ยนเป็นตีเชิดเพื่อเร่งเร้าให้ผู้ชักเรือพระโหมกำลังยิ่งขึ้น
บางจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช นิยมใช้ "ปืด" ประโคม และนิยมจัดประชันเสียงกันด้วย เรียกการประชันปืดว่า "แข่งปืด"
แข่งโพน
แข่งโพน แข่งตะโพน หรือ ชันโพน ก็ว่า เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้ ที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับประเพณีชักพระ เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน ก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา ในช่วงปลายเดือน 10 วัดต่าง ๆ จะเตรียมการชักพระ ตั้งแต่การทำบุษบกหุ้มโพน และเริ่มคุมโพนก่อนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนทุก ๆ ปี แต่เนื่องจากวัดส่วนมากมักจะอยู่ในละแวกเดียวกัน เสียงโพนที่ตีดังออกไปไกล บางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงโพนของวัดใด จึงทำให้วัดต่าง ๆ แข่งเสียงโพนกันว่า โพนของวัดใดเสียงดังกว่ากัน ในระยะแรกก็ตีแข่งกันภายในวัด นาน ๆ เข้าก็ค่อยขยับขยายนำโพนมาประชันกันภายนอกวัด ตามกลางทุ่งกลางนาหรือสถานที่ที่เตรียมไว้ ในวันชักพระก็จะมีโพนประจำเรือพระไว้คอยตีให้สัญญาณเป็นการคุมการลากเรือพระ ว่าต้องการให้ลากช้าหรือเร็ว เพราะเรือพระใช้เชือกเส้นใหญ่ ๆ มีขนาดยาวไม่น้อยกว่า 30 เมตร เสียงโห่ร้องของผู้คนที่มาลากพระ ทำให้ไม่สามารถวิ่งสั่งงานด้วยปากเปล่าได้ทั่วถึง จึงต้องใช้โพนตีเพื่อให้สัญญาณ เพราะเสียงดังไปไกลได้ยินทั่วถึงกัน เช่นถ้าจะให้ลากเร็ว ๆ ก็ตีรัวให้ถี่ ถ้าจะให้ลากช้าก็ตีจังหวะช้า ในบางครั้งเมื่อชาวบ้านจากหลายวัดลากพระมารวมกัน ก็มักจะมีการแข่งโพนกัน ต่อจากนั้นก็จะเป็นการแข่งขันการซัดต้ม เป็นต้น จากเหตุการณ์อันนี้จึงทำให้เกิดมีการแข่งโพนขึ้น ซึ่งเรามักจะพบมากในหมู่บ้านแถบชนบท
การแข่งโพน แบ่งได้ 2 อย่าง คือ
1. การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน แข่งขันจนผู้ตีมืออ่อน หรือผู้ตีหมดแรงจึงจะตัดสินได้
2. การแข่งเสียง การแข่งแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้
การแข่งโพน ส่วนมากจะเริ่มในปลายเดือน 10 และสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันชักพระ จะแข่งขันกันวันไหน สถานที่ใด แล้วแต่คู่แข่งขันจะตกลงกัน และนิยมแข่งขันกันในเวลากลางคืน ถ้าหากมีโพนหลายคู่ การแข่งขันจัดเป็นคู่ ๆ โดยแต่ละฝ่ายใช้ผู้ตีคนเดียว โดยเริ่มจากการตีลองเสียง ว่าโพนใบไหนเสียงใหญ่ และใบไหนเสียงเล็ก กรรมการจัดไว้เป็น 2 ชุด สำหรับควบคุมมิให้ผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนคนตีชุดหนึ่ง และเป็นกรรมการฟังเสียง ซึ่งมีราว 3 - 5 คนอีกชุดหนึ่ง กรรมการชุดหลังนี้จะอยู่ห่างจากที่ตีไม่ต่ำหว่า 150 เมตร เพื่อฟังเสียงและตัดสินว่า โพนลูกใดดังกว่ากัน
