วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-มารู้จักที่มาของตรอกเล่าโจ๊ว

 เชียงใหม่-มารู้จักที่มาของตรอกเล่าโจ๊ว


...ที่ชาวเชียงใหม่มักเรียก "คลองเล่าโจ๊ว หรือ คองเหล่าโจ๊ว" (อ่าน "กองเหล่าโจ๊ว") แปลว่า ทาง (ไปสู่) "ศาลเจ้าเล่าโจ๊ว" บางคนเรียกคลองหล่อ หรือ คองหล่อ แต่ทางการเรียกทางสายนี้ว่า "ตรอกข่วงเมรุ" เป็นตรอกที่ไม่ใหญ่นักเชื่อมระหว่างถนนท่าแพบริเวณเลยสี่แยกอุปคุตไปทางตะวันตกเล็กน้อยผ่านตลาดวโรรสและผ่านศาลเจ้าไปเชื่อมกับถนนช้างม่อยที่บริเวณร้านขายยา "จิ๊บอังตึ๊ง" ทางสายนี้จึงเรียกว่าตรอกข่วงเมรุ การที่เรียก "คลองเล่าโจ๊ว" ก็เพราะถือว่าเป็นทางไปสู่ศาลเจ้าเล่าโจ๊วซึ่งอยู่ด้านหลังตลาดวโรรสที่เรียกว่า "คลองหล่อ" ก็เพราะช่วงที่ตัดจากถนนท่าแพนั้นเป็นทางลาดลงต่ำ ส่วนที่เรียก "ตรอกข่วงเมรุ" ก็เพราะถือว่าเส้นทางนั้นมีขนาดกว้างระดับเดียวกับตรอกที่นำไปสู่ลานโล่งที่ตั้งของเมรุบรรจุอัฐิของเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายระดับสูงของเชียงใหม่มาก่อน (ภายหลังพระราชชายาเจ้าดารารัศมีย้ายอัฐิเหล่านั้นไปบรรจุไว้ที่ "กู่วัดสวนดอก" หรือสถูปในบริเวณวัดสวนดอกนอกเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ และใช้บริเวณเดิมของข่วงเมรุ หรือลานที่ตั้งเมรุนั้นเป็นที่ตั้งตลาดใหญ่คือตลาดวโรรส)

...ทั้งนี้ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๔ คือก่อนที่ทางรถไฟจะมาถึงเชียงใหม่นั้น การค้าระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เป็นการค้าโดยอาศัยเรือแม่ปะ หรือ หางแมงป่อง บรรทุกสินค้าล่องลงไปกรุงเทพฯ โดยใช้ลูกถ่อ ๖ คน ขาล่องใช้เวลาประมาณ ๓ อาทิตย์ และขาขึ้นประมาณ ๖ อาทิตย์ ในช่วงเวลานั้นตลาดการค้าขายอยู่ที่ฝั่งวัดเกตการาม และบริเวณถนนท่าแพก็มีข้อมูลบอกว่ามีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นแล้ว เมื่อมีตลาดวโรรสเกิดขึ้น กิจการค้าก็เริ่มข้ามฟากน้ำแม่ปิงมาและเจริญขึ้นโดยลำดับ น่าเชื่อว่าตรอกข่วงเมรุนี้จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการสร้างตลาดวโรรสแล้ว


...เมื่อมีคนจีนเข้ามาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตลาดวโรรสมากขึ้นแล้ว จึงมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นให้ชื่อว่า "ศาลเจ้าเล่าโจ๊วซัง" หรือกวนอูปู๊เบี้ย "กวนอู" อันเป็น "เล่าโจ๊ว" หรือบรรพบุรุษผู้เป็นดั่งเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพอย่างสูง และได้อัญเชิญเจ้าชื่อ "เล่าโจ๊ว" มาสถิตอยู่ที่ศาลนี้ ทำให้เป็นที่มาของชื่อตรอกเล่าโจ๊วดังกล่าว


...ใน พ.ศ.๒๕๑๑ เกิดไฟไหม้ตลาดวโรรสโดยเริ่มจากตลาดต้นลำไยไหม้ลามข้ามถนนวิชยานนท์ไปโหมตลาดวโรรสจนพินาศไปทั้งสองตลาด แต่ไฟก็หยุดลงมิได้ข้ามตรอกไปไหม้ศาลเจ้า หลังจากนั้นก็ได้มีการทำบุญศาลเจ้ากันอย่างใหญ่โตทุกปี


...คนจีนที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานบริเวณตลาดวโรรสนั้นน่าจะมีฐานะดี ดังพบว่าในบริเวณดังกล่าวมีชาวจีนที่มีกิจการร้านค้าใหญ่โตและมีลูกหลานที่มีหน้ามีตาในสังคมเชียงใหม่อยู่หลายท่านด้วยกัน ตลาดวโรรสนับได้ว่าเป็นตลาดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ บางท่านเรียกว่า "กาดหลวง หรือ กาดนอก" สินค้าที่ขายในตลาดนี้ถือกันว่ามีคุณภาพ ชาวต่างถิ่นมักจะไปที่ตลาดนี้ก่อนเดินทางกลับเพื่อซื้อสินค้าพื้นเมืองเป็นของฝากคนที่อยู่ทางบ้าน


...บริเวณนี้เป็นเขตนอกกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง ในอดีตเป็นที่ตั้งศาลาที่พักคนเดินทาง เรียกว่า "ศาลาย่าแสงคำมา" เมื่อศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และครอบครัว เดินทางมาถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๑๐ (ค.ศ.๑๘๖๗) ได้พักและอาศัยที่ศาลาแห่งนี้เป็นเวลามากกว่า ๑ ปี ได้ใช้ศาลานี้เป็นที่ประกาศเผยแพร่คริสตศาสนากับชาวบ้านที่เดินผ่านไปมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น