..........เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระภิกษุ เช่น สวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นเครื่องซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพระภิกษุ ทั้งเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของสงฆ์ และใช้เป็นที่อุปสมบทกุลบุตรให้เป็นพระภิกษุ ประเพณีทางเหนือไม่นิยมให้สุภาพสตรีขึ้น เช่นเดียวกับพระธาตุเจดีย์ และหอธรรมหรือหอพระไตรปิฎก
..........พระอุโบสถวัดเกตหลังปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน โดยคุณนคร ธัมทะมาลา ซึ่งได้มาส่งพระอธิการอิ่นแก้วสมัยนั้น ปัจจุบันคือ ท่านพระครูสุภัทรรัตนโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีโขงมาเข้าอุโบสถที่วัดเกต ได้สังเกตเห็นฐานพระอุโบสถ ซึ่งเป็นไม้วางบนเสาปูนถูกปลวกกินจนเสาลอย เกิดความห่วงใยว่าพระอุโบสถจะล้มลง จึงปาวารณารับซ่อมแซมให้โดยได้ให้สล่า (ช่าง) มัดเหล็กหล่อปูนเสริมฐานให้แข็งแรงถาวรพร้อมกับได้มีการซ่อมส่วนที่ชำรุดผุพังให้ดีด้วย สล่าที่มาทำเป็นสล่าทางบ้านหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
..........สภาพพระอุโบสถที่ซ่อมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงในส่วนของบันไดนาค ที่เป็นนาคเศียรเดียวตั้งตรงแบบบันไดพระวิหาร รูปตัวนาคทำด้วยปูนปั้นแบบสไตล์จีน เกล็ดนาคประดับด้วย "จืนสี" คนเก่าแก่บอกว่านำเข้าจากจีน บ้างบอกว่ามาจากพม่ามาทำเป็นนาคขดอ้อมที่เชิงบันได แล้วทำราวบันไดตรง ๆ แทน มีการทำซุ้มหน้าต่าง เปลี่ยนบานประตูจากแกะสลักนูนต่ำรูปรามเกียรติ์ มีหนุมานเป็นลายปิดทองล่องชาดรูปเทวดาแทน ส่วนบานเก่าคุณจรินทร์ เบน (คุณลุงแจ๊ก) นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเกตและได้มีการเปลี่ยนหลังคาดินขอ คือ กระเบื้องดินเผาแบบโบราณ ใช้มุงหลังคาเป็นหลังคากระเบื้องเคลือบแทน เปลี่ยนนาคที่เป็นป้านลม ทั้งยังมีการตบแต่งลวดลายที่ผนังด้านนอกเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ตามปีนักษัตร
..........ส่วนที่ยังคงไว้และนับว่าเป็นของเก่าที่งดงามและมีคุณค่า คือ รูปปูนปั้นลวดลายแบบจีน เป็นรูปปลาพ่นน้ำ มีฟองทะเล ตัวกิเลนและลูก ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ในนิยายจีน กล่าวกันว่า หัวเป็นมังกร ตัวเป็นกวาง ตีนมีกีบเหมือนม้า หางเป็นพวง (อุดม รุ่งเรืองศรี - พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง,2547 หน้า 46) ส่วนที่สิบสองปันนา ที่ร้านขายหยกของรัฐบาลจีนชื่อ "จื่อเหลียง" ในเมืองฮำ เรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "พีชิว" ถือเป็นตัวโชคลาภ เรียกเงินเข้าบ้านเข้าเมือง ยิ่งตัวไหนอ้าปากกว้าง ยิ่งถือว่าดี นิยมมีไว้ในบ้านเรือนร้านค้า คล้ายกับนางกวักของไทย เขาบอกว่า สัตว์ชนิดนี้มีรูปร่างที่ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ต่างชนิดกันดังนี้ หัวเป็นมังกร มีหูเป็นกวาง ตัวเป็นสิงโต หางเป็นหงส์ เท้าเป็นเสือ คุณสุรชัย เลียวสวัสดิพงศ์ บอกว่ารูปเหล่านี้ เป็นช่างชุดเดียวกับที่ทำที่บ้านเหลี่ยวย่งง้วน หรือ ร้านเดอะแกลลอรี่ ปัจจุบัน (วรวิมล)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น