หลักโพน
หลักโพน เป็นการละเล่นโดยเอาโพนมาตีโต้ตอบแข่งขันกันระหว่างวัด เพื่อซักซ้อมและให้เกิดความสนุกสนานก่อนวันชักพระ คำว่า "หลัก" หมายถึงดักหรือจับ หลักโพนจะเล่นกันในเวลากลางคืน ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในการเล่นหลักโพนผู้เล่นจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยยึดเอาวัดเป็นการแบ่งเขต ใครอยู่ใกล้วัดไหน ก็ยึดเอาวัดนั้นเป็นฝ่ายของตน เมื่อถึงคืนวันแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 ฝ่ายจะเอาโพนวัดที่จะตีในวันชักพระมาใส่รถลาก (รถทำขึ้นเองเลื่อยไม้ให้เป็นแว่นทำล้อ ตัวรถทำขึ้นแบบง่าย ๆ ด้วยไม้พอจะวางโพนได้ 2 ใบ แล้วผูกเชือกลาก) วัดละ 2 ใบ ใบเสียงแหลมเรียกว่า "หน่วยตึ้ง" ใบเสียงทุ้มเรียกว่า "หน่วยท็อม" มีคนลาก 1 หรือ 2 คน อีก 2 คน คอยตีโพนอยู่ข้างหลังคนละใบ โดยมีสมาชิกคนอื่น ๆ เดินตามหลังคนตีกลองแต่ละฝ่ายไปเป็นขบวน เมื่อถึงเวลาเล่นหลักโพนผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายจะตีโพนออกจากวัด เดินเข้าหากัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตีขึ้นก่อน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะตีโต้ตอบรับกันเป็นจังหวะ การเล่นหลักโพนมีการหลักอยู่ 2 อย่าง คือ
1. หลักจับคนตีโพน
เมื่อ 2 ฝ่ายตีเข้าหากันอยู่ในระยะพอที่จะมองเห็นซึ่งกันและกันได้ ต่างฝ่ายต่างก็หยุดตี สมาชิกในขบวนของแต่ละฝ่ายก็จะเตือนคนตีโพนฝ่ายตนให้หลบซ่อน และขณะเดียวกันก็คอยดักจับคนตีโพนของฝ่ายตรงข้ามด้วย ถ้าต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็นซึ่งกันและกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะตีขึ้นก่อน 2 - 3 ครั้ง เป็นการหลอกล่อ แล้วรีบหลบหาที่ซ่อนอย่างรวดเร็วไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นได้ว่าตีโพนอยู่ที่ใด ถ้าฝ่ายไหนโผล่ให้เห็นก่อนให้อีกฝ่ายหนึ่งจับได้ถือว่าแพ้
2. หลักเสียงโพน
ทั้ง 2 ฝ่ายจะตีโพนให้มีจังหวะเหมือนกันตีสลับกันฟังแล้วให้เหมือนกับว่าอยู่ฝ่ายเดียวกัน เช่น ตีโพน 2 ใบ 8 จังหวะ ฝ่ายแรกจะตี "ตึ้งท็อม ตึ้งท็อม ตึ้งตึ้ง ท็อมท็อม" อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องตีอีก 4 จังหวะให้เข้ากันว่า "ตึ้งตึ้งท็อมท็อม" ถ้าตีผิดจังหวะไปจากนี้ถือว่าแพ้
การเล่นหลักโพนจะมีคืนสำคัญอยู่คืนหนึ่ง คือ คืนก่อนวันชักพระในวันออกพรรษา จะมีการแข่งขันถือเอาแพ้ชนะกันในคืนนั้น เมื่อเข่งขันแล้วฝ่ายใดแพ้จะเลี้ยงฝ่ายชนะด้วยอาหารคาวหวานในวัดของฝ่ายผู้แพ้ในวันแรม 1 ค่ำ หลังจากชักพระกลับสู่วัดแล้ว เพื่อความสนุกสนานและสามัคคีกันทั้ง 2 ฝ่าย การเล่นหลักโพนนี้ ปัจจุบันหาดูได้ยาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น