เชียงใหม่-นำชม สถูปบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง
... ครูบาศรีวิชัย (พ.ศ.๒๔๒๑-๒๔๘๑) ถือเป็นพระสัมมาปฏิบัติที่มีชื่อเสียงของล้านนา
ได้รับการศรัทธายกย่องจากพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาอย่างมากทั้งในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
และแม้เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว
ด้วยบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หลงในลาภสักการะ เป็นพระนักปฏิบัติ
ทำให้ท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยล้านนา พม่า ต่องซู่ มอญ จีน ญวน ลาว
ตลอดรวมถึงบรรดาชาวเขาที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและในเขตประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น ขมุ ลัวะ กะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ ซึ่งต่างยกย่องท่านเป็น "ตนบุญแห่งล้านนา"
...ในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างผลงานที่เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนาไว้มากมาย
ด้วยแรงศรัทธาของมวลชนที่มีต่อครูบาศรีวิชัย ที่สำคัญได้สร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร
โดยใช้เวลาเพียง ๕ เดือน กับ ๒๒ วัน โดยเริ่มลงจอบวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ เสร็จวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๘
(สมหมาย เปรมจิตต์, ประวัติครูบาศรีวิชัย. เชียงใหม่ : โรงพิมพิ์มิ่งเมือง ๒๕๔๓ หน้า ๔๖-๕๒)
ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๑ (ขณะนั้นนับ ๑ เมษายน เป็นปีใหม่)
รวมอายุได้ ๖๐ ปี ๘ เดือน ๑๐ วัน ณ วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน
และมีงานพระราชทานเพลิงศพช่วงหลังสงครามโลกคือเมื่อ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ที่วัดจามเทวี
มีพระพิมลธรรมวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
...หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว คณะกรรมการจัดงานเห็นว่าเมื่อครั้งครูบาศรีวิชัยมีชีวิต
ได้บำเพ็ญกรณียกิจในภาคเหนือหลายจังหวัดจึงมีมติแบ่งอัฐิครูบาศรีวิชัยเป็นส่วนๆ มีอย่างน้อย ๒ ที่มาที่ต่างกัน คือ
(ก) ที่ว่าแบ่งเป็น ๖ ส่วนแบ่งให้
๑. จังหวัดลำพูน บรรจุไว้ที่วัดจามเทวี
๒. จังหวัดลำปาง บรรจุไว้ที่วัดพระบาทและวัดพระแก้วดอนเต้า
๓. จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบรรจุไว้ที่วัดสวนดอก
๔. จังหวัดเชียงราย บรรจุไว้ที่วัดพระเจ้าตนหลวง พะเยา
๕. จังหวัดแพร่บรรจุไว้ที่วัดพระธาตุช่อแฮ
๖. ให้วัดบ้านปาง อำเภอลี้ ลำพูน ถิ่นกำเนิดของครูบาศรีวิชัย
(พระครูพุทธิธรรมโสภิต ประวัติวัดพระบาทและประวัติพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ลำปาง : วัดพระบาท
ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง ๒๕๓๐ หน้า ๓๑)
(ข) ที่ว่าแบ่งเป็น ๔ ส่วนแบ่งให้
๑. ให้ชาวอำเภอลี้ นำไปบรรจุวัดบ้านปาง
๒. บรรจุสถูปที่วัดจามเทวี ลำพูน
๓. มอบให้นายอินทร์ วิลเลี่ยม สานุศิษย์นำไปบรรจุที่วัดสวนดอก เชียงใหม่
๔. มอบให้ผ้าขาวดวงต๋า สานุศิษย์นำไปไว้ที่ดอยโง้ม สันกำแพง
(บุรี รัตนา พระประวัติอภินิหารพระเครื่องครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย กรุงเทพฯ
ผ่านฟ้าพาณิชย์ มปป. หน้า ๑๑๗-๑๑๘)
...อย่างไรก็ดีในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านในชุมชนวัดหมื่นสาร เล่ากันสืบต่อมาว่าขณะที่มี
การพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัยที่ลำพูนนั้น ครูบาขาวปีหรือครูบาอภิชัย (พ.ศ.๒๔๓๒-๒๕๒๐)
ซึ่งเป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัยมา "นั่งหนัก" เพื่อบูรณะวิหารวัดหมื่นสาร
