วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เสียวฟัน..ทำอย่างไรดี

เสียวฟัน..ทำอย่างไรดี

อาการเสียวฟัน เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน จากหลายการวิจัยพบว่า ร้อยละ 8 - 57 ประสบปัญหาการเสียวฟัน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า เสียวฟันเป็นอาการที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้เกิดความรำคาญจนยิ้มไม่ออก และวันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการเสียวฟันกันเพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุ แนวทางป้องกันและรักษาอย่างถูกวิธี

อาการเสียวฟันเกิดจากการตอบสนองของเส้นประสาทในฟันต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก อาทิ อาหารเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น รวมไปถึงลม หรือแม้กระทั่งการแปรงฟันที่ไวกว่าปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อและฟันในช่องปาก โดยปกติฟันของเราจะถูกปกป้องด้วยเคลือบฟัน (enamel) และเหงือก เมื่อเคลือบฟันของเราสึก แตกออก หรือเหงือกร่นมากขึ้น เนื้อฟัน (dentine) จะถูกเปิดออกให้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอกเหล่านี้ทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้ง่าย

สาเหตุของอาการเสียวฟันนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากเกิดในวัยเด็กสาเหตุมาจากฟันผุ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุนั้น อาการเสียวฟันอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น คอฟันสึก โรคปริทันต์ เหงือกร่น ฟันสึก ฟันร้าว ฟันแตก ฟันผุ ฟันผุซ้ำบริเวณฟันที่ได้รับการอุดแล้ว มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เสียวฟันหลังจากได้รับการอุดฟันมาใหม่ๆ หรือเสียวฟันหลังจากขูดหินปูนมาใหม่ๆ เป็นต้น

การรักษาอาการเสียวฟัน สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติคือ ปรึกษาทันตแพทย์ วินิจฉัยว่าอาการเสียวฟันนั้นเกิดจากสาเหตุใดเพื่อรักษาตามสาเหตุนั้นๆ

1. เสียวฟันเนื่องจากฟันผุ หรือฟันที่ได้รับการอุดแล้ว
จะรักษาด้วยการอุดฟันโดยเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับตำแหน่งและขนาดของรอยโรคนั้นๆ อาการเสียวฟันก็จะหมดไป เนื่องจากวัสดุอุดฟันนั้นสามารถปิดท่อเล็กๆ ภายในเนื้อฟันได้ทั้งหมด ถ้าเสียวฟันหลังจากอุดฟันไปใหม่ๆ อาจเกิดจากวัสดุอุดสูงเกินไป หรือเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของวัสดุอุดบางจุด หรือเป็นผลข้างเคียงจากวัสดุชนิดนั้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นควรกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการแก้ไข กรณีที่อาการเสียวฟันเกิดหลังจากอุดฟันไปนานสักระยะหนึ่งแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฟันผุเพิ่ม หรือวัสดุอุดฟันชำรุด ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่

2. เสียวฟันเนื่องจากฟันสึก
มักเกิดกับผู้ป่วยที่แปรงฟันแรง นาน ใช้ขนแปรงแข็ง หรือแปรงฟันผิดวิธี หากฟันซี่นั้นๆ สึกมากทันตแพทย์จะทำการอุดฟันซี่นั้น ก็สามารถกำจัดอาการเสียวฟันได้ แต่หากฟันสึกไม่มาก ทันตแพทย์ก็จะใช้ฟลูออไรด์ หรือสารลดอาการเสียวฟันซึ่งมีหลายชนิด เช่น 0.4% Stannous Fluoride Gel (Gel-Kam) หรือ duraphat เป็นต้น ทาบริเวณนั้น ร่วมกับปรับพฤติกรรมในการแปรงฟันให้ถูกวิธี

3. เสียวฟันเนื่องจากโรคปริทันต์และเหงือกร่น
หากเป็นโรคปริทันต์ควรรับการตรวจรักษาจากทันตแพทย์ ส่วนอาการเสียวฟันที่เกิดจากเหงือกร่น ทันตแพทย์จะแก้ไขสาเหตุ อาจร่วมกับการใช้ฟลูออไรด์ หรือสารลดอาการเสียวฟันซึ่งมีหลายชนิด เช่น 0.4% Stannous Fluoride Gel (Gel-Kam) หรือ duraphat เป็นต้น ทาบริเวณนั้น ร่วมกับปรับพฤติกรรมในการแปรงฟันให้ถูกวิธี

4. เสียวฟันเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ
เช่น ฟันร้าว ฟันแตก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีป้องกันอาการเสียวฟัน
1. แปรงฟันถูกวิธี ผู้ที่ชอบแปรงฟันแรงๆ มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอาการเสียวฟันมาก การแปรงฟันแรงมากเกินไปและแปรงฟันผิดวิธี วิธีทำความสะอาดฟันที่มีอาการเสียวฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรใช้แปรงที่ขนอ่อนนุ่มแปรงรอบๆ และใต้แนวเหงือก ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างเหงือกและส่วนบนของซี่ฟัน และควรทำความสะอาดให้ทั่วทุกซอกฟัน ไม่ควรแปรงฟันแรงเกินไป

2. ควรลดการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจมีผลให้เคลือบฟันค่อยๆ สึกออกจากผิวฟัน ทำให้เนื้อฟันถูกเปิดออก

3. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
**************************************************
อ.ทพญ.สุธารัตน์ ชัยเฉลิมศักดิ์ รพ.ทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น