วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัดพวกเปีย ชุมชน ความเป็นมาแต่กาลเก่า

พวกนอกเวียงด้านใต้ (บ้านพวกเปีย)


..........ย้อนไป ในปี พ.ศ.2516
"ไปไหนวะ หล้า?" ทอน วัยรุ่นบ้านพวกเปียถามเพื่อนที่ขี่รถจักรยานผ่านหน้าบ้าน
"ไปหาเพื่อนในเวียงหน่อยบ่ะ"


"ในเวียง" ในความหมายนี้ หมายถึง ชุมชนในกำแพงเมืองเชียงใหม่
..........ในสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านจะแยกเป็น "ในเวียง" และ "นอกเวียง" โดยใช้กำแพงเมืองเป็นเส้นแบ่ง และหากบอกว่า "ไปหล่ายหน้า" หมายถึง ไปทางฝั่งน้ำปิงอีกฟากหนึ่ง คือ สันป่าข่อย กำแพงเมืองจึงเป็นเส้นแบ่ง "พวกในเวียง" และ "พวกนอกเวียง"
..........การแบ่งเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นในสมัยยุคปี พ.ศ.2500 เศษ ที่มักมีการยกพวกเข้าชกต่อยทำร้ายกัน และมักแบ่งเป็นกลุ่มนอกเวียง และกลุ่มในเวียง
"พวกนอกเวียง" ด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ย่านหนึ่ง คือ ย่านวัดพวกเปีย เป็นชุมชนที่อยู่นอกกำแพงเมืองเมื่อออกจากประตูสวนปรุงไปทางถนนสายหางดง
..........ย่านนี้มีวัดพวกเปีย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน วัดพวกเปียอยู่ด้านขวามือ ด้านหลังวัดติดกับบริเวณโรงพยาบาลสวนปรุง
กลุ่มวัยรุ่นพวกเปียหลังปี พ.ศ.2510 ประกอบด้วย "ทอน", "หล้า", ศักดิ์", "พัน" รวมถึงวัยรุ่นย่านถนนวัวลายที่เป็นชุมชนติดต่อกันคือ "น้อย", "แดง"
กลุ่มในเวียงที่มักต้องปะทะกันบ่อย คือ กลุ่มวัดพวกแต้มและวัดพวกหงส์ หลัก ๆ คือ "เทพ", "นิด", "แอ๊ด", "แอ"
อีกกลุ่มหนึ่งที่หนาแน่นคือ กลุ่มประตูเชียงใหม่ หัวหน้ากลุ่มคือ "ปั้ง"
วัยรุ่นนักเลงสมัยนั้นยึดถือถิ่นใครถิ่นมัน หากผ่านไปยังถิ่นอื่นแล้วมักถูกไล่ชกต่อย วัยรุ่นต่างถิ่นสมัยนั้นจึงมักไม่อาจหาญไปต่อกรด้วย มักหลบหนีและรอคอยโอกาสที่ให้กลุ่มตรงข้ามเข้ามาในถิ่นตัวเองบ้าง ดังคติ "ทีใครทีมัน"
ยกเว้นหากพบกันนอกสถานที่ก็ต้องสู้กัน สมัยนั้นหนังขายยากลางแปลงมักฉายที่ลานประตูเชียงใหม่ สถานที่นี้จึงมักมีกลุ่มวัยรุ่นแต่ละชุมชนมาพบกันที่นี่ บ้างมาดูแลหญิงสาวในชุมชนของตนเอง บ้างมาจีบหญิงสาวนอกชุมชน ประกอบทั้งเคยมีเรื่องกันมาก่อน
คราวหนึ่ง หลังจากมีการประกาศขายยาแล้วและปิดไฟมืดเพื่อฉายหนังต่อ กลุ่มบ้านพวกเปียอาศัยจังหวะนี้เข้าปะทะกับกลุ่มประตูเชียงใหม่ "ทอน" แห่งบ้านพวกเปียเสียท่าถูกกลุ่มประตูเชียงใหม่ใช้ไม้คานตีเข้าที่ศีรษะเย็บถึง 14 เข็ม เป็นความทรงจำสมัยยังเป็นวัยรุ่นเลือดร้อน

..........ชุมชน "ในเวียง" ในอดีตนั้น ถือได้ว่าเป็นย่านของผู้ครองนครเชียงใหม่และเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ หากนับจากแยกกลางเวียงออกมา ส่วนชาวบ้านทั่วไปมักอยู่นอกกำแพงเมือง ทำหน้าที่ทำไร่ทำนาเก็บไว้เป็นเสบียงเพื่อการศึกสงคราม และหากเกิดสงครามมีข้าศึกมารุกรานก็จะนำชาวบ้านเข้ามาหลบภัยในกำแพงเมือง ระยะต่อมากลุ่มชาวบ้านทั่วไปเข้ามาอาศัยในกำแพงเมืองมากขึ้น ๆ จนแทบไม่เห็นความแตกต่างที่ว่าในกำแพงเมืองคือ กลุ่มเจ้านาย
