วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มะเร็งจีสต์ (Gastrointestinal Stromal Tumor - GIST)

มะเร็งจีสต์ (Gastrointestinal Stromal Tumor - GIST)

ขอเล่าเรื่องในยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ฟังกันสักหน่อยที่โน่นนอกจากปัญหาของเศรษฐกิจของ EU แล้ว ปัญหาเรื่องโรคมะเร็งก็กำลังเป็นปัญหาไม่แพ้กัน โดยประชาชนในยุโรปและสแกนดิเนเวียราวปีละ 270,000 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งจากการสูบบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่า สถิติมะเร็งของจีนและอินเดียกำลังแซงหน้าทางฝั่งยุโรปไปแล้ว

ส่วนที่บ้านเรามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งปอด ก็ยังคงเป็นปัญหาเช่นเดิม และที่เพิ่มมาก็เป็นมะเร็งชื่อแปลกๆ
ที่ชื่อแปลกๆ คงไม่ใช่ว่ามะเร็งชนิดนี้เพิ่งจะเกิด แต่อาจจะเพราะเราไม่เคยได้ยินเพราะเป็นกันน้อย หรือด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ และเทคโนโลยี ทำให้สามารถแยกมะเร็งจากสาเหตุการเกิด รวมทั้งอวัยวะที่เกิดได้ดีมากขึ้น อย่างเร็วๆ นี้เราก็มีชื่อที่ไม่คุ้นหูอย่าง "มะเร็งจีสต์" หลังจากที่เราได้ยินชื่อ "มะเร็งเน็ต" กันมาแล้ว

ทั้งๆ ที่มะเร็งจีสต์ (Gastrointestinal Stromal Tumor - GIST) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นโรคที่เพิ่งรู้จักกันเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา
มะเร็งจีสต์เป็นมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เนื่องจากมะเร็งจีสต์เกิดจากเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดคือเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้

ดังนั้นจึงสามารถพบมะเร็งจีสต์ได้ตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร
แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือกระเพาะอาหาร รองลงมาได้แก่ในลำไส้เล็ก โดยมะเร็งจีสต์ เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยมะเร็งจีสต์ 4,000-5,000 รายต่อปี ในส่วนของประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งจีสต์ ปีละ 300-500 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งชนิดนี้ 95% เกิดจากความผิดปกติของโปรตีนชื่อ KIT ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์ปกติทั่วไป ปกติเซลล์ชนิดนี้จะส่งสัญญาณตลอดเวลา ทำให้เซลล์ต่างๆ เจริญเติบโตและแบ่งตัวแม้ในเวลาที่ไม่ต้องการ การตรวจมักจะพบโดยบังเอิญ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด รู้สึกเหมือนมีก้อนในช่องท้อง ซึ่ง ผศ.นพ.วิเชียร ศรีมุนิทร์นิมิต ที่ปรึกษาและอดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคม กล่าวว่า ในปัจจุบันสามารถวินิจฉัยและรักษามะเร็งชนิดนี้ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมยารักษาแบบพุ่งเป้าหรือ Targeted Therapy หลังการผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ซึ่งช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นโรคอีก

นับเป็นมะเร็งอีกหนึ่งชนิดที่น่าจับตามอง ใครปวดท้อง น้ำหนักลด หรือมีความผิดปกติเหมือนมีก้อนในช่องท้องอย่าปล่อยไว้ ไปหาหมอกันดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น