วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เลือกอาหารอย่างไรไม่เสี่ยงมะเร็ง

เลือกอาหารอย่างไรไม่เสี่ยงมะเร็ง

เมื่อพูดถึง "มะเร็ง" หลายคนอาจรู้สึกเหมือนเป็นโรคที่ไกลตัว แต่ความจริงแล้วมะเร็งเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เนื่องจากในชีวิตประจำวันทุกคนล้วนมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งทั้งจากการกิน การหายใจ รวมถึงการสัมผัส ผลจากการสำรวจสถานการณ์โรคมะเร็งในรอบปี 53 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 56,058 ราย หรือ 8,834 รายต่อประชากร 1 แสนคน คิดเป็น 4,671 ราย/เดือน หรือ 156 ราย/วัน เพิ่มขึ้นประมาณ 10.7% ทำให้มะเร็งกลายเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยพบว่ามะเร็งที่คร่าชีวิตของคนจำนวนมากนั้น ก็คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ทวารหนักและปากมดลูก ฯลฯ

นอกจากนี้บรรดานักวิชาการทั้งหลายยังออกมายืนยันว่า "พฤติกรรมการกิน" ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศ ทั้งยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไว้อีกด้วย เริ่มตั้งแต่การจำกัดการกินไขมันและน้ำมัน (Totalfat and oils) ลดการกินอาหารมันโดยเฉพาะที่มาจากสัตว์และควรกินไขมันและน้ำมันที่ให้พลังงานไม่เกินร้อยละ 15-20 ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน จำกัดการกินเกลือและอาหารเค็ม (salt and salting) ในผู้ใหญ่ควรกินวันละไม่เกิน 6 กรัม (1 ช้อนชา) ส่วนในเด็กไม่ควรเกิน 3 กรัมต่อ 1,000 กิโลแคลอรี่ต่อวันและควรเป็นเกลือผสมไอโอดีนเพื่อป้องกันการขาดไอโอดีน นอกจากนี้ทางที่ดีผู้บริโภคควรหันมาใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศแทนเกลือแกงในการปรุงอาหาร

การเก็บรักษาอาหาร (Storage) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการสะสมสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อรา ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เก็บในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน หากเป็นอาหารสดหรืออาหารที่เสียได้ควรเก็บในตู้เย็นหรือแช่แข็งในตู้แช่เพื่อลดอัตราการเกิดเชื้อรา

ทั้งยังควรกินอาหารที่ผ่านการควบคุมสารผสมและสารตกค้าง (Additives and Residues) ตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการจำกัดขีดความปลอดภัยของสารผสมอาหารสารเคมีฆ่าแมลง สิ่งตกค้างและสารเคมีอื่นที่อาจเจือปนอยู่ในอาหารเพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อตัวผู้บริโภค

ในอีกทางหนึ่งผู้บริโภคยังควรเสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยการกิน "ผักผลไม้" ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากผลไม้เกือบทุกชนิดล้วนอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ antioxidants ที่ช่วยต้านโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ ในบรรดาผลไม้ที่จำหน่ายตามท้องตลาดจะพบว่า "สตรอเบอร์รี่" มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูงที่สุด รองลงมาก็คือ ส้ม องุ่นแดง และพลัม ในส่วนของผักที่มีสรรพคุณในการต้านมะเร็งนั้นก็มีมากมายหลายชนิดไม่แพ้ผลไม้ ยกตัวอย่างเช่น "บล็อคโคลี่" ที่อุดมไปด้วยสารซัลฟอราเฟน ช่วยยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสมุนไพรพื้นบ้านอย่าง "ตะไคร้" ที่มีรายงานว่าสามารถยับยั้งอาการเริ่มแรกก่อนนำไปสู่มะเร็งลำไส้อีกด้วย

ถึงแม้ว่า "มะเร็ง" จะเป็นอสูรกายร้ายที่อยู่ใกล้ตัว แต่เราก็สามารถเอาชนะมันได้ง่ายๆ ด้วยการควบคุมพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังต้องใส่ใจในเรื่องแหล่งที่มาของอาหารเหล่านั้น โดยคำนึงถึงระบบการผลิตและการจัดจำหน่ายที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น