คนเราโดยทั่วไปนิยมรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง บริษัทใดไม่ว่าใหญ่หรือเล็กจะประสบความสำเร็จ ก็เพราะมีเอกลักษณ์พิเศษเป็นของตนเอง ที่วิชาการตลาดเรียกว่า "จุดยืน (Positioning)" ในภาษาอังกฤษมีความหมายถึงตำแหน่ง บริษัทใหญ่ต้องการปริมาณการค้าที่แน่นอน ต้องการตลาดทั้งระดับบนและล่าง บ่อยครั้งทีเดียวที่ต้องพยายามสนองตามความต้องการของลูกค้าทุกระดับ สินค้าและบริการที่เสนอให้ลูกค้านั้นจึงพยายามให้หลากหลาย หรือให้เหมาะกับทุกคนต้องมีลักษณะครบถ้วน ครอบคลุมตลาดทุกระดับและทุกพื้นที่
กิจการเล็กๆ สามารถขยายให้เป็นวงกว้างได้หรือไม่ แม้จะทำได้ก็คงยากเอาการ และก็ไม่แน่ว่าจะทำได้ดีเท่าบริษัทใหญ่ ภัตตาคารใหญ่มักจะมีเมนูอาหารเล่มหนาๆ ร้านอาหารเล็กๆ เพียงแต่มีอาหารรสเด็ดๆ ไม่กี่อย่างก็พอ ร้านอาหารแบบฟ้าสต์ฟู้ดยิ่งมีอาหารให้เลือกน้อยกว่าอีก เช่น "เคนตั๊กกี้" ที่ขายอาหารเพียงอย่างเดียว และรสชาติเดียว
ดังนั้น หนทางการอยู่รอดของบริษัทใหญ่ก็คือใหญ่และสมบูรณ์ ส่วนวิธีการของบริษัทเล็กนั้น คือ เล็กและมีลักษณะเฉพาะ เมื่อมีลักษณะเฉพาะแล้ว เอกลักษณ์จะโดดเด่นขึ้น ภาพพจน์จะชัดเจน หากไม่มีลักษณะเฉพาะ แม้จะทำได้ดี ก็จะเข้าลักษณะดาษดื่นเหมือนคนอื่น กลายเป็นของโหลไป
ในเมื่อบริษัทเล็กจะละทิ้งตลาดในวงกว้าง จะครองและขยายตลาดในส่วนที่ไม่ค่อยมีคนทำ ช่องว่างที่จะแทรกตัวเข้าไปทำจึงเล็กมาก "เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้" จึงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะอยู่รอด หากบริษัทเล็กอื่นๆ คิดจะแทรกเข้ามาแข่งขัน แต่ภาพพจน์และเอกลักษณ์ที่เด่นชัดนี้ จะเป็นเสมือนทุนที่มองไม่เห็น และเป็นเสมือนเกราะกำบังที่ไร้ร่างที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้
อีกจุดหนึ่งที่ควรสนใจคือ ถ้าคิดจะเจาะเข้าตลาดใดหรือส่วนหนึ่งของตลาดใดจะต้องไม่เลียนแบบบริษัทใหญ่ หรือตามหลังบริษัทเล็กที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ควรฉกฉวยเอาสิ่งซึ่งบริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็กทั้งหลายมองข้ามไป สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นยังเข้าไปไม่ถึง สิ่งที่ทำให้พวกเขาล้มเหลวมาเป็นอาวุธจู่โจม สร้างเอกลักษณ์ และภาพพจน์ของตนเอง การรบกับบริษัทใหญ่นั้นยาก การจะชนกับบริษัทเล็กอื่นที่ประสบความสำเร็จแล้วซึ่งๆ หน้าก็ต้องถึงกับเลือดตกยางออก ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย ถ้าหากจุดอ่อนของบริษัทใหญ่หรือบริษัทเล็กอื่นๆ ไม่ได้หรือหาช่องว่างเข้าตลาดไม่ได้ สู้ไม่เข้าตลาดเสียเลยจะดีกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น