..........การอยู่ "นอกเวียง" ในเชิงจิตวิทยาแล้ว อาจถือว่าเป็นคนชานเมืองได้ ยิ่งในอดีตที่เมื่อพ้นจากกำแพงเมืองออกมาก็ถือว่าเป็นทุ่งนา มีบ้านคนอยู่น้อยหลังและห่างกัน
..........สมัยหนึ่งมักมีการปล้นจี้รถสี่ล้อแดงกันที่บริเวณแยกข้างโรงพยาบาลสวนปรุง เนื่องจากเป็นที่เปลี่ยวมากและมืดไม่ค่อยมีผู้คนผ่านไปมา
..........สอบถามชาวพวกเปียแล้วไม่มีความรู้สึกน้อยใจหรือต่ำต้อยที่อยู่ "นอกเวียง" เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งชาวบ้าน "ในเวียง" เองก็มีฐานะความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกัน

..........วัดพวกเปีย มีประวัติว่าเดิมชื่อว่า วัดพวกเปี๊ยะ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าละแวกบริเวณนั้นชาวบ้านมีความสามารถทางเล่นดนตรีเปี๊ย จึงร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น (วัดร้างในเวียงเชียงใหม่ โดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อ้างการสัมภาษณ์นายไกรศรี นิมมานเหมินท์)
นอกจากนี้ด้านหลังของวัดพวกเปีย มีวัดอีกวัดหนึ่งชื่อวัดเชียงรุ่ง ต่อมากลายเป็นวัดร้างและใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ราชการคือ เป็นโรงพยาบาลสวนปรุง (วัดร้างในเวียงเชียงใหม่, อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว,2539)
..........เลยวัดพวกเปียไปทางใต้เป็นบ้านของคหบดีคนสำคัญของบ้านพวกเปีย เป็นศรัทธาหลักของวัดพวกเปียและทำให้ชาวบ้านมีงานสร้างรายได้ คือ นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี ภรรยาคือ นางปราณี พุ่มชูศรี มีโรงงานคัดใบชาและใบยาสูบ ชาวบ้านพวกเปียมักมารับจ้างคัดใบชาและใบยาที่นี่ ปัจจุบันเป็นบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์และหมู่บ้านระมิงค์ ซึ่งเป็นของตระกูล "พุ่มชูศรี"
..........นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี ตามประวัติ เป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ บุตรของหมื่นสรรพหิรัญรักษ์ (สม พุ่มชูศรี) และนางหอม บิดารับราชการกรมสรรพสามิต สกุลพุ่มชูศรีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองนครสวรรค์ในอดีต หลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนอัชสัมชัญกรุงเทพฯแล้ว เข้าทำงานที่บริษัทยาสูบอังกฤษ-อเมริกันซึ่งผลิตบุหรี่ส่งขายต่างประเทศ ทำให้นายประสิทธิ์มีความชำนาญด้านยาสูบ ต่อมาเป็นตัวแทนของบริษัทมาทำไร่ยาสูบส่งโรงงานของบริษัทที่จังหวัดเชียงราย ระยะต่อมาจึงลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวโดยทำไร่ยาสูบที่อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ส่งให้บริษัทแทน เคยมีโรงบ่มใบยาถึง 25 โรงและทดลองและทำสวนชาและสวนส้ม ถือเป็น "พ่อเลี้ยง" คนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่และเป็นผู้บุกเบิกการทำไร่ยาสูบ ไร่ชาและสวนส้มในยุคแรก ๆ อีกด้วย นายประสิทธิ์เสียชีวิตในปี พ.ศ.2512