ร่วมกับครูบาอินตา อินทปฺญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๒
(นั่งหนัก เป็นภาษาล้านนา หมายความว่า การนั่งรับบริจาคทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธา
เพื่อใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียสถาน ณ วัดใดวัดหนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง)
...เมื่อมีการแบ่งอัฐิครูบาศรีวิชัยนั้น ครูบาขาวปีกับนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ หรือ
นายอินทร์ วิลเลี่ยม (ลูกเลี้ยงของนายวิลเลี่ยม เบน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวเชียงใหม่) นำขบวนไปรับด้วย "สลุงหามปัน"
นำกลับมาถึงวัดหมื่นสารเวลาค่ำ จึงเก็บอัฐิครูบาศรีวิชัยไว้ที่ปะรำของครูบาขาวปี ระหว่างนั้นนายอินทร์ได้สร้างตลับนาก
โดยจ้างลุงแก้วมโน พ่อของนางบัวเขียว วงศ์เลิศ ทำตลับเพื่อบรรจุอัฐิ
ต่อมานายป้อม เทพมงคล ให้ทำโกฏิเงินเพื่อบรรจุตลับนากอีกชั้นหนึ่ง โดยจ้างนายอินตา เทพมงคล หลายชายเป็นช่าง
...ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้มีการอัญเชิญอัฐิครูบาศรีวิชัยจากวัดหมื่นสารเพื่อไปไว้ที่วัดสวนดอกตามวัตถุประสงค์เดิม
โดยในวันนั้นได้มีการจัดขบวนแห่อัญเชิญอัฐิโดยตั้งขบวนจากสถานีรถไฟ เพื่อเคลื่อนไปยังวัดสวนดอก
ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่อัญเชิญอัฐิครูบาศรีวิชัย ทางครูบาขาวปี ครูบาอินตา พระสงฆ์และคณะกรรมการวัดหมื่นสาร
ต่างเห็นพ้องกันว่าควรเป็นคนหนุ่มบ้านวัวลาย ซึ่งเป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม
และได้เลือก นายสิงห์คำ กาวิละ ช่างเงินบ้านวัวลาย ขณะอายุ ๑๖ ปี เป็นผู้อัญเชิญผอบบรรจุอัฐิ
ระหว่างทางที่เคลื่อนขบวนไปวัดสวนดอก ได้มีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมขบวนแห่และประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อยตลอดสองข้างทาง
...เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดสวนดอก จึงได้อัญเชิญอัฐิครูบาศรีวิชัยลงใส่ไว้ในสถูป ซึ่งมีช่องที่สามารถเปิด-ปิดได้
ระหว่างนั้นทางวัดสวนดอกได้จัดงานมหรสพฉลองสมโภชเป็นเวลา ๑๕ วัน ๑๕ คืน
โดยนายอินทร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
...อย่างไรก็ตามในการอัญเชิญอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัยในครั้งนั้น เป็นช่วงที่วัดสวนดอกยังไม่มีเจ้าอาวาส
จึงขาดผู้นำที่จะดูแลรักษาอัฐิ กอปรกับเวลานั้นครูบาขาวปี และนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ เจ้าของผอบ
มีเรื่องบาดหมางใจกัน นายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ จึงอัญเชิญอัฐิครูบาศรีวิชัยมามอบให้ครูบาอินตา
เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยาเก็บรักษาไว้ตามเดิม
...ครั้นเวลาล่วงผ่านไป ๗ ปี ไม่มีผู้ใดมาติดตามทวงคืน ทางครูบาอินตาเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยา
เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงมอบหมายให้นายน้อยป้อม เทพมงคล ร่วมกับนายอินตา เทพมงคล
สร้างกู่บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัยที่วัดหมื่นสาร คณะศรัทธาวัดหมื่นสาร ได้ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงินสำหรับก่อสร้างสถูป
และก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ทำพิธีบรรจุเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖
ปราสาทไม้สักบรรจุศพครูบาศรีวิชัย (ภาพจากหนังสือตนบุญล้านนา ประวัติครูบา ฉบับอ่านม่วน ๒)
โกฏิพระราชทาน งานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย (ภาพจากหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น