วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เบาหวาน กับ โรคแทรกซ้อนทางตา

เบาหวาน กับ โรคแทรกซ้อนทางตา

อาการเบาหวานขึ้นตา คือ เส้นเลือดของจอรับภาพของตาจะโป่งพองหรือมีเส้นเลือดแตก แต่อาจไม่มีอาการแสดงออก ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวยกเว้นความผิดปกตินั้น เกิดขึ้นในตำแหน่งที่สำคัญของจอรับภาพ คือ บริเวณจุดศูนย์กลางของการมองเห็น (Macula) หรือบางครั้งอาจจะมีการแตกของเส้นเลือดอย่างมากจนบังจอรับภาพหมดก็จะทำให้มองไม่เห็นหรือเกิดตาบอดกะทันหันได้

เบาหวานขึ้นตามีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน ตามสถิติพบว่าหากผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลินมา 10 ปี จะมีโอกาสเกิดเบาหวานขึ้นตาได้ 50 คน ใน 100 คน หรือหากเป็นเบาหวานมานาน 20 ปี โอกาสที่จะเกิดสูงถึง 90 คน ใน 100 คน
ความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเป็นเบาหวาน และการควบคุมเบาหวานว่าทำได้ดีเพียงใด และสุดท้ายคือกรรมพันธุ์

ปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตาบอดได้มากที่สุด ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสตาบอดสูงเป็น 20 เท่า ของคนปกติ

การป้องกันมิให้ตาบอดสามารถทำได้โดยการตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่จะบ่อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสภาวะตาของผู้ป่วยแต่ละคน หากจักษุแพทย์พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดใกล้กับประสาทตา (optic disc) หรือบริเวณใกล้จุดศูนย์กลางของการมองเห็นการรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์จะป้องกันมิให้ตาบอดได้ อย่างไรก็ตามการยิงแสงเลเซอร์อาจทำให้ผู้ป่วยมีลานสายตาแคบลงหรือความสามารถในการมองเห็นภาพตอนกลางคืนลดลง นอกจากนี้ การยิงแสงเลเซอร์ไม่สามารถทำให้ตาที่มองไม่เห็นหรือมัวอยู่แล้วตั้งแต่ต้นกลับชัดขึ้นได้ แต่เป็นการป้องกันมิให้รุนแรงขึ้น หรือตาบอดเท่านั้น

ในกรณีที่เบาหวานขึ้นตารุนแรงจนมีเลือดออกในน้ำวุ้นของลูกตา (vitreous hemorrhage) เกิดการลอกหลุดของจอภาพทำให้ตาบอด การผ่าตัดตาเพื่อเปลี่ยนน้ำวุ้นลูกตาและซ่อมจอภาพอาจช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ แต่จะไม่เหมือนปกติ

ต้อกระจกต้อกระจกเป็นภาวะที่เลนส์ของลูกตาขุ่นมัวลงทำให้การมองเห็นลดลงหรือมองไม่เห็นเลยก็ได้ พบในคนสูงอายุทุกคน ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ดีจะทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้น การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดลอกเอาเลนส์ที่เสื่อมออกและเอาเลนส์เทียมใส่แทนก็จะช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น