..........ด้านครอบครัวนายประสิทธิ์ สมรสกับนางปราณี พุ่มชูศรี มีธิดา 2 คน คือ นางสมถวิล มานิตยกูล (สมรสกับ ร.อ.อโนดาห์ มานิตยกูล) และนางเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ (สมรสกับนายนิตย์ วังวิวัฒน์) (จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี,2512)
..........เลยจากโรงงานของนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เป็นตลาดทิพย์เนตร สมัยก่อนเป็นบ้านและสวนกว้าง ต่อมานายสมพงษ์ เตชะสุขสันต์ เจ้าของบริษัทใบยาเอเชียอาคเนย์ และเป็นลูกเขยกำนันน้อย ไชยซาววงศ์ แห่งตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง มาซื้อและทำเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก
..........ถัดไปทางใต้เป็นชุมชนทิพย์เนตร ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังเนื่องจากมีชาวบ้านจากย่านอื่นอพยพมาสร้างบ้านอยู่อาศัย สมัยหนึ่งเป็นย่านที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดมากจนเป็นที่รู้จักของตำรวจทั่วไป ถัดไปเป็นสุสานหายยาเนื้อที่กว้างขวาง เป็นที่เผาศพทั้งนอกเวียงและในเวียง เลยจากนี้ไปเป็นทุ่งนา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์สรรพสินค้า แอร์พอร์ต สนามบิน ชาวบ้านมักเรียกย่านนี้ว่า "บ้านนอกโต้ง" หรือ นอกทุ่ง (นายสุนทร ยามศิริ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่, สัมภาษณ์)
นั่นแค่เหตุการณ์ย้อนไปแค่ 40 ถึง 50 ปี
แต่หากย้อนไปร่วม 70 ปี บริเวณสนามบินนั้นเป็นวัดและชุมชนหนึ่งกลางทุ่งนา คุณลุงคำตัน ไชยคำเรือง มัคทายกวัดพวกเปียบอกว่า "บริเวณนั้นเดิมมีวัดชื่อว่า วัดป่ากล้วย มีชุมชนรอบวัดประมาณ 50 หลังคาเรือน มองจากประตูหายยาเห็นเจดีย์วัด วิหาร วัดงามสง่าอยู่กลางทุ่งนา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2489) บริเวณวัดป่ากล้วยและชุมชนป่ากล้วย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ เจ้าอาวาสวัดหนีไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านก็เช่นเดียวกันต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ที่สนามบินมีเครื่องบินญี่ปุ่นมาจอดเตรียมพร้อม ด้วยเหตุนี้เองทำให้วัดป่ากล้วยและชุมชนป่ากล้วยต้องร้างไป ต่อมาทางราชการเวนคืนที่ดินชาวบ้านทำเป็นสนามบิน ชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่สายคันคลองชลประทานด้านตำบลสุเทพ
