เบาหวานกับการดูแลสุขภาพเท้า (2)
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเท้าก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดแผล การละเลยต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อาจจะทำให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนของทั้งระบบประสาทและหลอดเลือด
ผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมลงจะมีระดับของการสูญเสียความรู้สึกแตกต่างกันมาก บางคนอาจจะเหยียบตะปู เดินเตะถูกของแข็งโดยไม่รู้สึกเจ็บ จนถึงบางคนรองเท้าหลุดไปแล้วก็ยังไม่รู้ เป็นต้น
การตีบตันของหลอดเลือดนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการส่งผลให้แผลหายเร็วหรือช้า ทั้งนี้ เนื่องจากหลอดเลือดเป็นเส้นทางซึ่งสารอาหารและยาถูกขนส่งไปยังบริเวณที่เป็นแผล รวมทั้งเป็นเส้นทางกำจัดของเสียจากแผลด้วย
อาการที่บ่งบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือด คือ อาการปวดขาเวลาเดินเมื่อหยุดพักสักครู่ก็จะหายเป็นแผลแล้วหายช้า ผิวหนังบริเวณเท้าและขาแห้งและปราศจากขน เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยที่มีปัญหาแทรกซ้อนของโรคเบาหวานควรปฏิบัติดังนี้
1. ล้างเท้าทุกวันด้วยสบู่อ่อน และอย่าแช่เท้าในน้ำนานกว่า 5 นาที
2. เช็ดเท้าเบาๆ ให้แห้งด้วยผ้าที่นุ่ม โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้าอย่าให้อับชื้น
3. ตัดเล็บด้วยความระมัดระวัง โดยตัดขวางเป็นเส้นตรงใช้ตะไบถูให้เรียบพอดีกับเนื้อ อย่าตัดให้สั้นเกินไป
4. รักษาความชุ่มชื้นของเท้าให้เหมาะสม ถ้าผิวหนังบริเวณเท้ามีลักษณะแห้งควรทาครีม ถ้าผิวหนังดังกล่าวมีลักษณะชื้นง่ายก็ควรใช้แป้งฝุ่นโรย อย่าให้ครีมหรือแป้งจับตัวกันเป็นก้อนเพราะจะทำให้เกิดการหมักหมม เป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคได้ง่าย
5. เปลี่ยนถุงเท้าทุกวันและเลือกสวมถุงเท้าที่ซึมซับเหงื่อได้ดี ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้ายเหมาะสมกว่าถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์เนื่องจากมีการถ่ายเทอากาศที่ดีกว่าและทำให้เท้าแห้งอยู่เสมอ
6. เลือกรองเท้าที่มีขนาดกระชับเหมาะสมให้ความรู้สึกสบายขณะสวมใส่ รองเท้าควรทำด้วยหนังและไม่ควรเลือกขนาดที่คับเกินไปเพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ถ้าเท้าชาควรสวมรองเท้าหุ้มส้น การสวมรองเท้าใหม่ควรค่อยๆ ใส่ให้ชิน โดยลองสวมใส่วันละ 1-2 ชั่วโมงก่อน
7. ปกป้องเท้าของท่านอยู่เสมอ โดยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกบ้าน
8. สำรวจดูเท้าทุกวันว่ามีบาดแผล ตุ่มพองรอยแดงเขียวช้ำ และรอยแตกหรือไม่ ถ้าก้มลงมองไม่สะดวกควรใช้กระจกส่องดู
9. ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้งควรตรวจสอบภายในก่อนว่ามีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่หรือไม่ เช่น กรวด ทราย ฯลฯ
10. ออกกำลังกายบริเวณขาและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 15 นาที เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดตามขาและเท้าดีขึ้น
11. ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีบาดแผล เช่น เล็บขบ เชื้อราในซอกเท้า มีอาการปวดหรือบวมบริเวณกล้ามเนื้อน่องหรือเท้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น