.........."ชุมชนบ้านพวกเปียเป็นชุมชนเล็ก ข้าง ๆ วัดและหน้าวัดมีบ้านไม่กี่หลัง อยู่ห่าง ๆ กัน แต่ละบ้านมีพื้นที่เป็นไร่ อยู่กันกับชุมชนวัดศรีสุวรรณและวัดหมื่นสาร ถนนสมัยก่อนนั้นก็เป็นลูกรังแคบสัก 3 วา ส่วนใหญ่มีเกวียนแล่น ช่วงเช้าวัวควายจากบ้านพวกแต้มเป็นฝูงถูกไล่ต้อนไปหากินกลางทุ่งนาผ่านหน้าวัด หน้าเกี่ยวข้าวแล้วเกวียนจากทางอำเภอหางดง นำข้าวเปลือกไปส่งเจ้าของนาผ่านเส้นทางนี้เช่นกัน มองจากวัดพวกเปียไปเป็นทุ่งนาโล่ง เป็นทุ่งนาทั้งนั้นมองไปถึงบ้านป่าแดดโน่น นาข้าวเขียว ด้านหลังวัดนอกจากเคยมีวัดเก่าที่ร้างไปแล้ว เดิมโรงพยาบาลสวนปรุงเป็นบ้านและสวนของข้าราชการบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ ส่วนด้านฝั่งบ้านคุณประสิทธิ์ พุ่มชูศรี ก่อนหน้านี้ก็เป็นบ้านและสวนของคุณพระอีกคนหนึ่ง ถัดไปตลาดทิพย์เนตร เดิมเป็นป่าไผ่รก
.........."สะพานคอนกรีตสมัยก่อนเป็นสะพานไม้พอที่เกวียนผ่านได้ เลยไปที่เป็นสุสานหายยาก็เปลี่ยวน่ากลัว หากผ่านบริเวณนั้นตอนเด็กต้องวิ่งหน้าตั้งให้พ้นบริเวณป่าช้าให้เร็วที่สุด ตั้งแต่ประตูสวนปรุงผ่านหน้าวัดพวกเปียทั้งสองข้างมีทางน้ำไหล น้ำใสแจ๋วเรื่อยไป ด้านหน้าสุสานหายยาก็มีทางน้ำด้วยเช่นกัน สมัยก่อนคนฐานะยากจนเป็นส่วนใหญ่ใครตายก็มักไม่ใส่โลง เพียงนำผ้าห่มหรือผ้าขาวคลุมไว้ ถึงเวลาก็หามกัน 4 คน นำไปฝังที่สุสานหายยา สมัยนั้นฝังกันทั้งนั้นเพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ทำกันง่าย ๆ พื้นที่ก็เยอะ จะฝังตรงไหนของสุสานก็ได้ ปัจจุบันจำเป็นต้องเผา บางศพก็เน่าเหม็นเหมือนกัน อย่างศพพ่อหนานมูล คนบ้านพวกเปีย เก็บศพไว้ 7 วัน ส่งกลิ่นแล้ว แมลงวันหัวเขียวบินว่อน ต้องหลบกัน และสมัยนั้นก็ไม่ต้องมีปราสาทสวยงามเหมือนสมัยนี้ อาจจะเป็นระดับชาวบ้าน ๆ ก็เป็นได้
.........."วัดพวกเปีย สมัยก่อนเป็นวัดเล็ก สมัยก่อนหญ้าขึ้นรกขาดการดูแล มีวิหารเป็นปูนเสาด้านในเป็นไม้ คนแก่เล่าว่าเสาเป็นเสาจากโรงช้างของเจ้านาย ศาลาไม้มุงดินขอ กุฏิไม้หลักเล็ก ๆ จนสมัยที่เจ้าอาวาส คือ พระครูโกวิทย์สารธรรม เป็นคนทางวัดหมื่นสาร เจ้าอาวาสองค์เก่ามรณะก็รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสแทน เป็นพระที่เก่ง อู้เก่ง เทศน์คำเมืองเก่ง ศรัทธาติดกันทั่ว ศรัทธาทางสันป่าข่อย ทางหางดงก็มาทำบุญที่นี่ และเป็นพระนักพัฒนา เสาะหาเงินมาพัฒนาใหม่ไม่ว่าจะเป็นวิหาร หอไตร ศาลา หอฉัน ศาลาเอนกประสงค์ โบสถ์ กำแพงวัด สร้างในสมัยพระครูโกวิทย์ทั้งสิ้น" (นายคำตัน ไชยตำเรือง, สัมภาษณ์)
..........พระครูโกวิทย์สารธรรม มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพวกเปียตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 จนถึงปี พ.ศ.2538 ขณะอายุ 66 ปี ก็มรณะภาพ ท่ามกลางความเสียดายของคณะศรัทธา ด้วยคุณความดีและเพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้รำลึกถึง คณะศรัทธาวัดพวกเปียจึงได้สร้างรูปเหมือนไว้สักการะบูชาตั้งอยู่ที่วิหารวัดพวกเปียจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น